อ้างสิทธิ'เอกชัย'ขึ้นเงินเดือน


เงินเดือน
            รองเลขาฯ กกต.แจง "เอกชัย" มีสิทธิ์เสนอขึ้นเงินเดือนตัวเองตามระเบียบ เผยเลขาฯ กกต.คนเก่าทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ขณะที่ สนง.เลขาธิการวุฒิฯ รับจนปัญญาระงับจ่ายเงินเดือน ส.ว.ซ้ำซ้อน             เผยต้องทำตามพระราชกฤษฎีกา "บรรเจิด" จี้อย่าเถรตรง แค่อ้าง พ.ร.ฎไม่ได้ ที่ผ่านมาผิดพลาดมาเยอะ ยันต้องพิจารณาจากการปฏิบัติหน้าที่จริงไม่ใช่ยึดตำแหน่ง            เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน นายสถาพร สันติบุตร รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารกลาง  กล่าวถึงกรณีที่  พล.ต.ต.เอกชัย วารุณประภา เลขาธิการ กกต. ได้ยื่นเรื่องขอขึ้นเงินเดือนตนเองภายใต้ระเบียบ กกต.  ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล  พ.ศ. 2547 ว่าระเบียบดังกล่าวครอบคลุมถึงเลขาธิการ กกต.  เพราะตามระเบียบเลขาธิการ  กกต. ถือเป็นพนักงาน กกต. ในแบบที่เรียกว่าเป็นพนักงานตามสัญญาจ้าง  ซึ่งมีวาระคราวละ 5 ปี เป็นได้ไม่เกิน 2 ครั้ง และต้องมีอายุไม่เกิน 65  ปี ลักษณะเดียวกับตำแหน่งของผู้ตรวจการ กกต. ที่หากอายุถึง  65 ปี ก็จะเป็นสัญญาจ้างปีต่อปี  ขณะที่พนักงานคนอื่นถือเป็นพนักงานประจำของ กกต. ซึ่งเกษียณเมื่ออายุ 60 ปี            นายสถาพรกล่าวว่า  การขึ้นเงินเดือนของพนักงานที่มีการปรับขึ้นเมื่อครั้งที่ผ่านมา ก็เป็นการพิจารณาปรับขึ้นไปตามที่รัฐบาลอนุมัติให้กับข้าราชการ และที่ผ่านมาพนักงานประจำของ  กกต.ได้ปรับไปหมดแล้ว เหลือแต่ของเลขาธิการ กกต. ซึ่งก็มีการยื่นเรื่องมา และขณะนี้ก็กำลังดำเนินการอยู่ แต่ยังไม่เรียบร้อย "เหตุที่เงินเดือนของเลขาธิการ กกต.ไม่ปรับไปพร้อม ๆ  กับพนักงานประจำคนอื่น ๆ นั้น  เนื่องจากเมื่อเป็นพนักงานคนละประเภทก็มีการแยกทำคนละบัญชี  ซึ่งพนักงานคนอื่นก็จะได้พิจารณาการเลื่อนขั้นทุกปี  ในขณะที่เลขาธิการ กกต. เป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีขั้น จึงต้องแยกดำเนินการภายหลัง  ซึ่งสมัยที่ ร.ต.วิจิตร  อยู่สุภาพ  เป็นเลขาธิการ กกต.  ก็มีการพิจารณาปรับเงินเดือนให้ตามที่รัฐบาลอนุมัติ" นายสถาพรกล่าว            ส่วนความเคลื่อนไหวการจ่ายเงินเดือนซ้ำซ้อนให้ ส.ว.ทั้ง 2 ชุด คือ ชุดรักษาการ ส.ว. และชุด  ส.ว.ชุดใหม่ที่ยังไม่ได้ปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่ง ภายหลังจากที่มีรายงานข่าวจากนายบุญศักดิ์ เจียมปรีชา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ให้สัมภาษณ์ว่าจะไม่มีการจ่ายเงินเดือน ส.ว.ซ้ำซ้อน            ล่าสุด  มีรายงานข่าวจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาว่า  การจ่ายเงินเดือนซ้ำซ้อนไม่สามารถแก้ไขได้ในตอนนี้  เพราะหลักในการจ่ายได้ยึดตามหลักพระราชกฤษฎีกา  (พ.ร.ฎ.) เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของ ส.ว. ส.ส. และกรรมาธิการ พ.ศ.  2535 และหากมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ  อาจจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายก็ได้  ทางสำนักงานฯ ค่อนข้างสับสนกับการให้สัมภาษณ์ของอธิบดีกรมบัญชีกลาง  และยังยืนยันว่าการจ่ายเงินเดือนได้มีการปรึกษาหารือกันอย่างชัดเจนแล้วว่าต้องมีการจ่ายทั้ง 2 ชุด            รายงานข่าวแจ้งอีกว่า  ถึงแม้จะมีกระแสต่อต้านจากนักวิชาการและ ส.ว.ชุดเก่าและชุดใหม่  ก็ไม่สามารถที่จะดำเนินการใด ๆ ได้ในขณะนี้ เมื่อมีการกำหนดออกเป็นข้อกฎหมายก็ต้องแก้ไขที่ตรงนั้น ก็ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรเหมือนกัน อยากให้หลายฝ่ายคิดถึงหัวอกของ ส.ว.ใหม่ที่ได้รับการรับรองจาก กกต.แล้วลาออกจากตำแหน่งเดิม บางคนเป็นถึงข้าราชการได้รับเงินเดือนหลายหมื่นบาท เมื่อลาออกมาเงินเดือนตรงนี้ก็ต้องหายไปด้วย ดังนั้นจึงอยากให้เห็นใจเขา            แหล่งข่าวจากสำนักงานฯ  ยังแจ้งอีกว่า มี ส.ว.ใหม่บางคนพยายามโทรศัพท์มายังสำนักงานฯ โดยกังวลว่าเงินเดือนที่ต้องมีการจ่ายย้อนหลังจะไม่ได้รับเหมือนดังที่หลายฝ่ายออกมาคัดค้าน ซึ่งแต่ละวันรับโทรศัพท์ไม่ต่ำกว่า 10 สาย             ทั้งนี้   แหล่งข่าวจากสำนักงานฯ  ยังเห็นว่ากรณีที่เกิดขึ้นกระทบกับภาษีของประชาชน แต่ไม่สามารถแก้ไขให้ทันใจเหมือนอย่างที่หลายคนต้องการ  จึงต้องรอเวลา และจนถึงขณะนี้ยืนยันว่ายังไม่มีการจ่ายเงินเดือนให้ ส.ว. ชุดใหม่  เพราะขั้นตอนทางธุรกรรมยังไม่เสร็จสิ้น  แต่สำนักงานฯ  เห็นช่องว่างของ พ.ร.ฎ. และกำลังเตรียมร่างแก้ไขช่องว่างตรงนี้    ซึ่งอาจไม่ทันใช้ในชุดปัจจุบันนี้ได้ ส่วนกระแสข่าวรักษาการ ส.ว.ทำหนังสือเพื่อขอให้สำนักงานฯ  และกระทรวงการคลังเปลี่ยนแปลงมติการจ่ายเงินเดือนให้จ่ายชุดเดียว ทางสำนักงานฯ ยินดีที่จะรับหนังสือไว้พิจารณา เพื่อหาทางแก้ปัญหาชาติต่อไป            ขณะที่ นายบรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรรมศาสตร์ กล่าวว่า การกล่าวอ้างถึง  พ.ร.ฎ.จึงยังไม่มีคำสั่งยับยั้งการจ่ายเงินเดือนซ้ำซ้อน เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น และเป็นความพยายามเบี่ยงประเด็น ขณะนี่สังคมไม่ได้พูดถึง พ.ร.ฎ.  แต่พูดถึงการจ่ายเงินเดือนบนพื้นฐานสมาชิกภาพบวกการทำหน้าที่  หรือการจ่ายเงินเดือนตามสมาชิกภาพอย่างเดียว ซึ่งสังคมส่วนใหญ่ได้ตั้งข้อสังเกตุไว้ว่า ส.ว.ที่สามารถรับเงินเดือนได้คือ ส.ว.ที่มีสมาชิกภาพและทำหน้าที่ด้วย  ส่วน ส.ว.ที่มีเพียงสมาชิกภาพอย่างเดียว แต่ไม่ได้ทำหน้าที่ไม่สมควรมารับเงินเดือนด้วย          "มี พ.ร.ฎ.หลายตัวที่ออกมาแล้วมีข้อผิดพลาด  บางตัวศาลปกครองถึงกับยกเลิกไปเลยก็มี การใช้ข้ออ้าง พ.ร.ฎ.เพื่อให้มีการประวิงเวลา ต่ออายุในการจ่ายเงินเดือนให้กับบุคคลที่ไม่ได้ทำประโยชน์ให้กับชาติบ้านเมือง  จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง  เพราะฉะนั้นก่อนที่จะตัดสินใจอะไรออกมาเป็นมติ  ควรจะผ่านการคิดอย่างรอบคอบมาก่อน  พ.ร.ฎ.ออกมาผิดพลาดได้ก็แก้ไขหรือยกเลิกได้  ผมไม่อยากเห็นใครเอาเปรียบบ้านเมืองและประชาชนที่เสียภาษี" นักวิชาการผู้นี้กล่าว            นายเสรี  สุวรรณภานนท์ รักษาการ ส.ว.กรุงเทพฯ กล่าวว่า หากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาอ้างเรื่อง  พ.ร.ฎ. แสดงว่าความผิดนี้ต้องตกไปที่ฝ่ายบริหารที่ไม่รอบคอบในการรักษาผลประโยชน์ชาติ ดังนั้นเมื่อเห็นว่าปัญหามาจากตรงไหนก็ต้องแก้ไขที่ตรงนั้น            ส่วนความคืบหน้าในการจัดทำหนังสือเพื่อขอให้สำนักเลขาธิการวุฒิฯ และกระทรวงการคลังทบทวนนั้น  นายเสรีกล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นศึกษาข้อมูล ซึ่งหากมีรายละเอียดชัดเจนตนก็จะทำหนังสือยื่นแก่สำนักงานฯ ทันที            นายเจิมศักดิ์  ปิ่นทอง รักษาการ ส.ว.กรุงเทพฯ กล่าวว่า หากดูตามตรรกะก็เป็นเรื่องที่ตลกดีที่คนไม่ทำงานแต่กลับมานั่งกินเงินเดือน  มันเป็นข้อสังเกตง่าย ๆ  ที่การจ่ายเงินควรจ่ายให้คนที่ทำงาน หลักการมันควรเป็นแบบนั้น  ส่วนแนวคิดที่ให้รักษาการ ส.ว.ทำหนังสือเพื่อเพิกถอนมติสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาและกระทรวงการคลังเรื่องการจ่ายเงินเดือนซ้ำซ้อน  เป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ  ตนจะนำไปหารือกับ ส.ว.ในกลุ่มอีกหลายคนว่าจะช่วยเหลือประชาชนที่เสียภาษีได้อย่างไร  โดยอาจจะมีการหารือกันว่าการจ่ายควรจะจ่ายชุดใดชุดหนึ่งที่ทำงานหรือไม่.

ไทยโพสต์, ไทยรัฐ (คอลัมน์จับประเด็น)  14  มิ.ย.  49

คำสำคัญ (Tags): #เงินเดือน
หมายเลขบันทึก: 34125เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2006 13:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 เมษายน 2012 16:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท