รมว.ศธ.มอบนโยบายรับนักเรียน ปีการศึกษา ๒๕๕๓


การรับนักเรียนทุกระดับเป็นไปด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีธรรมาภิบาล ไม่มีการเรียกเก็บเงินกินเปล่าหรือเงินแป๊ะเจี๊ยะทุกด้าน ในทุกโรงเรียน

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายและทิศทางการรับนักเรียน ปีการศึกษา ๒๕๕๓ แก่ผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง โรงเรียนที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ และโรงเรียนที่เปิดเฉพาะระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน ๖๖๐ คน   ที่เข้าร่วมประชุมสัมมนาส่งเสริมการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓

รมว.ศธ.กล่าวว่า การรับนักเรียนเข้าเรียนในแต่ละปี เป็นที่สนใจของผู้ปกครอง นักเรียน ส่วนราชการอื่นๆ ตลอดจนระบบบริหารในเขตพื้นที่การศึกษา ฉะนั้นการทำงานในส่วนนี้จึงเป็นการสะท้อนการบริหารจัดการตามนโยบายของ รมว.ศธ.คนใหม่ด้วย โดยในปีนี้ ศธ.ต้องการให้นักเรียนทุกคนมีที่เรียน และได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่มีความเหมาะสมกับนักเรียนในพื้นที่นั้นๆ โดย รมว.ศธ.ได้ฝากนโยบายการรับนักเรียนปีการศึกษา ๒๕๕๓ ดังนี้

การรับนักเรียนทุกระดับเป็นไปด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีธรรมาภิบาล  โดยขอให้โรงเรียนดำเนินการเพิ่มเติมในเรื่องของการประชาสัมพันธ์และชี้แจงทำความเข้าใจแก่ผู้ปกครอง นักเรียนให้มากกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งในเรื่องของนโยบายของ ศธ. และหลักเกณฑ์วิธีการรับนักเรียน รวมทั้งให้มีการประชาสัมพันธ์ผ่านเครือข่ายวิทยุชุมชนและหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอีกทางหนึ่งด้วย เพราะการรับนักเรียนไม่ได้มีผลกระทบต่อเฉพาะผู้ปกครองหรือนักเรียนเท่านั้น แต่มีผลกระทบต่อระบบการบริหารจัดการในพื้นที่และสังคม  ศธ.ต้องการให้เห็นว่า ในยุคของการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ศธ.สามารถอธิบายให้ผู้อื่นได้รับรู้และเข้าใจถึงกระบวนการดำเนินงาน ซึ่งจะช่วยให้ปัญหาต่างๆ ลดลงได้  นอกจากนั้นให้โรงเรียนนำหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาไปปฏิบัติให้สอดคล้องกัน เพื่อให้กระบวนการในการรับนักเรียนเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่วางไว้

ในอนาคตโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง จะต้องมีการเตรียมการรับนักเรียนใน ๒ ส่วน คือ ๑. โรงเรียนต้องมีสัดส่วนในการรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่ชัดเจน ต้องขยายการรับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเพิ่มขึ้นในแต่ละปี เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนช้างเผือกจากโรงเรียนขยายโอกาส โรงเรียนอื่นๆ หรือโรงเรียนเอกชน สามารถเข้าสู่ระดับ ม.ปลายได้ ทำให้โรงเรียนมีโอกาสในการคัดคุณภาพนักเรียนได้อีกทางหนึ่ง และต้องมีการเชื่อมต่อกระบวนการไปยังการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา เพื่อให้มีกระบวนการแนะแนวที่จูงใจให้นักเรียนที่มีผลการเรียนต่ำไปเรียนสายอาชีพเพิ่มขึ้น เป็นการช่วยให้เด็กค้นพบความสามารถและความต้องการของงตนเองอย่างแท้จริง  และ ๒.ในระยะยาว โรงเรียนต้องใช้ศักยภาพในการพัฒนาคุณภาพโรงเรียน เพื่อเพิ่มศักยภาพของโรงเรียนไปสู่คุณภาพมาตรฐานสากลให้ได้

ไม่มีการเรียกเก็บเงินกินเปล่าหรือเงินแป๊ะเจี๊ยะทุกด้าน ในทุกโรงเรียน  ขอให้โรงเรียนประชาสัมพันธ์ไปยังผู้ปกครอง นักเรียน ทั้งก่อนรับนักเรียน ขณะรับนักเรียน และหลังจากรับนักเรียนแล้ว ว่า สามารถมีส่วนร่วมในการระดมทรัพยากรเพื่อช่วยเหลือด้านการศึกษา และทำให้เห็นว่าในช่วงของการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง การที่ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษานั้นมีความจำเป็น โดย รมว.ศธ.ได้ย้ำว่า ขอให้เป็นการประชาสัมพันธ์เชิญชวนเท่านั้น จะไม่มีการเรียกเก็บเงินในช่วงเวลาดังกล่าว

รมว.ศธ.เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า สำหรับระยะยาว ต้องการให้กระบวนการรับนักเรียนเป็นไปเพื่อส่งเสริมคุณภาพของโรงเรียนด้วย โดยได้มอบหมายเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไปศึกษาและประเมินข้อมูลการรับนักเรียนย้อนหลัง ๕ ปี เพื่อสนองตอบต่อการพัฒนาคุณภาพโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง เพราะส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนที่อยู่ในโครงการแล้ว และต้องการให้ปรับปรุงคุณภาพสู่มาตรฐานสากลต่อไปด้วย.

อ้างอิงจาก http://www.moe.go.th/websm/2010/feb/070.html

 

 

หมายเลขบันทึก: 340278เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2010 09:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 12:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท