อปท.กับการจัดการศึกษา ( เอาบทความดี ดี มาฝาก)


หากการเรียนรู้ คือ หัวใจของการพัฒนาท้องถิ่น การเรียนรู้จะต้องอยู่คู่กับทุกงาน

ร้อยแปดวิธีการจัดการศึกษาของอปท.

เขียนโดย ดร . เสรี พงศ์พิศ   

ถ้าลืมเรื่องการรับโอนโรงเรียนจากกระทรวงศึกษาธิการ อปท.วันนี้มีบทบาททางการศึกษาไม่น้อย ไม่ใช่แค่การจัดงบประมาณการฝึกอบรม ฝึกอาชีพ หรือไปศึกษาดูงาน (จริงบ้างไม่จริงบ้าง) สำคัญอยู่ที่ว่า อปท.เข้าใจเรื่อง "การเรียนรู้" มากน้อยเพียงใด
           
ถ้าหากการเรียนรู้ คือ หัวใจของการพัฒนาท้องถิ่น การเรียนรู้จะต้องอยู่คู่กับทุกงาน ทุกกิจกรรม ทุกภาคส่วน กับทุกกลุ่มคนเป้าหมาย ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ คนประกอบอาชีพต่างๆ ทั้งเกษตรกร แรงงาน คนทำธุรกิจ
           
แต่ถ้าหากดูจากข้อมูลตัวเลขการจัดสรรงบประมาณของอปท. แล้วก็น่าเป็นห่วง แม้ว่าตัวเลขนี้จะเป็นของปี 2547 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (อ้างในมติชนสุดสัปดาห์ 2-8 พ.ย. 2550) ซึ่งสรุปว่า สัดส่วนรายจ่ายขององค์การบริหารส่วนตำบลแยกตามกิจกรรม ร้อยละ 70.8 ใช้พื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ร้อยละ 15.5 ใช้เพื่อการศึกษา ร้อยละ 5.6 เพื่อพัฒนาอาชีพ ร้อยละ 4.3 ใช้เพื่องานด้านสังคม ร้อยละ 3.7 ใช้เพื่องานด้านสุขภาพ
           
ตัวเลขอาจจะยังพอดูได้ แต่เมื่อลงไปรายละเอียดของงบประมาณการศึกษาก็พบว่า ร้อยละ 47.6 ใช้เพื่อซื้ออาหารเสริมหรือนม ร้อยละ 31.4 อาหารกลางวัน ร้อยละ 15.7 ตอบแทนเจ้าหน้าที่ ร้อยละ 4.0 ค่าวัสดุการศึกษา เข้าใจว่าทั้งหมดใช้สำหรับศูนย์เด็กก่อนวัยเรียนที่อบต.ต้องดูแลโดยตรง
           
คำถามจึงอยู่ที่ว่า แล้วงบประมาณเพื่อ "พัฒนาคน" จริงๆ อยู่ตรงไหน
           
จริงอยู่ เงินอาจจะไม่สามารถวัดได้ทุกอย่าง แต่ก็วัดได้หลายอย่าง ไม่เอาเงินนำหน้าปัญญาตามหลังนั้นพูดกี่ครั้งก็ถูกทุกครั้ง แต่ตัวเลขการจัดสรรงบประมาณมันฟ้องว่า อบต.ดูเหมือนจะทำเช่นนั้น คือ เอาเงินสร้างวัตถุมากกว่าสร้างคน สร้างถนนมากกว่าสร้างปัญญา
           
ถ้าเข้าใจว่า การจัดการศึกษาหมายถึงการสร้างทุนทางปัญญาให้ท้องถิ่น อบต. น่าจะมียุทธศาสตร์การพัฒนาที่เน้นการพัฒนาคนมากกว่าอย่างอื่น หมายความว่า เอาการพัฒนาคนมาเป็นอันดับแรก ไม่ใช่พัฒนาวัตถุ
           
"ปัจจัยที่ทำให้องค์กรต่างๆ ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับคุณภาพของบุคลากรเป็นสำคัญ รวมตลอดถึงภาพลักษณ์และชื่อเสียงขององค์กร ซึ่งมีลักษณะเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ แต่มีมูลค่ามากกว่าสินทรัพย์ประเภทที่มองเห็นได้เสียอีก (เช่น ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักร ฯลฯ) สินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้เหล่านี้ คือ ทุนทางปัญญา (intellectual capital) เพราะสิ่งที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จในยุคนี้ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากภูมิปัญญาของบุคลากรหรือเกิดจากทุนมนุษย์ (human capital) จากการศึกษาวิจัยของนักวิชาการต่างประเทศพบว่ามูลค่าขององค์กรมากกว่าร้อยละ 85 มาจากสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ภายในองค์กร คือทุนทางปัญญานั่นเองที่ผลักดันให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จมากที่สุด" (ผู้จัดการออนไลน์  24 ก.ย. 2546)
           
อบต.มียุทธศาสตร์การพัฒนาที่ดีเพราะมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์  มีวิสัยทัศน์ดีหมายถึงมีความสามารถในการมองทะลุ มองเห็นตื้นลึกหนาบางกว้างไกลว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต

อยากให้เกิดอะไร และจะให้เกิดอย่างไรด้วย
           
อยากเห็นการพัฒนาท้องถิ่นต้องสร้างรากฐานที่หนักแน่นด้วย "ทุนมนุษย์" เริ่มจากตัวเอง จากคนทำงานในสำนักงาน สมาชิกอบต. ผู้นำท้องถิ่นต่างๆ คนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านต่างๆ ทุกด้าน ไม่ใช่ส่งคนไปเรียนแต่รัฐประศาสนศาสตร์ ไปเรียนแต่เรื่องการดูแลเด็กเล็ก เพราะเป็น "นโยบาย" จากกรม (นโยบายที่ถ้าไม่เปลี่ยนเอง ศาลปกครองคงให้เปลี่ยนในไม่ช้า เพราะเป็นนโยบายที่ "ผูกขาด" ทั้งๆ ที่อปท.ควรเรียนร้อยแปดเรื่องเพื่อตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น)
           
ความจริง วันนี้มีอบจ. เทศบาล อบต. จำนวนมากที่มียุทธศาสตร์การพัฒนาและวิสัยทัศน์ทางการศึกษาที่ดี เปิดกว้าง อย่างยโสธรที่มีข้อตกลงความร่วมมือกับคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่จะผลิตแพทย์ให้ครบทุกอำเภอ ด้วยทุนกว่า 60 ล้านบาทของ อบจ.
           
อบจ. สุราษฎร์ธานีจัดการเรียนพิเศษ (ติว) ฟรีให้นักเรียนมัธยมปลายที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยปีละหลายพันคน โดยจ้างอาจารย์เก่งๆ จากกรุงเทพฯ ลงไปสอน เปิดโอกาสให้เด็กจากทุกอำเภอเข้ามาเรียนเสาร์อาทิตย์ เป็นอะไรที่ไม่มีใครคิดจะขยายโอกาสให้เด็กๆ เหล่านี้
           
อบจ. สุราษฎร์ลุกขึ้นมาจัดโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตเอง เปิดห้องประชุมอบจ. ให้ผู้ใหญ่ไปเรียนเสาร์อาทิตย์ในระดับปริญญาตรี จัดบุคลากรให้ดูแล  ซื้อรถบัสเพื่อให้ใช้ในการไปศึกษาดูงานขององค์กร หน่วยงานต่างๆ ทั้งจังหวัด
           
อบต. หลายแห่งเริ่มตั้งกองทุนการศึกษา โดยตัดจากงบประมาณเหลือจ่าย (ซึ่งแต่ละอบต.เหลือกันมากมายในแต่ละปี สะสมไปมา อบต.เล็กๆ บางแห่งยังมีมากกว่าสิบล้าน) เป็นกองทุนกู้ยืมในทุกระดับ
           
งบประมาณการศึกษาของอปท. เพิ่มขึ้นทุกปี แม้จะมีคนแซวว่า คงเป็นเพราะไม่มีถนนจะสร้างแล้ว ในความเป็นจริง สิ่งที่เพิ่มขึ้นน่าจะเป็นสำนึกของอปท.เองที่มองเห็นความสำคัญของการศึกษา เริ่มเข้าใจความหลากหลายของ "รูแบบ-เนื้อหา-กระบวนการ" ของสิ่งที่เรียกกว่าการเรียนรู้ตลอดชีวิต
           
วันนี้มี อบต. เทศบาล และ อบจ. หลายแห่งที่ร่วมมือกับสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน กับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และ ธ.ก.ส. พัฒนาโครงการนำร่องแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกร ซึ่งเป็นการเรียนรู้หลักสูตร 6 เดือน ที่เน้นการปฏิบัติ ปรับวิธีคิด จัดระเบียชีวิตกันใหม่
           
เป็นความร่วมมือเพื่อสร้างกลไกการเรียนรู้ สร้างองค์ความรู้ที่ปลดปล่อยคนจากทุกข์ของหนี้สิน ซึ่งจะขยายผลไปทั้งประเทศในปีหน้านี้

ที่มา  http://www.phongphit.com/index.php?option=com_content&task=view&id=335&Itemid=48

        สืบค้นเมื่อ วันที่ 2  มีนาคม  2552

หมายเลขบันทึก: 341105เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2010 11:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 08:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท