ครม.อนุมัติแถลงการณ์ผู้นำอาเซียนชูชูความร่วมมือยั่งยืน


ครม.อนุมัติร่างแถลงการณ์ผู้นำอาเซียนครั้งที่ 16 ชู 8 ประเด็นความร่วมมือทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคอย่างยั่งยืน

     นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม. วานนี้ (30 มี.ค.) ว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติร่างแถลงการณ์ของผู้นำอาเซียน เรื่องการฟื้นตัวเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในอาเซียน ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะประกาศแถลงการณ์ร่วมกับผู้นำอาเซียนในประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 16 วันที่ 5-9 เม.ย. 2553 ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม โดยแถลงการณ์ร่วมมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและยืนยันเจตนารมณ์ของอาเซียนต่อการฟื้นตัวจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจและการเงินโลก

     สาระสำคัญของแถลงการณ์ ประกอบด้วย 8 ประเด็นหลัก ได้แก่

1. ความร่วมมือเพื่อรักษาเสถียรภาพการเงินอย่างยั่งยืนในอาเซียน เช่น ส่งเสริมให้ติดตามภาวะเศรษฐกิจ โดยมีระบบเตือนภัยความเสี่ยงและความผันผวนการเงินในภูมิภาค ปฏิรูปกฎระเบียบการเงิน โครงสร้างและสถาบันการเงิน และสนับสนุนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจการเงินและการคลัง เพื่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อตลาดและแนวโน้มเศรษฐกิจดีขึ้น ให้ทบทวนนโยบายการเงินและการคลังที่เอื้อต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

2. ส่งเสริมการรวมกลุ่มเศรษฐกิจอาเซียน เช่น เร่งสร้างอาเซียนให้เป็นตลาดและฐานผลิตเดียวในปี 2558 และยึดมั่นแผนงานจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

3. สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเชื่อมโยงในภูมิภาค จัดทำแผนแม่บทเชื่อมโยงอาเซียน สนับสนุนการจัดสรรเงินให้โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ โดยดำเนินการภายใต้กลไกการกู้ยืมเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียน ตลอดจนศึกษาความเป็นไปได้ในการจัด ตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียน

4. ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น สนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจที่สมดุลและเท่าเทียม  โดยใช้หลักธรรมาภิบาล   นวัตกรรม เศรษฐกิจการเรียนรู้ และร่วมแก้ปัญหาโลกร้อน

5. ส่งเสริมเครือข่ายระบบประกันสังคมในภูมิภาค เพื่อส่งเสริมสวัสดิการและชีวิตความเป็นอยู่ของคนยากจน ให้ประเทศสมาชิกให้โอกาสในการจ้างงานให้เพียงพอแก่คนงาน รวมถึงความปลอดภัยและสุขภาพในสถานที่ทำงาน

6. สนับสนุนความร่วมมือด้านการศึกษาที่มีผลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและความสามารถแข่งขันของภูมิภาค

7. ส่งเสริมความร่วมมือกับภาคเอกชน เช่น ให้เอกชนมีส่วนร่วมเพื่อไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีเข้าสู่ตลาดอาเซียนและตลาดโลกมากขึ้น และ

8. ลดช่องว่างการพัฒนาในอาเซียน

หมายเลขบันทึก: 348442เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2010 09:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 22:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท