เรื่องเล่าระหว่างวันที่ ๒๒ - ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๓


 

๒๗  มีนาคม  ๒๕๕๓

เรียน  เพื่อนครูและผู้บริหารที่รักทุกท่าน

วันจันทร์ที่ ๒๒ มีนาคม  ๒๕๕๓  เช้านี้มีประชุมการจัดทำแผนอัตรากำลังความต้องการครูของสถานศึกษา ระยะเวลา ๑๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๕๓ – ๒๕๖๒) ที่ห้องประชุมชั้น ๒ สพท.ปทุมธานี เขต ๑ เป็นโครงการตามนโยบายไทยเข้มแข็ง SP2   ได้มอบนโยบายให้ไปศึกษาข้อมูลย้อนหลัง ๑๐ ปี เพื่อพยากรณ์ว่า ๑๐ ปีข้างหน้าองค์การจะเป็นอย่างไร ในด้านกำลังคนคือครู ต้องหาข้อมูลปัจจุบันทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อวางแผนทดแทนในระยะเวลาดังกล่าว  มอบท่านรองฯ สมมาตร ชิตญาติ ดำเนินการต่อ  เดินทางไปโรงเรียนบุญคุ้มราษฎร์บำรุง  อำเภอคลองหลวง เพราะได้รับเชิญจากผู้อำนวยการโรงเรียน คุณชุมพล ยอดเจริญว่า จะมีการประชุมครูในวันนี้อยากให้ผมไปพบครูเพราะท่านเองก็เพิ่งย้ายมาใหม่ เห็นพอมีเวลาจึงไม่ขัดข้อง ชวนท่านรองฯประพฤทธิ์ บุญอำไพ ไปด้วยเพราะท่านรับผิดชอบในการกำกับดูแลโรงเรียนนี้ ถึงโรงเรียน ๑๑.๐๐ น. ได้พูดคุยกับเพื่อนครูในห้องประชุมชั้น ๒ อาคารเรียนหลังเก่า เป็นการชี้แจงให้กำลังใจในการทำงาน และการอยู่รวมกันอย่างครูเนื่องจากปัจจุบันผู้มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารโรงเรียนมากขึ้น บางครั้งมากจนขาดความสมดุล ที่สำคัญครูต้องคิดว่าโรงเรียนคือบ้านคือยุ้งฉางของเรา เป็นธรรมดาที่บางจังหวะเวลามีข้อขัดแย้ง มีหนูมียุงให้รู้สึกเครียดและรำคาญ แต่ถึงจะอย่างไรก็อย่าให้ถึงกับเผาบ้านไล่ยุงไล่หนู  เที่ยงเขาเลี้ยงข้าว ๑ มื้อ บ่ายกลับเข้าเขตเพื่อประชุม สกสค.จังหวัดปทุมธานี มีเรื่องพิจารณาในนัดนี้คือ การคัดเลือกผู้แทนสมาชิก ช.พ.ค.จังหวัด ส่งไปให้ สกสค. แต่งตั้งเป็นผู้แทนสมาชิกต่อไป  เลิกประชุมนั่งทำงานเอกสารที่ห้องสโมสร ให้เขานำแฟ้มลงมาให้ลงชื่อด้วยเบื่อจะขึ้นไปที่ห้องทำงานชั้น ๓  

วันอังคารที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ออกจากบ้านแต่เช้าตรู่เพื่อเข้ากระทรวงศึกษาธิการ เพื่อประชุมคณะทำงานจัดทำคู่มือพัฒนาเครือข่ายส่งเสริมการรักษาวินัยและนิติการระดับภูมิภาคของ สพฐ. เนื่องจากรอบ ๆ กระทรวงมีการชุมนุมของคนเสื้อแดง รถจึงติดยาวมาถึงฝั่งธนบุรี  เข้าจอดรถที่วัดมกุฎกษัตริยาราม ปกติจะมีรถจอดเต็มพื้นที่ วันนี้ค่อนข้างว่างเพราะถนนด้านหน้ากลุ่มคนเสื้อแดงยึดเป็นที่อาบน้ำ เขาใช้ผ้ายางสีขาวกั้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมเป็นแนวตลอดถนน เหลือช่องทางให้รถวิ่งเข้าลาดจอดเพียงช่องเดียว  ขึ้นไปทำงานที่ห้องประชุมชั้น ๖ อาคารสพฐ. ๒ มีทีมงานมาร่วมกันตรวจต้นฉบับหลายท่านด้วยกัน อาทิ คุณสันติ  รุ่งสมัย รอง ผอ.สพท.นครปฐม เขต ๒ คุณลั่นฤทธิ์ วิเศษศักดิ์ รอง ผอ.สพกทม. เขต ๑ คุณสุชาติ  ศรีสุวรรณ รอง ผอ.สพท.หนองบัวลำภู เขต ๒ คุณปรีชา บัวกิ่ง รอง ผอ.สพท.ชุมพร เขต ๑ คุณสุวรรณ นรพักตร์ รอง ผอ.สพท.พิจิตร เขต ๑ คุณสาโรจน์ บุตรเนียร นิติกรชำนาญการพิเศษ สพกทม.เขต ๒ คุณลออ วิลัย รอง ผอ.สพท.ลพบุรี เขต ๑ ในเบื้องต้นใครเขียนบทไหนก็ตรวจบทนั้น จากนั้นนำมาขึ้นจอให้ที่ประชุมพิจารณาอีกครั้งทั้งด้านภาษา ความถูกต้องตามตัวบทและความเหมาะสม แล้วแก้ไขกันไป ผมเขียนบทนำและบทส่งท้าย สมาชิกบอกว่าของประธานดีอยู่แล้วไม่ต้องแก้ บอกไปว่าไม่ใช่ของคนเขียน เป็นของทีมงาน อย่าเกรงใจตรงไหนไม่เหมาะก็ตัดต่อได้ เวลา ๑๖.๓๐ น.เลิกงานเดินทางเข้าสำนักงาน มีเรื่องให้สั่งการไม่มากนัก มีหนังสือเชิญไปเปิดอบรมครูและร่วมกิจกรรมในโรงเรียนและเครือข่ายหลายแห่ง น่าเสียดายไม่สามารถไปร่วมงานได้ จึงมอบท่านรองฯไปแทน ด้วยภารกิจที่ได้รับมอบจากท่านเลขาธิการ กพฐ. หาคนแทนไม่ได้และเวลาก็จำกัด หากเกิดความเสียหายหรือล่าช้า คงรับผิดชอบไม่ไหว  หนังสือร้องเรียนยังมีหลายฉบับ หากไม่หนักหนาสาหัสจะแจ้งให้โรงเรียนได้ชี้แจงมาให้ทราบ และทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง  ส่วนปัญหาระหว่างครูกับผู้บริหาร ยังมีให้เห็นอยู่บ้างในบางโรงเรียน ส่วนใหญ่เกิดจากความคับข้องใจ ความลำเอียง และอคติ ยิ่งใกล้ฤดูความดีความชอบ จดหมายน้อยมักจะเพิ่มขึ้นกว่าปกติ

วันพุธที่ ๒๔  มีนาคม  ๒๕๕๓  วันนี้สามารถนำรถเข้าไปจอดในกระทรวงศึกษาธิการได้ นับเป็นความสามารถที่น่าภูมิใจ เพราะปกติหาที่จอดไม่เคยได้  อาจเป็นเพราะข้าราชการในกระทรวงไม่อยากนำรถมาทำงานเพราะจราจรติดขัดกับกลุ่มประท้วง หรือประชาชนไม่ค่อยมาติดต่อราชการในช่วงนี้  ได้ประสานกับทางเขตในเรื่องการรับนักเรียนที่เปิดรับสมัครในวันนี้ไปจนถึงวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๓ ให้ท่านรองฯและศึกษานิเทศก์ช่วยประสานกับโรงเรียนแก้ปัญหาหากจะมีขึ้น และรวบรวมสถิติไว้เป็นรายวันและแยกเป็นรายโรงเรียน   งานเสร็จประมาณ ๑๕.๓๐ น. บทสรุปของผมจบลงด้วยพระบรมราโชวาทที่ว่า

“....กฎหมายนั้นไม่ใช่ตัวความยุติธรรม เป็นแต่เพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งสำหรับใช้ในการรักษาและอำนวยความยุติธรรมเท่านั้น การใช้กฎหมายจึงต้องมุ่งหมายใช้เพื่อรักษาความยุติธรรม ไม่ใช่เพื่อรักษาตัวบทของกฎหมายเอง และการรักษาความยุติธรรมในแผ่นดิน ก็มิได้มีวงแคบอยู่เพียงแค่ขอบเขตของกฎหมาย หากต้องขยายออกไปให้ถึงศีลธรรมจรรยา ตลอดจนเหตุและผลตามเป็นจริงด้วย...(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สอบไล่ได้วิชาความรู้ชั้นเนติบัณฑิต สมัยที่ 33 ปีการศึกษา 2523 ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร 29 ตุลาคม 2524)

“...กฎหมายทั้งปวงจะธำรงความยุติธรรมและถูกต้องเที่ยงตรง หรือจะธำรงความศักดิ์สิทธิ์และประสิทธิภาพเต็มเปี่ยมอยู่ได้หรือไม่เพียงไรนั้นขึ้นอยู่กับการใช้ คือ ถ้าใช้ให้ได้ถูกวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้นๆ จริงแล้ว ก็จะทรงความศักดิ์สิทธิ์และประสิทธิภาพอันสมบูรณ์ไว้ได้ แต่ถ้าหากนำไปใช้ให้ผิดวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ โดยการพลิกแพลงบิดพลิ้วให้ผันผวนไปด้วยความหลงผิดด้วยอคติ หรือด้วยเจตนาอันไม่สุจริตต่างๆ กฎหมายก็เสื่อมความศักดิ์สิทธิ์และประสิทธิภาพลงทันที และกลับกลายเป็นพิษเป็นภัยแก่ประชาชนอย่างใหญ่หลวง...(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สอบไล่ได้ตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร 19 กรกฎาคม ตุลาคม 2520)

ชวนท่านรองฯปรีชา บัวกิ่ง จาก สพท.ชุมพร เขต ๑ ไปทานข้าวเย็นที่ปทุมธานี เพราะเคยร่วมงานกันที่ชุมพร เขต ๑ ประมาณ ๖ ปี เป็น ๖ ปีที่ให้ประสบการณ์มากมายในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มีความสำเร็จมากกว่าความล้มเหลว เมื่อพูดถึงชุมพรจึงเห็นแต่เครื่องหมายบวกเสมอในความรู้สึก การได้พูดถึงความหลังจึงเป็นความสุขอย่างหนึ่งของคนที่เกิดมานานอย่างเรา แวะเยี่ยมสโมสรก่อนไปทานข้าวต้มร้านตุ๊กตุ่น กลับไปส่งที่หอพักคุรุสภา

วันพฤหัสบดีที่ ๒๕  มีนาคม  ๒๕๕๓  เดินทางไปสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา  ถนนสุโขทัย เขตดุสิต เพื่อร่วมประชุมศึกษาหารือ เรื่อง แนวทางดำเนินงาน School mapping เพื่อจัดทำกลไกขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาสู่เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา จังหวัดปทุมธานีจะเป็นจังหวัดนำร่องของโครงการนี้ในฐานะจังหวัดที่มีหลายเขต สำหรับจังหวัดเขตเดียวเขาเลือกจังหวัดสมุทรสงคราม ของท่าน ผอ.สมยศ  ศิริบรรณ การประชุมวันนี้มี ดร.พนม  พงษ์ไพบูลย์ อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ  มีผู้แทน อบจ. เทศบาล และ อบต.เข้าร่วมประชุมด้วย  เหตุจูงใจที่มีโครงการนี้ เนื่องจากปริมาณโรงเรียนขนาดเล็กในประเทศไทยมีมากกว่า ๒ ใน ๓ ของโรงเรียนทั้งหมด แต่มีจำนวนนักเรียนประมาณ ๑๐ % ของนักเรียนทั้งหมดอยู่ในความรับผิดชอบ หากมองในแง่เศรษฐศาสตร์เขาบอกว่า ไม่คุ้มกับการลงทุน ที่สำคัญคุณภาพยังด้อยอีกด้วย แต่การจะยุบจะเลิกโรงเรียนขนาดเล็กกลับทำได้ยาก   สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จึงประสงค์จะศึกษาหาคำตอบในการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กว่าควรจะมีแนวทางอย่างไร จึงมอบให้ ดร.สมศักดิ์  ดลประสิทธิ์ เป็นเจ้าของเรื่อง  จึงเลือกเอาจังหวัดปทุมธานีและสมุทรสงครามเป็นจังหวัดนำร่องในการจัดทำ School mapping แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันจนบ่ายจึงได้ข้อยุติ  กลับเข้าทำงานที่เขตจนเย็น

วันศุกร์ที่ ๒๖  มีนาคม  ๒๕๕๓  เวลา ๐๗.๓๐ น. เดินทางไปจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนาม MOU ระหว่างโรงเรียนโครงการ World Class Standard School กับ สพฐ. ที่โรงแรมคุ้มสุพรรณ เส้นทางจากปทุมธานี ผ่านอำเภอลาดหลุมแก้ว ไปเชื่อมกับสายบางบัวทอง –สุพรรณบุรี ระยะทางประมาณ ๗๐ กม.  สองฟากถนนเป็นทุ่งนาที่เก็บเกี่ยวแล้ว มองไปดูแห้งแล้งไม่เย็นตา  ถนนสายสุพรรณบุรีที่ได้ชื่อว่าเป็นถนนอันดับหนึ่งของประเทศ ถึงวันนี้ก็ทรุดโทรมไปตามเวลา แต่ยังอยู่ในสภาพที่ดีกว่าหลายจังหวัด  ถึงโรงแรมรายงานตัวเข้าไปนั่งตามรายชื่อที่เขากำหนดไว้บนโต๊ะด้านหน้า พอถึงเวลา นายเสน่ห์  ขาวโต  รองเลขาธิการ กพฐ. เดินทางมาเป็นประธานในพิธี เรียกโรงเรียนและ ผอ.เขตขึ้นลงนามเป็นรายเขตไป  ความจริง MOU มักจะใช้ในการลงนามกับหน่วยงานนอกสังกัดหรือหน่วยงานที่มีสถานะเสมอกันในทางกฎหมาย ไม่ค่อยได้เห็นที่จะทำกันระหว่างนายกับลูกน้อง เพราะตามกฎหมายสามารถสั่งการได้อยู่แล้ว จะสมัครใจหรือไม่ก็ต้องปฏิบัติ  หลังการลงนามแล้วได้ชวนสมาชิกที่ติดตามไปด้วย เลยไปตลาด ๑๐๐ ปีสามชุก ทานข้าวห่อใบบัว และเดินวนดูของเก่า ๆ ๑ รอบ ขากลับมาแวะเยี่ยมเพื่อนร่วมรุ่น นปส.๕๓ นายอำเภอบางปลาม้า คุณประพันธ์   บุญคุ้ม ที่ห้องทำงาน ท่านได้ฝากขนมสาลี่ ที่อร่อยที่สุดร้านแม่บ๊วยบางปลาม้ามาทานหลายถุง  กลับเข้าเขตลงชื่อในเอกสารอีกหลายแฟ้มจนเย็น   ท่าน ผอ.ชูชาติ  กาญจนธนชัย  สพท.นนทบุรี เขต ๒ และท่าน ผอ.จำรูญ  พรมสุวรรณ สพท.ปทุมธานี เขต ๒ แวะมาหาเลยชวนกันไปทานที่ร้านแหนมเนืองตรงข้ามสหกรณ์ออมทรัพย์ครูปทุมธานี นั่งคุยกันจน ๓ ทุ่มจึงแยกย้ายกันไป

        นิทานก่อนลาสัปดาห์นี้เป็นเรื่อง “คนแจวเรือจ้างกับนักศึกษา”  เรื่องมีอยู่ว่ามีนักศึกษาผู้คงแก่เรียนคนหนึ่ง   ได้ว่าจ้างเรือแจวให้พาข้ามฟากในขณะที่ท้องฟ้าเต็มไปด้วยเมฆดูมืดครึ้ม   และลมเริ่มพัดจนน้ำกระฉอกเป็นระลอกเรือแจวได้แล่นไปอย่างช้าๆ   เมื่อเรือเข้าสู่กระแสน้ำเชี่ยว   คนแจวเรือจึงต้องตั้งอกตั้งใจแจวอย่างระมัดระวัง   ฝ่ายนักศึกษากำลังก้มหน้าก้มตาอ่านตำราเล่มใหญ่   ในที่สุดนักศึกษาก็ละสายตาจากตำราเงยหน้ามองมาที่คนแจวเรือ“ลุงเคยอ่านตำราประวัติศาสตร์บ้างไหม?”   นักศึกษาถามขึ้น “ไม่เคยเลยครับ”   คนแจวเรือจ้างตอบเบาๆ “งั้นลุงก็พลาดโอกาสอย่างน่าเสียดาย   ในหนังสือประวัติศาสตร์นะลุง   เต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าอ่านมีเรื่องของกษัตริย์และราชินีในอดีต   เรื่องของสงคราม  การต่อสู้   ทำให้เรารู้ว่าคนในสมัยโบราณใช้ชีวิตกันอย่างไร แต่งกายแบบไหน   ประวัติศาสตร์จะบอกให้ทราบถึงความเจริญของชนชาติต่างๆทำไมลุงไม่อ่านประวัติศาสตร์บ้างเล่า?” “ผมไม่เคยเรียนหนังสือครับ”   คนแจวเรือตอบ  คนแจวเรือก็แจวเรือต่อไป นักศึกษาก็ก้มหน้าอ่านตำราต่อไป คงมีแต่เสียงใบแจวกระทบพื้นน้ำเท่านั้น  ผ่านไปสักครู่ นักศึกษาก็ถามคนแจวเรือขึ้นอีก   ”ภูมิศาสตร์เล่าลุง เคยอ่านบ้างไหม?” “ไม่เคยเลยครับ”  “ภูมิศาสตร์   เป็นวิชาที่สอนให้เรารู้จักกับโลกและประเทศต่างๆ   กระทั่งภูเขา แม่น้ำ ลม พายุ ฝนภูมิศาสตร์เป็นวิชาที่น่าศึกษามาก   ลุงไม่รู้จักวิชานี้เลยรึ?” “ไม่เคยเลยครับ” คนแจวเรือตอบ นักศึกษาส่ายหน้า  “ไม่รู้จักวิชานี้ ชีวิตลุงไม่มีค่าอะไรเลย” “วิทยาศาสตร์ละลุง   เคยอ่านบ้างรึเปล่า” “ไม่เคยอีกแหละคุณ” “ลุงเป็นคนยังไงกันหือ?   วิทยาศาสตร์ช่วยอธิบายถึงเหตุและผลต่างๆ   ความก้าวหน้าของมวลมนุษย์ขึ้นอยู่กับวิทยาศาสตร์โดยตรง   นักวิทยาศาสตร์เป็นบุคคลที่สำคัญยิ่งในโลกปัจจุบัน   แต่ทว่าลุงไม่รู้เรื่องเอาเสียเลย   ชีวิตของลุงช่างมีค่าน้อยเหลือเกิน”นักศึกษาปิดตำราของเขา   และนั่งเงียบไม่ยอมพูดจาอีก ขณะนั้นเมฆดำได้แผ่ขยายเต็มท้องฟ้าลมเริ่มพัดแรง  ฟ้าแลบ แปลบปลาบ   พายุกำลังจะมา   และเรือก็ยังเหลือระยะทางอีกไกลกว่าจะถึงฝั่งคนแจวเรือแหงนหน้าขึ้นมองท้องฟ้า   “ดูเมฆนั่นซิคุณ พายุคงจะมาในไม่ช้า คุณว่ายน้ำเป็นไหมครับ?”นักศึกษาพูดอย่างตกใจกลัว“ว่ายน้ำ ผมว่ายไม่เป็นหรอกลุง”  บัดนี้คนแจวเรือเป็นฝ่ายเลิกคิ้วมองนักศึกษาอย่างแปลกใจบ้าง   และพูดว่า  “อะไรกัน   คุณว่ายน้ำไม่เป็น   คุณรอบรู้ออกมากมาย   ประวัติศาสตร์เอย ภูมิศาสตร์เอย   และวิชาวิทยาศาสตร์คุณก็ออกคล่อง   แต่ทำไมไม่เรียนว่ายน้ำด้วยเล่า   อีกประเดี๋ยวเถอะ   คุณจะรู้ว่าชีวิตของคุณไม่มีค่าเลย” พายุพัดจัดขึ้น   เรือลำน้อยถูกคลื่นและลมพัดโยนขึ้นๆลงๆในไม่ช้าก็ถูกคลื่นและพายุกระหน่ำจนเรือพลิกคว่ำคนแจวเรือจ้างว่ายน้ำขึ้นฝั่งได้อย่างปลอดภัย    แต่ทว่านักศึกษาผู้น่าสงสารจมหายไปใต้กระแสน้ำอันไหลเชี่ยวนั้น

กำจัด  คงหนู

ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปทุมธานี เขต ๑

หมายเลขบันทึก: 347414เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2010 21:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:39 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด

โรงเรียนเรา ผู้บริหารไปเป็นคณะทำงาน ไปเป็นวิทยากร ไม่ค่อยอยู่โรงเรียน ครูแตกแยก นักเรียนลดลง เมื่อไหร่ สพฐ.จะมีนโยบาย "คืนผู้บริหารให้ครู"..???  

ขึ้นอยู่กับต่อมจิตสำนึกของคนเป็นผู้บริหาร

จารุนันท์ เอียดคง (หนูจา) ครู โรงเรียนบ้านทุ่งใหญ่ สพท.นศ.3

แด่... ผอ.กำจัด คงหนู ผอ. สพท.ปทุมธานี เขต 1

ขอแสดงความยินดีในการรับตำแหน่งใหม่และอวยพรวันเกิดย้อนหลังไปหลายเดือนมากๆ(พฤศจิกายน)ไม่ได้ลืมนะคะแต่กำลังปรับปรุงห้องคอมและอินเตอร์เนตจึงใช้เนตไม่ได้

ขอให้ท่านและครอบครัวมีความสุขมากๆมีสุขภาพแข็งแรง ประสพพบแต่สิ่งดีๆในชีวิต ท่านเป็นคนดี คนเก่ง และเป็นที่เคารพรักของผู้ร่วมงานในทุกๆแห่ง "ท่านเป็นเมล็ดพันธุ์ดีแห่งชีวิต จะอยู่ในพื้นที่ใดก็เจริญงอกงามในทุกๆพื้นที่" เป็นกำลังใจให้เสมอค่ะ

ด้วยความเคารพและนับถือ

จารุนันท์ เอียดคง (หนูจา) ครู โรงเรียนบ้านทุ่งใหญ่ สพท.นศ.3

สวัสดีชาวโลก...

ไม่ได้เข้ามาโพส์ตซะนานนนน...คิดถึงท่านมากเลย...นิทานท่านสุดยอด...เรื่องโชคดีโชคร้าย...ก็ดี เรื่องนักศึกษากับคนแจวเรือก็ดีล้วนมีคติเตือนใจให้เรานำไปใช้ในชีวิตการทำงาน....การดำรงคงอยู่...ของชีวิต...

ชอบที่ท่านไปพูดกับคณะครูโรงเรียนบุญค้มมากกก....ที่ว่า...ให้คิดว่าโรงเรียนเป็นบ้าน...เป็นยุ้งฉาง....ถ้าแม้มีหนูมียุงสักตัว...ก็อย่าถึงกับเผาบ้านเผายุ้งฉางของตัวเลย...ไม่มีใครอยู่ได้คนเดียว เก่งคนเดียว...ทุกคนเป็นฟันเฟืองที่สำคัญขององค์กร...ต้องรักกัน...จึงจะอยู่รอด...เช่นเดียวกับนักศึกษาที่ว่าเก่งซะเหลือเกินสุดท้ายก็สู้คนแจวเรือไม่ได้...อ่านแล้วเข้าใจสัจจธรรมรึยัง...ว่า...เก่งมาก...มักตาย...เก่งน้อย...มักรอด...55555

งั้น..เราเก่งปานกลางพอ...คริคริ

รักท่านค่ะ...

ผมได้ไปติดต่อราชการที่เขต เลยถือโอกาสเข้าเยี่ยมชมสโมสรที่ท่าน ผ.อ.กำจัด หมั่นประชาสัมพันธ์ ไม่เห็นใครอยู่ในห้อง ถือวิสาสะชงกาแฟ(เหมือนขโมย) พอดีท่านรองฯคนหนึ่ง(จำชื่อไม่ได้ ผอมๆ ผมสีขาวทั้งศรีษะ) กำลัง เดินผ่านห้อง

"ขออนุญาติ ดื่มกาแฟสักแก้วน่ะครับ" ผมรีบพูด "เชิ๊ญ......เชิญ แหม ไม่ต้องขอนุญาติก็ได้น่ะครับ ตามสบายน่ะครับ" ท่านรองฯแสดงอัธยาศรัย

ผมรีบกลับสำนักงาน ไปเล่าให้ใครต่อใครฟังถึงความประทับใจมากมาย และที่สำคัญ เกิดทัศนคติที่ดีต่อเขตฯ มีกำลังใจต่อสู้กับหน้าที่การงาน และมองโลกในแง่ดีขึ้นอีกมากมาย ขอบคุณ ขอบคุณครับ

คนดีอยู่ที่ไหนใคร ๆ ก็ประทับใจใคร ๆ ก็อยากอยู่ด้วยแต่ก็ยังดีที่ได้มีโอกาสแม้จะน้อยนิดก็ตาม

   ระบบการศึกษาจะไร้ความหมาย
ถ้าสอนเยาวชนให้รู้จักเพียงทำมาหาเลี้ยงชีพ
แต่ไม่ได้สอนให้รู้จักดำรงชีพ

 

ขอแสดงความยินดักับผู้ทรงคุณวุฒิ อกคศ. จะได้ทำงานได้เต็มที่เสียที

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท