เงินตราดินแดนทางภาคใต้


เงินตราดินแดนทางภาคใต้

         ในช่วงเวลาแห่งความรุ่งเรืองของอาณาจักรสุโขทัย  ล้านนา  และล้านช้าง  ยังมีดินแดนทางภาคใต้ของไทยที่รุ่งเรืองขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน  และสืบทอดวัฒนธรรมความเป็นอยู่เรื่อยมาจนกระทั่งถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์  ได้แก่  ปัตตานี  ยะลา  นราธิวาส  พัทลุง  และสุราษฏร์ธานี

          ดินแดนดังกล่าวได้รับอิทธิพลจากจีนและประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม  มีทั้งที่เป็นรัฐอิสระและเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรขนาดใหญ่  โดยมีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครอง  และสันนิษฐานว่ามีการติดต่อค้าขายกับชาวอาหรับ  ดังปรากฏหลักฐานเป็นเหรียญเงินอาหรับของกาหลิบอัลมันซูร์แห่งราชวงศ์แอนบาซาอิต  ซึ่งพบที่อำเภอพุนพิน  จังหวัดสุราษฏร์ธานี  นอกจากนี้  ยังพบเหรียญทองคำจารึกอักษรอาหรับราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑  ที่จังหวัดปัตตานี  รวมทั้งในรัฐกลันตันและรัฐเคดาห์ของประเทศมาเลเซีย

          หลักฐานการใช้เงินตราของดินแดนทางภาคใต้มิได้ยุติลงเพียงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ เท่านั้น  เนื่องจากพบว่าตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  รัชกาลที่ ๒  จนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๕  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  มีการผลิตและใช้       “อีแปะดีบุก”  หรือที่ชาวใต้เรียกกันว่า  “เบี้ย”  ด้วย  เชื่อว่าเกิดขึ้นเพราะความต้องการใช้เงินปลีกย่อยในเหมืองหรือในอาณาเขตเมืองและผลิตตามที่เจ้าเมืองอนุญาต  อีแปะดีบุกที่เมืองต่างๆ ผลิตขึ้น  ได้แก่  อีแปะสงขลา  อีแปะพัทลุง  อีแปะปากพนัง  อีแปะปัตตานี  อีแปะภูเก็ต  และอีแปะสุราษฏร์ธานี ( กาญจนดิษฐ์ )  ซึ่งเป็นที่ยอมรับให้ใช้เฉพาะในท้องถิ่น  เมื่อจะนำไปชำระภาษีอากรให้กับรัฐ  ราษฎรจะต้องนำอีแปะเหล่านี้ไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินตราของรัฐก่อน

          อีแปะส่วนมากทำด้วยตะกั่วผสมดีบุก  ซึ่งเป็นโลหะที่พบมากทางภาคใต้ของไทย  มีจารึกอักษรไทย  จีน  หรืออาหรับ  ลักษณะเหมือนเงินเหรียญของจีน  ทำให้เชื่อกันว่าชาวจีนทางภาคใต้เป็นผู้ริเริ่มทำขึ้นโดยใช้เบ้าที่แกะเป็นรูปคล้ายกิ่งไม้

          อีแปะถูกใช้แทนเงินตราปลีกย่อยเป็นเวลายาวนาน  จนกระทั่งเงินตราที่รัฐผลิตเข้าไปถึงดินแดนทางภาคใต้มากเพียงพอแล้ว  จึงได้เลิกใช้อีแปะไปในที่สุด

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย โดย เพื่อนนักศึกษาภาควิชาประวัติศาสตร์

วาทิน ศานติ์ สันติ : เรียบเรียง

คำสำคัญ (Tags): #อีแปะดีบุก
หมายเลขบันทึก: 341851เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2010 22:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ สบายดีนะคะ

อ้ะ ไม่มี อีแปะพังงา เลย ... ขอบคุณความรู้ดีๆ นี้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท