ไล่รื่อครั้งสุดท้าย ชุมชนคลองเตย


เมื่อเผชิญกับการพัฒนาเมืองโลกาภิวัตน์
ชุมชนคลองเตยในหัวเลี้ยวประวัติศาสตร์ – การไล่ที่ครั้งสุดท้าย 
โดย สมพงษ์  พัดปุย
                ชุมชนคลองเตยได้ก่อรูปขึ้นในปี 2550 หลังการท่าเรือได้เวณคืนที่ดินเพื่อการขยายการท่าเรือ  และมีชุมชนที่เข้ามาเป็นกุลี สร้างที่อยู่อาศัยขยายตัวมากขึ้นจนเป็นชุมชน  ชุมชนได้เข้าสู่การพัฒนาในปี พ.ศ.2514 เริ่มจากการสำรวจของคณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์        
                  จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่าสามทศวรรษ  การพัฒนา ด้านกายภาพ และการศึกษามีความก้าวหน้าขึ้น  แต่โดยภาพรวมการพัฒนาแล้วยังไม่น่าพอใจ ชาวบ้านยังคงยากจนไม่มีงานทำแน่นอน   ปัญหายาเสพติดมีขึ้นมีลง  ปัจจุบันการระบาดอยู่ในช่วงขาขึ้น   ผู้นำโดยทั่วไปแล้วพูดคุยทำงานร่วมกันได้ในกิจกรรมพัฒนา  แต่มีทัศนะต่างกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางการเมือง  ชาวคลองเตยเข้าร่วมทางการเมืองในลักษณะ สองขั้ว มาตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา  16  และ  6  ตุลา 19  พฤษภาทมิฬ 2535  และในสถานการณ์ปัจจุบัน  ชาวคลองเตยเข้าร่วมทั้งกลุ่ม เสื้อเหลือง  และ  เสื่อแดง”  แต่ระมัดระวังไม่ขัดแย้งกันภายในชุมชน             นับแต่การเลือกตั้งทั่วไปเมือสามปีที่แล้ว พรรคประชาธิปัตย์  มีบทบาทครองอำนาจการเมืองท้องถิ่นแทน พรรค ไทยรักไทย  แต่ความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับประชาชนมีลักษณะระบบอุปถัมภ์  การมีส่วนร่วมของชาวบ้านทางการเนื่องยังมีน้อย   กทม.ส่งเสริมจัดทำ แผนชุมชน ให้กองทุนเงินล้าน”  แต่การมีส่วนร่วมของชาวบ้านยังคงถูกจำกัดโดยระบบราชการ
                ภาพด้านลบ  คือ กรณีความขัดแย้งรุนแรงตลาดท่าเรือคลองเตย มีความรุนแรงถึงเสียชีวิตยาวนานมานับปี ปัญหายังไม่ได้ข้อยุติ   ปรากฎการณ์นี้สะท้อนความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ในตลาด  และปัญหาทิศทางการพัฒนาระดับชาติ  สิ่งใหม่ด้านบวก คือ การจัดตั้ง สภาองค์กรชุมชนเขตคลองเตย  ซึ่งเป็น 1 ในจำนวน 23 เขตที่ได้รับการจัดตั้งแล้ว (กทม.มีสำนักงานเขตทั้งสิ้น 50 เขต)  สภาองค์กรชุมชน เป็นรูปแบบองค์กรใหม่ซึ่งเกิดขึ้นตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550   คาดหวังให้เป็นกลไกรับรองฐานะของชุมชนในการเข้ามีส่วนร่วมกับ กทม.และหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐ
เดือนมีนาคม พ.ศ.2549   พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร  ขณะเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ลงเยี่ยมพื้นที่มีนโยบายใช้ที่ดินการเพื่อการพาณิชย์  มีการจัดทำแผนแผน โครงการคลองเตยคอมเพล็กซ์ เป็นโครงการศูนย์โทรคมนาคม  โรงแรมหรูริมเจ้าพระยา รวมทั้งท่าเรือยอร์ช    เตรียมรื้อย้ายชุมชนเกือบทั้งหมด  โครงการดังกล่าวอยู่ในแผน เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งรัฐบาลทักษิณเตรียมจะออกเป็นพระราชกำหนด    โครงการคลองเตยคอมเพลกซ์ ได้ถูกนำมาตีแผ่โดย สว.รสนา  โตสิตระกูล สว.ในสมัยนั้น    เมื่อนายกทักษิณหมดอำนาจ  พรบ.เขตเศรษฐกิจพิเศษถูกระงับไป  แต่โครงการคลองเตยคอมเพล็กซ์ได้ถูกชะลอการดำเนินงาน
จู่ ๆ ฝันร้ายก็มาโดยไม่คาดฝัน เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2552 การท่าเรือแห่งประเทศไทยและบริษัท สถาปนิก 49 (A 49)  ได้เชิญตัวแทนชาวบ้านและหน่วยงานในพื้นที่ ประมาณสองร้อยคน รับฟังแผนการพัฒนาที่ดินการท่าเรือโดยจะรื้อย้ายชุมชนแออัดซึ่งมีประชากรประมาณสองหมื่นครอบครัวขึ้นอยู่อาศัยในแฟลตสูง 12 ชั้น   ชาวบ้านวิตกกังวลว่าสังคมชุมชนและขบวนการพัฒนาที่สั่งสมมากว่าสี่สิบไปจะสูญสลาย  ชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วมในการวางแผนในโครงการที่เสนอ และมองเห็นปัญหาความล้มเหลวในโครงการย้ายชุมชนขึ้นแฟลต ซึ่งได้เกิดมาก่อนหน้านี้หลายโครงการ   หลายฝ่ายยังเป็นห่วงว่าที่ดินกว่าสองพันสามร้อยไร่ใจกลางเมือง ตั้งอยู่ริมเจ้าพระยา นับเป็น “ทำเลทอง”  เป็นที่หลวงที่ดีที่สุดของประเทศในขณะนี้ ควรจะใช้ประโยชน์อย่างไรให้คุ้มค่าที่สุด   โครงการ “คลองเตยคอมเพล็กซ์” ศูนย์ธุรกิจใหม่นี้มีมูลค่าลงทุนนับแสนล้าน  จะจัดการเรื่อเงินทุนอย่างไร และมีผลกระทบอย่างไรตามมาหรือไม่ ทั้งด้านการแก้ปัญหาคนจน  พัฒนาสังคม  และการพัฒนาเมืองกรุงเทพในระยะยาว 
ประชาชนและหน่วยงานในคลองเตย ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อเรียกร้องต่อการท่าเรือ ให้วางแผนจัดการที่อยู่อาศัยโดยมองไปถึงความยั่งยืนของชุมชนคลองเตย และการพัฒนากรุงเทพมหานครในอนาคต 
หมายเลขบันทึก: 350299เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2010 00:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2012 12:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท