การป้องกันไฟไหม้และการบำรุงรักษาสวนยางพาราในช่วงหน้าแล้ง


การป้องกันไฟไหม้และการบำรุงรักษาสวนยางพาราในช่วงหน้าแล้ง

                อากาศบ้านเราในตอนนี้ถ้าพูดไปแล้วร้อนมากมายคะ ระหว่างเส้นทางเดินทางจากบ้านพัก  อำเภอเมืองไปยังสำนักงานเกษตรอำเภอวิภาวดี พบว่า เกิดไฟไหม้ขึ้นในสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมันจำนวนหลายไร่ ในตำบลมะลวน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถ้าเป็นเจ้าของสวนนั้นเองคงเป็นลมไปหลายรอบแล้ว   ซึ่งหน้าแล้งแบบนี้การเกิดไฟไหม้สวนย่อมจะเกิดขึ้นได้ง่ายทุกพื้นที่

                จนกระทั่งได้ออกพื้นที่ในตำบลตะกุกใต้ เกษตรกรก็พูดถึงเรื่องอากาศร้อนและอาจจะเกิดปัญหาภัยแล้ง ถึงขั้นรุนแรงอาจจะเกิดปัญหาไฟไหม้ตามสวนยางพาราตามมาได้   จึงได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กับเกษตรกร ซึ่งเกษตรกรก็จะมีประสบการณ์จริงในการดูแลสวนยางพารา ส่วนนักวิชาการอย่างเราก็จะมีความรู้จากศึกษาข้อมูลวิชาการ จึงได้แนะนำข้อมูลวิชาการในการป้องกันไฟไหม้สวนยางพาราในช่วงหน้าแล้งแก่เกษตรกรไปบางส่วน ดังนี้

                สาเหตุของการเกิดไฟไหม้สวนยางพารา คือ

1.นักเดินทางผ่านไปผ่านมานี่แระเป็นตัวการสำคัญ มักจะชอบทิ้งก้นบุหรี่ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดไฟไหม้ โดยเฉพาะสวนยางที่อยู่ริมถนน เมื่อทิ้งก้นบุหรี่เข้าไปในสวนยางทำให้เกิดไฟไหม้สวนยางได้

2.เกิดจากสวนข้างเคียงที่เกิดไฟไหม้จากสาเหตุต่างๆ แล้วมักจะลุกลามไปยังสวนยางที่อยู่รอบ ๆ

3.เกิดจากไฟป่า เมื่อเกิดจากไฟไหม้จากสาเหตุต่างๆที่กล่าวมา ประกอบกับในช่วงหน้าแล้งซึ่งมีเชื้อไฟ จากวัชพืชที่แห้งตาย จากวัสดุที่ใช้คลุมโคน และใบยางที่ร่วงในฤดูแล้ง ทำให้ไฟไหม้ขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว

การป้องกันไฟไหม้สวนยาง ควรปฏิบัติก่อนเข้าหน้าแล้งโดยมีวิธีปฏิบัติดังนี้
1. ทำแนวกันไฟ
                

2. กำจัดวัชพืชในสวนยาง การทำแนวกันไฟเป็นการป้องกันไฟที่ลุกลามมาจากบริเวณข้างเคียงที่อยู่ติดกับสวน สามารถทำได้โดยการไถ หรือขุดถากวัชพืชและเศษซากพืชออกเป็นแนวกว้างไม่ต่ำกว่า 3 เมตร รอบบริเวณสวนยาง ในกรณีสวนยางขนาดใหญ่ควรทำแนวกันไฟ ทุกๆ 100 เมตร ภายในสวนระหว่างแถวยาง การกำจัดวัชพืชในสวนยาง เป็นการป้องกันไฟไหม้ที่จะเกิดภายในสวนยางโดยกำจัดวัชพืชในบริเวณแถวยางออกให้หมดข้างละ 1 เมตร ก่อนเข้าหน้าแล้ง หากในระหว่างแถวยางมีวัชพืชขึ้นสูงหรือหนาแน่นควรใช้วิธีการถากหรือตัดออกแล้วนำเศษซากไปคลุมโคน ไม่ควรใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชในช่วงฤดูแล้ง เพราะจะทำให้วัชพืชยืนต้นแห้งตายซึ่งจะเป็นเชื้อไฟได้ดี กรณีต้นยางที่ถูกไฟไหม้ไม่รุนแรง แนะนำให้ใช้ส่วนผสมของปูนขาว ผสมน้ำอัตรา 1:1 ทิ้งไว้ค้างคืน แล้วทาลำต้น เพื่อป้องกันความร้อนจากแสงแดดป้องกันต้นยางสูญเสียน้ำ โรคและแมลงที่อาจเข้าทำลายได้ต่อมาเปลือกต้นยางบริเวณที่ถูกไฟไหม้แสดงอาการแตกออกมา ให้ใช้มีดคมๆ ปาดเอาส่วนที่เสียหายออก แล้วใช้สีน้ำมันทาปิดทับให้รอยแผลหายได้เร็วขึ้น ถ้าต้นยางในสวนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก จนไม่อาจรักษาหน้ายางได้เกิน 40% ของทั้งสวนควรทำการปลูกใหม่

การบำรุงรักษาสวนยางในหน้าแล้ง

การคลุมดิน
การคลุมดิน เป็นการจัดการที่จำเป็นที่เจ้าของสวนยางควรนำไปปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับระยะยางอ่อน เพื่อรักษาความชื้นในดินในช่วงหน้าแล้งให้ได้มากที่สุด และเพื่อเป็นแหล่งให้ต้นยางสามารถดูดน้ำไปทดแทนส่วนที่คายออกทางใบ โดยการใช้วัสดุต่างๆ คลุมดินรอบโคนต้นยางก่อนที่ถึงหน้าแล้ง

ความสำคัญของการคลุมดิน
การคลุมดิน นอกจากจะป้องกันความชื้นในดินโดยตรงแล้ว ยังมีผลทางอ้อมกับต้นยางและการจัดการดินอีกด้วย เพราะเป็นการเพิ่มอินทรีย์วัตถุในดิน มีผลทำให้ต้นยางเจริญเติบโตได้ดีขึ้น จากการทดลองให้ฟางข้าวคลุมโคนต้นยางเป็นวงกลม รัศมี 75 ซม. ห่างจากโคนต้นยางพอสมควร อัตรา 3 กก./ต้น และ 6 กก./ต้น พบว่า ต้นยางอ่อนอายุ 18-24 เดือน มีความเจริญเติบโตดีกว่าไม่ใช้วัสดุคลุมดินอย่างเห็นได้ชัด แต่เมื่อต้นยางอายุ 30 เดือน การใช้วัสดุคลุมดิน กลับไม่มีผลต่อความเจริญเติบโตของต้นยางแต่อย่างใด ทั้งนี้ เพราะระบบรากของต้นยางได้แผ่กระจาย ไปถึงบริเวณที่มีพืชคลุมในระหว่างแถวยาง ส่วนการใช้วัสดุคลุมดิน กับต้นกล้าก่อนติดตาในแปลงปลูก พบว่า ขนาดของลำต้นไม่แตกต่างกันไม่ว่าจะมีการคลุมดินและไม่ก็ตาม แต่การคลุมดินช่วยให้ต้นกล้าเจริญเติบโตเร็วขึ้น สำหรับ เขตแห้งแล้งหรือในท้องที่ที่ฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานาน การใช้วัสดุคลุมดินทำให้มีต้นยางปลูกซ่อมต่ำกว่าไม่ใช้ 24%-37% นอกจากนั้นการใช้วัสดุคลุมตลอดแถวยาง มีผลให้ต้นยางปลูกซ่อม น้อยกว่าการคลุมเฉพาะบริเวณโคนต้นยาง
        

การใช้วัสดุคลุมดิน
วัสดุคลุมดินที่เลือกใช้ ควรเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายและราคาถูกในท้องถิ่น ได้แก่ เศษวัชพืชและเศษซากพืชเหลือใช้จากการเกษตรและอื่น ๆ เช่น ซากหญ้าคา ฟางข้าว ใบกล้วย หญ้าขน ต้นถั่วชนิดต่างๆ ซากพืชคลุมและอื่นๆ เป็นต้น ส่วนวัสดุเหลือใช้เช่นถุงปูนซิเมนต์ กระดาษหนังสือพิมพ์หรืออื่นๆ ที่ย่อยสลายช้า วัสดุแต่ละประเภทมีความคงทนแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของวัสดุ เช่นถ้าใช้ถุงใส่ปุ๋ยจะย่อยสลายช้ากว่างฟางข้าว เป็นต้น ส่วนวัสดุที่หาได้ค่อนข้างยากและมีราคาสูง เช่น พลาสติกLDPE อาจจะเหมาะกับสวนขนาดใหญ่เพราะไม่จำเป็นต้องซื้อบ่อยครั้ง และอายุการใช้งานนานกว่าวัสดุราคาถูก ทำให้ต้นทุนต่ำกว่าการใช้วัสดุราคาถูกที่ต้องจัดหาบ่อยครั้ง
การบำรุงรักษา
ตามปกติในช่วงหน้าแล้ง ถ้ามีน้ำเพียงพออัตราการสังเคราะห์แสงในพืชจะมีมาก และมีประสิทธิภาพสูง ทั้งนี้เนื่องจากมีปริมาณแสงแดดมากทำให้อัตราความเจริญเติบโตของพืช มีอัตราสูงกว่าในช่วงฤดูฝน ในขณะเดียวกันปัญหาเรื่องความชื้นก็เป็นตัวจำกัดอัตราความเจริญเติบโตของพืชเช่นกัน ดังนั้นการปฏิบัติใดๆ ในช่วงหน้าแล้งที่ไปกระตุ้นให้พืชมีอัตราความเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยบางปัจจัยเป็นตัวจำกัด อาจมีผลทำให้ต้นพืชตามกลับหรือแสดงอาการขาดน้ำอย่างรุนแรงได้
การใส่ปุ๋ย
โดยปกติไม่แนะนำ ให้ใส่ปุ๋ยในช่วงแล้งเพราะอาจไปกระตุ้นการเจริญเติบโตของต้นยาง ให้แตกใบอ่อน เมื่อกระทบแล้งจัดต้นยางอาจเหี่ยวเฉาหรือตายกลับได้ง่าย ในขณะเดียวกัน ในสภาพแล้งจัดปุ๋ยจะดึงความชื้นเพื่อละลายตัวเอง ยิ่งทำให้ต้นยางขาดน้ำมากขึ้น ส่งผลให้ต้นยางได้รับความเสียหายขาดน้ำเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น การใส่ปุ๋ยในช่วงนี้ นอกจากต้นยางจะนำไปใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพและอาจเกิดอันตรายต่อต้นแล้ว ยังต้องสูญเสียปุ๋ยในรูปอื่นอีกมาก ทำให้สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ และไม่คุ้ม
การตัดแต่งกิ่ง
ต้นยางในท้องที่แห้งแล้งจัด มักจะแตกตาออกมามากเกินไป จึงจำเป็นต้องปลิดแขนงอ่อนที่แตกออกมาบ้าง เหลือจำนวนที่เหมาะสมแล้วไว้ 2-3 กิ่ง การไว้กิ่งแขนงมากเกินไป นอกจากจะเป็นการดึงเอาธาตุอาหารที่สะสมอยู่ในลำต้นมาใช้มากเกินไปแล้ว ใบและกิ่งก้านที่มากเกินไปจะมีส่วนให้ต้นยางต้านลมากขึ้น เป็นเหตุให้บริเวณโคนต้นที่อยู่ติดกับพื้นดินคลอนซึ่งกระทบกระเทือน ต่อการเจริญเติบโตของรากแขนงได้

                    

นางสาวสาวิตรี     สุวรรณ์

นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ

สำนักงานเกษตรอำเภอวิภาวดี

จังหวัดสุราษฎร์ธานี

โทร. 077292268

หมายเลขบันทึก: 345054เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2010 19:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 12:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ราคา กก.ละ เป็น 100
  • ดูแลดีๆหน่อยก็ดีครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท