เรื่องเล่าระหว่างวันที่ ๒๙ มีนาคม - ๒ เมษายน ๒๕๕๓


 

๓  เมษายน  ๒๕๕๓

เรียน  เพื่อนครูและผู้บริหารที่รักทุกท่าน

วันจันทร์ที่  ๒๙  มีนาคม  ๒๕๕๓  เช้านี้ไม่ได้เข้าที่ทำงาน ทั้งที่มีกิจกรรมประชุมของครูในกลุ่มเครือข่ายที่อำเภอลาดหลุมแก้วและอำเภอคลองหลวง  ได้มอบท่านรองฯ ที่กำกับดูแลเครือข่ายไปเป็นประธานแทน  ตัวเองเดินทางไปโรงแรมรอยัลริเวอร์ เชิงสะพานกรุงธน เพื่อประชุมเครือข่ายการส่งเสริมวินัยและนิติการ ของ สพร.สพฐ.  ได้นัด ผอ.สพท.และบุคลากรในสำนักงานเขตที่ตั้งเครือข่าย ๑๘ แห่งมาทำรายละเอียดการอบรมที่จะจัดขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ ในเดือนพฤษภาคมนี้   ดร.พิษณุ  ตุลสุข  ผอ.สพร. ได้มอบนโยบายให้ที่ประชุมรับทราบ  ผมทำหน้าที่ประธานการประชุมและชี้แจงรายละเอียดของโครงการ ร่วมกับท่านรองฯ ลั่นฤทธิ์  วิเศษศักดิ์ และท่านรองฯ สันติ  รุ่งสมัย  เป็นการแลกเปลี่ยนความเห็น สลับการฟังประสบการณ์จากนิติกร สพฐ. ตลอดทั้งวัน  พรุ่งนี้นัดหมายแบ่งกลุ่มกันทำโครงการอบรมแต่ละภูมิภาค  เป็นการเตรียมงานอบรมให้เรียบร้อยและบรรลุตามวัตถุประสงค์  กำหนดเป้าหมายไว้ว่าจะมีผู้จบกฎหมายมาเป็นเครือข่ายของ สพฐ.ในภูมิภาค เครือข่ายละ ๓๐ คนโดยประมาณ เพื่อรองรับงานในอำนาจหน้าที่ของ เลขาธิการ กพฐ. ในเรื่องวินัยข้าราชการ ขากลับมาแวะห้างโลตัสบางใหญ่ เพื่อเปลี่ยนอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ ได้พบเพื่อนครูจากชุมพร เข้ามาทักทาย เคยเป็นครูโรงเรียนวัดสุบรรณนิมิตร ซึ่งเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด ย้ายมาอยู่กับลูกชายที่บางใหญ่  โลกนี้ไม่ได้กว้างอย่างที่คิด  หากอยู่กันด้วยจิตไมตรี พบกันอีกครั้งเพียงคำทักทายดูโลกสดใสน่าอยู่ขึ้นมาก

วันอังคารที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๓  เวลา ๐๙.๐๐ น. เดินทางไปถึงหอประชุมโรงเรียนปทุมวิไล เพื่อเปิดประชุมปฏิบัติการของกลุ่มเครือข่ายโรงเรียนอำเภอเมืองปทุมธานี เครือข่าย ที่ ๙และ๑๐  สหกรณ์ออมทรัพย์ครูปทุมธานี จำกัด สนับสนุนงบประมาณ  หลังเปิดอบรมได้พูดคุยกับเพื่อนครูที่มาประชุมในวันนี้ในเรื่องการใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ ของเดิมคือหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๔๔ ซึ่งกำหนดมาตรฐานช่วงชั้น ให้ตัวอย่างสาระการเรียนรู้  กำหนดเวลาเรียนรวมแต่ละปี  สถานศึกษาเป็นผู้กำหนดเกณฑ์การวัดประเมินผลทั้งหมด แต่หลักสูตรใหม่ได้ปรับปรุงให้มีการกำหนดวิสัยทัศน์ คุณลักษณะอันพึงประสงค์ สมรรถนะสำคัญ ตัวชี้วัดชั้นปี(ม.๑-ม.๓) กำหนดสาระการเรียนรู้แกนกลาง กำหนดเวลาเรียนขั้นต่ำแต่ละกลุ่มสาระในแต่ละปี ส่วนกลางจะกำหนดเกณฑ์วัดและประเมินผลกลาง กลับสำนักงานทำงานเอกสารเกี่ยวกับการอนุมัติเบิกจ่ายเงิน sp2 ของโรงเรียนต่อเนื่องจนเย็น  วันนี้มีโรคผวาโทรศัพท์เกิดขึ้น เพราะรับสายครั้งใด จะถูกฝากเด็กเข้าโรงเรียนดังทันที ที่ผวาเพราะฝากให้เขาไม่ได้  ผู้อำนวยการโรงเรียนก็ไม่ทราบข่าวคราวว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร คงเป็นโรคเดียวกับ ผอ.เขต. ในญี่ปุ่นไม่มีโรคนี้ระบาด เพราะคุณภาพของโรงเรียนใกล้เคียงกันมาก จึงสามารถออกระเบียบให้ผู้ปกครองต้องส่งเด็กเข้าเรียนในโรงเรียนใกล้บ้าน และเขาเองก็ไม่รู้สึกว่าจะไปเรียนที่อื่นทำไม เมื่อมีโรงเรียนดีอยู่ใกล้บ้านแล้ว  บ้านเราคงต้องใช้เวลาอีกนานแสนนาน ช่องว่างระหว่างโรงเรียนกว้างพอ ๆ กับช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย  ขณะนี้กลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษากำลังตั้งโต๊ะให้ผู้ปกครองที่เด็กยังไม่มีที่เรียนมาลงชื่อเพื่อให้เขตจัดหาที่เรียนให้ทั้งระดับ ม.๑ และ ม.๔ มีผู้มาแสดงความจำนงมากเหมือนกัน

 

วันพุธที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๓  เช้านี้มีประชุมรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตและผู้อำนวยการกลุ่ม ที่ห้องประชุมชั้น ๒ เพราะไม่ได้ประชุมมาหลายเดือน ด้วยอยากจะให้อยู่กันพร้อมหน้ากัน จวบจนวันนี้ก็เป็นจริงยาก เพราะราชการมากเกินกว่าจะปลีกตัวมาประชุมกันได้  หัวข้อประชุมได้เน้นเรื่องการบริการครู การมอบให้รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตเป็นผู้แทนในการทำงานร่วมกับนายอำเภอ การมอบให้ประธานเครือข่ายร่วมกิจกรรมกับนายอำเภอ  การพิจารณาความดีความชอบ ครั้งนี้มี ๒ ระบบ คือระบบเดิมที่ใช้กับข้าราชการครู และ ระบบ ก.พ. ที่นำมาใช้กับบุคลากรตามมาตรา ๓๘ ค(๒)  ระบบเดิมยังยึดโควตา ๒ ขั้น ๑๕ % ระบบ ก.พ. เน้นผลงานและร้อยละในการเลื่อนขั้นเงินเดือน ระหว่างเงินเดือนขั้นต่ำสุดไปจนถึงขั้นสูงสุด ไม่มีขั้นเงินเดือนเหมือนของครูเราปัจจุบัน  การรักษาความปลอดภัยสถานที่ราชการให้ปรับกล้องรับสัญญาณให้ครอบคลุมพื้นที่ จัดตั้ง เพิ่มจอแสดงผลที่ห้องยามพร้อมต่อเคเบิ้ลทีวีให้ดูหนังฟังเพลงได้ทั้งคืน จะได้ไม่หลับยาม   บ่ายประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาเงินเดือน เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและวงเงิน ต้องยอมรับว่าสำหรับบุคลากรตามมาตรา ๓๘ ค.(๒) เป็นเรื่องใหม่จึงต้องอ่านต้องศึกษาให้รอบคอบ แต่ละกลุ่มงานเป็นผู้ประเมินข้าราชการในกลุ่มโดยคำนึงถึงปริมาณงานและคุณภาพของงาน ผลสำเร็จตามตัวชี้วัดและวงเงินที่ได้รับจัดสรรเบื้องต้น ๒.๘ % จะมีเงินไว้ส่วนหนึ่งในการปรับมาตรฐานการเลื่อนขั้นให้เป็นธรรมระหว่างกลุ่มงานประมาณ ๐.๑ % ความดีความชอบของผู้บริหารโรงเรียนจะให้รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตที่ดูแลเครือข่ายประเมินเบื้องต้นประกอบการพิจารณาของผู้อำนวยการสำนักงานเขต  เลิกประชุมขึ้นไปทำงานเอกสารต่อจนเย็น

 

วันพฤหัสบดีที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๓  เช้ากำหนดการเดิมต้องเปิดการประชุมครูเรื่องการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาที่โรงเรียนคลองบ้านพร้าว ในเวลา ๐๙.๐๐ น. และไปเปิดการจัดค่ายพัฒนาศักยภาพด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ค่าย 1 สำหรับนักเรียนรุ่นที่ 2 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในเวลา ๐๙.๓๐ น. เห็นเวลากระชั้นเกินไปจึงสลับไปเปิดงานที่มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์  แล้วกลับมาโรงเรียนคลองบ้านพร้าว ให้เขาปฐมนิเทศกันไปก่อน  นักเรียนที่มาอยู่ค่ายเป็นผู้ที่กำลังเรียนอยู่ในระดับมัธยมศึกษา จำนวน ๓๐ คน มีครูและผู้ปกครองมาร่วมพิธีเปิดด้วย คณะวิทยาศาสตร์รับผิดชอบด้านกิจกรรมค่ายร่วมกับศึกษานิเทศก์  รศ.ดร.สมบัติ คชสิทธิ์ อธิการบดีได้มากล่าวต้อนรับ ท่านยินดีจะทำ MOU กับเขตของเราในการพัฒนาครูและนักเรียน นักเรียนกลุ่มนี้เรียนเก่งจนขาดสังคมไป การอยู่ค่ายทำกิจกรรมร่วมกันจะช่วยให้เกิดสมดุลในการปรับอารมณ์และสังคม เดินทางกลับมาโรงเรียนคลองบ้านพร้าว ของท่าน ผอ.สำเริง ทองมอญ ได้กล่าวเปิดและพูดคุยประมาณ ๔๐ นาที ตามกำหนด มีครูในเขตอำเภอสามโคกและคลองหลวงบางส่วนมาร่วมโครงการ  โรงเรียนคลองบ้านพร้าววางผังอาคารได้ดี วันนี้ไม่มีเวลาเดินชมทุกอาคาร ในอนาคตหากห้องเรียน ม.ปลายมีไม่เพียงพอกับนักเรียน โรงเรียนคลองบ้านพร้าวเป็นเป้าหมายหนึ่งที่จะเปิดรองรับ รูปแบบอาจร่วมกับ อบจ. หรือ กศน. หรือเปิดขยายระดับชั้นเรียนเองค่อยว่ากันอีกขั้นตอนหนึ่ง เขาเลี้ยงข้าวกลางวัน  อิ่มแล้วเดินทางกลับเขต ทำงานแฟ้มเอกสารเกี่ยวกับการอนุมัติเบิกจ่ายเงินงบประมาณเป็นส่วนใหญ่ สลับกับการปรึกษาหารือเรื่องสอบวัดศักยภาพของครูในวันที่ ๗ และ ๘ เมษายนนี้ วิตกว่าครูจะเดินทางไปต่างจังหวัดจนไม่สามารถกลับมาสอบได้ ถึงอย่างไรก็ต้องดำเนินการสอบให้เป็นไปตามที่ สพฐ. กำหนด   

วันศุกร์ที่ ๒  เมษายน ๒๕๕๓  เช้าเข้าที่ทำงานแวะสโมสรรับฟังข้อมูลการกันตำแหน่งว่างไว้คัดเลือกพนักงานราชการและลูกจ้างเพื่อบรรจุเป็นครู เท่าที่ฟังทราบว่าจำนวนคนที่มีสิทธิ์คัดเลือกใกล้เคียงกับตำแหน่งว่างที่กันไว้  คงจะดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนเปิดภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๕๓ เวลา ๑๐.๐๐ น. บรรยายพิเศษให้ครูโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ทั่วประเทศ ๑๒ แห่ง ที่มาประชุมทบทวนหลักสูตรเพื่อนำสถานศึกษาเข้ามาตรฐานสากลที่โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัยปทุมธานี อำเภอลาดหลุมแก้ว โรงเรียนอยู่กลางทุ่งนาที่ข้าวกำลังเขียวขจี ห้องประชุมไม่มีเครื่องปรับอากาศ ความร้อนจึงรบกวนผู้เข้าประชุมจนดูหน้ามันเยิ้มกันถ้วนทั่ว โรงเรียนแก้ปัญหาโดยการเช่าพัดลมไอน้ำมาวางรอบหอประชุม พอผ่อนคลายไปได้บ้างแต่ไปเพิ่มเสียงรบกวนในการฟังการบรรยาย ท่าน ผอ.ศักดิ์ชัย ปัญหา บอกว่าถ้าติดแอร์ใช้งบประมาณ ๒ ล้านกว่า กลัวเรื่องค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้น ใช้เวลาคุยกับที่ประชุมประมาณ ๓๐ นาทีก็ลาเจ้าภาพเดินทางต่อไปยังโรงเรียนวัดบัวสุวรรณประดิษฐ์ซึ่งกำลังอบรมครูทั้งอำเภอลาดหลุมแก้วเรื่องการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา เมื่อวานได้มอบท่านรองฯชรินทร์  นุ่มแสง มาเปิดอบรม วิทยากรหลักเป็นศึกษานิเทศก์จากเขต อากาศค่อนข้างร้อนเหมือนกัน  ได้ปราศรัยกับครูประมาณ ๑๐ นาทีก็อำลากลับมาแวะทานก๋วยเตี๋ยวเจ้าเก่าตลาด ๑๐๐ ปีลาดหลุมแก้ว เจ้าของแก่มากแล้วได้ลูก ๆ มาช่วยกันปรุงช่วยกันขาย มีลูกค้าอุดหนุนจนโต๊ะไม่ว่าง ขากลับช่วยซื้อมะม่วงน้ำดอกไม้มาเลี้ยงลูกจ้างที่เขต เขาขายกิโลกรัมละ ๒๐ บาท อุดหนุนไป ๙ กก. บวกมะม่วงมันอีก ๑ กก.  บ่ายประชุมกรรมการกลั่นกรองพิจารณาการเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้างครั้งที่ ๑ (วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๓) เป็นการจัดสรรโควตาและวางหลักเกณฑ์ สำหรับโรงเรียนเมื่อคิด ๑๕% ตัวเต็มและเศษตั้งแต่ ๐.๗ ขึ้นไป ถือเป็นโควตาตัวจริง ต่ำกว่านั้นให้เสนอมาพิจารณาที่เขต   วันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๓ จะนัดประชุมอีกครั้งหนึ่ง  เย็นไปเดินที่ห้างเดอะมอลล์งามวงศ์วานเพื่อเพิ่ม Ram ให้กับ Notebook อีก ๒ G จากเดิมที่มี ๒ G อยู่แล้ว  โดยคาดหวังว่าจะเพิ่มความเร็วได้มากขึ้น เพิ่มแล้วมาลองใช้ดูก็ไม่เห็นความแตกต่างมากนัก แต่ประสิทธิภาพการแสดงผลทางการ์ดจอด้านกราฟฟิก เพิ่มจาก ๒.๙ เป็น ๓.๕ จากตัวเต็ม ๗.๙ ถือว่าได้มาตรฐานทั่วไป

                   นิทานก่อนลาสัปดาห์นี้เป็นนิทานไทยเรื่อง “นายพลกับเด็ก”  ครั้งหนึ่งมีนายพลต้องการที่จะข้ามแม่น้ำ เขาไม่แน่ใจว่าแม่น้ำนั้นลึกขนาดไหนและไม่แน่ใจว่าม้าของเขาจะสามารถข้ามแม่น้ำนี้ไปได้ เขาก็เลยมองไปรอบๆเพื่อขอความช่วยเหลือและพบเด็กชายตัวเล็กๆคนหนึ่งอยู่แถวนั้น ก็เลยถามความเห็นจากเด็กคนนั้น เด็กชายมองไปยังขนาดของม้าของนายพลและก็คิดอยู่ครู่หนึ่ง แล้วบอกกับนายพลอย่างเชื่อมั่นว่า นายพลและม้าของเขาสามารถข้ามแม่น้ำไปได้อย่างงปลอดภัย นายพลจึงเดินหน้าต่อไปเพื่อข้ามแม่น้ำบนหลังม้าของเขา เมื่อนายพลไปถึงกลางแม่น้ำ เขาก็พบว่าแม่น้ำนั้นลึกมากและเขากำลังจะจมน้ำ ด้วยความตื่นตระหนกเขาก็ตะโกนไปยังเด็กชายคนนั้นว่า “เจ้าจะต้องถูกลงโทษ”  เด็กผู้ชายตกใจและตอบกลับมาด้วยความไร้เดียงสาว่า “แหม ท่านนายพล ผมเคยเห็นเป็ดมันสามารถข้ามแม่น้ำได้ทุกวันไม่เห็นมีปัญหาอะไรเลย เป็ดมีขาสั้นกว่าม้าอีกแต่ทำไมถึงข้ามไปได้ละครับ”

กำจัด  คงหนู

ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปทุมธานี เขต ๑

 

หมายเลขบันทึก: 349100เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2010 19:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

หลักการของความสำเร็จ ถ้าคุณต้องการคำแนะนำ ก็ขอให้ขอคำแนะนำจากผู้รู้ แต่ขอให้แน่ใจว่าความคิดเห็นนั้นเป็นความคิดเห็นของผู้ที่รู้จริงในเรื่องนั้นๆ มิเช่นนั้น ท่านอาจจะเสียโอกาสได้

ผู้ใหญ่ในวงการศึกษาโดยเฉพาะรัฐมนตรีชอบทำให้วงการศึกษาแปลกแยก เช่นโรงเรียนในฝัน โรงเรียนดีประจำตำบล และโรงเรียนอื่น ๆ อีกมากมาย ถามว่าดีโรงเรียนเดียว หรืออาจจะ 10 โรงเรียน แล้ว อีก 50- 100 โรงเรียนจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กที่ขนาบด้วยโรงเรียนขนาดกลาง ใหญ่ หรือเอกชน จะอยู่อย่างไร น่าคิด ครูสอน 2 ห้องต่อคน เหมา 8 กลุ่มสาระวิชา ต้องทำงานพิเศษตามที่รับมอบหมาย จากต้นสังกัด นอกสังกัด ห้ามป่วยหรือลา เพราะขาด 1 คน เท่ากับ 30 เปอร์เซ็นต์ แล้วจะหวังอะไรกับคุณภาพเด็กนักเรียน แค่วัน ๆ นักเรียนไม่ทะเลาะกันก็พอแล้ว เป็นความหดหู่ของการศึกษาไทย ดูที่งบไทยเข้มแข็ง บางเรื่องไม่เห็นมีประโยน์ เช่น ครูประวัติศาสตร์ ครูกีฬา นาฎศิลป์ รวมถึงครูธุรการ 2 - 3 โรง ต่อคน บอกตรงๆ อยากส่งคืนเขตเพราะมันไม่ต่อเนื่อง บางโรงเรียนสร้างปัญหาให้ผู้บริหาร โดยเฉพาะลูกหลานครูทำตัวเป็นเทวดา อยากฝากผู้รับผิดชอบให้ดูแลเรื่องนี้ด้วย จะเป็นพระคุณและจะทำให้วงการศึกษาพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น

เห็นด้วยกับความคิดเห็นที่ 2 ค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องโรงเรียนในฝัน โรงเรียนดีประจำตำบล ฯลฯ เป็นการกระทำที่สวนทางกับนโยบายความเสมอภาคทางการศึกษา น่าจะกระจายงบประมาณไปยังโรงเรียนต่าง ๆ เพื่อให้คุณภาพการศึกษาของแต่ละโรงเรียนมีมาตรฐานใกล้เคียงกัน (เหมือนที่ญี่ปุ่นอย่างที่ท่านผอ.เขตเล่าให้ฟัง) ก็จะช่วยลดปัญหาเด็กฝาก เงินใต้โต๊ะ และการเฮโลไปแย่งกันเข้าโรงเรียนดัง ๆ ลดปัญหาการจราจรที่ต้องไปเรียนไกลบ้าน โอ๊ยปัญหาสารพัด คิดไปแล้วมันน่าน้อยใจ ขอเสนอความคิดเห็นนี้ผ่านท่านผอ.เขต ไปกราบเรียนผู้ที่อยุ่บนหอคอยงาช้างด้วยเจ้าค่ะ

ท่านผอ.เขตค่ะ อย่าลืมดูเอกที่มีการขยับบัญชีช้ามากนะค่ะ ตอนนี้อ่านหนังสือสอบใหม่แต่ก็ไม่รู้ว่าจะสอบได้ขึ้นบัญชีอีกเปล่า พวกเรารอท่านอยู่นะค่ะ จะมีการล้างบัญชีเหมือนเอกฟิสิกส์หรือเปล่าพวกหนูสอนวิทยาศาตร์ ม. ต้นได้ ขอบคุณค่ะ

การพัฒนาให้โรงเรียนมีมาตรฐานเท่าเทียมกันหรือแม้แต่ใกล้เคียงกันนั้นคงใช้เวลาอีกนานมาก จนอาจกล่าวได้ว่าชีวิตทั้งชีวิตนี้ของครูปัจจุบันไม่มีวันได้เห็นแน่นอน แต่การพัฒนาโรงเรียนต่าง ๆ บางส่วนไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนในฝัน โรงเรียนดีประจำตำบล โรงเรียนมาตรฐานสากล ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษาและอาจเห็นผลได้ในเวลาไม่นานนัก

สมัยนี้มีทฤษฎีการบริหารยุคใหม่ใช้วิธีต่อยอดเทียบเคียงมาตรฐานทั้งนั้น

โรงเรียนเล็กก็ต้องพัฒนาโดยอาศัยเทียบเคียงกับโรงเรียนดีทั้งหลายที่อยู่ใกล้ที่สุดนั่นแหละ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท