การจัดการความรู้ภาคปฏิบัติในชุมชน(2)การเรียนรู้ก่อนการดำเนินการจัดการความรู้โดยเครื่องมือการปรึกษาหารือกับที่ปรึกษา(Mentoring System)และเพื่อนช่วยเพื่อน(Peer Assist)


ในเชิงวิชาการชุมชนคือสถานที่เรียนรู้(Social Lap) ชุมชนเป็นสถานที่เรียนรู้และยกระดับเพื่อให้เกิดการขยายผลในวงที่กว้างขึ้น ซึ่งจะต้องเน้นระบบการถ่ายทอดที่ชุมชนเป็นหลักในการถ่ายทอดเรื่องราว และทำให้เกิดการเรียนรู้ข้ามพื้นที่ได้ด้วย

การเรียนรู้ก่อนการดำเนินการจัดการความรู้โดยเครื่องมือการปรึกษาหารือกับที่ปรึกษา(Mentoring System)และเพื่อนช่วยเพื่อน(Peer Assist) เวทีการจัดการความรู้ครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา "การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาภาวะผู้นำการเสริมสร้างความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่น"

มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขึ้นเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2552 ณ วัดพระศรีอารย์ ต.บ้านเลือก อ.โพธาราม จ.ราชบุรีโดยมีการจัดเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องบทบาทผู้นำองค์กรชุมชนกับการจัดทำเป้าหมายและตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่น ในการจัดเวทีครั้งนั้นมีผู้นำที่เป็นสมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านเลือกและผู้นำชุมชนจากตำบลที่มีจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลแล้วในจ.ราชบุรี กว่า 10 ตำบล  ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนตลอดจนนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีตรองนายกรัฐมนตรีกับดร.วรวุฒิ  โรมรัตนพันธ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นภาคีวิชาการเข้าร่วมเวทีด้วย โดยในการจัดเวทีการแลกเปลี่ยนในครั้งนั้น ได้ใช้พื้นที่ตำบลหนองสาหร่ายและตำบลบ้านเลือกเป็นกรณีศึกษาในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

                       

       แนวทางการพัฒนาชุมชนเข้มแข็งของภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ในปัจจุบัน ได้ยึดหลักสำคัญในการพัฒนาให้คนเป็นศูนย์กลางและชุมชนเป็นแกนหลักในการพัฒนา    ทำให้ชุมชนมีบทบาทสำคัญมากขึ้น ทั้งในเรื่องการวางแผน การดำเนินกิจกรรมตามแผน รวมทั้งการกำหนดเป้าหมายและผลลัพธ์ของการพัฒนา   มีรูปธรรมพื้นที่ตัวอย่างที่คนในชุมชนร่วมกันกำหนดเป้าหมายและผลลัพธ์ของการพัฒนามีกระจายอยู่ทั่วประเทศ  โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการทำแผนแม่บทชุมชน เพราะในกระบวนการทำแผนมีการใช้ข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ให้เห็นศักยภาพ ปัญหาของชุมชน และทุนทางสังคม เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหา แต่ส่วนใหญ่เป็นการกำหนดเป้าหมายตามแผนงานและโครงการ ยังไม่สามารถมีเครื่องมือการวัดผลการพัฒนาที่สะท้อนให้เห็นผลลัพธ์ของการพัฒนาในลักษณะที่เป็น“ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน”โดยภาพรวมในทุกเรื่องของพื้นที่ในระดับตำบล ซึ่งเป็นผลลัพธ์สุดท้ายที่ทุกคนต้องการเห็น

     การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ จึงได้ใช้กรณีตัวอย่างของพื้นที่ตำบลบ้านเลือก อ.โพธาราม จ.ราชบุรี และตำบลหนองสาหร่าย อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาอย่างเป็นกระบวนการโดยผ่านการวิเคราะห์ ประวัติศาสตร์  ศักยภาพ และทุนทางสังคมของชุมชนและนำไปสู่การสร้างเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาหรือตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการให้เกิดให้เกิดขึ้นกับ

 ขั้นตอนการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนา

อ.วิฑูรย์ ศรีเกษม ได้เสนอว่าจากบทเรียนของบ้านเลือกสามารถที่จะสรุปขั้นตอนการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาได้ดังนี้

  1. การวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ของชุมชน ค้นหาศักยภาพ ทุนทางสังคม
  2. ร่วมกันกำหนดผลลัพธ์การพัฒนาที่ชุมชนท้องถิ่นต้องการเห็นโดยสรุปเป็นเป้าหมายและตัวชี้วัด
  3. ร่วมกันกำหนดแผนงาน โครงการ กิจกรรมเพื่อให้เกิดตามผลลัพธ์ที่คาดหวัง
  4. การสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ ให้คนในชุมชนเห็นภาพรวมร่วมกัน และร่วมกันปฏิบัติ
  5. การลงมือปฏิบัติตามแผนงานของชุมชนและมีการสรุปผลการดำเนินงานเป็นระยะๆเพื่อทบทวนว่าเกิดผลลัพธ์ตามที่ต้องการหรือไม่
  6. การจัดเก็บข้อมูล เชิงตัวเลข สถิติ เพื่อเป็นสิ่งที่สะท้อน แสดงถึงความสำเร็จของสิ่งที่ชุมชนร่วมกันทำและการบรรลุตามผลลัพธ์ที่ต้องการ

     การกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาหรือตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่นจะเป็นเหมือนธงของเป้าหมายที่ชุมชนร่วมกันกำหนดไว้  หลังจากนั้นชุมชนจึงจะต้องมาร่วมกันหาแนวทางหรือวิธีการที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่กำหนดไว้ ซึ่งมีหลากหลายวิธี และหลายหลายกิจกรรม ที่สามารถทำให้เกิดผลลัพธ์เดียวกัน  

                           

     นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานมูลนิธิหัวใจอาสา ได้ให้ความสำคัญ และผลักดันให้เกิดรูปธรรมของการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่น เสนอว่าการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาระดับพื้นที่ ชุมชน ท้องถิ่นและท้องที่ควรได้ร่วมกับภาคีในพื้นที่ในการเป็นผู้กำหนดตนเองโดยกระบวนการมีส่วนร่วมเหมือนเช่นที่ ต.หนองสาหร่ายและ ต.บ้านเลือกได้ริเริ่มมาแล้ว การขับเคลื่อนในเรื่องนี้ผู้นำในชุมชนจะต้องใช้ภาวะความเป็นภาวะผู้นำทั้งในด้าน“ความดี ความสุข และความสามารถ” สร้างการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนอย่างทั่วถึงและครอบคลุมประชาชนทุกคน ครอบครัว   ให้การทำงานพัฒนาเป็นงานที่มีคุณค่า อย่าทำให้เป็นการทำงานที่ไร้เป้าหมาย มองไม่เห็นทิศทางและทำเกิดความทุกข์  เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง และแบ่งพรรค แบ่งพวก  “เหมือนทำไปตกนรกไป”   

     ในการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาโดยเฉพาะในภาคประชาชนนอกจากระดับตำบลแล้ว ควรจะมีการทำตัวชี้วัดการพัฒนาในระดับพื้นที่เล็กๆด้วย เช่นในระดับหมู่บ้านหรือองค์กรชุมชน และไม่ควรกังวลว่าถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดี ชุมชนจะต้องร่วมกันเรียนรู้เพื่อการจัดการตนเอง “คิดเอง ทำเอง สิ่งที่ยากเกินไปก็ปรึกษาหารือผู้รู้”และมีการเรียนรู้ร่วมกันในลักษณะการจัดการความรู้ หลักสำคัญในการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาคือบทบาทภาวะผู้นำการขับเคลื่อน   กงล้อสร้างความสุข

     อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญก็คือการที่ต้องทำให้ผลลัพธ์การพัฒนาสามารถวัดได้ในเชิงรูปธรรม ที่สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นตัวเลข หรือการจัดเก็บข้อมูล สถิติ ที่ตอบเป็นตัวชี้วัดการพัฒนาที่มีความชัดเจน การที่จะทำให้การวัดผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมีความสมบูรณ์นั้นประเด็นนี้ชุมชนจำเป็นจะต้องมีที่ปรึกษา จะต้องอาศัยนักวิชาการ มาช่วยให้การสนับสนุนในลักษณะการจัดการความรู้ ให้เป็นการเรียนรู้ร่วมกัน

      นายศิวโรฒ  จิตนิยม  แกนนำตำบลหนองสาหร่าย มีความเห็นว่า  การพัฒนาและการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นที่ประสบความสำเร็จได้นั้น ชาวบ้านจะต้องมีความฝันร่วมกัน สร้างเป้าหมายร่วมกัน  สิ่งที่ต้องการเห็น และสิ่งที่ต้องการให้เกิด นั่นคือการวัดผลลัพธ์การพัฒนานั่นเอง  ที่ผ่านมาตำบลหนองสาหร่าย     มีสภาผู้นำตำบล ที่มีองค์ประกอบทั้งจากท้องถิ่น ท้องที่ วัด ชาวบ้าน โรงเรียน เป็นเวที ที่ทำให้คนในชุมชนมาร่วมกัน คิด ปรึกษาหารือ มีการทำแผนชุมชนร่วมกัน  และกำหนดเป้าหมายและผลลัพธ์ของการพัฒนาร่วมกัน   โดยร่วมกันกำหนดแนวทางในการสร้างความสุขของคนในตำบล และมีการกระตุ้นให้คนในชุมชนช่วยกันคิดว่าต้องการให้เกิดความสุขอะไรบ้างในชุมชน ตำบล  เช่น คนในชุมชนไม่ทะเลาะแบ่งพรรค แบ่งพวก ไม่มีคนที่ติดยาเสพติด เล่นการพนัน  ชุมชนต้องมาช่วยกันคิดหาวิธีการเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย ซึ่งมีวิธีการหรือกิจกรรมที่หลากหลายที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ต้องการ  

     ดร.วรวุฒิ  โรมรัตนพันธ์  จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าวถึงบทบาทของสถาบันการศึกษาในการสนับสนุนการพัฒนาและการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นว่า ในเชิงวิชาการชุมชนคือสถานที่เรียนรู้(Social  Lap) ชุมชนเป็นสถานที่เรียนรู้และยกระดับเพื่อให้เกิดการขยายผลในวงที่กว้างขึ้น ซึ่งจะต้องเน้นระบบการถ่ายทอดที่ชุมชนเป็นหลักในการถ่ายทอดเรื่องราว และทำให้เกิดการเรียนรู้ข้ามพื้นที่ได้ด้วย อย่างไรก็ตามการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาจะต้องมีการวิเคราะห์ทุนทางสังคม ซึ่งงานพัฒนาจะประสบความสำเร็จทุนทางสังคมนับว่ามีความสำคัญ  ที่สำคัญคือการมีภาวะผู้นำ ที่มีความซื่อสัตย์ เสียสละ และการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  เป็นความสุขที่เกิดจากการให้ การแบ่งปัน ก่อเป็นฐานที่ทำให้ชุมชนเป็นชุมชนสร้างความสุขหรือเป็นสังคมที่มีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันได้

     ในประเด็นที่ว่าด้วยการแปลงผลลัพธ์ที่เป็นตัวชี้วัดการพัฒนาหรือการเสริมสร้างความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่นไปสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมนั้นจะต้องมีการระดมการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน และการจัดลำดับความสำคัญว่าต้องการเห็นผลลัพธ์ตัวไหนเกิดก่อนหรือหลัง แล้วจึงลงมือทำ ซึ่งปัจจัยที่จะให้ชุมชนประสบความสำเร็จมีหลายประการด้วยกัน อาทิเช่น การมีภาวะผู้นำ ที่มีความซื่อสัตย์ เสียสละ และการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  เป็นความสุขที่เกิดจากการให้ การแบ่งปัน มีภาวะผู้นำในการประสานเชื่อมโยงกับหน่วยงานท้องถิ่น ท้องที่ สร้างความร่วมมือกัน  มีความสามารถในการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมให้เป้าหมายและตัวชี้วัดตรงกับความต้องการของคนในทั้งมวล  การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกมาสนับสนุนการทำงาน การสื่อสารทำให้คนในชุมชนมีความรู้ความเข้าใจ การได้รับการสนับสนุนในระดับนโยบาย ซึ่งผู้นำชุมชนจำเป็นต้องมีภาวะผู้นำการเสริมสร้างความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่น โดยเริ่มจากการจัดทำเป้าหมายและตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่นของแต่ละพื้นที่

 

หมายเลขบันทึก: 344182เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2010 08:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท