การพัฒนาโจทย์วิจัย PAR อาหารปลอดภัยของตำบลช่องลม อ.ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร


ในกลุ่มคนที่มีหลายคนย่อมมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน

          วันที่ 8 มิถุนายน  2549

          ช่วงบ่าย หลังจากการนิเทศงานที่กิ่งอำเภอโกสัมพีนคร ผมและคุณสายัณห์ ปิกวงค์ ก็รีบเดินทางเพื่อเข้าร่วมกระบวนการ ลปรร.เกี่ยวกับการผลิตสินค้าเกษตรที่มีความปลอดภัยและได้มาตรฐาน (อาหารปลอดภัย)  ณ หมู่ที่ 3 บ้านบึงกระดาน ตำบลช่องลม อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเป็นอีกจุดหนึ่งที่เราได้นำกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เพื่อหารูปแบบการส่งเสริมฯ

          คุณสนอง  ขวัญคำ นักส่งเสริมการเกษตรประจำตำบลช่องลมพร้อมทั้งทีมงานของสำนักงานเกษตรอำเภอลานกระบือ คือคุณมานพ  จันทร์ต๊ะโมก และคุณนิพิจ พินิจผล ได้มาพร้อมแล้ว มีเกษตรกรที่มาร่วมกระบวนการในครั้งนี้ประมาณ 80 คน

         ขั้นตอนของกระบวนการในวันนี้มีรายละเอียด ดังนี้ครับ

         1. การนำเข้าสู่บทเรียน โดยคุณสนอง  ขวัญคำ โดยใช้สีแดงมาให้ผู้ร่วมกระบวนการดูแล้วถามว่า  สีแดงนี้ท่านคิดว่าหมายถึงอะไร.....  ซึ่งมีการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย บางท่านก็ว่าความร้อน เลือด  ความโชคดี   แล้วคุณสนองก็สรุปว่า ในกลุ่มคนที่มีหลายคนย่อมมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ดังนั้นเป็นธรรมดาที่เราจะคิดต่างกันแต่ในกระบวนการกลุ่มนี้ควรยอมรับในความแตกต่าง เพราะทุกคนสามารถคิดต่างกันได้.....จึงต้องมีการแสดงความคิดเห็นร่วมกัน

                                             49061203

          2. การดูวีซีดีเรื่อง "ปัญหามา ปัญญามี"    เป็นการดูเพื่อศึกษาวิธีหรือกระบวนการแก้ปัญหาแบบมีส่วนร่วม  จากนั้นคุณสายัณห์ ปิกวงค์ จึงทักทายกับกลุ่ม พร้อมทั้งสอบถามถึงแนวคิดที่ได้จากการดู วีซีดี ซึงก็ได้รับความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมจากผู้เข้าร่วมกระบวนการเป็นอย่างดี

                                             49061204

 

           3. กระบวนการเรียนรู้เพื่อการแก้ปัญหาโดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ซึ่งมีประเด็นย่อยๆ ดังนี้

  • คุณสายัณห์  ปิกวงค์  ทบทวนข้อมูลแบบมีส่วนร่วมจากเกษตรกรที่เข้าร่วมในภาพรวมของตำบล
  • คุณสนองและคุณนิพิจ ทบทวนต้นทุนการผลิตเพื่อค้นหาและกระตุ้นให้เกิดแนวคิดในการพัฒนาอาชีพการทำนา
  • คุณสนอง ขวัญคำ ได้มีการบรรยายโดยใช้ข้อมูลเพื่อการสื่อให้เกษตรกรเกิดความเข้าใจถึงความสำคัญของการใช้ข้อมูลประกอบในการตัดสินใจ ครั้งนี้คุณสนองใช้แผนที่ชุดดิความเหมาะสมของดินกับการปลูกพืช และข้อมูลปริมาณน้ำฝน (ใช้ภาพ 2 ภาพด้านล่างนี้)

49061205  49061206

 

         4. การตรวจวิเคราะห์ถึงค่า pH ของดินและน้ำ   ระหว่างการดำเนินกระบวนการ ผมและคุณสายัณห์ ก็ได้จับประเด็นและบันทึกเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินแผนการปฏิบัติของกลุ่มในเบื้องต้น ให้คุณสนองและทีมงานได้ดำเนินกระบวนการในครั้งต่อไป  หลังจากนั้นคุณสนองได้ร่วมกับเกษตรกรที่นำน้ำและดินมาตรวจวิเคราะห์หาค่า pH เพื่อเป็นข้อมูลในการผลิตพืชให้ปลอดภัยและได้มาตรฐานต่อไป

49061207  49061208

 

          ในการดำเนินกระบวนการในวันนี้ พอสรุปเป็นบทเรียนได้ดังนี้

  • การใช้วีซีดี เพื่อนำเข้าสู่บทเรียน หรือการสร้างความเข้าใจแก่เกษตรกรนั้นนับว่าใช้ได้ดี แต่เราต้องเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม
  • การดำเนินกระบวนการในวันนี้ เกษตรกรที่เข้าร่วมมีมากเกินไป  แต่สถานที่คับแคบ หากเกษตรกรหลายสิบคนเช่นนี้ ควรใช้สถานที่ที่มีบริเวณกว้าง เช่น วัด ศาลากลางบ้าน เป็นต้น
  • ในวันนี้คุณสนองได้เตรียมกิจกรรมไว้ค่อนข้างมาก ทำให้ใช้เวลามาก  ดังนั้น กิจกรรมที่เตรียมไว้ไม่ควรมากเกินไป และไม่ควรใช้การบรรยาย

บันทึกมาเพื่อการ ลปรร.ครับ

วีรยุทธ  สมป่าสัก

 

หมายเลขบันทึก: 34683เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2006 18:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อยากเห็นการทำนา อินทรีย์  แบบคุณซูรูด  อาหมัดที่ตำบลพระอาจารย์ อ.เมือง จ.นครนายก  คือที่ดูจากเอกสารเกษตร ไม่ลองไม่รู้ ฉบับเดือนธันวาคม เขาทำนา 35 ไร่  ต้นทุนครั้งแรก 99,095  บาท  ได้กำไร 66,630  ครั้งที่ 2 ต้นทุน 44,415  บาท  กำไร 94,786 กว่าบาท ครั้งที่ 3 ต้นทุน 44,245  กำไร 81,432 กว่าบาท ครั้งที่ 4 ต้นทุน 43,810 กำไร 62,090  รวม 1 ฤดูกาล (429 วัน) ทุน 222,565 กำไร 304,937 (หักต้นทุนออกไปแล้วเป็นกำไรสุทธิ)

โดยทำนา 4 หน  ประมาณ 429 วัน  โดยหว่านข้าวพันธุ์สุพรรณบุรี ครั้งที่ 1 ครั้งเดียว  ครั้งที่ 2 - 4 ทำแบบข้าวล้มตอ คือ หลังจากเกี่ยวข้าวครั้งแรกเสร็จ ก็ใช้ขลุบพิเศษ 27 ล้อ ตีในแปลงนาให้ต้นข้าวล้มแล้วปล่อยทิ้งไว้ 15  วัน แล้วจึงปล่อยน้ำเข้านาประมาณท่วมหลังปู กอข้าวจะเริ่มแตกกอ ดูแลด้วยใส่ปุ๋ยเคมี 16-20-0 จำนวน 1 ครั้ง ทุก 15 วัน ใส่ปุ๋ยน้ำชีวภาพ และสุดท้ายด้วยปุ๋ยยูเรียสุดท้ายอีกครั้ง

ที่มาข้อมูล เอกสารสรุปผลงานเกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพทำนา 2549

ท้ายสุดอยากรู้ว่า  เกษตรกรทำนาบ้านเรา (กำแพงเพชร)  ได้ศึกษาทำแบบคุณซูรูด อาหมัดบ้างหรือยังครับ  หากมีขอข้อมูลด้วยจักขอบพระคุณมาก

 

 เรียน คุณสมโพธิ (ท่าขุนราม)

  • ที่กำแพงเพชร ก็มีเกษตรกรสนใจและลองทำอยู่บ้างครับ
  • เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอคลองขลุง    เคยนำรายละเอียดมา ปชส. (ลิงค์อ่าน)
  • จะลองหาข้อมูลเพิ่มเติมให้นะครับ ขอความกรุณาแจ้งที่อยู่ไว้ด้วยนะครับเพื่อติดต่อกลับหากได้รายละเอียดเพิ่มเติม
  • ขอบพระคุณมากครับที่แวะมาเยี่ยมเยียน

ที่อยู่ 055 ม.10 บ้านใหม่สุวรรณภูมิ ต.ท่าขุนราม อ.เมือง กำแพงเพชร

ขอบคุณครับที่กรุณานำตัวอย่าง การทำนาล้มตอข้าว มาให้ดูและรายละเอียดการลงทุนเพื่อการเปรียบเทียบ

ขอรบกวนอีกซัก  2  เรื่องนะครับ

อยากรู้แหล่งปลูกอ้อยคั้นน้ำ สุพรรณบุรี 50  กับกิ่งชะอมชำมีหนาม  ที่พร้อมมาปลูกได้เลยในพื้นที่กำแพงเพชรมีบ้างไหมครับ

 

เรียน คุณสมโพธิ

  • แหล่งปลูกอ้อยคั้นน้ำ สอบถามเบื้องต้นทราบว่าอยู่ที่หนองตากกล้า อำเภอพรานกระต่ายครับ
  • ส่วนชะอมจะลองหาข้อมูลให้นะครับ
  • ทั้ง2กิจกรรมจะลองหารายละเอียดให้ต่อไปนะครับ
  • ขอบพระคุณมากครับที่สนใจและติดต่อมาทางบล็อก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท