อีกสักบันทึกหนึ่งสำหรับรำลึกถึงความสำเร็จของงานฉลอง GotoKnow ครบขวบปี ครับ
งานนี้ทุกเวลานาทีของงานมีค่ายิ่ง ผมคิดว่าไม่มีใครปล่อยให้สิ่งมีค่าซึ่งอยู่ต่อหน้าต้องหลุดลอยไป
ต่างก็มุ่งที่จะดึงความรู้ประสบการณ์ในตัวของแต่ละคนกันอย่างเมามัน ทั้งตั้งคำถามดึงความรู้จากวิทยากร จากผู้เข้าร่วมประชุมเสวนาด้วยกัน
ดึงกันตั้งแต่เช็คอินเข้าที่พัก ก่อนเข้านอน ลงทะเบียนเข้าประชุม พักย่อยจิบน้ำชา กินข้าว นั่งรถ ฯลฯ
ส่วนตัวผมเอง ในขณะรับประทานอาหารกลางวัน ผมนั่งโต๊ะเดียวกับสิงห์ป่าสัก (นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรจากจังหวัดกำแพงเพชร) กับหมอนนทลี (ทันตแพทย์จากกรมอนามัย) ผมได้ความรู้ว่าสิงห์ป่าสักเคยเป็นครูอาสาสมัครการศึกษานอกโรงเรียนมาร่วม 10 ปี ก่อนจะมาเป็นนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ทำ KM อย่างเข้มข้น ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านบล็อก จนเป็นบล็อกเกอร์ที่มีชื่อเสียง และขณะนี้กำลังคิดและรวมพลจะทำอะไรอยู่ ส่วนหมอนนทลีก็เล่าความรู้เรื่องการทำ KM ในองค์กร คือกรมอนามัย ให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ LO ผลักดันให้ทำในทุกสำนักทุกฝ่ายงาน ซึ่งก็มีทั้งที่สำเร็จมากน้อยแตกต่างกัน สิ่งที่หมอนนทลีกำลังจะทำงานใหญ่ต่อไป คือวันที่ 17 กรกฎาคม 2549 นี้ ท่านจะจัดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การการทำ KM จำได้ไม่แม่นว่าชื่องานอะไร แต่ก็ทำนองนี้แหละครับ ซึ่งท่านก็อยากได้ผมไปร่วมวงแลกเปลี่ยนด้วย ขณะกำลังทานอาหารกันอยู่นั้น ท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ก็เข้าไปแจมด้วย ท่านเป็นกันเองกับพวกเรา ถามถึงงานที่ผมทำอยู่ที่นครฯ KM ใน กศน.ภาพรวมเป็นอย่างไร ผมเรียนท่านว่าสำนักบริหารงาน กศน.ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ กำลังอบรม กศน.จังหวัดต่างๆให้มีความรู้และตั้งเป้าหมายงานกันอยู่ โดยให้สถาบันการศึกษาและพัฒนาต่อเนื่องศิรินธร เป็นเจ้าภาพจัดการอบรมในครั้งนี้ ท่านย้ำกับผมว่าในการที่ กศน.จะไปทำงานกับชาวบ้านนั้น อย่าให้ กศน.ตั้งหน้าตั้งตาแต่จะไปอบรมเขา แต่ให้เปลี่ยนวิธีคิดเสียใหม่เป็นให้ไปเรียนรู้อะไรจากเขา และจัดให้เขาได้เรียนรู้ตามนั้น จากนั้นท่านให้ข้อคิดเกี่ยวกับเทคนิค AI ในการทำ KM ว่าต้องเริ่มจากสิ่งที่ทำได้อยู่แล้วน่าภาคภูมิใจอยู่แล้ว เป็นตัวเดินเรื่อง อย่าไปเริ่มจากสิ่งที่เป็นปัญหา ค้นหาสิ่งดีที่ทำในองค์กรของเราให้พบ นำมาประติดประต่อให้เห็นภาพความสำเร็จขององค์กร แล้วทำอย่างเข้มข้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายใหม่ ท่านอาจารย์ทำให้ผมชัดขึ้นมากในเรื่อง เทคนิค AI หลังจากที่ผมได้อ่านเรื่องนี้ผ่านบล็อกของท่านเป็นทุนไว้บ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่ค่อยชัด
ส่วนในขณะที่นั่งเรียนรู้ร่วมกันนี่ (ขณะประชุม) ผมนั่งโต๊ะเดียวกับ ผศ.ดร.วัลลา ตันตโยทัย ที่ปรึกษาผู้อำนวยการโรงพยาบาลเทพธารินทร์ อดีตรักษาการแทนคณบดีสำนักวิชาพยายบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผมค่อนข้างจะรู้จักท่านดีเพราะท่านเคยทำงานอยู่ที่เดียวกับแม่บ้านผม และที่รู้จักมากก็ผลงานด้าน KM ของท่าน ผ่านทางบล็อกโรคเบาหวาน DM KM Facilitator ท่านเป็นนักลิขิต ท่านจดไปและพูดโต้ตอบแลกเปลี่ยนไปพร้อมๆกันได้ไม่หยุดเลย สมาธิท่านยอดเยี่ยมมาก น่าศึกษาเรียนรู้จริงๆ ส่วนอีกท่านหนึ่งคือ ผศ.ดร.วิบูลย์ วัฒนาธร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและประกันคุณภาพ มหาวิทยาลัยนเรศวร ท่านมีอัธยาศัยดีมาก ท่านมาถึงที่ประชุมเป็นคนแรกๆ ท่านทักทายอย่างเป็นกันเองกับผม จนผมรู้สึกเขินไปเลย ท่านให้ความรู้กับที่ประชุมในหลายเรื่องทีเดียว โดยเฉพาะเรื่องเทคนิคเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต อะไรทำนองนี้แหละครับ แต่ที่ผมรู้จักท่านและงานของท่านก็รู้จักผ่านบล็อก นเรศวรวิจัย-QA-KM เป็นประสบการณ์ของผมที่ได้นั่งเรียนรู้ร่วมโต๊ะเดียวกันกับท่านทั้งสอง
อั้นไม่อยู่ที่จะแสดงออกครับ ก็เป็นความรู้สึกดีๆ ที่จะบอกไปยังว่า GotoKnow ว่า ขอบคุณ GotoKnow ครับ
ช่วงอาหารกลางวัน โต๊ะของครูนงเมืองคอน มีคุณหมอนนทลี ครูนง อาจารย์หมอวิจารย์ และผม(ถ่ายรูป) โต๊ะถัดไป มีคุณหมอพิเชฐ ผศ.ดร.วิบูลย์ อาจารย์beeman อาจารย์หมอJJ และคุณบอย สหเวช ครับ
เอารูปโต๊ะคุณครูนงและสมาชิกในโต๊ะมาฝากค่ะ
คุณครูลองสร้างแพลนเน็ตรวบรวมบล็อกดูสิคะ เริ่มจาก "แผงควบคุม" --> สร้างแพลนเน็ตใหม่ แล้วก็เติมข้อมูลต่างๆ ทำเหมือนเวลาสร้างบล็อก
จากนั้นก็ใช้วิธีคลิกเข้าไปที่บล็อกของตัวเองก่อนเลย แล้วก็เลื่อนลงไปข้างล่างตรงมุมขวาของบล็อกต่อจากบันทึกทั้งหลายจะมีที่ให้คลิก นำบล็อกเข้าแพลนเน็ตที่เราตั้งขึ้น ถ้ามีมากกว่า 1 แพลนเน็ตก็จะมีตัวเลือกขึ้นมาให้ นำบล็อกที่คุณครูอยากติดตามอ่านเข้าสู่แพลนเน็ตได้ทุกอันด้วยวิธีเข้าไปที่บล็อกนั้นๆแล้วคลิก สมัคร ก็เป็นอันมีแพลนเน็ตที่เราเอาไว้เข้าไปอ่านสิ่งที่เราจัดการเอาไว้ได้ แล้วเราก็จะได้ทราบว่ามีใครมาอ่านบล็อกของเราบ้างจากวงจรแพลนเน็ตที่จะเห็นได้ในบล็อกของเราค่ะ
โอ๋เอาบล็อกคุณครูเข้าแพลนเน็ตโอ๋เรียบร้อยแล้วด้วยค่ะ
คุณ โอ๋-อโณ ครับ อยากจะบอกว่าตอนนี้แถบเครื่องมือมาแล้วนะครับ และตอนนี้ผมสร้างแพลนเน็ตเป็นแล้วครับ สร้างได้ 2 แพลนเน็ตแล้ว คือลีลาการเรียนรู้ และ กูรู km thailand ขอบคุณมากๆๆ
คู่มือมาแล้วนะคะ คุณครูไปโหลดได้ที่บันทึกของโอ๋เลย ส่วนถ้าคุณครูจะเอาไปดัดแปลงให้เหมาะกับกลุ่มชุมชนที่จะไปสอน ถ้าอยากได้ไฟล์ Word ซึ่งจะทำให้สามารถเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม ฯลฯ ก็อีเมลมาได้เลยนะคะ มีคนขอไปแล้ว ส่งทางเมลได้ค่ะ แต่ใหญ่เกินกว่าจะโหลดทาง GotoKnow
หรือคุณครูอยากให้ช่วยปรับเปลี่ยนอะไรเพื่อให้ง่ายต่อการสอนต่อก็บอกมาได้เลยนะคะ โอ๋ช่วยทำให้ได้ไม่ยากเลย และยินดีมาก