01 ประสบการณ์ทำวิจัยเชิงพื้นที่ ณ ตำบลคลองใหม่


ถ้าหากชาวบ้านต้องการสุขภาพดี ก็ให้มาหานักเทคนิคการแพทย์

         วันนี้ (1 เมษายน 2553) เป็นโอกาสดีที่ได้ทำวิจัยเชิงพื้นที่อย่างจริงจัง หลังจากที่ได้มีการประชุมกันก่อนหน้านี้มา 3-4 ครั้ง เพื่อวางแผนงานคร่าว ๆ ที่ผมบอกว่า ทำวิจัยเชิงพื้นที่นั้นเกี่ยวเนื่องกับการทำภาคนิพนธ์ (Term paper) ของผม  ซึ่งทางผมและคู่ทำภาคนิพนธ์ (partner) ของผม ก็เห็นสอดคล้องว่า ทำวิจัยเชิงพื้นที่น่าจะเป็นแนวทางที่ดีอย่างหนึ่ง ที่จะได้เป็นการเปิดประตูของวิชาชีพออกให้กว้างขึ้น จากเดิมที่เราจำกัดอยู่ในห้องปฏิบัติการเพียงอย่างเดียว 

 

         ครั้นจะว่าไปแล้ว ผู้ที่มีส่วนแนะนำที่สำคัญในการจุดประกายของการทำภาคนิพนธ์ในหัวข้อนี้ ก็คงไม่พ้นจากอาจารย์ที่ปรึกษาภาคนิพนธ์ คือ ศาสตราจารย์ ดร. วีระพงศ์  ปรัชชญาสิทธิกุล  ผู้ซึ่งได้ให้คำนิยามความสำคัญของนักเทคนิคการแพทย์ (Medical Technologist) ในอีกแง่มุมหนึ่งว่า "ถ้าหากชาวบ้านต้องการสุขภาพดี ก็ให้มาหานักเทคนิคการแพทย์" 

 

         จากข้อความข้างต้นนี้ ผมก็เห็นว่า ในอนาคตที่ผมจะเป็นนักเทคนิคการแพทย์ ก็มิใช่เพียงแต่ว่า  ทำงานในลักษณะรอคอยแก้ไขให้ชาวบ้านที่ป่วยได้หายป่วย  แต่เราควรที่จะป้องกันและส่งเสริมสุขภาพชาวบ้านให้ดี ไม่เป็นโรค  อย่างนี้ จะเป็นการช่วยประโยชน์ได้อย่างมาก

 

        ในวันนี้ ก็ได้ลงพื้นพี่ของตำบลคลองใหม่ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม โดยมี อาจารย์ ดร.รุ่งโรจน์, พี่ชาตรี และพี่เสวิกุล คอยให้คำปรึกษาแก่พวกผม ซึ่งประกอบด้วยเพื่อนของผมอีก 3 คน 

 

        พวกผมได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากชาวบ้านและองค์กรต่าง ๆ ในพื้นที่ อันได้แก่ อาสาสมัครสาธารณสุขมูลฐาน(อสม.), อบต.คลองใหม่, ชมรมผู้สูงอายุ คุณครูจากโรงเรียนในพื้นที่ และอีกหลายท่าน ...

 

        การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เราได้สอบถามจากบุคคลในพื้นที่ว่าชุมชนขาดอะไร และต้องการอะไร โดยได้มองใน 2 มุม คือ มุมมองด้านสุขภาพ และมุมมองด้านสิ่งแวดล้อม ประเด็นหลักที่ได้ คือ ในชุมชนยังขาดการส่งเสริมสุขภาพ และขาดความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม

 

         สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นได้ชัดเจน จากการสอบถามด้านสุขภาพ คือ ชาวบ้านมักจะบอกว่า ตนเองแข็งแรง ไม่เป็นโรคอะไร จึงไม่ไปตรวจสุขภาพ  นี่เหมือนเป็นตัวบ่งชี้บางอย่างว่า ชาวบ้านยังขาดความรู้ความเข้าใจด้านสุขภาพนั่นเอง... 

 

         อีกตัวอย่างหนึ่ง ผมถามว่า ทำไมชาวบ้านถึงไม่รักษาในโรงพยาบาลใกล้บ้าน เขาก็ตอบกลับว่า โรงพยาบาลทำงานช้า นั่งรอนาน 6-7 ชั่วโมง เมื่อยไปหมด ไม่ได้ตรวจสักที  ก็เลยไปตรวจที่คลินิคแทน...

 

         ทั้งหมดที่ผมได้กล่าวมา ก็พยายามที่จะนำเอาประสบการณ์บางส่วนจากการที่ได้ลงชุมชน ถึงแม้ครั้งนี้จะไม่ใช่ครั้งแรกก็ตาม แต่ก็อยากจะบันทึกไว้ถึงมุมมองของชุมชนที่มองมายังสุขภาพและผู้เกี่ยวข้องกับด้านนี้ เพื่อที่เราจะได้มองในมุมเดียวกับชาวบ้าน และสามารถจะปรับชีวิตของชาวบ้านให้ดีขึ้นได้

 

หมายเลขบันทึก: 348868เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2010 19:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2012 16:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • สวัสดีค่ะ
  • แวะมาทักทายและมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ค่ะ

             

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท