suthisak


เผยแพร่งานวิจัย การศึกษาเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน วิชา การสร้างสื่อบทเรียนคอมพิวเตอร์
สาขาวิชา   :   การงานอาชีพและเทคโนโลยี (คอมพิวเตอร์)
คำสำคัญ   :   สื่อประสม/สื่อประสมอิเล็กทรอนิกส์/การสร้างสื่อบทเรียน
คอมพิวเตอร์ช่วยสอน
เรื่องที่วิจัย :  การศึกษาเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน วิชา การสร้างสื่อบทเรียน
คอมพิวเตอร์ช่วยสอน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ระหว่างการใช้สื่อประสมอิเล็กทรอนิกส์กับ
การสอนปกติ
ผู้วิจัย        :   นายสุทธิศักดิ์  เคลือบสูงเนิน
ปีที่วิจัย      :   2551
  บทคัดย่อ
                การศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์  คือ 1) เพื่อพัฒนาสื่อประสม
อิเล็กทรอนิกส์ วิชา การสร้างสื่อบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ให้มีประสิทธิภาพ
ตามเกณฑ์ที่ผู้วิจัยกำหนด 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียน
ของนักเรียน ระหว่างการเรียนรู้โดยการใช้สื่อประสมอิเล็กทรอนิกส์กับการสอนปกติ  
3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อสื่อประสมอิเล็กทรอนิกส์  กลุ่มตัวอย่าง
ที่ใช้ในการศึกษา คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6โรงเรียนชลกันยานุกูล
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาชลบุรี เขต 1 อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี
ปีการศึกษา 2551 จำนวน 86 คน ได้มาโดยใช้วิธีการเลือกแบบเจาะจง
(Purposive Sampling) จากห้องเรียนที่มีการจัดชั้นเรียนที่มีนักเรียน เก่ง ปานกลาง
และอ่อนคละกันซึ่งเป็นห้องเรียนที่ผู้วิจัยได้รับมอบหมายในการสอน แล้วใช้วิธี
การสุ่มอย่างง่าย(Simple Random Sampling) ด้วยวิธีการจับสลากแบ่งเป็นกลุ่มทดลอง
หนึ่งห้องเรียน จำนวน 43 คน และกลุ่มควบคุมหนึ่งห้องเรียน จำนวน 43 คน 
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ สื่อประสมอิเล็กทรอนิกส์ วิชา การสร้างสื่อบทเรียน
คอมพิวเตอร์ช่วยสอน ซึ่งเป็นสื่อในลักษณะเว็บไซต์ที่ประกอบด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์
หลากหลายชนิดให้นักเรียนเลือกศึกษาด้วยตนเอง จำนวน 6 หน่วยการเรียนรู้
แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบฝึกหัด ใบมอบหมายงาน
และแบบสอบถามความพึงพอใจต่อสื่อประสมอิเล็กทรอนิกส์  หลังการทดลอง
นำผลที่ได้จากการศึกษามาวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยใช้โปรแกรม
Microsoft Excel  สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย 
ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าร้อยละ และค่าที (t-test Independent)

                ผลการศึกษา พบว่า  1) สื่อประสมอิเล็กทรอนิกส์ วิชา การสร้างสื่อ
บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน มีประสิทธิภาพ เท่ากับ 81.40 /82.77
เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด  2) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนของนักเรียนที่เรียนรู้
โดยการใช้สื่อประสมอิเล็กทรอนิกส์ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  สูงกว่านักเรียนที่เรียนรู้
โดยการสอนปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และ 3) นักเรียนมีความพึงพอใจ
ต่อสื่อประสมอิเล็กทรอนิกส์ในระดับ มากที่สุด เป็นไปตามสมมติฐานการวิจัยที่ตั้งไว้
หมายเลขบันทึก: 347958เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2010 12:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท