การเมืองยื้อ ธปท.เล็งปรับจีดีพี


ทำคนไทยไม่กล้าใช้จ่าย-กระทืบซ้ำท่องเที่ยว ด้าน กกร. เตรียมพร้อมหารือด่วนแสดงจุดยืนหากสถานการณ์รุนแรง ยืนยันเอกชนไม่ต้องการให้ยุบสภา.... ธปท.เผยพิษการเมือง มีผลกระทบการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายในประเทศทันที ขณะที่กำลังจับตาปัญหาการเมือง หากยืดเยื้อเตรียมประเมินจีดีพีปี 53 ใหม่ ด้าน กกร. เตรียมพร้อมหารือด่วนแสดงจุดยืนหากสถานการณ์รุนแรง ยืนยันเอกชนไม่ต้องการให้ยุบสภา แต่ควรให้โอกาสรัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ด้านมอร์แกน สแตนเลย์เมินการเมืองปรับอันดับตลาดหุ้นไทยจากอันดับ 12 ผงาดขึ้นอันดับ 3 ของตลาดเกิดใหม่ ยันพื้นฐานแกร่ง

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงผลกระทบของการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มเสื้อแดงว่า หากยืดเยื้อยาวนานจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายในประเทศทันที ซึ่งมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมทั้งหมดนั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ต้องรอดูสถานการณ์ก่อน  

"ผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมยังไม่ สามารถระบุได้ คงต้องรอดูสถานการณ์สักระยะก่อนส่วนการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายในประเทศคงมีผลทันที" นายไพบูลย์กล่าว  

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา ธปท.ได้ดูแลให้ธนาคารพาณิชย์เตรียมสภาพคล่องให้เพียงพอเพื่อรองรับหากเกิดเหตุฉุกเฉินที่ส่งผลให้ประชาชนมีความต้องการเงินสดไว้ในมือเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ รวมทั้งการดูแลตลาดเงินและการเคลียร์ริ่งเช็คให้มีความพร้อม โดยให้ทุกระบบสามารถเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่องไม่สะดุด ขณะที่การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทขณะนี้ก็ปกติ ไม่ได้อ่อนค่าลงส่วนตลาดหุ้นก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น 

นายสุชาติ สักการโกศล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธปท.กล่าวว่า หากการชุมนุมยืดเยื้อยาวนาน อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ธปท.คงต้องปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของจีดีพีใหม่อีกครั้ง แต่หากการชุมนุมเกิดขึ้นระยะสั้น 1-2 สัปดาห์ ก็อาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไม่มากนัก ไม่จำเป็นต้องปรับประมาณการจีดีพีปี 53 ใหม่ แต่ ธปท.จะมีการปรับประมาณการจีดีพีทุกไตรมาสอยู่แล้ว   

"ตอนนี้เร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบ ซึ่ง ธปท.รอดูสถานการณ์ว่ามีความร้ายแรงหรือยืดเยื้อแค่ไหน หากการชุมนุมยืดเยื้อจนกระทบเศรษฐกิจ ธปท.คงต้องประเมินจีดีพีใหม่อีกครั้ง"   นายสุชาติยังกล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลหลายประเทศประกาศเตือนให้ทบทวนการท่องเที่ยวในไทย ขณะที่ล่าสุดนักท่องเที่ยวฮ่องกง ยกเลิกทัวร์ท่องเที่ยวไทยเกือบทั้งหมดนั้น  ถือเป็นเรื่องปกติที่รัฐบาลแต่ละประเทศออกมาเตือนเพื่อดูแลประชาชนตัวเองในช่วงที่มีเหตุไม่สงบ ส่วนการที่นักท่องเที่ยวฮ่องกงยกเลิกทัวร์ไทย เนื่องจากนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศเอเชียมีความอ่อนไหวทางการเมืองอย่างมาก  

สำหรับความเห็นในส่วนของภาคเอกชนนั้น นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนกำลังติดตามสถานการณ์การชุมนุมอย่างใกล้ชิด หากมีความรุนแรง เกิดการปะทะ การจลาจล การประกาศภาวะฉุกเฉิน หรือมีความรุนแรงเหมือนช่วง เม.ย.ปี 52 คงมีการหารือภายในคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เพื่อประเมินสถานการณ์และแสดงจุดยืนของภาคเอกชน ซึ่งข้อเสนอที่ได้คงเรียกร้องกับทุกฝ่ายผ่านสื่อสารมวลชน แต่ถ้าไม่รุนแรงก็คงไม่จำเป็นต้องมีการหารือ ซึ่งช่วง 3 วันที่ผ่านมา เหตุการณ์ไม่รุนแรงและรัฐบาลควบคุมสถานการณ์ได้

"ผมได้ติดต่อทางโทรศัพท์กับนายดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศ ไทย ที่เข้าร่วมคณะไปโรดโชว์ที่ญี่ปุ่นและร่วมประชุม กับสหพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (เคดันเรน) โดยได้ข้อมูลจากนายดุสิตว่านักธุรกิจญี่ปุ่นก็จับตาดูสถานการณ์ในไทยเข้ามาลงทุนในไทยจำนวนมาก เมื่อนายดุสิตกลับมาคงมีการติดตามสถานการณ์ร่วมกันได้"  

นายสันติกล่าวด้วยว่า กลุ่มเสื้อแดงต้องการให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยุบสภา แต่นายกรัฐมนตรีก็ประกาศชัดเจนว่าจะไม่ยุบสภาและเห็นว่าการเลือกตั้งใหม่ต้องอยู่บนเงื่อนไขที่ทุกคนยอมรับได้ จึงเห็นว่าทางออกของปัญหาขณะนี้ ควรมีการนั่งหารือกันว่า ถ้ากลุ่มเสื้อแดงต้องการให้ยุบสภาแล้วประเทศจะได้อะไร และเมื่อยุบสภาแล้วใครจะได้ประโยชน์ โดยถ้ามาเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียุบสภาและไม่มีเหตุผล คงเป็นไปไม่ได้ที่นายกรัฐมนตรีจะยุบสภา ซึ่งภาคเอกชนต้องการให้ ใช้วิธีการเจรจามากกว่าที่จะใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา "เอกชนไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรงและไม่ต้องการให้มีการยุบสภา เพราะรัฐบาลเหลือเวลาทำงานเพียง 1 ปีเศษ จึงควรให้โอกาสรัฐบาลในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจประเทศที่กำลังเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น และนักลงทุนต่างชาติก็เริ่มมั่นใจการลงทุน ซึ่งควรให้รัฐบาลผลักดันนโยบายต่างๆ ให้ เดินหน้าต่อเนื่อง หากยุบสภาต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่มาบริหารประเทศ ซึ่งรัฐบาลใหม่อาจทำให้การแก้ปัญหาไม่ต่อเนื่องก็ได้"  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองไทยที่กำลังร้อนแรง บริษัทมอร์แกน สแตนเลย์ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ออกบทวิเคราะห์ตลาดหุ้นเอเชียและตลาดเกิดใหม่ทั่วโลก โดยปรับอันดับการลงทุนตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นจากอันดับ 12 ขึ้นมาเป็นอันดับ  3 โดยอ้างอิงจากดัชนี มอร์แกน สแตนเลย์ MSCI ตลาดเกิดใหม่ สะท้อนอัตราการเติบโตของกำไรของบริษัทจดทะเบียน โดยบทวิจัยนี้ให้น้ำหนักการเมืองน้อยมาก เพราะความแข็งแกร่งของปัจจัยพื้นฐาน รวมถึงค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งขึ้น ด้านนางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการตลาด หลักทรัพย์ให้ความเห็นว่า เป็นข่าวดีสะท้อนให้เห็นว่าในสายตานักลงทุนต่างชาติยังมองเศรษฐกิจไทยค่อนข้างดี หลังจากข้อมูลเศรษฐกิจหลายตัวออกมาดี เช่น ตัวเลขการส่งออกและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน เชื่อว่าข่าวนี้จะส่งผลให้ต่างชาติมีความมั่นใจในหุ้นไทยเพิ่มขึ้นและตัดสินใจซื้อหุ้นไทยต่อเนื่องจากที่ได้ซื้อมาแล้ว 15 วันทำการกว่า 27,000 ล้านบาท.

 

จาก ไทยรัฐออนไลน์ 16 มีนาคม 2553

หมายเลขบันทึก: 344684เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2010 08:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มีนาคม 2012 10:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท