แนวโน้มเด็กไทยใช้ ICT เพื่อการเรียนรู้เพิ่มขึ้น มูลนิธิสยามกัมมาจลจับมือเครือข่ายหนุนวิจัยเสริมพัฒนาระบบรองรับ


มูลนิธิสยามกัมมาจล - นักวิชาการเผยวัยรุ่นไทยใช้เวลาอยู่หน้าคอมพ์เฉลี่ย 3.1 ชั่วโมงต่อวันเป็นรองแค่ TV ที่ 5.7 ชั่วโมง ระบุพบแนวโน้มการไอซีทีเพื่อการเรียนรู้เพิ่มขึ้นแต่ยังไม่ติดฝุ่นการใช้เว็บไซต์เพื่อความบันเทิง ชี้เพราะขาดระบบสนับสนุนทั้งโครงสร้างและระบบรองรับการสนับสนุน มูลนิธิสยามกัมมาจลหนุนนักวิจัยและร่วมขยายผลตัวอย่างดีๆ สู่การรับรู้ของสังคม รวมทั้งจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อขับเคลื่อนการทำงานด้านยุทธศาสตร์ร่วมกับภาคีอย่างต่อเนื่อง พุ่งเป้าพัฒนาระบบส่งเสริมเด็กไทยให้ใช้ไอซีทีเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเองและสังคมในระยะยาว

 

 

มูลนิธิสยามกัมมาจล -นักวิชาการเผยวัยรุ่นไทยใช้เวลาอยู่หน้าคอมพ์เฉลี่ย 3.1 ชั่วโมงต่อวันเป็นรองแค่ TV ที่ 5.7 ชั่วโมง ระบุพบแนวโน้มการไอซีทีเพื่อการเรียนรู้เพิ่มขึ้นแต่ยังไม่ติดฝุ่นการใช้เว็บไซต์เพื่อความบันเทิง ชี้เพราะขาดระบบสนับสนุนทั้งโครงสร้างและระบบรองรับการสนับสนุน มูลนิธิสยามกัมมาจลหนุนนักวิจัยและร่วมขยายผลตัวอย่างดีๆ สู่การรับรู้ของสังคม รวมทั้งจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อขับเคลื่อนการทำงานด้านยุทธศาสตร์ร่วมกับภาคีอย่างต่อเนื่อง พุ่งเป้าพัฒนาระบบส่งเสริมเด็กไทยให้ใช้ไอซีทีเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเองและสังคมในระยะยาว

 

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2553 มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับคณะวิจัยสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันราชานุกูล และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดให้มี การเสวนาวิชาการเพื่อจัดการองค์ความรู้ในการพัฒนาไอซีทีเพื่อการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน หรือ ICT Youth Connect KM Project ขึ้น ณ ห้องสยามกัมมาจล 2 ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ ถนนรัชโยธิน กรุงเทพฯ โดยมีผู้บริหารหน่วยงานด้านไอซีทีกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนหลายแห่งเข้าร่วมการเสวนา อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต และมูลนิธิกระจกเงา

.นพ.วิจารณ์ พานิช รองประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวว่า การเสพสื่ออย่างต่อเนื่องส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองและจิตใจของผู้เสพ ดังนั้นการที่เยาวชนเสพสื่อที่มีเนื้อเชิงลบ เช่น เนื้อหาที่มีความรุนแรงอย่างบ่อยครั้งและต่อเนื่องย่อมมีผลทำให้จิตใจของเยาวชนคุ้นชินและเมินเฉยต่อความรุนแรง รู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติ ทั้งนี้ไอซีทีถือเป็นสื่อสมัยใหม่ที่เข้าถึงและมีอิทธิพลต่อเยาวชนมาก การเสวนาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการติดตามสถานการณ์ไอซีทีกับการพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทย และเพื่อเปิดระดมความคิดเห็นกันระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเพื่อแสวงหาแนวทางสนับสนุนให้เยาวชนไทยได้รับประโยชน์จากสื่อไอซีทีมากที่สุด พร้อมสื่อสารเรื่องราวความสำเร็จดังกล่าวสู่การรับรู้ของสังคมในวงกว้าง อีกทั้งเพื่อหาวิธีลดผลกระทบต่อเยวชนไทยลงให้มากที่สุด

ในการเสวนาครั้งนี้ นายอิทธิพล ปรีติประสงค์ หัวหน้าคณะวิจัยโครงการเสวนาวิชาการเพื่อจัดการองค์ความรู้ในการพัฒนาไอซีทีเพื่อการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน และกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้นำเสนอผลการศึกษาโครงสร้างการพัฒนาส่งเสริมการใช้ไอซีทีเพื่อการพัฒนาเด็กและสังคม เปรียบเทียบประเทศไทยและประเทศเกาหลีว่า สถานการณ์การใช้ไอซีทีของเยาวชนไทยโดยการประมวลจากผลการศึกษาของหลายหน่วยงาน พบว่า เยาวชนไทยมีแนวโน้มการใช้งานอินเทอร์เน็ตต่อวันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีค่าเฉลี่ย 3.1 ชั่วโมงต่อวัน เป็นอันดับสองรองจากการใช้เวลาดูโทรทัศน์ที่เฉลี่ย 5.7 ชั่วโมงต่อวัน

ขณะเดียวกันจากการสำรวจของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังพบว่าในรอบปี 2552 ที่ผ่านมา ประชากรไทยกลุ่มอายุน้อยกว่า 20 ปี ทั้งชายและหญิงมีแนวโน้มการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาเพิ่มมากขึ้น ทว่าเมื่อเปรียบเทียบกับเว็บไซต์เพื่อความบันเทิงแล้ว จำนวนผู้ใช้งานเว็บไซต์เพื่อการเรียนรู้กับเว็บไซต์เพื่อความบันเทิงมีความแตกต่างกันถึงมากกว่า 30 เท่า เป็นโจทย์ที่สังคมต้องหาวิธีการเพื่อเพิ่มพื้นที่ดังกล่าวให้มากขึ้น

ในส่วนของการศึกษาเปรียบเทียบกับประเทศเกาหลี ผลการวิจัยยังพบด้วยว่า ประเทศเกาหลีมีระบบการสนับสนุนประชาชนให้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพื่อการพัฒนาที่เข้มแข็งกว่าประเทศไทยมาก โดยมีการเตรียมการรองรับการขยายตัวของไอซีทีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2527 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 25 ปี แบ่งเป็น 4 ยุค ได้แก่ ยุคที่ 1 .. 2527 -2529 เป็นยุคของการเตรียมการ เตรียมคน เตรียมวัฒนธรรม เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัวด้านไอซีทีเพื่อนำไปสู่สังคมแห่งไอซีที ยุคที่ 2 .. 2529 -2537 ยุคของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สนับสนุนให้เกิดการใช้งานไอซีทีอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในเขตเมืองและชนบท

ยุคที่ 3 .. 2537 -2540 เป็นยุคของการใช้ประโยชน์และการทำให้มีเสถียรภาพ เกิดแผนแม่บทสนับสนุนให้ประชาชนทุกระดับ ทุกอาชีพ และทุกช่วงวัยเข้าถึงและใช้งานอินเทอร์เน็ต ครอบคลุมทั้งกลุ่มสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส มุ่งเน้นการสร้างเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมไอซีทีเพื่อรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ทั้งยังเกิดกฎหมายไอซีทีที่มีบทบาทสำคัญต่อวงการไอซีทีเกาหลีจำนวน 4 ฉบับ และยุคที่ 4 ตั้งแต่ พ.. 2540 จนถึงปัจจุบัน เป็นยุคของการเพิ่มขีดความสามารถและการจัดสภาพแวดล้อมให้มีความปลอดภัย โดยให้ความสำคัญกับคุณภาพของข้อมูล ความปลอดภัยของผู้ใช้งาน และผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้น รวมไปถึงการส่งเสริมจริยธรรมในการใช้งาน และการมอบหมายให้มีหน่วยงานทำหน้าที่แก้ปัญหาเยาวชนติดเกมอย่างเข้มงวด

จากการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบข้างต้น ทำให้ประเทศเกาหลีมีโครงสร้างการทำงานด้านไอซีทีบนแผนแม่บทระยะยาวที่มีความต่อเนื่องและไม่เปลี่ยนแปลงตามการเมือง แนวนโยบายด้านไอซีทีถูกสร้างขึ้นจากมุมมองด้านบวก รัฐบาลมองไอซีทีเป็นโอกาสของการพัฒนาประเทศจึงไม่มีการปิดกั้น ภาครัฐลงมาบริหารจัดการการพัฒนาอย่างจริงจัง มีการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ โดยจัดวางอยู่ในแผนแม่บทฉบับเดียวกันแต่แบ่งงานกันทำอย่างลงตัว ประชาชนทุกเพศทุกวัยเกิดทัศนคติที่ดี มีทักษะ เข้าถึง และใช้งานไอซีทีเพื่อการพัฒนาตนเองและสังคมได้อย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพ โดยรัฐได้จัดทำแผนด้านการพัฒนาเนื้อหาเพื่อการศึกษาให้แก่ประชาชนในปี 2543 -2548 ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายหลัก 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอาชีพ ประกอบด้วยเกษตรกร ชาวประมง พนักงานบริษัท ครู เจ้าหน้าที่ภาครัฐ, กลุ่มการพัฒนาคุณภาพชีวิตประกอบด้วย คนพิการ ผู้สูงอายุ คนด้อยโอกาสในชนบท และกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มการพัฒนาเพื่อการศึกษา ประกอบด้วยกลุ่มนักเรียน นักโทษ และทหาร

ขณะที่ประเทศไทยเพิ่งมีการกำหนดเป็นแนวนโยบายไว้ในแผนแม่บท คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช) ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มาตรา 78 ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่ผ่านมา ทำให้สังคมไทยยังขาดระบบการคุ้มครอง การสนับสนุน และชุดองค์ความรู้ส่งเสริมเยาวชนให้สามารถใช้ไอซีทีเพื่อการพัฒนาตนเองได้อย่างสร้างสรรค์ ตลอดจนการวางแผนนโยบายยังขาดประสบการณ์ในระดับพื้นที่และกลไกการสนับสนุนให้ท้องถิ่นมีขีดความสามารถในการบริหารจัดการทางด้านไอซีทีได้ด้วยตนเอง ทำให้เยาวชนไทยในหลายพื้นที่ยังเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตยังมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

ทั้งนี้ ในการวิจัย คณะวิจัยยังได้ศึกษาครอบคลุมไปถึงการใช้ไอซีทีและปัจจัยเพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ของเยาวชนไทย โดย นางสุรวดี รักดี นักวิจัยร่วมในโครงการฯ กล่าวว่า จากการศึกษาและประสบการณ์ตรงของการทำงานกับเยาวชนในด้านไอซีที พบเยาวชนไทยที่มีการใช้ไอซีทีในเชิงสร้างสรรค์จำนวนมาก โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจลเพื่อเฟ้นหาเยาวชนที่ใช้ไอซีทีในเชิงสร้างสรรค์เพื่อใช้เป็นกรณีศึกษา ล่าสุดมีการคัดเลือกแล้ว 33 กรณี กลุ่มเยาวชนที่น่าสนใจคือ กลุ่มเยาวชนที่เริ่มหาความรู้และพัฒนาตนเองด้วยสื่ออินเทอร์เน็ต กลุ่มเยาวชนที่เริ่มเป็นผู้ผลิตสื่อโดยใช้ไอซีทีเป็นช่องทางในการสื่อสาร กลุ่มเยาวชนที่ปรับเปลี่ยนจากผู้ใช้เป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ และ กลุ่มเยาวชนที่สามารถผลิตซอฟต์แวร์และมัลติมีเดียเองได้

ปัจจัยที่มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนเยาวชนให้ใช้ไอซีทีอย่างสร้างสรรค์บุคคลแรกคือ พ่อแม่ ที่เข้าใจและให้การสนับสนุน บุคคลต่อมาคือครูในโรงเรียน ซึ่งต่างถือเป็นบุคคลที่ใกล้ตัวเยาวชน นอกจากนั้น การส่งเสริมให้มีระบบพี่เลี้ยงให้ความรู้ เกิดการสร้างเครือข่ายเยาวชนสร้างสรรค์ด้านไอซีที และการเข้ามามีส่วนร่วมของชุมชน ยังทำให้เยาวชนไทยสามารถใช้ไอซีทีในเชิงสร้างสรรค์ได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน

ส่วนทิศทางการวิจัยไอซีทีของคณะวิจัยที่จะมีการดำเนินการต่อเนื่องตลอดปี 2553 นางสาวอารยา ชินวรโกมล นักวิจัยร่วมในโครงการฯ กล่าวว่า การมุ่งวิจัยเพื่อค้นพบปัจจัยเสริมที่ทำให้เยาวชนพัฒนาตนเองด้านไอซีทีอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนถึงประเด็นการมีส่วนร่วมของเครือข่ายเด็ก โรงเรียน ครอบครัว ชุมชน และลักษณะของการสนับสนุนเชิงพื้นที่และความรู้ที่ส่งเสริมให้เยาวชนใช้ไอซีทีอย่างสร้างสรรค์ ประเด็นปัจจัยที่นำไปสู่มิติการพัฒนาที่ยั่งยืน และประเด็นโครงสร้างที่มีผลต่อการสนับสนุนเครือข่ายเด็กและเยาวชนสร้างสรรค์ด้านไอซีที คาดว่าผลวิจัยที่จะเกิดขึ้นจะทำให้สังคมไทยได้แผนภาพความรู้ในระดับภาพรวมของการส่งเสริมให้เกิดการใช้ไอซีทีในเชิงสร้างสรรค์ เกิดการแสวงหาความรู้ การจัดการความรู้ และการเกิดขึ้นของเครือข่ายเด็กและเยาวชน เครือข่ายพ่อแม่ เครือข่ายครู เครือข่ายประชาชน เครือข่ายภาควิชาการ เครือข่ายเอกชน และเครือข่ายภาครัฐที่มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

ภายหลังนำเสนอผลงานวิจัย นายประทีป ทิมให้ผล นักวิชาการสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) กระทรวงวัฒนธรรม ได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า สังคมไทยควรจัดให้มีการวิจัยถอดบทเรียนและขยายผลต้นแบบเยาวชนที่เปลี่ยนแปลงตัวเองจากเด็กติดเกม หรือเด็กที่ใช้ไอซีทีอย่างไม่สร้างสรรค์ ไปเป็นเยาวชนที่ใช้ไอซีทีได้อย่างสร้างสรรค์ จนเกิดการพัฒนาศักยภาพตนเองว่ามีจุดเปลี่ยนและเปลี่ยนแปลงตนเองได้อย่างไร เชื่อว่างานวิจัยที่ได้จะเป็นงานวิจัยที่มีคุณค่าจุดประกายให้เด็กติดเกมได้เห็นแบบอย่างเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่อไป

ด้าน นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ประธานกรรมการมูลนิธิกระจกเงา เสนอว่า เพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตของเยาวชนในหลายพื้นที่ หน่วยงานระดับท้องถิ่นควรเข้ามามีส่วนในการกระจายการเข้าถึงไอซีทีของเยาวชนในภูมิภาคมากขึ้น อาทิ การจัดหาคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตไว้รองรับ เยาวชนไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงจุดเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่อยู่ห่างไกล เชื่อว่าจะเป็นกลไกที่ช่วยให้เยาวชนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ในราคาประหยัด ทั้งยังเหมาะแก่การเฝ้าระวังเยาวชนไม่ให้ได้รับผลเสียจากไอซีทีไม่ว่าจะทั้งทางตรงและทางอ้อมได้อีกทางหนึ่งด้วย

สุดท้าย นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวว่า การเสวนาครั้งนี้เชื่อว่าจะทำให้ผู้เข้าร่วมเสวนาได้รับประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างมาก โดยได้เห็นทั้งภาพใหญ่ กลไก และโครงสร้างของสังคมไทยในการพัฒนาเยาวชนกับไอซีทีของไทยเปรียบเทียบกับประเทศเกาหลี ซึ่งไม่เพียงคลี่ให้เห็นแง่มุมทางเทคนิคและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีไอซีที แต่ยังครอบคลุมถึงต้นทุนทางวัฒนธรรมของสังคมที่นำพาให้วงการไอซีทีไทยก้าวมายืนอยู่ ณ จุดปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี เชื่อมั่นว่าผลจากการวิจัยครั้งนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้นหากหน่วยงานต่างๆ จะได้มามองภาพระยะยาวร่วมกันและใช้ประโยชน์จากเวทีการแลกเปลี่ยนซึ่งมูลนิธิสยามกัมมาจลตั้งใจที่จะให้การสนับสนุนให้มีการจัดต่อเนื่องต่อไปอีก 4-5 ครั้งในปีเดียวกัน เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้เห็นภาพพัฒนาการของวงการไอซีทีไทยกับการพัฒนาเยาวชนอย่างต่อเนื่อง โดยทุกหน่วยงานร่วมกันเป็นเจ้าของโครงการ เกิดการแบ่งปันทรัพยากร และแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากตัวอย่างความสำเร็จ (Best Practice) ภายในเครือข่าย เพื่อให้เกิดการต่อยอดและใช้ประโยชน์สมดังเป้าหมายที่แต่ละหน่วยงานมีเป้าหมายร่วมกันต่อไป ///

คำสำคัญ (Tags): #ict
หมายเลขบันทึก: 340118เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2010 14:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 12:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท