R2R ในวิสาหกิจชุมชน


การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อผู้เข้าร่วมกระบวนการ R2R คือ ทัศนคติต่องานวิจัย การทำงานในเชิงระบบ การพึ่งพาตนเอง

เล่าสู่กันฟัง... การพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย

กรณี แนวทางส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน  (ตอนที่ 1)

 

 

    จากประสบการณ์การพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย (Routine to Research, R2R) กรณีแนวทางส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ปี 2552  มีเรื่องเล่าสู่กันฟัง หลายประเด็นด้วยกัน    การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาแนวทางพัฒนาวิสาหกิจชุมชนแบบมีส่วนร่วม และ ศึกษาการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย (Routine to Research: R2R)  กรณีแนวทางส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research: PAR) มีการคัดเลือกวิสาหกิจชุมชนแบบเฉพาะเจาะจง 6 จุดใน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นครนายก สุพรรณบุรี บุรีรัมย์ ตรัง และลำพูน การเก็บรวบรวมข้อมูลได้จากการจัดเวทีชุมชน การสนทนากลุ่ม และการใช้เทคนิค Mind Map  ส่วนการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นการวิเคราะห์ในเชิงคุณภาพ โดยการวิเคราะห์ SWOT  การจัดหมวดหมู่ และการเปรียบเทียบ

 ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ใคร ได้อะไรจากการวิจัย...............

     การทำวิจัยเริ่มด้วยการวิเคราะห์สถานการณ์การดำเนินงานวิสาหกิจชุมชนทั้ง 6 แห่งด้วยเทคนิค SWOT analysis  พบว่า วิสาหกิจชุมชนทั้ง 6 แห่ง มีจุดแข็งเหมือนกัน คือ มีผู้นำที่ดี มีความสามัคคี ส่วนจุดอ่อน คือ ขาดการบริหารจัดการที่ดี  ขาดการจัดการความรู้ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้แข่งขันในตลาด ส่วนโอกาส คือ มีเครือข่ายให้การสนับสนุนการดำเนินงาน และอุปสรรค คือ ตลาดมีจำกัด  

        แนวทางการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนแบบมีส่วนร่วมเน้นการขับเคลื่อน โดยการจัดการเรียนรู้ร่วมกันของสมาชิกวิสาหกิจชุมชนและผู้เกี่ยวข้องผ่านเวทีต่างๆ  สรุป     ประเด็นในการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนสู่ความเข้มแข็ง น่าจะประกอบด้วย  5 ประเด็นดังนี้

  • การบริหารจัดการวิสาหกิจชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ  ทั้งด้านการผลิต ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบให้เพียงพอ การพัฒนาการผลิตเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาด การพัฒนาด้านการประชาสัมพันธ์ เพื่อขยายตลาดเพิ่มขึ้น
  • การจัดการความรู้ที่เหมาะสมกับบริบทของวิสาหกิจชุมชน  เป็นการพัฒนาที่เน้นให้วิสาหกิจชุมชนสามารถจัดการความรู้เพื่อนำมาใช้พัฒนาวิสาหกิจชุมชน ด้วยการจัดเวทีชุมชน เพื่อให้สามารถวิเคราะห์สถานการณ์วิสาหกิจชุมชนของ    ตนเอง ค้นหาปัญหา สาเหตุ และแนวทางแก้ไขร่วมกันระหว่างสมาชิกวิสาหกิจชุมชนและเครือข่าย  นอกจากนี้มีการจัดทัศนศึกษาดูงานในวิสาหกิจชุมชนที่ประสบความสำเร็จและดำเนินกิจกรรมที่คล้ายคลึงกัน ส่วนประเด็นและสถานที่ศึกษาดูงานได้มาจากการพูดคุยในเวทีร่วมกันทำให้ได้สถานที่ศึกษาดูงานที่ตรงกับความต้องการ เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนได้
  • การพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมและผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมให้มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อสามารถแข่งขันในตลาดได้ ด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการพัฒนาผลิตภณฑ์ให้มีคุณภาพได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของตลาดมากขึ้น
  • การสืบสานและต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น  เป็นการต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่เดิม เช่น การทำน้ำปลาจากปลาบูดู มาพัฒนาให้ถูกหลักอนามัย และพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัย สามารถจำหน่ายให้คนในชุมชนและภายนอกชุมชนได้  นอกจากนี้วิสาหกิจชุมชนบ้านโนนศิลา ตำบลถลุงเหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ได้มีการจัดเก็บ/รวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับลายผ้าไหม ด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์เพื่อพัฒนาลายผ้าไหม
  • การสืบทอดงานวิสาหกิจชุมชน เป็นการสร้างผู้สืบทอดงานเพื่อให้กลุ่มมีความยั่งยืน เพราะสมาชิกวิสาหกิจชุมชนส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ จึงมีแนวคิดในการ     ชักชวนเด็กรุ่นใหม่เข้ามาทำงานในวิสาหกิจชุมชน ด้วยการปลูกฝังคนรุ่นใหม่ให้รักและศรัทธาในอาชีพวิสาหกิจชุมชน เช่น ให้คนรุ่นใหม่เข้ามาช่วยงานวิสาหกิจชุมชนในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์  ค้นหาคนรุ่นใหม่ที่สนใจงานของวิสาหกิจชุมชนและจัดให้มีการศึกษาดูงาน/ฝึกอบรม การทำบัญชี การตลาด เพื่อกลับมาพัฒนางานวิสาหกิจชุมชน   นอกจากนี้การจัดกิจกรรมฝึกอาชีพแก่เยาวชน เพิ่มกิจกรรมตามความต้องการของสมาชิก เพื่อเป็นการสร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้คนรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมงานของวิสาหกิจชุมชน

ขั้นตอนการดำเนินงานวิจัยในงานส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน

     ขั้นแรก เริ่มจากการเตรียมการ เป็นการคัดเลือกและพัฒนาทีมวิจัย โดยคัดเลือกคนคอเดียวกัน คนที่มีแนวคิดเดียวกันเข้ามาร่วมงานตั้งแต่เริ่มต้น และพัฒนาทีมวิจัยด้วยการเพิ่มเติมความรู้ แนวคิดในการทำวิจัย เช่น การกำหนดโจทย์วิจัย  การกำหนดกรอบแนวคิด การใช้เครื่องมือ  Mind map ในการจับประเด็น และการจดบันทึก เป็นต้น

     ขั้นตอนต่อมาเป็นขั้นตอนการดำเนินการ โดยจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างวิสาหกิจชุมชน เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร ภาคีที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและหน่วยงานของท้องถิ่น เพื่อทำความเข้าใจ วิเคราะห์สถานการณ์ ค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกับวิสาหกิจชุมชน ซึ่งมีกระบวนการในการจัดเวทีเรียนรู้ ดังนี้ เตรียมทีมงานก่อนลงเวที  มีการแบ่งบทบาทหน้าที่รับผิดชอบที่ชัดเจน เช่น ผู้ทำหน้าที่เป็นวิทยากรกระบวนการ จดบันทึก ถ่ายรูป  และอัดเทป เป็นต้น สิ่งสำคัญ คือ มีการจดบันทึกทุกขั้นตอน

     ขั้นหลังดำเนินการ หลังจากเสร็จสิ้นการจัดเวทีแต่ละครั้ง ควรจัดเวทีประชุมสรุปบทเรียนร่วมกัน (AAR) วิเคราะห์และถอดบทเรียน เขียนรายงานวิจัย  จากนั้นนำไปประชาพิจารณ์โดยวิสาหกิจชุมชน และเผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น ประชุมวิชาการ  Website และ VCD เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลังจากทำ R2R…

      หลังจากทำ R2R  ผู้มีส่วนร่วมในการทำวิจัย  ทั้งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร สมาชิกวิสาหกิจชุมชน  และองค์กร คือ วิสาหกิจชุมชน และกรมส่งเสริมการเกษตร  เกิดความเปลี่ยนแปลงในหลายอย่าง  ทั้งกระบวนการทำงาน ทักษะ และทัศนคติที่มีต่องานวิจัย  ดังนี้

เจ้าหน้าที่ ได้พัฒนาทักษะในการจัดเวที  ได้เสริมสร้างความสามัคคี สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับวิสาหกิจชุมชน เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นแก่ชุมชนได้ จากการที่เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรต้องเข้าไปทำงานกับชุมชนอย่างต่อเนื่องในการจัดเวทีชุมชนร่วมกัน จำนวน 4-5 เวที รวมทั้งเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีร่วมกัน นอกจากนี้ ได้เสริมสร้างทัศนคติที่ดีต่อการทำวิจัยซึ่งไม่ใช่เรื่องไกลตัว ถึงแม้จะทำให้มีภาระมากขึ้น เห็นผลช้า แต่ประโยชน์ที่เกิดขึ้นก็เป็นสิ่งคุ้มค่า

สมาชิกวิสาหกิจชุมชน มีทัศนคติที่ดีต่อเจ้าหน้าที่  จากการเข้าไปทำเวทีชุมชนร่วมกับวิสาหกิจชุมชนอย่างต่อเนื่องทำให้สมาชิกเห็นความตั้งใจจริงในการทำงานของเจ้าหน้าที่จึงเกิดความเชื่อถือและศรัทธา   สมาชิกมีความภาคภูมิใจในวิสาหกิจชุมชนของตนเอง   ได้ความรู้เพิ่มขึ้น ทั้งความรู้ความเข้าใจในกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม  การต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพมากขึ้น  รวมทั้งได้เพื่อนใหม่ๆ ทั้งจากภายในและภายนอกวิสาหกิจชุมชน 

ในส่วนของวิสาหกิจชุมชน/ชุมชน ได้กระบวนการพัฒนาเพื่อการพึ่งตนเอง จากการที่เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรได้เข้าไปชวนคิด ชวนคุย ในเรื่องของชุมชนเอง จากการที่วิสาหกิจชุมชนได้มีส่วนร่วมคิดวิเคราะห์ตนเองทั้งจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค  จากนั้นร่วมกันกำหนดแนวทางพัฒนาวิสาหกิจชุมชน  ได้มีส่วนร่วมทำตามแนวทางพัฒนา และร่วมรับผลจากการดำเนินกิจกรรม   และได้สมาชิกใหม่ๆ ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมวิสาหกิจชุมชนเพิ่มขึ้น 

  ในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตรได้ขยายผลแนวทางการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน  โดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมไปยังวิสาหกิจชุมชนอื่นๆ ได้บูรณาการการทำงานร่วมกันทั้งภายในและภายนอกกรมส่งเสริมการเกษตร และได้เครือข่ายในการทำงานวิจัยเพิ่มขึ้น

   คราวหน้าจะมาต่อเรื่อง สิ่งจำเป็น....เพื่อทำวิจัยในงานประจำนะคะ

หมายเลขบันทึก: 345518เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2010 13:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท