จุดเริ่มต้นของการเสริมสร้างวินัยในสังคม


การเสริมสร้างวินัยสำหรับเด็กเยาวชน ควรมุ่งดำเนินการในทางบวกภายใต้พื้นฐานของการยอมรับ การมีส่วนร่วม ความเข้าใจและความรับผิดชอบในการปฏิบัติ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดพัฒนาการส่วนบุคคล

                แนวคิดพื้นฐานในเรื่องวินัยส่วนบุคคลเชื่อกันว่า เป็นลักษณะเชิงพฤติกรรมที่แสดงออกถึงการควบคุมตนเองและการมุ่งพัฒนาตนเอง เพื่อปรับบุคลิกภาพให้สอดคล้องกับสภาพความจำเป็น ความเปลี่ยนแปลงและก่อให้เกิดความพอเหมาะพอดี สำหรับการดำรงชีวิตในสังคม โดยผลลัพธ์สุดท้ายต้องก่อให้เกิดเงื่อนไขที่ทำให้บุคคลมีพฤติกรรมอันเป็นระเบียบและมีกระบวนการกฏเกณฑ์ในการปฏิบัติตนที่ชัดเจน

                ในข้อเขียนเรื่อง “ของฝากจากครอบครัว Tiger Woods”โดย “เกียรติวรรณ อมาตยกุล” ได้กล่าวถึงแนวทางในการเลี้ยงดูเด็กให้เกิดระเบียบวินัยไว้ ๔ ประการ คือ (๑) การกำหนดแบบแผนที่ชัดเจนในชีวิตประจำวัน (๒) การปฏิบัติกิจกรรมตามแบบแผน ที่กำหนดไว้อย่างสม่ำเสมอ (๓) การกำหนดกฏเกณฑ์ที่ชัดเจน ทุกคนยอมรับและถือปฏิบัติ และ (๔) ความมั่นคงต่อกฏเกณฑ์ที่นำไปใช้ ทั้งนี้แนวทางตามข้อเสนอแนะทั้ง ๔ ประการดังกล่าว จะช่วยให้เด็กสามารถควบคุมตนเองได้ ทั้งกิจกรรมที่เกิดจากการประพฤติปฏิบัติทางกาย  รวมทั้งการควบคุมจิตใจหรืออารมณ์ของตน เพื่อให้สามารถที่จะนำตนเองไปในทางที่ถูกที่ควร โดยวินัยจะมีส่วนสัมพันธ์กับการเรียนรู้ทางสังคม อย่างไรก็ตามการเสริมสร้างวินัยให้เกิดเป็นผลดีสำหรับเด็กและเยาวชน จำเป็นต้องเสริมสร้างให้เด็กและเยาวชนคุ้นเคยกับหลักการสำคัญที่เป็นพื้นฐานต่อไปนี้

              ๑. หลักการเชิงเหตุผล  ควรมีการแนะนำชี้แจงให้เด็กเยาวชนรับรู้รับทราบ เกี่ยวกับสิ่งที่จะต้องปฏิบัติ ในกฏเกณฑ์หรือแบบแผนการปฏิบัติว่า สืบเนื่องมาจากสาเหตุใด และเมื่อมีการปฏิบัติ จะก่อให้เกิดผลไปในทิศทางใดกับตัวเด็กเยาวชนเองหรือผู้อื่นอย่างไรบ้าง พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้มีการซักถาม อภิปรายเสนอข้อคิดหรือข้อต่อรองและยุติด้วยเหตุด้วยผล ทั้งนี้การใช้เหตุผลควรได้รับการฝึกฝนในกิจกรรมอื่นๆ ของเด็กอย่างสม่ำเสมอด้วย

              ๒. หลักการวิเคราะห์  เป็นหลักปฏิบัติที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับหลักเหตุผล เด็กควรได้รับการชี้แนะให้สามารถแยกแยะสิ่งที่ถูกที่ผิด สิ่งที่ควรหรือไม่ควรในการปฏิบัติกิจกรรมต่างๆได้ เช่น การตั้งประเด็นคำถามว่า  การรังแกสัตว์ การแกล้งเพื่อนคนอื่นๆ การทำลายสิ่งของ ฯลฯ ทำไปแล้วมีผู้เดือดร้อนหรือไม่ ถ้ามีจะทำหรือไม่ทำ เป็นต้น

               ๓. หลักการมีส่วนร่วมและการอยู่ร่วมกัน  ต้องมีการฝึกฝนให้เด็กเยาวชนรู้ว่าตนเองไม่สามารถอยู่ได้คนเดียวในโลก ต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม ความคิด การปฏิบัติต่างๆ ทุกคนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วม หากความคิดหรือการกระทำนั้นเกี่ยวข้องหรือกระทบกับผู้อื่น เช่น การกำหนดหลักเกณฑ์ให้ทุกคนปฏิบัติ  ต้องมีการพูดคุยแสดงความคิดเห็นด้วยเหตุด้วยผล ให้มีการตกลงและยอมรับร่วมกัน

                ๔. หลักความรับผิดชอบ เมื่อมีข้อตกลงร่วมกันในการปฏิบัติสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ต้องยอมรับและเคารพในกติกาหรือข้อกำหนดดังกล่าว การปฏิบัติต้องเป็นเงื่อนไขที่มีการกล่าวถึงในกรณีต่างๆ ไม่เฉพาะในเรื่องระเบียบวินัยเท่านั้น

               ๕. หลักความเหมาะสม  แนวทางปฏิบัติต่างๆที่กำหนดขึ้น สำหรับเด็กหรือบุคคลทั่วไป จำเป็นต้องคำนึงถึงความเหมาะสมในด้านการปฏิบัติ ความสะดวก ปัจจัยสนับสนุน ความทันสมัยในห้วงเวลาและสภาพแวดล้อมอื่นๆ เช่น การกำหนดให้เด็กนักเรียนต้องแต่งกายด้วยเครื่องแบบ โดยห้ามใส่เสื้อผ้าชนิดอื่นใด ในฤดูที่อากาศหนาวเย็น ข้อปฏิบัติดังกล่าวควรมีความยืดหยุ่นได้ด้วยเหตุผลสำคัญที่จำเป็น อันเกิดจากธรรมชาติและจะก่อให้เกิดความป่วยเจ็บจากการใช้กฏเกณฑ์นั้นๆ  ซึ่งผู้เกี่ยวข้องต้องรับรู้ร่วมกันในเหตุผลที่เป็นเงื่อนไขการผ่อนปรนกติกาการปฏิบัติ

               ๖. หลักการมองอนาคต  ควรให้เด็กได้รับทราบจุดมุ่งหมายในการปฏิบัติอย่างชัดเจน รวมทั้งได้คิดถึงวัตถุประสงค์ เป้าหมายและวิธีการปฏิบัติเป็นขั้นเป็นตอนไว้ เป็นการล่วงหน้าในทุกๆกิจกรรม ที่เด็กเยาวชนได้กำหนดด้วยตนเอง ตลอดถึงการคาดคะเนปัญหาอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นก่อนการปฏิบัติจริงด้วย

การเสริมสร้างวินัยสำหรับเด็กเยาวชน ควรมุ่งดำเนินการในทางบวกภายใต้พื้นฐานของการยอมรับ การมีส่วนร่วม ความเข้าใจและความรับผิดชอบในการปฏิบัติ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดพัฒนาการส่วนบุคคลและก่อให้เกิดความสามัคคี ความเจริญก้าวหน้าของหมู่คณะและสังคม สำหรับเด็กเยาวชนที่จะเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ ในอนาคตสืบไป..........

(จุลสารสถาบันพัฒนาผู้บริหารการศึกษา ฉบับที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๔๗)

หมายเลขบันทึก: 342747เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2010 11:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 14:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท