อาชาบำบัด + กิจกรรมบำบัด


ขอบคุณทีมทหารกรมสัตว์ทหารบก จ. นครปฐม ที่มีความมุ่งมั่นพัฒนาโครงการอาชาบำบัดในรูปแบบงานวิจัยแบบประเมิน โปรแกรมอาชาบำบัดร่วมกับกิจกรรมบำบัด และแนวทางการพัฒนาทักษะชีวิตเด็กพิเศษหลังจากเข้าโปรแกรมอาชาบำบัดร่วมกับกิจกรรมบำบัด

ผมในฐานะนักวิชาการและวิจัยทางกิจกรรมบำบัด ได้เป็นที่ปรึกษาในเชิงระบบการจัดโปรแกรมอาชาบำบัดสำหรับเด็กพิเศษมาเกือบสองปีแล้ว

วันนี้ผมขอชื่นชมทีมทหารกรมสัตว์ทหารบก จ. นครปฐม ที่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงแนวทางการวิเคราะห์ข้อมูลวิจัยถึงประสิทธิผลของโปรแกรมอาชาบำบัดร่วมกับกิจกรรมบำบัดต่อทักษะความสามารถของเด็กพิเศษ โดยผมได้พัฒนาแบบประเมินจนน่าเชื่อถือเพราะมีการใช้ผู้ประเมินมากกว่า 1 คน คิดระดับคะแนนสองรูปแบบในช่วงความสามารถและคะแนนความสามารถจาก 0-10 แยกข้อมูลแต่ละหัวข้อโดยการสังเกตขณะทำกิจกรรมขี่ม้าแล้วสังเกตความสามารถของเด็กพิเศษในด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย ด้านกระบวนการคิดและการแสดงออกทางจิตใจ และด้านการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์

นอกจากนี้โปรแกรมอาชาบำบัดเดิมที่พัฒนาโดยแทรกรูปแบบกิจกรรมบำบัดในระดับอายุ พฤติกรรม และความสามารถของเด็ก ที่ใช้การพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดประสิทธิผลมากที่สุด เช่น โปรแกรมอาชาบำบัดระดับหนึ่ง (เน้นกิจกรรมบำบัด 70% อาชาบำบัด 30%) โปรแกรมอาชาบำบัดระดับสอง (เน้นกิจกรรมบำบัด 50% อาชาบำบัด 50%) และโปรแกรมอาชาบำบัดระดับสาม (เน้นอาชาบำบัด 70% กิจกรรมบำบัด 30%)

ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้ ทางทีมทหารได้ตั้งข้อสังเกตว่า...

  • ผู้ปกครองควรได้รับการสอบถาม/สัมภาษณ์ให้ชัดเจนว่า "พฤติกรรมใดบ้างที่เด็กแสดงออกอย่างไม่เหมาะสมก่อนเข้าโปรแกรมและหลังเข้าโปรแกรม 6 กับ 12 ครั้ง" แล้วพัฒนาให้มีหัวข้อเปิดเพื่อสำรวจดูพฤติกรรมที่นอกเหนือจากแบบสอบถาม แล้วใช้สถิติเชิงพรรณา (ความถี่ของพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงก่อนและหลังเข้าโปรแกรม) เป็นข้อมูลเสริมกับประสิทธิผลของโปรแกรมในรูปแบบเชิงทดลองและจัดกลุ่มศึกษาแบบ Block มีการวัดผลซ้ำที่ต้องทดสอบการกระจายปกติของข้อมูลเพื่อใช้ One-Way Repeated ANOVA หรือสถิติอื่นๆ เพิ่มเติม
  • ข้อมูลที่อาจไม่สมบูรณ์ควรพิจารณาว่า หายไปเพราะอะไร ผู้ประเมินเข้าใจไม่ตรงกัน หรือเด็กพิเศษเข้าโปรแกรมไม่ต่อเนื่อง คงต้องหาข้อมูลที่สมบูรณ์มาวิเคราะห์ประสิทธิผลของโปรแกรมฯ
  • ผู้ปกครองหลายท่านมีความต้องการให้ลูก/หลานมาเข้าโปรแกรมฯต่อ แม้ว่าคะแนนความสามารถของเด็กดีขึ้นแล้ว แนะนำว่าให้ผู้ปกครองปรับความคิดใหม่ถึงการวางแผนพัฒนาทักษะชีวิตของเด็กในระยะยาว มิใช่ขี่ม้าจนตลอดชีวิตโดยตัวเด็กยังไม่สามารถมีทักษะชีวิตที่จำเป็น เช่น การเตรียมอาหารกินเอง การประกอบอาชีพ การแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ชีวิต การดำรงชีวิตอย่างอิสระไม่เป็นภาระผู้ปกครองตลอดไป
  • ทางทีมทหารคงต้องพัฒนาโปรแกรมฯ มากขึ้น ได้แก่ โปรแกรมเพื่อพัฒนาทักษะการเป็นนักขี่ม้าอาชีพ/กีฬา โปรแกรมเพื่อพัฒนาความเป็นพลเมืองดี โปรแกรมเพื่อพัฒนาอาสาสมัครช่วยอาชาบำบัด (ช่วยเหลือครูฝึกในโปรแกรมอาชาบำบัดแบบรุ่นพี่ช่วยรุ่นน้อง หรือช่วยเหลือทำความสะอาด/ดูแล/ให้อาหารม้า หรือดึงผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการฝึกอาชาบำบัดให้กับลูก/หลาน) และระบบการส่งต่อเพื่อฝึกอาชีพกับหน่วยงานอื่นๆ และฝึกทักษะชีวิตอื่นๆ ที่ยังไม่มีการพัฒนา เช่น ทักษะการเรียนรู้ ทักษะการเข้าสังคม เป็นต้น 

ผมจึงอยาก ลปรร กับทุกท่านที่สนใจว่า การบำบัดที่มีประสิทธิภาพมิใช่อยู่เพียงเทคนิค...หากแต่กรอบความคิดและแนวทางที่น่าจะพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่และก้าวหน้าขึ้นของเด็กจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ต่อไป

อยากให้ทุกท่านที่ช่วยเหลือเด็กพิเศษเหล่านี้อย่าคิดว่า "ผู้บำบัดหรือโปรแกรมบำบัดต่างๆ ต้องรับภาระการช่วยเหลือเด็กพิเศษอย่างเดียว...แต่ผู้ช่วยเหลือเด็กพิเศษทั้งหลายพึงตระหนักว่า "ต้องคิดวางแผนฝึกทักษะชีวิตในระยะยาว...คิดให้รู้แจ้งว่า "ถ้าผู้ช่วยเหลือไม่มีชีวิตอยู่แล้วเด็กพิเศษจะทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตได้อย่างไร...จะขี่ม้าจนตลอดชีวิตแล้วดำรงชีวิตได้จริงหรือ จะเล่นดนตรีหรือศิลปะบำบัดอย่างเดียวหรือ จะทำกิจกรรมบำบัดเฉพาะองค์ประกอบการประสมประสานการรับความรู้สึกอย่างเดียวหรือ?

ผมอยากให้ทุกท่านลองค้นคว้าเพิ่มเติมในหนังสือเหล่านี้ (ขอบคุณผู้ปกครองเด็ก CP ท่านหนึ่งแนะนำให้ผมแปล The Pathway to Wellness - Glenn Doman & the staffs of the Institutes for the achievement of Human Potential):

What to do about your brain-injured child

How to teach your baby to read

How to teach your baby to be physically superb

www.iahp.org

จะเห็นว่า ผู้ปกครองและผู้บำบัดต่างประเทศนิยมพูดคุยและพัฒนากระบวนการคิดสร้างโปรแกรมที่ส่งผลให้ลูกหลานเด็กพิเศษมีความสามารถในการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตที่จำเป็น มิใช่วิ่งเข้าหาเทคนิคการฝึกต่างๆ จนเกินจำเป็น และ/หรือไม่เหมาะสมกับทักษะชีวิตของเด็กพิเศษนั้นๆ

หมายเลขบันทึก: 347121เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2010 20:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2019 11:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

การได้ใกล้ชิดกับ ธรรมชาติ

ทำให้

เด็กๆ รัก(ษ์) ธรรมชาติ

ธรรมชาติ เลย รัก(ษา)เด็กๆค่ะ

^..^ ขอร่วมชื่นชมด้วยคนค่ะ

ชีวิตพัฒนาได้จากกิจกรรมบำบัดตามธรรมชาติ..."การไม่อยู่ว่างหรือการทำงาน/กิจกรรมที่มีเป้าหมายคือชีวิต บันดาลสุข"

ขอบคุณมากครับคุณ Hanako

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท