เรื่องเล่าระหว่างวันที่ ๒๒ - ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓


 

๒๗  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๓

เรียน  เพื่อนครูและผู้บริหารที่รักทุกท่าน

วันจันทร์ที่ ๒๒  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๓  วันนี้คณะนักวิจัยจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา นำโดย ดร.สมศักดิ์  ดลประสิทธิ์ จะมาเก็บข้อมูลการปฏิบัติงานของเขตและโรงเรียนขนาดเล็กเรื่องการส่งเสริม สนับสนุนสถานศึกษาให้มีศักยภาพและความพร้อมในการบริหารจัดการ    จัดรับรองที่ห้องสโมสร ก่อนย้ายไปห้องประชุมเล็กชั้น ๒  ผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมคณะมาวันนี้มี รศ.ดร.อุทัย  บุญประเสริฐ และ ดร.พิณสุดา  สิริธรังศรี จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์  คณะนักวิจัยได้ซักถามความสำเร็จและปัญหาอุปสรรคในการบริหารเขตพื้นที่การศึกษา  มีท่านรองฯไปร่วมให้ข้อมูลด้วย ๒ – ๓ ท่าน  แนวคิดในการกำหนดขนาดของการกระจายอำนาจ มักจะดูความพร้อมของเขตและโรงเรียน  ความพร้อมก็ไปดูทรัพยากรที่มีอยู่ในด้านปริมาณ  ในที่สุดโรงเรียนใหญ่จะถูกสรุปว่าควรกระจายอำนาจมากกว่าโรงเรียนเล็ก   ผมกลับมองไปในทางตรงข้าม การกระจายอำนาจเป็นเรื่องการของการตัดสินใจ  โรงเรียนใหญ่มีกระบวนการตัดสินใจที่ไม่สลับซับซ้อน ตรงไปตรงมา เพราะมีทรัพยากรรองรับ  ส่วนโรงเรียนขนาดเล็กกระบวนการตัดสินใจยุ่งยากเพราะทรัพยากรมีน้อย จึงต้องมีอิสระในการกำหนดทางเลือก การกระจายอำนาจไปโรงเรียนขนาดเล็กจึงต้องมาก  แต่ที่สับสนกันคือการกระจายงาน  โรงเรียนขนาดเล็กต้องได้รับความช่วยเหลือในเรื่องการกระจายงาน จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา  ต้องมีเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยให้มาก ทั้งการเรียนการสอนและงานธุรการ  การออกแบบการบริหารและการจัดการเรียนการสอนต้องต่างไปจากโรงเรียนใหญ่   ใช้เวลาที่สำนักงานเขตจนเกือบ ๑๑ นาฬิกา คณะจึงเดินทางไปโรงเรียนวัดบ่อเงิน ของท่าน ผอ.จตุพงศ์ คล้ายพุฒ  ผมไม่ได้ร่วมคณะไปด้วยเพราะมีงานด่วนที่ต้องทำที่สำนักงานเขต  เที่ยงจึงไปสมทบที่ร้านแปโภชนา ตลาด ๑๐๐ ปีลาดหลุมแก้ว หลังอาหารเที่ยงคณะเดินทางไปโรงเรียนบ้านคลองขวางบน ของท่าน ผอ.จรุญ  จารุสาร  ผมเดินทางกลับเขตทำงานแฟ้มเอกสาร โดยเฉพาะการขออนุญาตเดินทางไปต่างประเทศที่ยังไม่เรียบร้อยลงตัว  คณะทำงานด้านกฎหมายในคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งการบริหารทรัพยากรบุคคลในเขตพื้นที่การศึกษา  ที่ผมเป็นประธานได้เร่งมือทำคู่มือกันที่ห้องประชุมชั้น ๗ อาคาร สพฐ. ๕ ในกระทรวงศึกษาธิการ  วันนี้ไม่ได้ไปร่วมแต่ก็เขียนบทสรุปส่งท้ายให้จนเสร็จ   เย็น ดร.สมศักดิ์  ดลประสิทธิ์ กลับมาแวะรายงานให้ทราบว่า โรงเรียนที่ไปดูมีตัวแบบที่น่าสนใจ โดยเฉพาะความมุ่งมั่นของผู้บริหารโรงเรียนและครู ชุมชนให้ความร่วมมือดี  ผมเสนอในที่ประชุมระดับกรมและกระทรวงทุกครั้งที่มีโอกาสว่า การยุบโรงเรียนขนาดเล็กพูดง่ายมากในที่ประชุมนอกพื้นที่  แต่พูดยากมากหากเข้าไปในพื้นที่ชุมชนที่ตั้งโรงเรียน  นักเรียนที่เหลืออยู่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้  หากโรงเรียนถูกยุบเลิก รัฐต้องรับภาระในทุกเรื่องอย่างต่อเนื่อง  อยู่สังสรรค์กันจน ๒ ทุ่มจึงแยกย้ายกันไป

 

วันอังคารที่ ๒๓  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๓  ไปสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ตรงกันข้ามสวนรื่นฤดี เพื่อประชุมปรึกษาหารือในการจัดทำกลไกขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาสู่เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา  มี ดร.สุวัฒน์  เงินฉ่ำ เป็นประธานการประชุม ดร.ดิเรก  พรสีมา และ ผอ.นคร  ติงคพิภพ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ  วันนี้ประเด็นพิจารณาคือขนาดของอำนาจที่จะกระจายสู่โรงเรียน ทั้ง ๔ ด้าน การประชุมดำเนินไปจนถึง ๑๓ นาฬิกาจึงเลิกประชุมเมื่อได้ข้อยุติให้เลขานุการไปสรุปเป็นเอกสาร   ภาคบ่ายเดินทางไป สพฐ. เพื่อร่วมทำงานผลิตคู่มือพัฒนาบุคลากรด้านกฎหมายกับคณะทำงานด้านกฎหมายในคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งการบริหารทรัพยากรบุคคลในเขตพื้นที่การศึกษา  ที่ห้องประชุมชั้น ๗ ตึก สพฐ. ๕ เป็นการนำเสนอหน่วยการเรียนที่ไปเขียนกันมา ปรับปรุงแก้ไขให้รัดกุม  พอหมดเวลาทำการต้องเลิกเพราะเจ้าหน้าที่เขาทำงานตรงเวลา จะอยู่ตามสบายแบบบ้านนอกอย่างเราไม่ได้  กลับสำนักงานเขตทำงานเอกสารเร่งด่วน ๒ – ๓ แฟ้มจึงกลับที่พัก

วันพุธที่ ๒๔  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๓  เช้าเปิดการประชุมผู้เข้ารับการพัฒนารองผู้อำนวยการสถานศึกษา ที่สอบขึ้นบัญชีของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปทุมธานี เขต ๑ ซึ่ง สพฐ. กำลังจัดพัฒนาตามหลักสูตรก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง   ได้บรรยายพิเศษให้ฟังในประสบการณ์การทำงานทั้งในฐานะรองหัวหน้าหน่วยงาน ที่สมัยก่อนเรียกว่า “ผู้ช่วย” และในฐานะผู้บริหารที่มีรองช่วยในการบริหารงาน  หลังการบรรยายคณะจะลงไปศึกษาดูงานที่โรงเรียนปทุมวิไล และโรงเรียนอนุบาลปทุมธานี  บ่ายไปประชุมคณะทำงานด้านกฎหมายในคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งการบริหารทรัพยากรบุคคลในเขตพื้นที่การศึกษา  วันนี้เปลี่ยนเป็นห้องประชุมชั้น ๖ อาคาร สพฐ. ๒ เอกสารค่อนข้างสมบูรณ์ในทุกบททุกหน่วย เหลือการปรับหัวข้อให้ตรงกัน การเลิกงานก็ต้องตรงเวลาเหมือนเมื่อวาน  วันนี้ไม่ได้กลับเข้าสำนักงานเพราะรถติดมากจนมืดค่ำ

วันพฤหัสบดีที่ ๒๕  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๓  เช้าประชุมคณะกรรมการคัดเลือกโรงเรียนดีประจำตำบล ให้ได้ ๑ โรงเรียนต่อเขตพื้นที่การศึกษา กรรมการประกอบด้วยท่านรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและผู้บริหารโรงเรียนที่ทำหน้าที่ประธานเครือข่ายอีก ๑๐ เครือข่าย ใช้เวลาเสนอข้อมูลโรงเรียนที่เหมาะสมค่อนข้างมาก ในที่สุดจึงเลือกเอาโรงเรียนวัดนาวง อำเภอเมืองปทุมธานีเข้าโครงการโรงเรียนดีประจำตำบล  บ่ายลางานเดินทางลงชุมพร มาแวะทานข้าวที่ร้านคนเดินทาง อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี มีผู้บริหารโรงเรียนที่คุ้นเคยและลูกน้องที่เพชรบุรี เขต ๒ มาคอยพบ ๔ – ๕ คน เป็นการเยี่ยมเยียนสอบถามทุกข์สุข  ถึงชุมพรประมาณ ๒ ทุ่ม เข้าพักที่โรงแรมจันทร์สมชุมพร มีผู้บริหารโรงเรียนและรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตและเจ้าหน้าที่ใน สพท.ชุมพร เขต ๑ มาต้อนรับและทานข้าวด้วย ๔ – ๕ คน

วันที่ ๒๖  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๓  เช้าเจ้าหน้าที่ใน สพท.ชุมพร เขต ๑ นำของกินของฝากเมืองชุมพรมาให้ ๒ – ๓ คน ออกเดินทางไปบ้านปากคลอง  อำเภอปะทิว ถึงบ้านงานประมาณ ๙ นาฬิกา  เป็นงานแต่งที่เรียบง่าย เจ้าสาวเป็นครูเจ้าบ่าวเป็นวิศวกรทางหลวง  ผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวคือ ผอ.สนอง ดาวตุ่น โรงเรียนบ้านเขายาวราษฎร์พัฒนา  เสร็จพิธีจัดกินเลี้ยงฉลองก่อนเที่ยงจึงเดินทางกลับ  มาแวะบางสะพานน้อย อำเภอที่เคยรับราชการเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๔ วันนี้เจริญขึ้นมากทั้งตลาดและอำเภอ  บ่ายมาแวะหัวหินกินข้าวมันไก่โกจง ที่อร่อยที่สุดในสยาม ผมประเมินเอาเอง โดยเฉพาะข้าวทั้งเหนียวทั้งนุ่มและมัน รสชาติยังคงที่คงวาเหมือนที่เคยกินตอนรับราชการที่หัวหินเมื่อปี ๒๕๓๕ - ๒๕๓๙ ร้านอยู่ใกล้ทางเข้าโรงเรียนสมถวิลหัวหิน  แต่ก็มีสาขาอีกหลายแห่ง เปิดทุกวันเช้าถึงเย็น  ไปหัวหินต้องพิสูจน์   มาแวะร้านเปลยวน อำเภอบ้านลาด นัดพรรคพวกชาวเพชรบุรีเขต ๒มาทานข้าวเย็นกัน อาหารอร่อยราคาย่อมเยาที่สุดในเพชรบุรี  กลับถึงบ้านพักนนทบุรีเวลา ๒๐ นาฬิกา
                นิทานจีนสอนใจก่อนจากสัปดาห์นี้เรื่อง “ชายชรากับหม้อดิน” เรื่องมีอยู่ว่า ชายชราคนหนึ่งมีอาชีพเป็นชาวนา เขาจะมีหม้อดินประจำตัวของเขา ทุก ๆ วัน ลูกสะใภ้จะทำแกงจืดใส่หม้อดินอันนี้ให้ไปกินเป็นอาหารกลางวันทุก ๆ วัน มีอยู่วันหนึ่ง ขณะที่ชายชรากำลังเดินทางไปที่นาของตนเอง เพื่อไปเกี่ยวข้าว ระหว่างนั้นเขาก็เพลินกับการชมนกชมไม้ จึงไม่ทันสังเกตเห็นก้อนหินก้อนหนึ่งที่อยู่กลางทาง ซึ่งมีคนทำตกไว้ ในระหว่างที่เขาเดินไปนั้นก็สะดุดก้อนหินดังกล่าว ล้มลงไป แม้ว่าร่างกายจะไม่บาดเจ็บ หรือเป็นอะไรแม้แต่อย่างเดียว แต่ก็ทำให้หม้อดินที่ใส่แกงจืดเอาไว้กระทบกับพื้นดินแตกละเอียด ส่วนแกงจืดก็หกเต็มพื้นไปหมด  แต่อย่างไรก็ดี แม้ว่าหม้อดินแตก แกงจะหก ชายชราก็ยังคงเดินต่อไป มิได้กังวนกับสิ่งที่เกิดขึ้นเลย ซึ่งในขณะเดียวกันมีชายนุ่มคนหนึ่งบังเอิญเห็นเหตุการณ์ทั้งหมด และรู้สึกตกใจแทน จึงวิ่งไปหาชายชราและกล่าวว่า  "ท่านผู้อาวุโส ๆ" ชายหนุ่มเรียก   "เจ้ามีธุระอันใดกับข้าอย่างนั้นหรือ" ชายชราถาม  "ท่านรู้หรือไม่ว่าหม้อดินของท่านนั้นแตกหมดแล้ว แกงของท่านก็หกหมด" ชายหนุ่มกล่าว  "แน่นอนว่าข้ารู้" คำตอบของชายชราทำให้ชายหนุ่มถึงกับตกตะลึง เพราะชายชรานั้นไม่มีท่าทีร้อนรนหรือเดือดร้อนแต่ประการใด  "ท่านรู้แล้วใยมิมีปฏิกิริยาอันใดเล่า" ชายหนุ่มเอ่ย ถามชายชราด้วยความประหลาดใจ "สหายน้อยเอ๋ย หม้อดินนั้นเมื่อแตกแล้วก็ย่อมต้องทิ้ง แกงตกพื้นแล้วก็ย่อมกินไม่ได้ ทั้งสองสิ่งไม่สามารถหวนกลับคืนมาได้ ไม่ว่าข้าจะฟูมฟายหรือว่าตกใจสักแค่ไหนก็ตาม แล้วจะมีประโยชน์อันใดเล่าที่ข้าจะฟูมฟายกับสิ่งที่ผ่านไปแล้ว แล้วข้าก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขอะไรได้เลย" เมื่อชายหนุ่มได้ฟังชายชรากล่าวแล้วก็ค้นพบสัจธรรมได้ทันที และเข้าใจการกระทำของชายชราในบัดดลจึงเป็นที่มาของสุภาษิต “อดีตไม่สามารถหวนคืน”

 กำจัด  คงหนู

ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปทุมธานี เขต ๑

หมายเลขบันทึก: 340180เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2010 20:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวัสดีค่ะ ท่าน ผอ. เขียนเรื่องเล่ามากมายเลยน่ะค่ะ หนูก็เข้ามาอ่านบ่อยๆค่ะ..ผอ.เชื่อมั้ยค่ะ หนูได้วิชาฝึกทำสไลด์จากบล๊อกท่านนี่แหละค่ะ..ขอบพระคุณอย่างสูงน่ะค่ะ อยากเรียนถามนิดนึงค่ะ  เพลงบรรเลงแบบนี้คัดมาจากที่ไหนค่ะ..ฟังแล้วระรื่นหูดีค่ะ..หนูอยากได้มาติดบล๊อกบ้าง แต่ยังหาเพลงบรรเลงไม่ได้ จะมีก็แต่เพลงที่มีเสียงร้อง บางครั้งฟังแล้วปวดหัวค่ะ..กราบขอบพระคุณท่านอีกครั้งค่ะ..

ชายหนุ่มคนนั้น ต้องการเพียงจะถามชายชราว่า

"ทำไมไม่เก็บเศษหม้อที่แตกกระจาย เพราะเดี๋ยวข้าจะเซ่อซ่าเหยียบเอา 55555"

ขอบคุณสำหรับคติที่ดีๆค่ะ

ถ้าข้าพเจ้าเป็นชายหนุ่มคนนั้นอาจจะเก็บเศาหม้อดินนั้นให้เรียบร้อยและต้องการบอกชายชรานั้นว่าจะปล่อยหม้อดินที่แตกไว้อย่างนั้นหรือหากต่อไปในอนาคตเกิดมีผู้ใดมาเหยียบยำเข้า เศษหม้อดินนั้นอาจจะตำเท้าผู้นั้นก็ได้หรืออาจจะเกิดขึ้นได้หลายๆคนเพราะว่าเศษหม้อดินที่แตกนั้นมีหลายชิ้นและจะถามชายชราผู้นั้นว่าพรุ่งนี้ท่านจะเอาอะไรใส่แกงมากินอีกต่อไป ถ้าความคิดของข้าพเจ้าจะแนะนำว่าควรหาวัสดุที่มีคุณภาพกว่าหม้อดินมาใช้แทนหม้อดินอันนั้นเพราะว่าจะได้คงทนและถาวรกว่ามั่นคงกว่า จริงอยู่เราไม่สามารถจะฟูมฟายในสิ่งที่เสียไปแล้วได้ แต่เราสามารถทำสิ่งที่จะมาทดแทนกันให้มีประสิทธิภาพกว่าได้มิใช่หรือ...........

มีคำกล่าวว่า...อะไรที่เกิดขึ้นแล้วไม่ต้องพูดถึง....ทำปัจจุบันให้ดีก็พอแล้ว....มันอาจจะใช้ได้ในบางเรื่อง...แต่ในบางเรื่องก็ต้องทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต..เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ใขในปัจจุบัน...อดีตไม่อาจหวนคืน...แต่อดีต....ก็คือบทเรียนของชีวิตที่ผ่านมา

สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว...เราไม่อาจแก้ไขได้...ทำได้แค่..ทำใจยอมรับกับสภาพ...ด้วยใจที่เป็นปกติ...วางใจได้ถูก...ชีวิตก็จะเป็นสุขในทุกเรื่อง.....นั่นคือ...ต้องฝึกใจ...อย่ายึดติดกับสิ่งใด....โดยเฉพาะหัวโขนที่ใส่อยู่...วันนี้เรามีคนล้อมหน้า ล้อมหลัง...แต่...เมื่อไม่อาจให้ประโยชน์เขาได้....เราก็แค่...คนธรรมดาคนหนึ่ง...ที่เขาเคยรู้จัก....นี่คือ...สัจจธรรม...สำหรับคนที่เป็นใหญ่...คริ คริ

สัจธรรมการทำงานต้องคิดไว้เสมอว่าอดีตเราแก้ไขไม่ได้แต่เราไม่พูดถึงไม่ได้เพราะเราไม่ใช่คนตัวคนเดียวในสังคมเราย่อมจะต้องจดจำไว้เป็นบทเรียนชีวิตบทหนึ่งเพราะชีวิตย่อมต้องดำเนินต่อไปข้อผิดพลาดจะได้ลดน้อยลง แต่ปัจจุบันดีอย่างเดียวไม่ได้ต้องมีความถูกต้องและสะดวกรวดเร็วให้เหมาะกับความเจริญก้าวหน้าและคุณภาพของอนาคต หัวโขนที่เราสวมใส่อยู่นี้มันเป็นเครื่องหมายความรับผิดชอบในบทบาทที่เราดำเนินอยู่มิใช่หรือ ถ้าตัวละครไม่มีหัวโขนหรือบทบาทที่จะต้องแสดง ละครเรื่องนั้นจะดำเนินไปได้ตลอดเรื่องหรือ สัจจธรรมมันคือความจริงแต่อย่าลืมว่าเราทำหน้าที่หรือความรับผิดชอบอะไรอยู่ เราทำได้ดีที่สุดแล้วหรือ อย่านิ่งดูดายหรือถือว่าธุระไม่ใช่ มาร่วมกันทำปัจจุบันให้ดีที่สุดเถิด อนาคตจะได้เกิดผลที่ดีมากขึ้นอีก สุขใดจะยิ่งกว่า สุขใจในสิ่งที่คิดว่าดีที่สุด ถูกต้องที่สุด ประโยชน์ในการพัฒนาที่เกิดขึ้นแก่สังคมมากที่สุด....

สวัดดีค่ะท่าน ... นิทานสนุกมากค่ะ ได้ข้อคิด...ดีดี ขอบคุณท่านมากค่ะ ...ด้วยความเคารพ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท