ชีวิตที่พอเพียง : 45. ฐานะทางสังคม


• ผมมอง “ฐานะทางสังคม” ไม่เหมือนคนอื่น    ในทางส่วนตัว ผมให้ความสำคัญต่อ “ความมั่นคงทางสังคม” มากกว่า     ไม่มองเน้นที่ฐานะต่ำสูง
• เมื่อประมาณ ๒๐ ปีมาแล้ว ลูกศิษย์ที่เป็นหมอมาหาชักชวนให้ซื้อประกันชีวิต    ผมอธิบายให้ฟังว่าการประกันชีวิตเป็นการสร้างหลักประกันความมั่นคงให้แก่ตนเองและครอบครัว     หลักประกันของผมมีอยู่ถึง ๕ ชั้น มั่นคงหนักแน่นอย่างมากอยู่แล้ว    คือ ชั้นที่ ๑ ความเป็นคนประหยัดมัธยัสถ์ของตนเอง ภรรยา และลูกๆ    ชั้นที่ ๒ ครอบครัว พ่อแม่ ญาติพี่น้องที่แม้ไม่ร่ำรวย แต่ก็มีฐานะมั่นคง    ชั้นที่ ๓ การเป็นข้าราชการ    ชั้นที่ ๔ การเป็นสมาชิกของคณะแพทยศาสตร์ มอ.    ชั้นที่ ๕ การมีแวดวงมิตรภาพสนิทๆ      
• ผมมุ่งสร้าง “ฐานะทางสังคม” โดยเน้นที่ “ความมั่นคงทางสังคม” ของตนเองและครอบครัว     ผมเคยคิดว่าประเทศที่จัดระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม ทำให้คนมีความมั่นคงทางสังคมสูง     ไม่ต้องตั้งหน้าตั้งตาสั่งสมทรัพย์สมบัติส่วนตัว     สามารถทุ่มเททำงานให้แก่ส่วนรวมได้เต็มที่
• พอเข้าวัยสูงอายุ ยิ่งรู้สึกว่าตนเองโชคดี ที่มุ่งสร้างสมฐานะเป็น “ทุนทางสังคม” (social capital) ส่วนตัว     คือไปอยู่ที่ไหน / หน่วยงานใด ก็ตั้งหน้าตั้งตาทำงานเพื่อสร้างสรรค์ที่นั่นอย่างเต็มที่     ถือการได้ทำงานสร้างประโยชน์เป็นกำไร หรือเป็นโอกาสสร้าง “ทุนทางสังคม” ส่วนตน 
• จะเห็นว่าผมไม่ใช่คนที่เสียสละ    ผมทำงานเพื่อประโยชน์ของตนเอง คือเพื่อสร้างฐานะ / ความมั่นคง ทางสังคม ให้แก่ตนเอง แก่คนที่ผมรัก และแก่สังคม 
• และผมยังได้รับประโยชน์ในการเรียนรู้จากการทำงานนั้นๆ แถมเข้ามาเป็นผลประโยชน์ที่ “ดอกเบี้ยทบต้น” สูงมาก    คือยิ่งทำงาน ยิ่งเรียนรู้ และสั่งสมอย่างทวีคูณรวดเร็วยิ่ง

วิจารณ์ พานิช
๖ มิย. ๔๙

 

หมายเลขบันทึก: 34601เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2006 09:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2012 07:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท