ไม่ติดกรอบ ไม่ชอบมาตรฐาน รำคาญ Research Methodology


เมื่อคนเราใจเปิดและเปิดใจรับอะไรแล้ว อะไรต่ออะไรที่จะตามมาก็ "สบาย"

บันทึกนี้ขอต่อยอดประโยคและวลีที่สุดเด็ดของ คุณ namsha ซึ่งมีที่มาจากบันทึก คนไทยทำ R2R มากที่สุดในโลก...!!!


 

"ไม่ติดกรอบ ไม่ชอบมาตรฐาน รำคาญ Research Methodology" คำพูดประโยคนี้ของคุณ namsha นี้สามารถนำไปตั้งเป็นวิสัยทัศน์ของ R2R ได้อย่างดียิ่ง

คำพูดประโยคสั้น ๆ แต่ได้ใจความแล้วสามารถบ่งบอกแนวทางการทำวิจัย R2R ของคนหน้างานง่าย ๆ แบบนี้จะสามารถใช้เป็นแนวทางเพื่อเปิดใจให้คนหน้างานทั้งหลายรู้สึกดีและ "ผ่อนคลาย" กับการทำวิจัย ณ หน้างาน

เมื่อคนเราใจเปิดและเปิดใจรับอะไรแล้ว อะไรต่ออะไรที่จะตามมาก็ "สบาย"

เพราะถ้าหากเราเล่นเจอหน้ากันก็พูดคำแรกเลยว่า "ทำวิจัย" ใครต่อใครที่ได้ยินก็เผ่นหายกันหมด

แต่ถ้าเรามีประโยคของคุณ namsha กำกับการไว้วาง การทำวิจัยครั้งนี้ "ไม่ติดกรอบ ไม่ชอบมาตรฐาน รำคาญ Research Methodology" ต่อท้ายขยายความการวิจัยในการทำงานเข้าไปด้วย จะทำให้ถูกใจวัยรุ่นที่รำคาญ "ระบบ" เป็นอย่างมาก

วัยรุ่นในที่นี้ไม่จำกัดด้วยวัย วัยรุ่นในที่นี่กล่าวถึงคนทำงานที่ยังมีหัวใจเป็น "วัยรุ่น"

คนที่มีหัวใจเป็นวัยรุ่นคือ รักความก้าวหน้า ยังมีเรี่ยว มีแรงที่จะสร้างการพัฒนาเพื่อให้งานของตนเองก้าวหน้าและเจริญเติบโต

ผมเชื่อว่าหัวใจของคนทำงาน ณ หน้างานทุก ๆ คนยังเป็นวัยรุ่นอยู่ เพราะความอยากที่จะดิ้นรนต่อสู้กับความลำบาก หรือเรียกง่าย ๆ ว่าอยากให้ตนเองสบายนั้นเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะต้องดิ้นรนและแสวงหา

การหยิบยื่นโอกาสให้กับเขาด้วย R2R จึงเป็นเหมือนแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ที่เขาเห็นว่า มีช่องทางที่จะทำให้งานของเรานั้นสบายขึ้น

แต่ถ้าเป็นแบบเดิมที่เราบอกเขาว่า แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์นั้นจะต้องเดินตามเส้นทางของคำว่า "การวิจัย" นั้น ใครได้ฟังก็ยิ่งห่อเหี่ยวสิ้นหวังไปตาม ๆ กัน

ใครกันเล่าที่จะชื่นชมและฝากความหวังไว้กับคำว่า "การวิจัย" เพราะคนทำงานไม่ว่าจะเคยผ่านงานวิจัยทั้งในการเรียนระดับปริญญาต่าง ๆ หรือการวิจัยที่หน่วยงานต่าง ๆ ทำกันอยู่ก็พากันเข็ดขยาดกันไปหมด

คนเรานี้จะทำงานให้ได้ดีต้อง "พูดเป็น"

ถึงจะพูดดีแค่ไหนแต่ถ้าพูดไม่เป็นคนที่ฟังเขาก็หนีหมด

การนิยามแนวทางแห่ง R2R ของคุณ namsha ว่า "ไม่ติดกรอบ ไม่ชอบมาตรฐาน รำคาญ Research Methodology" จึงถือว่าเป็นการพูดที่ชาญฉลาด และจัดได้ว่า "พูดเป็น" เพราะพูดแล้วโดนใจวัยรุ่นอย่างแรง

เมื่อคนทำงานได้ยินประโยคนี้ ในเสี้ยวหนึ่งของจิตใจคนหน้างานที่ต้องอึดอัดกับทฤษฎีและนโยบายต่าง ๆ ที่เคยได้รับมาจากนักวิชาการตาน้ำข้าวนั้นจะเหมือนกับการได้รับการปลดปล่อย

จิตใจของ "กบฏทางวิชาการ" จะเกิดขึ้น

เหมือนกับปลาที่ได้กลิ่นน้ำใหม่ หรือเหมือนกับคนที่ถูกจองจำแล้วได้กลิ่นของ "อิสระภาพ"

คนหน้างานถูกจองจำมานานนะ ซึ่งเป็นการจองจำที่สร้างความทุกข์อย่างแสนสาหัส เพราะเป็น "การจองจำทางความคิด"

คนหน้างานถูกสั่งให้ทำ ทำ ทำแล้วก็ทำ แต่ "ห้ามคิด"

คนหน้างานมักถูกมองเสมอ ๆ ว่า มีความรู้น้อยกว่า ปัญญาน้อยกว่า หรือเรียกง่าย ๆ ว่า "โง่กว่า" นักวิชาการทั้งหลายที่ลงไปบรรยายหรือส่งเอกสารลงไปกำกับงาน

ดังนั้น ถ้าหากเราต้องการจะให้คนทำงานพัฒนางานของเขาจริง ๆ เราต้องปลดเปลื้องห่วงโซ่อันเป็นพันธนาการที่ผูกรัดข้อมือและข้อเท้าของคนหน้างานออกให้หมด

ปลดปล่อยเพื่อให้อิสระภาพแก่คนหน้างานได้คิด ได้ทำ ได้สร้างสรรค์งานของเขาด้วยตัวของเขาเอง

พวกเรานักวิชาการทั้งหลาย ต้องเลิกไปชี้ว่าสิ่งนั้นผิด สิ่งนี้ถูก สิ่งนี้ไม่ใช่ทฤษฎี สิ่งนี้ไม่ใช่ "การวิจัย"

เมื่อเราปล่อยเขาออกจากกรอบ ก็เหมือนกับเราปล่อยเขาออกจากที่จองจำแห่งความคิด

เมื่อเราไม่ Fix เขาด้วยมาตรฐานของเรา ก็เท่ากับเรามอบโอกาสให้เขาให้สามารถ "จินตนาการ" ได้อย่างไร้ขอบเขต

เมื่อเราประกาศตนไปว่า เรารำคาญ Research Methodology ก็เท่ากับว่าเราประกาศศึกกับนักล่าอาณานิคมทางวิชาการที่ใช้ทฤษฎีแทนกระบอกปืนเพื่อทำสงคราม

จิตใจนักสู้ของทุก ๆ คนจะตื่นและลุกขึ้นมาสู้ คนหน้างานจะลุกขึ้นมาเพื่อสู้เพื่อพัฒนาหน้างานของตนเอง...

 

คำสำคัญ (Tags): #r2r#คนหน้างาน
หมายเลขบันทึก: 343924เขียนเมื่อ 13 มีนาคม 2010 07:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ถ้าคิดว่านอกกรอบเป็นไง

ครูป้อม มีมาฝากนะครับ

http://knonlafhun.blogspot.com/

ขอบคุณกับเรื่องดีๆนะครับ

ขอบคุณสำหรับเรื่องดีๆ

สวัสดีค่ะ

เพราะคำพวกนี้ มันทำให้ namsha ติดมานาน ก้าวเดินต่ออย่างเชื่องช้า บางครั้งไม่ได้ พลอยทำให้คนอื่นถูกจองจำไปด้วย

ขอบคุณค่ะ

ได้อ่านบันทึกนี้แล้วโดนทีเดียว  ขอเป็นแนวร่วมอีกหนึ่งพลังในของอุดมการณ์นี้และจะขยายผลให้กับคนหน้างานที่หน่วยงานตนเองก่อนลุกขึ้นสู้เพื่อพัฒนางานตน.......

✿อุ้มบุญ✿

 

การทำงานโดยไม่ยึดกรอบ ไม่ชอบมาตรฐาน และมีความรำคาญต่อ research methodology นั้น ไม่ใช่เราจะทำงานแบบมั่ว ๆ ทำไปเรื่อย ไม่มีกรอบ มีเกณฑ์อะไรเลย

เพียงแต่เราต้องการที่จะนำแว่นตาที่เรานำมาบังตาบ้าง กรองแสงบ้าง หรือปรับเปลี่ยนแสงที่จะมากระทบเราบ้างออกก็เท่านั้น

เอาออกทำไม...? เอาออกเพื่อให้เรามองว่าโลกที่แท้จริงนั้นเป็นสีอะไร...!

เพราะบางครั้งเราไปทำงาน เราใส่แว่นตาที่เรียกว่า Methodology จนหนาเต๊อะ ใส่ไว้จนตาของเรามองไม่เห็นสีสันที่เป็นจริงตามธรรมชาติ

บางคนก็ใส่รองเท้าที่มีพื้นยาง จนไม่สามารถสัมผัสได้ว่าดินที่เขาได้เหยียบลงไปนั้น "นุ่ม" ขนาดไหน

การมีกรอบ มีมาตรฐาน และติดกับระเบียบวิธีวิจัยมากเกินไป หลาย ๆ ครั้งทำให้เรามองคนไม่เป็นคน หลาย ๆ ครั้งที่เรามองคนเป็น "ตัวปัญหา"

ที่เรามองแบบนั้นก็เพราะว่าเรานำมาตรฐานของอีกซีกโลกหนึ่งมาวัดคนในซีกโลกนี้ มาวัดคนไทยที่ยืนอยู่บนผืนแผ่นดินนี้

นักวิชาการไทยจึงมักมองคนไทยด้วยกันว่าเป็น "ตัวประหลาด"

ขอให้เราลองถอดแว่นออกสักหน่อย ถอดรองเท้าเดินกันบ้าง เลิกกางร่ม แล้วถอดเสื้อแขนยาว แล้วใช้อายตนะทั้ง 6 ให้ได้สัมผัสชีวิตที่แท้จริง

พึงรู้ในสิ่งที่เขารู้ พึงอย่าคิดว่าเขาไม่รู้ในสิ่งที่เรารู้

ความรู้จักการอ่าน การทดลอง การทำกิจกรรม ฤาจะสู้ความรู้ที่เขาต่อสู้ดิ้นรนมาด้วย "ชีวิต"

พึงอย่าทำชีวิตของคนหน้างานให้เป็นเพียงฐานของการทำผลงานทางวิชาการ

พึงทำตัวให้เนียนเข้าไปในชีวิตของคนหน้างานให้สมกับสมญานามของ R2R

การวิจัยที่เนียนเข้าไปเนื้องาน ผู้ทำ r2r เองก็ควรทำตัวเองให้เนียนเข้าไปในชีวิตของคนหน้างานนั้นด้วย

เขาทำงานอย่างไรก็พึงเดินเข้าไปแล้วทำให้เนียนได้อย่างนั้น

ย่องเข้าไปให้เหมือนแมว เนียนและ "เงียบ"

ถึงแม้นเขารู้ว่าเราอยู่แต่ไม่อยู่อย่างเป็น "ภาระ"

ถ้าเดิมเขาทำงานวันหนึ่งได้ 100 กิจ 100 อย่าง เมื่อเราเข้าไปแล้วก็พึงไม่ทำให้กิจทั้ง 100 อย่างของเขานั้นบกพร่องลง

ถ้าเนียนจริงต้องไม่ทิ้งร่อง ทิ้งรอย... รวดเร็ว ว่องไว อย่าให้เฉิ่ม

เพราะทุกวันที่เราเข้าไปเพื่อทำงาน ไม่ว่าจะเป็นนำพาให้เขาปรับกระบวนการจะต้องไม่มีช่องว่างของงานที่จะทำมาตรฐานแห่งการบริการนั้นลดลง

บางครั้งเราใช้เวลาและโอกาส ขอโทษ ขอโพย ขออภัยผู้ใช้บริการว่า ขณะนี้กำลังปรับปรุงคุณภาพ แล้วปล่อยความไม่มีคุณภาพนั้นส่งตรงถึงมือของ "ลูกค้า (Customers)" หลายครั้งชีวิตของลูกค้าต้องกลายมาเป็นกรณีศึกษา (Case study)

ชีวิตคือของจริง การทำงานหน้างานคือของจริง แล้วที่เราวิจัยในวันนี้คือของจริงหรือไม่...?

พยายามถอดแว่นตาเพื่อให้สายตามองโลกด้วยความเป็นจริง แล้วเราจะเห็นสิ่งที่สวยงามและสดใสด้วยตาและใจของเราเอง...

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท