คนไทยทำ R2R มากที่สุดในโลก...!!!


สิ่งเหล่านี้ต้องยกประโยชน์ให้กับความไม่มีมาตรฐานของคนไทย หรือว่าจะเรียกให้สวยงามตามภาษาวิชาการก็เรียกได้ว่า "ยืดหยุ่น" รู้จักประยุกตร์ใช้สิ่งของที่อยู่ใกล้ตัว

เรา (นักวิชาการ) ชอบตั้งกรอบ ตั้งมาตรฐานลงไปว่า การทำแบบนี้ ขนาดนี้ ระดับจึงจะเรียกการวิจัย จึงจะเรียกได้ว่า "งานทางวิชาการ"

แต่ถ้าเราจะกันโดยเนื้องานของ R2R ว่าเป็นเรื่องของการพัฒนาที่หน้างานของคนทำงานแล้ว ผมมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า คนไทยเนี่ยแหละเป็นคนที่ทำ R2R มากและประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก

ผมมั่นใจเป็นอย่างยิ่ง หากจะวัดด้วยต้นทุนทั้งทางด้านเงินและเวลา เมื่อผนวกกับผลสัมฤทธิ์ที่คนหน้างานสามารถพัฒนาวิธีการทำงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงานที่ไม่ดี ไม่ได้เรื่องกลับมาทำให้ดีและใช้งานได้อย่างมหัศจรรย์

ทำไมผมจึงมั่นใจเช่นนั้น เพราะคนไทยมีโอกาสที่จะพัฒนางานด้วย R2R มากกว่าคนชาติอื่น ๆ ในเรื่องนี้ต้องขอบคุณผู้บริหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมืองที่คอรัปชั่นกันจนวัสดุและอุปกรณ์ที่ส่งถึงมือผู้ใช้งานส่วนใหญ่นั้นจะไม่ค่อยได้มาตรฐาน

การที่ได้รับอุปกรณ์ที่ไม่ค่อยได้เรื่องหรือไม่ได้มาตรฐานนี้เองเป็นโอกาสที่จะทำให้คนหน้างานต้องพัฒนาของที่ใช้ไม่ได้กลับให้ใช้ได้ด้วย R2R

ยกตัวอย่างง่าย ๆ อาทิ รถเข็นผู้ป่วยที่เป็นรถเข็นสแตนเลสทั้งแบบรถและแบบเตียง แต่ละโรงพยาบาลก็มีการให้ผู้ผลิต ร้านนั้น ร้านนี้ประมูลแล้วก็สร้างด้วยรูปแบบที่แตกต่างกันไป

ถึงแม้นว่าจะมีแบบมาตรฐานกลาง แต่ทว่า การลั่วไหลในการประมูลหรือเสนอราคานั้นจะเป็นปัจจัยส่งผลให้อุปกรณ์ที่ได้มาใช้งานนั้นต่ำกว่ามาตรฐาน

แต่เมื่อได้มาแล้วคนที่ "ซวย" ก็คือคนใช้งาน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นพนักงานตัวน้อย ๆ เงินเดือนกระจิ๊ด กระจ้อยร่อย จะไปพูดมาก บ่นมากก็ไม่ได้ ก็ต้องทนใช้ของที่ไม่ได้มาตรฐานนั้นไปเรื่อย ๆ

เมื่อของไม่ได้มาตรฐานใช้ไปซักพักก็พัง พังแล้วจะซ่อมก็ไม่มีงบ หรือกว่าจะรองบมาคนป่วยก็จะตายซะก่อน ดังนั้น วิชาช่างที่มีอยู่ในสายเลือด ก็ประยุกต์ หรือที่วัยรุ่นมักเรียกกัน Adap นั้นก็สามารถปรับปรุงรถเข็นแย่ ๆ กลายเป็นรถเข็นที่สมบูรณ์ได้

ดังนั้น แค่เราได้ไปนั่งมองบุรุษพยาบาลเข็นเตียงคนไข้แค่นี้เราก็จะเห็นพัฒนาการของ R2R อย่างมากมายและสนุกสนาน

แต่ทว่าปัญหามันอยู่ที่นักวิชาการมักมองเรื่องเหล่านี้ว่า "ไร้สาระ" เพราะเป็นเรื่องที่พัฒนาจากคนที่นักวิชาการมีความเชื่อว่า "เขาโง่"

นักวิชาการมักมองว่าคนที่มีความรู้น้อยกว่าตน หรือต่ำต้อยนั้น "โง่" และสิ่งที่เขาทำนั้นก็ไม่ได้เรื่องตามไปด้วย

เมื่อกรอบของนักวิชาการเป็นแบบนั้น ก็เลยทำให้ R2R กลายเป็นอะไรที่จะต้องเกิดจากห้องประชุม ต้องเกิดจากเวทีสัมมนา หรือว่าจะต้องเกิดจากการเขียนเอกสารและได้ตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการ "เท่านั้น"

ผมจึงขอย้อนกลับไปถึงผลประโยชน์ของการวิจัยโดยทั่วไปที่นอกเหนือจาก R2R ว่าตกลงเราทำวิจัยกันทุกวันนี้เพื่อประโยชน์ของใคร

ถ้าหากเราใช้กรอบมาตรฐานเรื่องเอกสารเข้าไปคัด ไปกรองว่าอะไรควรจะเป็น R2R อะไรเป็นแค่ปัญญาไร้ค่าของคนหน้างาน เราจะทิ้งสิ่งดี ๆ ที่คนทำงานเขาพัฒนาแล้วเกิดประโยชน์ไปมากต่อมาก

ผมยังขอย้ำอีกครั้งว่า คนไทยเป็นคนที่ทำ R2R มากและประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกไม่ว่าจะเป็นช่างฝีมือในแขนงไหน ถ้าไปสัมผัสดูใกล้ ๆ ลองไปดูเครื่องมือที่เขาใช้ เขาสามารถประยุกตร์เครื่องมือไม่ว่าจะเป็นของฝรั่ง ของญี่ปุ่น หรือเกาหลี Adap เข้ามาใช้อะไหล่แบบไทย ๆ ได้หมด

สิ่งเหล่านี้ต้องยกประโยชน์ให้กับความไม่มีมาตรฐานของคนไทย หรือว่าจะเรียกให้สวยงามตามภาษาวิชาการก็เรียกได้ว่า "ยืดหยุ่น" รู้จักประยุกตร์ใช้สิ่งของที่อยู่ใกล้ตัว

ฝรั่งหรือเมืองนอกเขาทำแบบนี้กันไม่ได้นะครับ เพราะบ้านเมืองเขามีมาตรฐาน แค่คนจะก่ออิฐสักก้อนหนึ่งยังต้องไปเข้าโรงเรียนเรียนกันไปเรื่องเป็นราว แต่บ้านเรานั้นคนที่ได้ไปสัมผัสใกล้ๆ ทำกันได้แทบทุกคนเพราะคนไทยนั้นเก่งที่สุดในโลกอยู่แล้ว

ความหัวรั้นก็เป็นอีกคุณสมบัติหนึ่งของนักทำ R2R ที่ดี ก็คือ ใครบอกอะไร (กู) ก็ไม่เชื่อ ที่มึงบอกไม่ดี กูจะขอลองทำแบบนี้ แนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่สุดยอดที่สุดของคนที่จะหวังก้าวหน้าตามหลักการของ R2R

เพราะถ้าใครเป็นพวกหัวอ่อน ก็มักจะทำตามเขาไปเรื่อย เขาบอกอะไรว่าดีก็ทำตามเขาไปอย่างนั้น

ชอบลัดขั้นตอน

คุณสมบัติของคนไทยอีกแง่หนึ่งที่เป็นนักทำ R2R ที่ดีได้ก็คือ ชอบลัดขั้นตอน ลัดแล้วดีด้วย คือ รู้จักประยุกตร์ ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงอะไรที่มันเว่อร์ ๆ ที่นักวิชาการแบบนั่งโต๊ะเขียนมาก็รู้จักตัดออกไปบ้าง กล้าได้ กล้าเสีย

สิ่งที่เขียนมาในบันทึกนี้เกี่ยวกับคนทำ R2R ในเมืองไทยถ้านักวิชาการอ่านเผิน ๆ จะมองว่าเป็นพวก "ชุ่ย" ไม่ชอบทำงานตามระบบ ระเบียบ

แต่สิ่งนี้ต้องขอย้อนกลับไปถึงเรื่องของระบบ ระเบียบด้วยครับ เพราะระบบ ระเบียบของเมืองนอกนั้น เขาออกมาจากคนทำงานที่หน้างาน คือ ออกมาจากคนทำงานจริง ๆ ดังนั้น เมื่อคนทำงานจริงเขียนขั้นตอนการปฏิบัติงาน เขาจะเข้าใจหัวอกของคนทำงาน

แต่บ้านเรานั้นเป็นพวก "คนเขียนไม่ได้ทำ คนทำไม่ได้เขียน" ดังนั้นคนเขียนส่วนใหญ่จะเรียนเยอะ อะไรดีก็เขียนไปซะหมด ส่วนคนทำถ้าทำไปตามที่นักวิชาการที่นั่งโต๊ะเขียนไว้ ก็อดตายกันพอดี เพราะกว่าจะก่ออิฐได้สักก้อนหนึ่งก็ต้องไปพิสูจน์ค่าทางเคมีกันซะก่อน

ปัญหา R2R ในวันนี้จึงอยู่ที่กรอบและตระแกรง ถ้าเราตั้งกรอบแล้วถือกรอบเดินเข้าไปหาคนทำงาน ก็ยากนักที่จะหาเจอ และถ้ายิ่งเราตั้งรูของตระแกรงไว้ว่าจะต้องเป็นผลงานทางวิชาการ ก็ต้องทำกันอีกหลายสิบหลายร้อยปี

แล้วสุดท้ายเราจะตั้งกรอบแล้วมีตระแกรงเหล่านี้ไว้เพื่อให้เกิดผลประโยชน์แก่ใคร...?

ที่มาจากบันทึก  เราวิจัย เพื่อใคร...?

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

12 มีนาคม 2553

คำสำคัญ (Tags): #r2r#มาตรฐาน
หมายเลขบันทึก: 343780เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2010 15:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เพิ่งเข้ามาอ่านบันทึกในบล็อคนี้คร้ังแรก

อ่านแล้วได้แง่คิดเยอะมากเลยครับ

อ่านแล้วย้อนกลับไปอ่านบันทึกก่อน ๆ หน้า พบเนื้อหาที่มีประดยชน์มาก ๆ เลยครับ

ขอบคุณครับ

อ่านบันทึกนี้แล้ว ทำให้พอมีหวังว่าคนหน้างานอย่างเรา จะมี R2R กับเขาบ้าง

ขอบคุณแง่คิด ไม่ติดกรอบ ไม่ชอบมาตรฐาน รำคาญ Research Methodology

ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

"ไม่ติดกรอบ ไม่ชอบมาตรฐาน รำคาญ Research Methodology" คำพูดประโยคนี้ของคุณ namsha นี้สามารถนำไปตั้งเป็นวิสัยทัศน์ของ R2R ได้อย่างดียิ่ง

คำพูดประโยคนั้น ๆ แต่ได้ใจความแล้วสามารถบ่งบอกแนวทางการทำวิจัย R2R ของคนหน้างานง่าย ๆ แบบนี้จะสามารถใช้เป็นแนวทางเพื่อเปิดใจให้คนหน้างานทั้งหลายรู้สึกดีและ "ผ่อนคลาย" กับการทำวิจัย ณ หน้างาน

เมื่อคนเราใจเปิดและเปิดใจรับอะไรแล้ว อะไรต่ออะไรที่จะตามมาก็ "สบาย"

เพราะถ้าหากเราเล่นเจอหน้ากันก็พูดคำแรกเลยว่า "ทำวิจัย" ใครต่อใครที่ได้ยินก็เผ่นหายกันหมด

แต่ถ้าเรามีประโยคของคุณ namsha กำกับการไว้วาง การทำวิจัยครั้งนี้ "ไม่ติดกรอบ ไม่ชอบมาตรฐาน รำคาญ Research Methodology" ต่อท้ายขยายความการวิจัยในการทำงานเข้าไปด้วย จะทำให้ถูกใจวัยรุ่นที่รำคาญ "ระบบ" เป็นอย่างมาก

วัยรุ่นในที่นี้ไม่จำกัดด้วยวัย วัยรุ่นในที่นี่กล่าวถึงคนทำงานที่ยังมีหัวใจเป็น "วัยรุ่น"

คนที่มีหัวใจเป็นวัยรุ่นคือ รักความก้าวหน้า ยังมีเรี่ยว มีแรงที่จะสร้างการพัฒนาเพื่อให้งานของตนเองก้าวหน้าและเจริญเติบโต

ผมเชื่อว่าหัวใจของคนทำงาน ณ หน้างานทุก ๆ คนยังเป็นวัยรุ่นอยู่ เพราะความอยากที่จะดิ้นรนต่อสู้กับความลำบาก หรือเรียกง่าย ๆ ว่าอยากให้ตนเองสบายนั้นเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะต้องดิ้นรนและแสวงหา

การหยิบยื่นโอกาสให้กับเขาด้วย R2R จึงเป็นเหมือนแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ที่เขาเห็นว่า มีช่องทางที่จะทำให้งานของเรานั้นสบายขึ้น

แต่ถ้าเป็นแบบเดิมที่เราบอกเขาว่า แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์นั้นจะต้องเดินตามเส้นทางของคำว่า "การวิจัย" นั้น ใครได้ฟังก็ยิ่งห่อเหี่ยวสิ้นหวังไปตาม ๆ กัน

ใครกันเล่าที่จะชื่นชมและฝากความหวังไว้กับคำว่า "การวิจัย" เพราะคนทำงานไม่ว่าจะเคยผ่านงานวิจัยทั้งในการเรียนระดับปริญญาต่าง ๆ หรือการวิจัยที่หน่วยงานต่าง ๆ ทำกันอยู่ก็พากันเข็ดขยาดกันไปหมด

คนเรานี้จะทำงานให้ได้ดีต้อง "พูดเป็น"

ถึงจะพูดดีแค่ไหนแต่ถ้าพูดไม่เป็นคนที่ฟังเขาก็หนีหมด

การนิยามแนวทางแห่ง R2R ของคุณ namsha ว่า "ไม่ติดกรอบ ไม่ชอบมาตรฐาน รำคาญ Research Methodology" จึงถือว่าเป็นการพูดที่ชาญฉลาด และจัดได้ว่า "พูดเป็น" เพราะพูดแล้วโดนใจวัยรุ่นอย่างแรง

เมื่อคนทำงานได้ยินประโยคนี้ ในเสี้ยวหนึ่งของจิตใจคนหน้างานที่ต้องอึดอัดกับทฤษฎีและนโยบายต่าง ๆ ที่เคยได้รับมาจากนักวิชาการตาน้ำข้าวนั้นจะเหมือนกับการได้รับการปลดปล่อย

จิตใจของ "กบฏทางวิชาการ" จะเกิดขึ้น

เหมือนกับปลาที่ได้กลิ่นน้ำใหม่ หรือเหมือนกับคนที่ถูกจองจำแล้วได้กลิ่นของ "อิสระภาพ"

คนหน้างานถูกจองจำมานานนะ ซึ่งเป็นการจองจำที่สร้างความทุกข์อย่างแสนสาหัส เพราะเป็น "การจองจำทางความคิด"

คนหน้างานถูกสั่งให้ทำ ทำ ทำแล้วก็ทำ แต่ "ห้ามคิด"

คนหน้างานมักถูกมองเสมอ ๆ ว่า มีความรู้น้อยกว่า ปัญญาน้อยกว่า หรือเรียกง่าย ๆ ว่า "โง่กว่า" นักวิชาการทั้งหลายที่ลงไปบรรยายหรือส่งเอกสารลงไปกำกับงาน

ดังนั้น ถ้าหากเราต้องการจะให้คนทำงานพัฒนางานของเขาจริง ๆ เราต้องปลดเปลื้องห่วงโซ่อันเป็นพันธนาการที่ผูกรัดข้อมือและข้อเท้าของคนหน้างานออกให้หมด

ปลดปล่อยเพื่อให้อิสระภาพแก่คนหน้างานได้คิด ได้ทำ ได้สร้างสรรค์งานของเขาด้วยตัวของเขาเอง

พวกเรานักวิชาการทั้งหลาย ต้องเลิกไปชี้ว่าสิ่งนั้นผิด สิ่งนี้ถูก สิ่งนี้ไม่ใช่ทฤษฎี สิ่งนี้ไม่ใช่ "การวิจัย"

เมื่อเราปล่อยเขาออกจากกรอบ ก็เหมือนกับเราปล่อยเขาออกจากที่จองจำแห่งความคิด

เมื่อเราไม่ Fix เขาด้วยมาตรฐานของเรา ก็เท่ากับเรามอบโอกาสให้เขาให้สามารถ "จินตนาการ" ได้อย่างไร้ขอบเขต

เมื่อเราประกาศตนไปว่า เรารำคาญ Research Methodology ก็เท่ากับว่าเราประกาศศึกกับนักล่าอาณานิคมทางวิชาการที่ใช้ทฤษฎีแทนกระบอกปืนเพื่อทำสงคราม

จิตใจนักสู้ของทุก ๆ คนจะตื่นและลุกขึ้นมาสู้ คนหน้างานจะลุกขึ้นมาเพื่อสู้เพื่อพัฒนาหน้างานของตนเอง...

 

 

จริงอย่างแรงครับอาจารย์ R2R เหมาะกับคนไทยมากๆ และผมว่าเหมาะกับนิสัยมันุษย์ทั่วไป โดยพื้นฐานครับ เพราะคนต้องปรับตัว อย่างน้อยก็ไม่อยากเหนื่อยละ เพราะฉะนั้นนี่คือ R2R นั่นเองครับ

ดีใจที่เห็นบทความของท่านอาจารย์ รู้สึกชื่นชมและขอคารวะด้วยใจจริงครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท