โอวาทพระอาจารย์มั่น


 

       วันนี้โชคดีได้นั่งใกล้ ๆ ผู้ที่เดินทางธรรมมานานและได้เสวนาธรรมนิด ๆ หน่อย ๆ กับท่าน ท่านได้ Copy ไฟล์ "โอวาทพระอาจารย์มั่น" ให้ จึงขอนำมาเผยแพร่เป็นธรรมทานต่อท่านทั้งหลายบน Gotoknow ดังต่อไปนี้ขอรับ

 

โอวาทพระอาจารย์มั่น 

                        ในความไม่ประมาท ยกสติขึ้นเป็นเครื่องประกันความเพียรว่า ผู้มีสติในอิริยาบถต่างๆ ไม่ว่าเวลาใดๆ ไม่เฉพาะเวลาที่ทำสมาธิ หรือเวลาเข้าทางจงกรม จึงจะมีสติ จึงจะเรียกว่า ทำความเพียร ไม่ใช่อย่างนั้น ผู้มีสติอยู่ทุกๆขณะ คือ ผู้ทำความเพียร ผู้มีสตินั่นแหละคือมีธรรมรับรู้ มีธรรมเป็นเครื่องต้านทาน มีธรรมเป็นเครื่องมือต่อสู้ มีธรรมสำหรับหลบฉากในวิธีการรบกับอารมณ์ เป็นธรรมเดินหน้า กล้าผจญภัยสงครามในใจระหว่างจิตกับกิเลส ถ้าขาดสติอย่างเดียวก็แพ้ นักปฏิบัติจึงควรบำรุงสติ สติควรมีอยู่รักษาจิตทุกขั้น ทุกภูมิของจิต ไม่ว่าขั้นเริ่มฝึกหัด ไม่ว่าขั้นจิตเป็นสมาธิ ไม่ว่าขั้นเริ่มฝึกหัดใช้ปัญญา (คือขั้นเริ่มคลี่คลายหาโทษของกิเลส) ไม่ว่าขั้นใช้ปัญญาเป็นแล้ว ไม่ว่าขั้นปัญญาอันแหลมคม สติมีความจำเป็นกับการภาวนาไปทุกขั้นตลอดสาย สติไม่ควรให้มีอยู่ในวงจำกัด ควรให้มีมากจนแก่กล้า จนถึงขั้นมหาสติได้ยิ่งดี เพราะสติเป็นธรรมสำคัญในการทำความเพียรที่ผู้ปฏิบัติควรสนใจอย่างยิ่ง ไม่ว่างานหยาบ งานละเอียด สติเป็นธรรมจำเป็นที่ต้องแทรกอยู่ด้วยอย่าขาด ติดตามไปทุกกรณี เช่นทำสมาธิทุกขั้น ใช้ปัญญาทุกภูมิ สติต้องเป็นพี่เลี้ยงตลอดไป ถ้าขาดสติก็เป็นการขาดงานทุกชิ้นไม่ได้ทำ ถ้าจะทำงานใดๆ หรือไม่ทำงานแต่สติไม่ควรให้ขาดไปจากตัวจากใจ ผู้พยายามบำรุงสติไม่ลดละ ไม่ว่ากิเลสในหัวใจจะหนาแน่นเพียงใดจะต้องแก้ไขจนได้ แม้ว่าจะทำสมาธิทุกขั้น ปัญญาทุกภูมิจะมีขั้นมีกำลังได้ด้วยอำนาจสตินี้ เป็นเครื่องบำรุงการปฏิบัติตั้งแต่ขั้นเริ่มแรกจนถึงวิมุตติ ถึงนิพพานจะได้ด้วยการมีสตินี้แหละเป็นผู้สนับสนุนค้ำชู ใครจะเจริญสมถกัมมมัฎฐาน เจริญวิปัสสนากัมมัฎฐานขั้นใดก็ตาม ถ้าขาดสติแล้ว สมถะและวิปัสสนาจะไม่มีทางเจริญได้เลย

นับแต่เริ่มแรกปฏิบัติมาจนสิ้นสุดทางเดิน ผมไม่มองเห็นธรรมข้อใดที่เด่นและฝังลึกในใจเท่ากับสตินี้เลย สติเป็นทั้งพี่เลี้ยงจิต เป็นทั้งอาหารของจิต เป็นทั้งยารักษาสมาธิ เป็นทั้งผู้รักษาปัญญาทุกขั้น ธรรม คือ สมาธิและปัญญาจะเจริญได้จนถึงสุดขั้นของตนล้วนขึ้นอยู่กับสติ สติเป็นผู้บำรุง และรักษาโดยจะขาดมิได้

ท่านจงฟังให้ถึงใจ ยึดไว้อย่าหลงลืม ฟังเข้าใจเถิดว่าสตินี่แล คือกองกำลังใหญ่แห่งความเพียรทุกด้าน ท่านต้องตั้งสติก่อน ก่อนที่คิด ก่อนที่จะโยกย้ายร่างกายไปในทางใด หยาบหรือละเอียดในธรรมบทใด ขั้นใดตอนใดต้องมีสติเป็นผู้ควบคุมในวงความเพียร อย่าประมาท

            การจะใช้ปัญญาคลี่คลายคดค้นหาเหตุ ต้องมีสติกำกับ มีสติควบคุมปัญญา ทุกขณะที่กำลังพิจารณา (ธาตุ ขันธ์ และอารมณ์) และพิจารณาแล้ว ถ้าไม่ทำเช่นนี้ จะเป็นสัญญาอารมณ์ไปหมด หาความจริงไม่เจอ ปัญญาเมื่อมีสติเป็นเพื่อนสองคู่กัน จะต้องก้าวขึ้นสู่ไปหาปัญญาธรรม ปัญญาธรรม ปัญญาแท้ เมื่อมีสติเป็นคู่ควบคุมอยู่เรื่อยๆ สติจะกลายเป็นมหาสติ ปัญญาก็จะเป็นมหาปัญญาโดยไม่คาดหมาย การทำความเพียรอย่าไปสนใจดูเวลา อย่ากังวลสนใจดูสถานที่ อย่าดูสิ่งอื่น จงดูใจดูจิต ดูอารมณ์ที่เกิดกับจิต ด้วยการมีสติ ใช้ปัญญาใคร่ครวญในอารมณ์นั้นๆ นี่แหละสมรภูมิชัยอันเหมาะสม เป็นงานชอบธรรมของผู้ปฏิบัติ

            สติปัฏฐานสี่ สัจจะธรรมทั้งสี่ คือสนามรบ จงทุ่มเทสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร ลงที่นั่นอย่าสงสัยว่า มรรค ผล นิพพาน จะมีอยู่อื่นใดนอกเหนือไปจากที่นี่ จะมีในวงสติปัฏฐานสี่ สัจจะธรรมทั้งสี่นี้ ธรรมดังกล่าวจะเป็นเครื่องยืนยัน รับรอง มรรค ผล ว่ามีอยู่มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ และยังเป็นธรรมรับรองมรรค ผล เต็มภูมิอยู่อย่างบริบูรณ์ ไม่มีอะไรขากตกบกพร่องจนถึงปัจจุบันนี้

            การบกพร่อง ถ้ามีก็เป็นของผู้ปฏิบัติเอง ซึ่งไม่สามารถให้ถึงที่สมประสงค์ได้ จะขึ้นอยู่กับสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียรของผู้ปฏิบัติแต่ละรายๆ มิได้ขึ้นอยู่กับธรรมดังที่กล่าวมานี้ ธรรมที่กล่าวอยู่นี้เป็นธรรมยืนยัน รับรอง ตายตัวอยู่แล้ว ท่านจงทำความมั่นใจต่อมรรค ผล ด้วยการคุ้ยเขี่ย ขุดค้น สติปัฏฐานสี่ หรือว่า สัจจะธรรมทั้งสี่ให้เต็มภูมิสติปัญญาที่มีอยู่ ท่านจะเป็นผู้หยิบยื่น มรรค ผล ให้แก่ตัวท่านเองด้วยความสามารถของตน โดยไม่คาดฝันในวันหนึ่งแน่นอน

ที่อธิบายมานี้ คือที่รวมแห่งมรรคผล ว่าไม่มีอยู่ในที่อื่น ท่านจงพยายามตามนี้ต่อไปจะหายสงสัยในพระศาสดา พระธรรม พระสงฆ์ ตลอดถึงครูอาจารย์ ที่ชาวโลกเขากล่าวกันว่า

“ท่านเข้าสู่นิพพานไปแล้ว” ท่านจะเห็นนิพพาน เป็นพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เห็นครูอาจารย์และจะเห็นตัวเองที่นั่น แล้วหายสงสัยโดยประการทั้งปวง ที่นั่น คือสติปัฏฐานสี่ สัจจะธรรมสี่ และใจที่มีมหาสติ มหาปัญญาคุ้ยเขี่ยทั่วถึงจนเป็นธรรมของจริงๆล้วนๆ ขึ้นมา สติปัฏฐานสี่ คือ ๑.ร่างกาย ๒.เวทนา ที่มีในกาย ในจิต  ๓.ที่เศร้าหมอง หรือว่าผ่องแผ้ว ๔.ความคิดที่เป็นกุศล หรืออกุศล อธิบายว่า การใช้สติกำหนดดูในร่างกาย ในเวทนา ในจิต ในอารมณ์ ที่เกิดกับจิต เรียกว่า สติปัฏฐานสี่ สัจจะธรรมทั้งสี่ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อธิบายว่า ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ชื่อว่า ทุกข์ ความอยาก ความฟุ้งซ่าน ความรุ่มร้อนวุ่นวายภายในจิต ชื่อว่า สมุทัย จิตที่สงบ เบา ว่าง หรือวางอารมณ์ ชื่อว่า นิโรธ (เป็นนิโรธชั่วขณะ) สติปัญญา ที่ใช้กับการภาวนา ใช้คุ้ยเขี่ย เปรียบเทียบ ใคร่ครวญในหลักธรรมต่างๆ แล้วน้อมเข้ามาใส่กาย ใส่จิต จนเข้าใจหายสงสัยในเรื่องนั้นๆ ชื่อว่ามรรค

“โอวาทหลวงปู่มั่นนี้เป็นคำอธิบายที่ผู้เขียนเพิ่มเข้ามา คัดมาจากหนังสือปฏิทาของพระธุดงค์กรรมฐาน เขียนโดยพระอาจารย์มหาบัว  ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี

สติมีความหมายได้หลายอย่าง แต่ในที่นี่จะว่าได้ ๑๐ อย่าง คือ

๑.ยับยั้งอารมณ์ด้วยอารมณ์ กำหนดอารมณ์เบาๆ (คือ วางใจ ทำใจด้วยอารมณ์ ค่อยๆ ละมุนละไม)

๒.ทำใจให้สบาย ทำใจดีๆ

๓.แยกกาย แยกจิต แยกอารมณ์

๔.กำหนดเอาจิตเป็นอารมณ์ ทำใจให้นิ่ง

๕.ว่าคำบริกรรม

๖.จับร่างกาย  เพ่งอารมณ์ เช่นมือ แขน เพ่งเบาๆ (ทำใจให้นิ่งในจุดที่จับนั้น)

๗.ปรับใจให้ผ่องใส ทำใจให้เบิกบาน

๘.เฝ้าดูอาการของจิต รักษาจิต

๙.รู้

๑๐.วางเฉย ทำปีติ

การใช้สติดับอารมณ์ทั้ง ๑๐ อย่างนี้ จงท่องให้ได้แล้วทำสลับสับเปลี่ยนไปจนชำนาญทุกๆข้อ

วิธีการดับอารมณ์ทำใจให้สงบ ทำใจให้เย็น พึงปฏิบัติดังต่อไปนี้

                        ๑.ในขณะใดที่มีความคิดเกิดขึ้น เช่นคิดไม่พอใจกับบุคคลหนึ่ง ที่หนึ่ง หรือว่า จิตดิ้นรนกระสับกระส่าย หรือจิตมีความรำคาญ อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ให้พึงยับยั้งใจไว้เบาๆ ทำใจเฉยๆ ไว้ก่อนอย่าวู่วาม คือ กำหนดสติเบาๆ ค่อยๆนั่นแหละไว้ในที่ใด ที่มีความรู้สึกสัมผัสกับสิ่งอื่น เช่นเวลานั่ง เวลานอน ยืน เดิน ร่างกายมีความรู้สึกที่ใด จงกำหนดสติเบาๆ ไปที่นั้น ที่มีความรู้สึกแล้วปรับอารมณ์ให้ดี จนรู้สึกว่าสบาย หรือจะปรับจนใจมีปีติยิ่งดีมาก ลบลืมเรื่องนั้นๆได้ นี่แลเรียกว่า “ดับอารมณ์” หรือว่าจะใช้วิธีอื่นนอกจากนี้ก็ได้ เช่น จับที่มือ จับที่แขนก็ได้แล้วกำหนดอารมณ์เบาๆ ตะล่อมให้เป็นจุดเล็กๆ เพื่อจะรู้ว่าจิตร้อนน้อย หรือร้อนมาก จิตแห้ง จิตวุ่นวายขนาดไหน เมื่อทราบแล้วก็ทำใจให้สบาย ทำใจให้เย็นให้ชุ่ม ให้ใจมีปีติ จงทำให้ได้อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าทำได้แต่ไม่ดี จงทำใหม่ให้ดี ไม่ดีอย่าเอา ทำจบดีอย่ายอมแพ้ การดับอารมณ์ต้องทำอย่างนี้

                        ต่อไปนี้จะกล่าวถึงฐานของจิต ฐานของจิตอยู่ตรงหน้าผาก หรือที่ลิ้นปี่ การสมมติฐานขึ้นมา ก็เพื่อมีไว้สำหรับตรวจดูจิตว่า ขณะนี้เราเป็นอย่างไร ร้อนมาก ร้อนน้อย แห้งผาก รำคาญ วุ่นวายแค่ไหน สงบมาก สงบน้อย เย็นน้อย เย็นมาก ชุ่ม หรือว่ามีปีติ ฐานของจิตมีไว้เพื่อประโยชน์อย่างนี้แล

                        การปรับอารมณ์แบบ แยกกาย แยกจิต แยกอารมณ์ อธิบายความว่า ได้แก่การกำหนดอารมณ์ให้เป็นหนึ่ง คือว่า เมื่อมีความเจ็บ ความปวด ในร่างกายเกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่ง พึงกำหนดจิตย้ายออกไปที่อื่น ที่ไม่มีความเจ็บปวด จงพยายามย้ายออกไปด้วยการวางอารมณ์เบาๆ จงใช้อารมณ์แบบละมุนละไม ถ้าทำไม่ได้ จงทำให้ได้ให้เป็นอย่าท้อแท้ การปรับอารมณ์แบบนี้ ก็เพื่อจะได้รู้ว่า

๑.เป็นการบรรเทาความเจ็บปวด

๒.เพื่อจะได้รู้ว่า ร่างกาย ก็เป็นส่วนหนึ่ง จิตก็เป็นส่วนหนึ่ง อาศัยซึ่งกันและกัน โดยที่ร่างกายก็ไม่รู้อะไรเลย จิตเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ตนเองเป็นส่วนหนึ่ง แต่อาศัยเขาอยู่ เพราะเหตุที่จิตไม่รู้นี้แล จึงมีวิธีการปฏิบัติให้จิตได้รู้ ได้เข้าใจตัวเองเป็นการแก้ความหลงไปได้เรื่องหนึ่ง การใช้สติแบบแยกกาย แยกจิต แยกอารมณ์ ผู้ปฏิบัติต้องทำจนชำนาญ ทำจนเข้าใจหายสงสัยจึงใช้ได้ การใช้สติดับอารมณ์ทั้ง ๑๐ ประการตามที่กล่าวอยู่นี้ พึงทำให้ได้ ทำให้เป็นทุกๆอิริยาบถเถิด เมื่อทำการดับอารมณ์ได้ดี การทำสมาธิก็เป็นของง่าย การทำสมาธิสงบ หรือว่า ไม่สงบ อยู่ที่การดับอารมณ์นี้

๒.การดับอารมณ์เพื่อค้นหาต้นเหตุ (การฆ่าอารมณ์ การฆ่ากิเลส) มีวิธีปฏิบัติเหมือนอย่างข้อที่หนึ่ง คือมีการดับอารมณ์ได้ดี อธิบายความว่า ถ้าผู้ภาวนาต้องการจะหาต้นเหตุในเรื่องใด จงดับอารมณ์ในเรื่องนั้นให้มันลบลืมไปเหมือนกับว่าไม่มีเรื่องอะไรๆ เกิดขึ้นในหัวใจเลย กำหนดดูฐานของจิตก็มีแต่ความสบายไม่รุ่มร้อน มีแต่ความชุ่มฉ่ำ จะคิดอะไรก็ไม่อยากพิจารณา จะใคร่ครวญก็ไม่อยากใคร่ครวญ จิตจะเฉยๆ ถ้าว่า จิตของผู้ภาวนาเป้นอย่างนี้ ในขณะที่ดับอารมณ์เสร็จแล้วใหม่ๆ ในขณะนั้นจงค้นหาเหตุเถิด ขณะค้นหาพยายามใช้สติครอบคลุมจิตไว้ อย่าให้อารมณ์อื่นๆ ภายนอกแทรกเข้ามาในจิตได้ ถ้าอารมณ์ภายนอกไม่มีแทรกแซงเข้ามา จงค้นหาเถิด แต่พยายามอย่าใช้เวลามาก ถ้ามากจะเสีย คือว่า จะเป็นสัญญาอารมณ์ จะเป็นการด้นเดาไป จะทำให้มีอารมณ์ภายนอกแทรกแซงเข้ามา เพราะฉะนั้น จงใช้เวลาชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น ถ้าว่า การค้นหาเหตุเข้าใจจะมีความรู้ ความเข้าใจดังนี้ คือ ๑.จิตเห็นโทษของตนเองที่เห็นผิด เข้าใจผิด ๒.จิตจะมีความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งหายสงสัยในเรื่องที่ตนค้นหาเหตุนั้น ๓.จิตจะเกิดสังเวชสลดใจในความหลง ความไม่ดีของจิตเอง

การดับอารมณ์ค้นหาเหตุไม่ได้ผลมีข้อผิดพลาดดังนี้คือ ๑.การดับอารมณ์ในเรื่องนั้นๆ ไม่ดีพอ คือ ดับอารมณ์ไม่สามารถกลบเรื่องนั้น และเรื่องอื่นๆได้  ๒.ในขณะที่คลี่คลายและกำลังจะคลี่คลายมีอารมณ์อื่นๆแทรกแซงเข้ามา เพราะสติครอบคลุมจิตไว้ไม่ดี อารมณ์ภายนอกจึงรั่วไหลเข้ามาได้ ๓.จิตไม่ได้คติธรรม ไม่ได้ความรู้แจ่มแจ้งไม่หายสงสัย เรียกว่า รู้แบบสัญญาอารมณ์

หมายเลขบันทึก: 349950เขียนเมื่อ 6 เมษายน 2010 11:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวัสดีค่ะพอลล่ากำลังฝึกฝนค่ะ

แวะมาเยี่ยมค่ะ

สติมา ปัญญาเกิดค่ะ...ขอบคุณนะคะ...

การฝึกปรับอารมณ์แบบ แยกกาย แยกจิต แยกอารมณ์ นำไปใช้กับผู้ป่วยเรื้อรังได้ค่ะ

มาอีกรอบมาส่งความสุขวันสงกรานต์ค่ะ http://gotoknow.org/blog/manorom/351155

 

ดอกไม้สวยมากขอรับ พรทั่วหล้า

 

สวัสดีปีใหม่ไทยขอรับ By Jan ตามไปชื่นชมความงามแห่งดอกไม้แล้วขอรับ สวยงามจริง ๆ

 

ดึกแล้วพักผ่อนเถอะ...รักษาสุขภาพค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท