การจัดการความรู้โดยเรื่องเล่าเร้าพลัง(2)...ตำนานพระสองนางพี่น้อง...พลิกวิกฤติเป็นปัญญา


“พลิกวิกฤติเป็นปัญญา...แปรปัญหาเป็นการงานที่สร้างสรรค์ให้บ้านเลือกมีความเจริญรุ่งเรืองสืบไป”

วันที่21 ก.พ. 2553 ที่ผ่านมาผมได้ร่วมกับคณะทำงานจัดการความรู้ของสภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านเลือก อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ได้จัดเวทีการจัดการความรู้ในลักษณะการจัดกระบวนการทางความรู้และการเรียนรู้โดยเครื่องมือสุนทรียปรัศนาและสาธก(AI) เป็นการจัดเวทีการจัดการความรู้ ครั้งที่ 6 แล้วครับ ครั้งนี้เป็นเวทีสุดท้าย งานนี้เป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยของผม ในหัวข้อเรื่อง “การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาภาวะผู้นำการเสริมสร้างความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่นของสมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบล”ผลจากเวทีครั้งนี้ในตอนท้ายผู้เข้าร่วมเวทีได้ช่วยกันสรุปบทเรียนประสบการณ์การพัฒนาภาวะผู้นำการเสริมสร้างความสุขมวลรวมของสมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านเลือก ว่ามีเรื่องอะไรที่น่าจะนำมาทำให้เป็นเรื่องเล่าที่เร้าพลังได้ ซึ่งสรุปเป็นเรื่องเล่าเร้าพลังได้ทั้งหมด7 เรื่องด้วยกันครับ นี่เป็นเรื่องที่ 2 ครับ........ 

การจัดการความรู้โดยเรื่องเล่าเร้าพลังเรื่องที่ 2

ตำนานพระสองนางพี่น้อง...พลิกวิกฤติเป็นปัญญา

         บนถนนเส้นเพชรเกษมสายเก่าระหว่างบางแพ – โพธาราม เมื่อผู้คนเดินทางผ่านมณฑปพระสองนางพี่น้องมักจะต้องยกมือไหว้ ใครมีเรื่องทุกข์ร้อนยากลำบากเมื่อมาบนบานศาลกล่าว มักจะได้รับความช่วยเหลือ ได้รับความสำเร็จโดยทั่วหน้า

         หลายคนไม่รู้ความเป็นมาของมณฑปพระสองพี่น้องนั้นเป็นมาอย่างไร  ทำไมองค์พระแห่งนี้จึงยังมีความศักดิ์สิทธิ์ ทุกวันนี้แม้จะยังมีผู้คนมากราบไหว้ บนบานศาลกล่าวมากหน้าหลายตา แต่น้อยคนนักที่พอจะรู้ที่มาของตำนานตำนานพระสองนางพี่น้อง

          เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าบรรพบุรุษของชาวลาวเวียงบ้านเลือกนั้นอพยพมาจากเวียงจันทน์เมื่อครั้งสองร้อยกว่าปีมาแล้วในการอพยพครั้งนั้นได้มีผู้นำที่เป็นจ้านายจากเวียงจันทน์ได้อพยพมาด้วยเพียงแต่เจ้านายระดับเชื้อพระวงศ์นั้นพำนักอยู่ที่บางกอกอย่างเช่นพระตำหนักของเจ้าอนุวงศ์ก็ตั้งอยู่ย่านฝั่งธนแถวสะพานพระรามแปด แต่ก็มีผู้นำในระดับเจ้านายรองลงมาอยู่ร่วมกับชาวลาวเวียงที่บ้านเลือกด้วย

         มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าผู้นำของชาวลาวเวียงที่เป็นเจ้านายจากเวียงจันทน์ที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านเลือกนั้นต่อมาท่านได้มีลูกสาวถึงสองคน เป็นคนที่สวยงามมากจนเป็นที่ร่ำลือไปทั่วว่า สาวสองนางพี่น้องนั้นงดงามยิ่งนักเหมือนดั่งพระเพื่อนพระแพงในตำนาน”ยอยศพระลอ” แห่งลุ่มน้ำกาหลง  สาวทั้งสองนางเป็นที่หมายปองของหนุ่มในแถวนี้ แต่สาวเจ้าทั้งสองหาได้สนใจไยดีกับหนุ่มในท้องถิ่นแถวนี้ไม่ ว่ากันว่าทั้งสองสาวมีใจกับนายทหารหนุ่มของเจ้าอนุวงศ์เมื่อตอนอยู่ที่บางกอก ใจของสองสาวจดจ่อรอคอยแต่การกลับมาของหนุ่มคนรักที่เป็นนายทหารของเจ้าอนุวงศ์จากบางกอก

        ต่อมาครั้นเมื่อเจ้าอนุวงศ์ได้กลับไปครองนครเวียงจันทร์ และได้ทำสงครามกับสยามในเวลาต่อมา เจ้าอนุวงศ์เป็นฝ่ายพ่ายแพ้   จึงทำให้ผู้คนที่เป็นคนลาวเวียงที่อยู่ในสยามสมัยนั้น   ได้รับการปฏิบัติอย่างดูถูกเหยียดหยามกันไปทั่ว  มีการออกกฎหมายห้ามแม้กระทั่งการละเล่นเพลงแคน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของคนลาวเวียงโดยแท้

       สาวสองนางพี่น้องเองก็เจอชะตากรรมที่หนักหน่วงเช่นกัน ทั้งสองนางถูกชายต่างบ้านต่างถิ่นต่างวัฒนธรรมประเพณีมากระทำการย่ำยีศักดิ์ศรี จึงทำให้ต้องฆ่าตัวตายทั้งสองคน เจ้านายลาวเวียงผู้เป็นบิดาเศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างมาก ท่านได้สร้างพระพุทธรูปอุทิศส่วนกุศลให้กับลูกสาวสองนางพี่น้อง จึงเป็นที่มาของชื่อติดปากผู้คนกันมาว่า “พระสองนางพี่น้อง”

        เป้าหมายหนึ่งของเจ้านายผู้เป็นพ่อในการสร้าง“พระสองนางพี่น้อง”ขึ้นมาก็เพื่อที่จะสร้างพระศักดิ์สิทธิ์ไว้คุ้มครองลูกหลานชาวลาวเวียงบ้านเลือกที่ได้รับความเดือดร้อนทุกข์เข็ญไปทั่วในสมัยนั้น ให้มีที่พึ่งทางใจโดยการขออาราธนาพึ่งพลังจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้คุ้มครองลูกหลานมีความอยู่รอดปลอดภัย มีความอยู่เย็นเป็นสุขโดยทั่วหน้า  ไม่ให้ถูกปฏิบัติอย่างดูถูกเหยียดหยามและถูกย่ำยี เหมือนลูกสาวทั้งสองนางได้เคยประสบมาอีกต่อไป

        “พระสองนางพี่น้อง”จึงเป็นพระศักดิ์สิทธิ์ของชาวบ้านเลือกนับตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา ทุกๆปีในช่วงประเพณีปีใหม่ “ฟื้นเวียง”หรือประเพณีสงกรานต์ ที่นี่จะมีความคึกคักเป็นพิเศษ คนลาวเวียงบ้านเลือกทั้งที่อยู่ในบ้านเลือกหรือไปทำงานในที่ห่างไกลก็จะกลับมาร่วมกันจัดงานเฉลิมฉลองสมโภช “พระสองนางพี่น้อง” ในช่วงระหว่างวันที่13-15 เม.ย.ของทุกๆปี  ใครมีเรื่องทุกข์ร้อน ทุกข์ยากเข็ญใจก็มาบนบานศาลกล่าวในช่วงเวลานั้น ใครที่ประสบความสำเร็จตามที่ได้ขอไว้กับ“พระสองนางพี่น้อง”ก็จะมาร่วมทำพิธีแก้บนและร่วมเฉลิมฉลองในช่วงเวลาดังกล่าวด้วยเช่นกัน

        ชาวลาวเวียงบ้านเลือกจึงมีความเคารพศรัทธาใน“พระสองนางพี่น้อง”เป็นอย่างมาก  ด้วย“พระสองนางพี่น้อง”นี้เป็นศูนย์กลางรวมจิตใจคนบ้านเลือกให้มีความรัก ความสามัคคี  พร้อมใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีความเป็นพี่เป็นน้องเป็นญาติมิตรร่วมสายโลหิตและร่วมชะตาชีวิตเหมือนๆกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

        แต่เป็นที่เสียดายเมื่อมีการบูรณะก่อสร้างมณฑปครั้งใหม่ ครอบมณฑปเดิมฝ่ายช่างได้เปลี่ยนป้ายชื่อจาก“พระสองนางพี่น้อง”เป็น “มณฑปพระสองพี่น้อง”ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เลยทำให้ความหมายเปลี่ยนไปด้วยความเข้าใจเอาเองว่าผู้หญิงจะเป็นพระได้อย่างไร ทำให้ผู้คนรุ่นหลังไม่เข้าใจที่ไปที่มาของตำนานของผู้นำชุมชนที่เป็นบรรพบุรุษของพวกเขากับบทบาทความรับผิดชอบในการสร้างความดีเพื่อปกป้องคุ้มครองผู้คนในชุมชนและลูกหลานสืบต่อมาให้มีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน

        ที่ตำบลบ้านเลือกแห่งนี้ยังมีเรื่องราวในตำนานของบรรพบุรุษชาวลาวเวียงในการสร้างความดีเพื่ออนุชนรุ่นหลังอยู่อีกมากมายหลายเรื่องเช่นตำนานศาลเจ้าพ่อสายบัว  ตำนานศาลปู่ตาบ้าน  ตำนานศาลปู่ตานาย เยาวชนคนรุ่นหลังควรจะได้มีการศึกษาค้นคว้าและลุกขึ้นมาสืบสานวัฒนธรรม ประเพณีและปณิธานของบรรพบุรุษเพื่อจะได้ร่วมกัน “พลิกวิกฤติเป็นปัญญา...แปรปัญหาเป็นการงานที่สร้างสรรค์ให้บ้านเลือกมีความเจริญรุ่งเรืองสืบไป”

 

หมายเลขบันทึก: 341405เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2010 15:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 08:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอคุณมากกับความรู้ดีๆ

ยินดีครับคุณP

  • ทุกหมู่บ้าน ทุกท้องถิ่นล้วนมีตำนานที่งดงามของตัวเองครับ
  • คนรุ่นหลังไม่ค่อยรู้การจัดการความรู้โดยเครื่องมือ"กระบวนการสุนทรียสาธกหรือที่ผมเรียกว่ากระบวนการสุนทรียปรัศนาและสาธก"ทำให้ชุมชนฟื้นตำนานอย่างมีพลังไดครับ
  • มีเรื่องเล่าตอนต่อไปอีกครับ
  • ขอบคณครับ

แล้วจะเเวะมาเก็บเกี่ยวต่อนะคะ...ขอบคุณบันทึกดีๆค่ะ

ขอบคุณมากครับคุณมาตายีP

  • เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้วผมเคยไปอยู่ที่ร้อยเอ็ดที่ทุ่งกุลาร้องไห้
  • ผมเคยได้ยินตำนานทุ่งกุลาร้องไห้  ผู้เฒ่าผู้แก่เคยบอกผมไว้ว่าที่กุลาต้องร้องไห้เพราะความอุดมสมบูรณ์ มิใช่ความแห้งแล้ง
  • ผมเคยเป็นวิทยากรบรรยายให้กับนักเรียน ม.6 ที่นั่นก่อนจะจบการศึกษา ผมถามพวกเด็กๆว่า หากเราไปอยู่ต่างถิ่น  มีคนถามเราว่ามาจากทุ่งกุลาที่นั่นเป็นอย่างไร
  • เด็กๆตอบผมว่า  แห้งแล้ง ลำบาก(ตามความเชื่อของคนอื่น)
  • ผมถามแล้วที่เราอยู่มาจริงๆเราเห็นอย่างไร  เด็กๆตอบผมว่าอุดมสมบูรณ์  ฝนตกดีมาก ปลาเยอะ
  • ถ้าเรารู้ตำนานที่แท้จริงว่า ทุ่งกุลาในอดีตนั้นอุดมสมบูรณ์(กุลาเลยต้องร้องไห้เพราะหาทางออกไม่เจอหญ้าเพกมันสูงมาก)
  • ที่นั่น อ.ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม เคยวิจัยพบว่าบริเวณลุ่มนำเสียว เป็นแหล่งที่รู้จักทำนาแบบใช้ควายไถนาแห่งแรกๆของโลก
  • ปัจจุบันที่นี่ก็ยังคงเป็นแหล่งปลูกข้าวที่คุณภาพดีที่สุดในโลก(ข้าวหอมมะลิ)
  • แล้วเรารู้ข้อมูลอย่างนี้เราจะรู้สึดต่อทุ่งกุลาอย่างไร
  • เรื่องนี้ผมจำได้ดีเพราะได้พูดคุยกับลูกสาวคนโต "ขวัญข้าวทุ่งกุลา"อยู่บ่อยครั้ง
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เป็นคล้าย ๆ กันหมดลูกหลานเราหรือคนรุ่นเราด้วยส่วนใหญ่มักลืมเลือนวิถีคนเก่าจนต่อกันไม่ค่อยติดแล้ว

ชุดความรู้เดิมหายไป เพราะสถาบันการศึกษา??? ดีมากที่คุณโยมนำมาเผยแพร่

เจริญพร

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

ชุดความรู้เดิมหายไป เพราะสถาบันการศึกษา???

คงจากหลายปัจจัยครับพระอาจารย์ แต่พอมีทางริเริ่มได้บ้างครับ

กราบขอบพระคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท