เมื่อวันที่ ๑๙ มิย. ๔๙ พบคุณทรงพล เจตนาวณิชย์ ในการประชุมนำเสนอผลการประเมินโครงการ สรส. ผมได้เรียนรู้เรื่องการจัดการความรู้ในชุมชนของเรา ที่เวลานี้มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก มีตัวละครใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เวลานี้มีตัวละคร ได้แก่
นักการเมือง
ข้าราชการ
นักวิชาการ
เอ็นจีโอ
นักจัดการความรู้แนวใหม่ หรือเกิดใหม่ ที่ทำงานแบบ “คุณอำนวย”
สอบต. (สมาชิก อบต.) ซึ่งมีอยู่หมู่บ้านละ ๒ คน
คุณทรงพลบอกว่ากลุ่มที่จะมีบทบาทสูงมากที่จะสร้างสถาบันจัดการความรู้ท้องถิ่น คือ สอบต. เพราะเขาเป็นคนท้องถิ่น จะอยู่ในพื้นที่อย่างถาวร
ผมมองว่าการเรียนรู้ของชุมชนไทย ถูกบีบคั้น ครอบงำ จากภายนอก ตลอดมา และยังเป็นอยู่ในปัจจุบัน การเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข มีประเด็นสำคัญอยู่ที่การสร้างความสามารถในการเป็นอิสระจากความบีบคั้น ไม่ถูกครอบงำ มีความเป็นตัวของตัวเอง ในการเรียนรู้จากการปฏิบัติ มีความมั่นใจที่จะลองปฏิบัติตามความเข้าใจของตนเอง โดยไม่กังวลว่าจะเหมือนที่คนอื่นทำหรือไม่ แล้วหมั่นสังเกต และวัดผล จดบันทึกและนำมา ลปรร. ในกลุ่มชาวบ้านด้วยกัน
ลุงริน (สุรินทร์ กิจนิจชีว์) บอกว่า การเรียนรู้ของชาวบ้านยังเป็น การเรียนรู้เชิงประเด็น เป็นส่วนมาก ยังขาด การเรียนรู้เชิงระบบ ใหัเข้าใจภาพรวม เข้าใจความโยงใยของประเด็นต่างๆ ผมมีความเห็นว่า ที่ลุงรินพูดนี้ สำคัญมาก
ผมมองว่า ผลของ สรส. ที่มีคุณูปการต่อสังคมไทยที่สุด คือ ผลในเชิง generative เกิดการรังสรรค์แนวคิดด้านสถาบันจัดการความรู้ท้องถิ่น ขึ้นในสังคมไทย และเริ่มเกิดหน่ออ่อนของสถาบันจัดการความรู้ท้องถิ่นบ้างแล้ว ผมยุคุณทรงพลให้เขียน บล็อก เล่าเรื่องหน่ออ่อนเหล่านั้น
วิจารณ์ พานิช
๒๐ มิย. ๔๙