การประชุมเชิงปฏิบัติการ WU KM รุ่น ๗ (๔)


การถ่ายทอดเรื่องราวความรู้ปฏิบัติ บางทีถ่ายทอดยาก ฟังหรืออ่านอย่างเดียวอาจทำไม่ได้ดี

ตอนที่ ๓

วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓
เมื่อคืนดิฉันเตรียมงานไม่ได้มากนัก รู้สึกอยากนอนมากกว่า จึงบอกลูกสาวให้ตั้งนาฬิกา (โทรศัพท์มือถือ) ให้ปลุกประมาณ ๐๔ น. ปรากฏว่ามีเสียงปลุกตั้งแต่ ๐๓.๓๐ น. ดิฉันเลยตื่นมาเตรียม PowerPoint และสคริปกิจกรรมตลอดการประชุมอีก ๑ วันครึ่งที่เหลือ อาบน้ำแต่งตัวไปกินอาหารเช้าเสร็จก็เข้าห้องประชุม พิมพ์สคริปแจกจ่ายให้คุณนิรันดร์และคุณจาตุรนต์ เพื่อจะได้รับลูกกันถูก

เราเริ่มกิจกรรมตรงเวลา ๐๘.๓๐ น. คุณนิรันดร์และคุณมณเฑียรช่วยกันสร้างความพร้อมและความตื่นตัวให้กับผู้เข้าประชุม ทั้งด้วยวิธีตบมือ...แบมือ ชี้นิ้ว จับมือ ตามสั่ง รวมทั้งเต้นท่า “หาสตางค์” ที่มีเพลงประกอบทำนองสนุกสนาน

ดิฉันรับช่วงกิจกรรมต่อด้วยการชวนให้ผู้เข้าประชุมตอบคำถามว่าเมื่อวานนี้มีกิจกรรมอะไรบ้าง ได้เรียนรู้อะไร ประทับใจกิจกรรมใดหรือเรื่องไหน อยากรู้อะไรต่อ...ทุกคนได้พูดกันทั่วหน้า หลายคนประทับใจ VDO เรื่องของโรงพยาบาลบ้านตาก อีกหลายคนก็ประทับใจการเสวนาประสบการณ์การใช้ KM ของหน่วยงานต่างๆ อยากรู้เทคนิค วิธีการ...

ดิฉันย้ำคำของอาจารย์วิจารณ์ว่า KM ไม่ทำไม่รู้ และแนะนำเครื่องมือ KM ต่างๆ ...การฟังเป็นเรื่องสำคัญมาก ขอให้ผู้เข้าประชุมฟังเพลง “เสื้อแห่งความสุข” โดยให้มีสมาธิจดจ่ออยู่ที่เพลง ตั้งใจฟัง ตามเพลงไป...เมื่อฟังเพลงจบให้ตอบคำถามว่าเพลงต้องการสื่ออะไร...ฟังอย่างไร บางคนบอกว่าจินตนาการเห็นภาพไปด้วย บางคนมีแว๊บไปคิดถึงเรื่องของตัวเอง

คั่นบรรยากาศด้วยกิจกรรม “พายเรือ” เพื่อแบ่งผู้เข้าประชุมให้เป็นกลุ่มย่อยที่คละกัน กลุ่มละ ๔ คน หลังจากนั้นให้จับคู่กันฝึกเล่าเรื่องฝึกฟังด้วยกิจกรรม “กระจก” ผู้เข้าประชุมตั้งใจทำกิจกรรมกันมาก แม้ที่นั่งจะอยู่ใกล้ๆ กัน แต่ก็ตั้งใจฟังคู่ของตนเป็นอย่างดี หลังจากนั้นดิฉันให้ผู้เข้าประชุมบางส่วน เลือกคู่ที่เล่ากลับได้ครบถ้วนมากที่สุดและที่เล่ากลับได้น้อย สะท้อนความรู้สึกขณะเป็นผู้เล่าและขณะที่เป็นผู้ฟัง ได้คำตอบว่า...พยายามตั้งใจฟังไม่วอกแวก ทั้งๆ ที่คู่ที่อยู่ข้างๆ ออกลีลามาก...ฟังไปก็คิดเรื่องของตัวเองไว้ เลยเล่ากลับผิด...

 

กิจกรรมกระจก

ดิฉันให้ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการฟังอย่างลึกซึ้ง การเล่าเรื่อง สุนทรียสนทนา และ AI…ได้เวลาพัก รับประทานอาหารว่าง เดิมดิฉันจะให้กลุ่ม ๔ คนทดลองเล่าเรื่องในกลุ่ม ๒ แบบคือเรื่องแย่ๆ และเรื่องดีๆ เพื่อให้เปรียบเทียบความรู้สึกและบรรยากาศในกลุ่ม แต่เวลาไม่พอจึงข้ามกิจกรรมนี้ไป

เราให้ผู้เข้าประชุมนับ ๑-๕ แบ่งเป็น ๕ กลุ่ม ทำกิจกรรม "เชฟมือโปร" คราวนี้ดิฉันแจกแจงรายละเอียดของกิจกรรม พร้อมมีภาพประกอบให้เห็นขั้นตอนที่ชัดเจน ทำให้การดำเนินกิจกรรมเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่วุ่นวาย

 

กลุ่มเชฟมือทองกำลังทดลองวิธีทอดไข่ ก่อนเขียนตำรา

การทำกิจกรรมนี้เพื่อให้ผู้เข้าประชุมเรียนรู้ว่าการถ่ายทอดเรื่องราวความรู้ปฏิบัติ บางทีถ่ายทอดยาก ฟังหรืออ่านอย่างเดียวอาจทำไม่ได้ดี ต้องมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ลองลงมือทำถึงจะเข้าใจ

 

เชฟมือทองและเชฟมือใหม่ ลปรร. ดูตำราของกันและกัน

ผู้เข้าประชุมตั้งใจและเอาจริงเอาจังกับการปฏิบัติกิจกรรมเป็นอย่างมาก เราให้กลุ่มที่ทำคะแนนได้มากและน้อย ได้สะท้อนว่าตัวแทนที่ส่งมาประลองฝีมือทำตาม “ตำรา” ของใคร ด้วยเหตุใด

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 340979เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2010 22:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท