กิจกรรมบำบัดด้วยสื่อศิลปะ


ประทับใจและขอบคุณทีมผู้บริหารและทีมผู้จัดงาน รพ. ขอนแก่น และแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู นักกิจกรรมบำบัด ครูศิลปะบำบัด นักจิตวิทยาคลินิก ครูการศึกษาพิเศษ ในเครือข่ายการช่วยเหลือเด็กออทิสติก จ.ขอนแก่น ที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่น่าสนใจ

ทุกคนเกร็งๆ ว่าผมจะบรรยายแบบป้อนเนื้อหาวิชาการหรือเทคนิคยากๆ เมื่อรู้ว่า ดร.ป๊อป จะมาเป็นวิทยากรเรื่อง "Cognitive and Leisure Performance" ณ รพ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 53 เวลา 9.30-16.30 น.

แต่หลายคนสะท้อนความรู้สึกหลังจบการบรรยายว่า "ผิดคาด" เพราะผมจัดกิจกรรมให้ผู้ร่วมประชุมเรียนรู้อย่างใคร่ครวญ (จิตตปัญญาศึกษา), กิจกรรมทบทวนโจทย์แต่ละประเด็นด้วยตนเองและจับคู่-กลุ่มคิดและนำเสนอวิธีการจัดกิจกรรมจากสื่อที่เลือกมาเพียง 6 อย่าง ได้แก่ ลูกกลมเสียบหลัก แผ่นไม้จับคู่ผลไม้ ลูกบอลยางนูนสัมผัส กระดานล้อเลื่อน กระดาษกับสีเทียน และ CDs (Clip ดนตรีผ่อนคลาย, กิจกรรมบำบัดทั่วไป, กิจกรรมบำบัดความล้า, ศิลปะบำบัดและกิจกรรมบำบัด) พร้อมมีส่วนร่วมทำกิจกรรมที่คิดเองทำเองจนแน่ใจว่าน่าจะนำไปพัฒนาเด็กพิเศษได้

เนื้อหาที่บรรยาย ประกอบด้วย

1. Cognitive Performance คือ ความสามารถในการมีความรู้ความเข้าใจเพื่อทำกิจกรรมการดำเนินชีวิต

2. Leisure Performance คือ ความสามารถในการมีเวลาว่างและมีตัวเลือกกิจกรรมยามว่างเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิต

3. Cognitive and Leisure Performance คือ ความสามารถในการรับรู้ เรียนรู้ และสะท้อนความรู้สึกและความคิดอย่างอิสระและใช้สิ่งต่างๆรอบตัวในการใช้เวลาว่างและทำกิจกรรมยามว่างที่มีคุณค่า มีเป้าหมาย และมีความสุข ขณะดำเนินชีวิตจากการดูแลตนเอง การศึกษา การพักผ่อน การนอน การเล่น การทำงาน และการเข้าสังคม

4. ข้อคิดในการจัดรูปแบบการเล่นและการใช้เวลาว่างในเด็กพิเศษ

  • ผู้บำบัด ครู ผู้ปกครอง และผู้ช่วยเหลือ ต้องสังเกตและสำรวจความสามารถในการเล่นและการใช้เวลาว่างอย่างอิสระของเด็กพิเศษ โดยอดทน ปล่อยวาง และลดการชี้แนะเพื่อคิดเข้าใจพฤติกรรมที่เหมาะสมและไม่เหมาะสมของเด็ก โดยมีช่วงเวลา (1-5 นาที) กำหนดและผู้สังเกตการณ์มากกว่า 1 คน (บันทึกความถี่จากที่เห็น อย่าใช้ความรู้สึกเข้าข้างตนเอง)
  • ผู้จัดกิจกรรมต้องวางแผนรูปแบบการเล่น จากกรอบความคิดพัฒนาการ โมเดลการเรียนรู้ของ Piaget และหลักการทางกิจกรรมบำบัด เช่น เน้นกลุ่มกิจกรรมแบบพลวัตที่ประเมินการรับรู้และความรู้ความเข้าใจ หรือจัดกิจกรรมพัฒนาระดับความสามารถของเด็กพิเศษ - ผู้ปกครอง/ผู้ฝึกช่วยเด็ก 50%, 70%, 90% และเด็กคิดทำกิจกรรมเอง จนถึงสอนผู้ปกครอง/ผู้ฝึกให้ทำกิจกรรมตามได้ และ/หรือ จากระดับการเลียบแบบเคลื่อนไหวอย่างมีเป้าหมายต่อการรับรู้, การเลียนแบบ/ทำตามคำสั่งที่ไม่ซับซ้อน, การทำตามคำสั่งโดยคิดและแยกแยะชนิดของสื่อจากนามธรรมเป็นรูปธรรม และการทำตามคำสั่งที่ซับซ้อนโดยคิดและแยกแยะสื่อสลับไปมาระหว่างนามธรรมและรูปธรรม)
  • ผู้จัดกิจกรรมต้องจัดกลุ่มกิจกรรมตามระดับความสามารถของเด็กพิเศษที่เหมือนกัน หรือต่างกันเมื่อกลุ่มที่มีความสามารถมากกว่าจะเป็นต้นแบบและแนะนำช่วยเหลือกลุ่มที่มีความสามารถน้อยกว่าได้
  • ผู้จัดกิจกรรมอาจหามุมสื่อเดียวกันแต่วิธีการต่างกัน (มีเป้าหมายการพัฒนาเด็กตรงกันแต่ปรับระดับความยากง่ายของการใช้ความคิดความเข้าใจในการทำกิจกรรมยามว่างอย่างอิสระ ไร้การชี้นำจากผู้ช่วยเหลือมากจนเกินไป) เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กเลือกทำกิจกรรม และจัดกิจกรรมที่มีการเรียนรู้ต่อเนื่องกัน โดยจัดลำดับช่วงกระตุ้นการรับรู้ไม่เกิน 15 นาที (สื่อการรับรู้และวิธีการหนึ่งไม่เกิน 3 ครั้งต่อวัน - รวมที่เป็นการบ้าน) จัดลำดับช่วงผ่อนคลาย (ปรับจังหวะที่ช้าเร็วอย่างเป็นวงจร) และจัดลำดับที่ผู้ปกครอง/ผู้ฝึกทำให้เด็กดู/เลียนแบบก่อนช่วยเหลือ (เน้นการสัมผัสช่วยโดยเงียบก่อนที่จะใช้คำพูดที่ไม่สั่งการ หรือเป็นผู้ทำตามพฤติกรรมของเด็ก เหมือนผู้ปกครอง/ผู้ฝึกแสดงอายุราวกับเด็ก) ที่สำคัญอย่าจัดสิ่งแวดล้อมให้คลินิกเป็นห้องเรียน/บ้าน แต่ควรใช้สถานการณ์ชีวิตตามบริบท/สิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของเด็กจริงๆ เช่น ลูก นักเรียน ผู้รับบริการในคลินิก
  • การใช้สื่อศิลปะ - นักกิจกรรมต้องประเมินให้แน่ชัดว่า กิจกรรมทำศิลปะจะพัฒนาเด็กในด้าน Cognitive & Leisure Performance จริงๆ มิใช่คิดเอาเองว่าเด็กจะชอบศิลปะหรือนำศิลปะมาบำบัดตามแฟชั่น ถ้าเด็กไม่สนใจ ไม่ชอบ และไม่น่าจะคิดสร้างสรรค์เองได้จากสื่อศิลปะก็ควรเลือกสื่ออื่นๆ ในกิจกรรมการดำเนินชีวิต หรือปรึกษานักศิลปะบำบัด (ที่มีเทคนิคศิลปะ จิตวิทยา และสุนทรียศาสตร์แห่งชีวิตมากมาย) โดยวางแผนรูปแบบข้างต้น อาจใช้ R2R (Action Research, Pre-post trial, Program evaluation) ที่มีรูปแบบและระยะเวลาที่ชัดเจนในการทำกิจกรรมบำบัดด้วยสื่อศิลปะหรือการทำศิลปะบำบัดอย่างเดียวเปรียบเทียบกิจกรรมบำบัดด้วยสื่อศิลปะ

5.    การสร้างระบบเครือข่ายช่วยเหลือเด็กพิเศษที่ไม่ทำให้งานหนักมากเกินไปสำหรับบุคลาการทางการแพทย์และการศึกษา อาจค่อยๆพัฒนาให้เห็นเป็นรูปธรรมและมีบทบาทของผู้เกี่ยวข้องที่ชัดเจน เช่น

ระดับ A เด็กต้องการพัฒนาความสามารถในการดูแลตนเองได้ (ช่วยเหลือมากกว่า 50%) จากทีมทางการแพทย์ประจำอย่างน้อย 3-5 วันต่อสัปดาห์พร้อมติดตามผลการให้ความรู้และการฝึกที่บ้าน/โรงเรียนทุกวัน

ระดับ B เด็กพัฒนามาจากระดับ A หรือเด็กต้องการพัฒนาความสามารถในการดูแลตนเองได้ดีขึ้น (ช่วยเหลือน้อยกว่า 30%) แต่ผู้ปกครอง ครู นักกิจกรรมบำบัด นักฝึกพูด นักศิลปะบำบัด นักดนตรีบำบัด นักจิตวิทยาคลินิก ร่วมกันจัดโปรแกรมการเล่นตามพัฒนาการ การเรียนรู้ การทำงานบ้าน และการทำกิจกรรมยามว่างที่หลากหลาย ที่บ้านและโรงเรียนต่อเนื่อง 6-12 สัปดาห์ (นัดติดตามผลจากการให้โปรแกมที่คลินิก 1-2 ชม./สัปดาห์) แต่ยังไม่ปรับสื่อหรือรายละเอียดจนกว่าจะสิ้นสุดโปรแกรมที่วางแผนและออกแบบตั้งแต่แรก

ระดับ C เด็กพัฒนามาจากระดับ C หรือเด็กต้องการพัฒนาความสามารถในการดูแลตนเองได้ดีขึ้น (ช่วยเหลือน้อยกว่า 10%) แต่ผู้ปกครอง ครู นักกิจกรรมบำบัด นักฝึกพูด นักศิลปะบำบัด นักดนตรีบำบัด นักจิตวิทยาคลินิก ร่วมกันจัดโปรแกรมการเข้าสังคมและเป็นพลเมืองดีในสถานการณ์ชีวิตที่หลากหลาย เกิดความสมดุลระหว่างกิจกรรมที่ทำประจำกับกิจกรรมยามว่าง เน้นการให้เทคนิคปรับพฤติกรรมจากนักจิตวิทยาคลินิกในกรณีเด็กยังมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในสถานการณ์ชีวิตจริงๆ เน้นการให้เทคนิคการประสมประสานการรับความรู้สึกกับการทำกิจกรรมที่ออกแรง (เล่นอิสระ เล่นเกมส์ เล่นกีฬา เล่นแบบคิด และเล่นสร้างสรรค์) กับการผ่อนคลายจากนักกิจกรรมบำบัดในกรณีเด็กมีปัญหาการประสมประสานการรับความรู้สึกในสถานการณ์ชีวิตจริงๆ

ข้อคิดสุดท้าย "ผู้ช่วยเหลือเด็กพิเศษทุกคนควรเข้าใจการพัฒนาของเด็กด้วย Brain to Brain และ Heart to Heart" อย่านำการฝึกด้วยเทคนิคตามแฟชั่นจนเด็กมีตารางชีวิตที่ไม่ว่างจนเกินพอดี ไม่มีโอกาสทบทวนตนเองอย่างอิสระทั้งตัวเด็กเองและผู้ช่วยเหลือ"

 

หมายเลขบันทึก: 342291เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2010 10:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 22:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ผมลืมหนึ่งประเด็นสำคัญ...อยากให้ผู้ปกครอง ครู ผู้บำบัด และผู้ช่วยเหลือเด็กพิเศษทั้งหลาย ลองทบทวนความคิดและเปิดใจรับความรู้เรื่องเซลล์กระจกเงาเพื่อนำไปจัดกิจกรรมบำบัดพัฒนาชีวิตได้จริง

ลองอ่านที่

http://gotoknow.org/blog/wijcha/162175

http://learners.in.th/blog/goodthingsforteacher/131167

http://www.bangkokhealth.com/index.php/2009-01-19-02-47-42/246-2009-01-19-09-21-08

ศิลปะคือส่วนหนึ่งของชีวิต ทุกคนมีสิทธิ์เลือกและหากิจกรรมที่ท้าทายและให้ความสุขแก่ชีวิตสักปีละครั้ง ลองทบทวนว่านอกจากศิลปะแล้วท่านสนใจและมีความสุขในการคิดใช้เวลาว่างอย่างไร ถ้าพบว่าศิลปะคือหลายๆส่วนของคุณ ลองคิดขั้นตอนและมีส่วนร่วมนำสื่อศิลปะมาเป็นกิจกรรมบำบัด หากกิจกรรมบำบัดด้วยสื่อศิลปะไม่พัฒนาคุณภาพชีวิตมากนัก ลองพิจารณาแนวทางเลือกหนึ่งเช่น ศิลปะบำบัด ดนตรีบำบัด และอื่นๆ ที่เสริมกับกระบวนการใช้กิจกรรมบำบัดพัฒนาชีวิตได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท