การพูด


นักพูดที่ดีจะต้องมีความสามารถหลายอย่างประกอบกัน

การพูด

  เป็นสื่อความหมายเดิมที่มนุษย์ใช้ติดต่อกันเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของผู้พูดไปสู่ผู้ฟัง ด้วยการใช้เสียงที่มีสื่อความหมาย ซึ่งเราเรียกว่า “คำพูด” รวมทั้งอากัปกิริยาท่าทางและน้ำเสียงเป็นสื่อ

   มารยาทในการพูด

1. ในการพูดต้องรู้กาลเทศะว่า เมื่อใดควรพูด เมื่อใดไม่ควรพูด เช่น ขณะรับประทานอาหาร ไม่ควรพูดเรื่องน่าเกลียด น่ากลัว สยดสยอง งานมงคลไม่ควรพูดเรื่องโศกเศร้า

2. พูดด้วยกิริยาที่อ่อนน้อมถ่อมตัว

3. ไม่พูดสอดแทรกหรือขัดจังหวะผู้อื่น ต้องรอให้ผู้อื่นพูดจบข้อความเสียก่อนแล้วจึงพูดต่อ

4. เรื่องที่พูดนั้นควรเป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายสนใจ พอใจร่วมกัน เช่น ข่าวเหตุการณ์ที่เป็นที่สนใจ

5. พูดตรงประเด็นอาจจะออกนอกเรื่องได้บ้างเล็กน้อย เพื่อผ่อนคลายอารมณ์

6. เคารพในสิทธิและความคิดเห็นผู้อื่นตามสมควร ไม่พยายามข่มให้ผู้อื่นเชื่อถือหรือคิดเหมือนตนหรือแสดงว่าตนรู้ดีกว่าผู้พูดอื่น ๆ

7. ไม่กล่าวร้ายหรือนินทาผู้อื่น หลีกเลี่ยงการใช้คำที่แสดงการดูหมิ่นผู้ที่เราพูดด้วย ในขณะที่พูดควรวางตัวให้สุภาพเรียบร้อย ไม่แสดงว่าตนรู้ยกตนข่มท่าน

8. ต้องควบคุมอารมณ์ในขณะสนทนา หลีกเลี่ยงการใช้คำโต้แย้งรุนแรง

9. พูดด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส แสดงไมตรีจิตต่อกัน และแสดงความสนใจในเรื่องที่พูดด้วยท่าทางมีชีวิตชีวา

10. ใช้ภาษาสุภาพ ถ้าใช้คำคะนองบ้างก็ให้พอเหมาะแก่กาลเทศะและผู้ฟัง

11. ใช้เสียดังพอควร ไม่ตะโกน ไม่ใช้เสียงกระด้างหรือเสียงเบาเกินไป

12. ขณะที่พูดควรมองหน้าสบตาผู้พูดอีกฝ่ายหนึ่ง และต้องตั้งใจฟังคำพูดของผู้พูดอื่น ๆ และไม่กระซิบกระซาบกับคนนั่งข้างเคียง

     คุณสมบัติของนักพูดที่ดี

  นักพูดที่ดีจะต้องมีความสามารถหลายอย่างประกอบกันดังนี้

1. มีบุคลิกภาพน่าเชื่อถือ เช่น แต่งกายเหมาะสมกับโอกาส หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสเป็นกันเอง หรือบางครั้งอาจจะจริงจังบ้าง ตามควรแก่กรณี ใช้ท่าทีและท่าทางดีมีสง่าใช้อากัปกิริยาประกอบคำพูดเหมาะสม

2. มีความรู้ในเรื่องที่จะพูดเป็นอย่างดีเพื่อช่วยให้คำพูดมีความหนักแน่น มีน้ำหนัก มีความมั่นใจและสามารถแสดงหลักฐานอ้างอิงได้ถูกต้อง

3. มีวัตถุประสงค์แน่ชัด เช่น พูดเพื่อสนทนากันตามปกติเพื่อสังสรรค์ เพื่อความบันเทิง เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อปรึกษาหารือเพื่อธุระ เพื่อแก้ปัญหา เมื่อมีวัตถุประสงค์ในการพูดแน่ชัดแล้ว ก็จะเกิดการสื่อสารที่ดีขึ้นได้ตามควรแก่โอกาส

    หลักการของการพูด

  มีผู้ให้หลักเกณฑ์ไว้หลายแบบด้วยกัน แต่ก็มีแนวคล้าย ๆ กันแต่จะขอยกแนวทางอย่างย่อ ๆ มาให้พิจารณาเป็นหลักยึด ดังต่อไปนี้

 หลักสิบประการของสมาคมฝึกการพูดแห่งประเทศไทย

  1.  
    1. จงเตรียมพร้อม
    2. จงเชื่อมั่นในตัวเอง
    3. จงปรากฏตัวอย่างสง่าผ่าเผย
    4. จงพูดโดยใช้เสียงอันเป็นธรรมชาติ
    5. จงใช้ท่าทางประกอบการพูดให้พอเหมาะ
    6. จงใช้สายตาให้เป็นผลดีต่อการพูด
    7. จงใช้ภาษาที่ง่ายและสุภาพ
    8. จงใช้อารมณ์ขัน
    9. จงจริงใจ
    10. จงหมั่นฝึกหัด

    การปฏิบัติตนขณะพูด

  เมื่อผู้พูดเตรียมตัวมาดีแล้ว ถึงเวลาที่จะพูดควรปฏิบัติตนดังต่อไปนี้

1. ตรงต่อเวลา ต้องไปถึงที่ที่จะพูดก่อนเวลาเล็กน้อย เพื่อเตรียมตนเองให้มีความมั่นใจ ไม่ตื่นเวที

2. การเดินสู่ที่พูด ต้องเดินอย่างองอาจ แสดงความมั่นใจในตัวเอง

3. การแต่งกาย สุภาพ เรียบร้อย ไม่ควรสวยหรือเด่นเกินไป เพราะผู้ฟังจะหันมาสนใจการแต่งกายของผู้พูดมากกว่าเรื่องที่พูด

4. ให้เกียรติผู้ฟัง

5. การใช้สายตา ไม่ควรมองต่ำหรือมองไปข้าง ๆ หรือมองชั้นบน ควรกวาดสาตามองให้ทั่ว

6. ภาษาพูด ใช้ภาษาสุภาพ ควรมีอารมณ์ขันแทรกบ้าง หน้าตายิ้มแย้มแต่ไม่สนุกจนลืมเนื้อหา

7. อุปกรณ์ประกอบการพูด จะช่วยให้เรื่องน่าสนใจมากขึ้น ควรเตรียมการใช้ให้พร้อม

8. เอกสาร หรือบันทึกย่อเพื่อเตือนความทรงจำขณะพูด

9. ต้องมีไหวพริบ

10. ไม่พูดแข่งเสียงปรบมือหรือเสียงหัวเราะ

11. รักษาเวลา

12. การจบ ควรจบแบบทิ้งท้ายให้คิด ไม่ควรจบห้วน ๆ จบด้วยเนื้อหาและน้ำเสียงที่ประทับใจ

    การเตรียมการพูดต่อหน้าชุมชน

   การพูดกับกลุ่มผู้ฟังที่มีจำนวนมาก จำเป็นต้องมีการเตรียมตัวให้ดี เพื่อให้การพูดในครั้งนั้นสัมฤทธิ์ผล มีขอบข่ายการเตรียมดังนี้

1. การวิเคราะห์ผู้ฟัง คือผู้พูดต้องทราบข้อมูลเกี่ยวกับเพศ วัย พื้นฐานการศึกษา ความสนใจ อาชีพ ทัศนคติ และสถานะทางเศรษฐกิจของผู้ฟังเพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการเตรียมตัวพูดให้เหมาะสมกับผู้ฟังส่วนใหญ่

2. การตั้งจุดประสงค์ การพูดแต่ละครั้งต้องตั้งจุดประสงค์ว่าจะพูดเพื่ออะไรจึงจะได้เตรียมเนื้อหาได้ตรงจุดหมาย

3. การเลือกเรื่อง ถือว่าเป็นหัวใจของการเริ่มต้น ควรเลือกเรื่องให้สอดคล้องกับผู้ฟัง โอกาส กาลเทศะ และจุดมุ่งหมายในการพูด

4. การรวบรวมเนื้อหา เป็นการนำข้อมูล จากการศึกษาค้นคว้ามาจัดลำดับหมวดหมู่ให้เหมาะสมก่อนนำไปพูด

5. การวางโครงเรื่อง เป็นการนำข้อมูลมาจัดระเบียบและเรียบเรียงเนื้อเรื่องที่จะพูดโดยจัดเนื้อหาสาระสำคัญออก 3 ส่วน คือ คำนำ เนื้อเรื่อง และบทสรุป

6. การขยายความ คือการใช้ข้อความที่เป็นข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น ภาษิต คำคม มาช่วยให้ทำให้โครงเรื่องละเอียด พิสดาร ชัดเจน และมีความต่อเนื่องกัน

7. การใช้ถ้อยคำ คือการที่ผู้พูดรู้จักเลือกใช้ถ้อยคำ ภาษา สำนวน โวหาร ได้ถูกต้องตามระเบียบแบบแผน และเหมาะกับกาลเทศะและบุคคล

8. การฝึกพูด คือการทดลองหรือฝึกซ้อมก่อนการพูดจริงเพื่อให้เกิดความพร้อม และมีความเชื่อมั่นในตนเองยิ่งขึ้น

หมายเลขบันทึก: 347594เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2010 18:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ..ยินดีที่ได้รู้จักเพื่อนใหม่น่ะค่ะ

ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันน่ะค่ะ

ชวนไปดูการพูดของครูบันเทิงกับคนดังแวดวงการแพทย์ค่ะ..ตามมาน่ะค่ะ..

ไอติมคลายร้อนซักถ้วยมั๊ยค่ะ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท