บันทึกความประทับใจจากงานคืนสู่เหย้า..เพื่อนเก๋า สคส.


คนทำ KM น่ะ เหมือนเป็นโรคจิตนิดๆ (^^) ส่วนใหญ่แล้วต้องเป็นคนดี เพราะมีแต่คนดีที่พร้อมจะให้คนอื่นออกไป และคนทำ KM ทุกคนล้วนแต่มีความสุข

7.00 น. 22 กพ. 2553 เสียงโทรศัพท์ดังขึ้นมาตั้งแต่ผมยังไม่ได้ออกจากบ้าน

ดร.ธนาวิชญ์ (อ.บอย เจ้านายผมเอง) โทรมาหาแต่เช้า และบอกให้ผมไปร่วมงานๆ หนึ่งแทนท่านหน่อย เพราะท่านติดต้องพาคุณแม่ไปหาหมอด่วน

งานๆ นั้นคือ งานคืนสู่เหย้า..เพื่อนเก๋า สคส.

เป็นข่าวดีที่เข้ามาแต่เช้า ที่ผมได้ไปร่วมงานนี้

จริงๆ หลายๆ คนในที่ทำงานก็อยากมาร่วมงานนี้ แต่ติดที่เค้าจำกัดจำนวนคน ให้มาได้แค่หน่วยงานละหนึ่งคน ทางบริษัทจึงได้แต่ส่งแม่ทัพใหญ่ไป (ใหญ่ไม่ใหญ่ก็เจ้าของอ่ะครับ)

ด้วยเหตุนี้ เมื่อรู้ว่าได้รับโอกาสพิเศษให้ได้ไปร่วมงานแทน จึงดีใจมากๆ

ยิ่งมาถึงงาน พบกับบรรยากาศอันแสนอบอุ่น ทั้งพี่ๆ ทีมงานจาก สคส. การต้อนรับหน้างาน บรรยากาศภายในห้อง เพื่อนๆ พี่ๆ ที่มาร่วมงานอีกหลากหลายท่าน บอกได้คำเดียวว่า ประทับใจมากๆ ครับ (ที่เสียดายอย่างสุดซึ้งคือ ไม่ได้เอากล้องถ่ายรูปไปครับ รีบออกจากบ้านจัด)

สาระความรู้ที่ได้รับก็มากมาย แต่ละท่านต่างก็เป็นสุดยอดฝีมือด้านการทำ KM ในแต่ละองค์การทั้งนั้น เรียกว่างานนี้เปิดหูเปิดตาเราได้มากจริงๆ (เสียดายอีกอย่างนึงคือ ไม่ได้เตรียมตัวไปล่วงหน้า เลยไม่สามารถแบ่งปันอะไรได้มากนัก งานหน้าขอแก้ตัวใหม่นะครับ)

ได้มีโอกาสรับฟังเรื่องราวของหลากหลายองค์การ มีประเด็นเกี่ยวกับการทำ KM หลายประเด็นที่เป็นประโยชน์และอยากนำมาแบ่งปันไว้ที่นี่แบบไม่ระบุว่าเป็นประสบการณ์หรือความคิดเห็นจากท่านใดนะครับ 

ประเด็นแรก ที่มีคนสนใจกันมาก คือ กลเม็ดเคล็ดวิธีในการเขย่าผู้บริหาร ทำยังไงให้ผู้บริหารหันลงมาสนใจ KM มากขึ้น หลายๆ องค์การใช้กลยุทธ์ป่าล้อมเมือง ทำในระดับล่างระดับกลางของส่วนภูมิภาคก่อน แล้วค่อยๆ รุกคืบเข้ามาในส่วนกลาง แต่จนแล้วจนรอดผู้บริหารก็ยังไม่ยอมมองลงมาเสียที ก็เลยมีผู้เสนอความคิดเห็นไว้หลายวิธี เช่น ใช้การเชิญแขกรับเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ มาจัดงานสานเสวนาร่วมกับผู้บริหาร เพื่อให้ผู้ทรงคุณวิฒินั้นช่วยกระตุกท่านผู้บริหารให้หันมาสนใจ KM บ้าง บางองค์การใช้กุศโลบายอันแยบคายโดยการฉวยช่องที่มีนักศึกษาป.เอก มาขอสัมภาษณ์องค์การเรื่อง KM โดยให้ผู้บริหารเป็นผู้ออกให้สัมภาษณ์ ทีนี้จากที่ไม่สนใจ ผู้บริหารก็เลยต้องรีบเร่งเอาเรื่อง KM มาศึกษา หรือบางที่ก็ใช้วิธีคล้ายๆ กัน โดยเชิญท่านผู้บริหารมาเป็นผู้ต้อนรับคณะดูงานจากหน่วยงานอื่นๆ ให้ท่านรู้สึกว่า เอ ทำไมคนถึงสนใจเรื่อง KM กันเยอะนัก (แล้วทำไมตูไม่สนใจฟะ อิอิ)

อีกกลเม็ดเคล็ดความหนึ่งที่หลายๆ องค์การใช้เหมือนกันในการขับเคลื่อนองค์การ ได้แก่ การทำ KM โดยไม่ให้คนรู้ว่าทำ KM อยู่ หลายๆ องค์การพบปัญหาคล้ายๆ กัน คือ ในตอนเริ่มต้นจะทำ KM พอคนรู้ว่าจะต้องทำ KM ก็ร้องยี้เสียแล้ว (ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่า KM คืออะไร ต่างกับ MK ตรงไหน) จึงต้องเรียก KM เป็นอย่างอื่น เช่น จัดอบรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เป็นต้น หรือหาชื่อโก้ๆ หรู แบบ LOVE & LEARN มาใช้ ก็มี

มีประเด็นที่เกิดขึ้นให้แลกเปลี่ยนทัศนะกัน เกี่ยวกับ KM ว่าควรมุ่งที่ Tacit หรือ Explicit กันแน่ เพราะบางองค์การอาจมีความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์การทำงานมานานปี แต่ไม่สามารถหาเหตุผลที่มาของความรู้นั้นได้ พี่ท่านนึงจึงกล่าวว่า Tacit กับ Explicit เป็นของคู่กัน อย่าไปแยกมันออกจากกัน Tacit อาจเป็นประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากการทำงานจริง เมื่อเอา Explicit มาอธิบาย Tacit นั้น ก็จะทำให้ได้ประสบการณ์ที่มีคำอธิบายที่มาที่ไปอย่างสมเหตุสมผลมากขึ้น เป็นองค์ความรู้ที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น ซึ่งในส่วนนี้ อ.วิจารณ์ ได้ให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากการผสมผสาน Tacit กับ Explicit ภายในได้แล้ว ต้องหาทางดึงเอาทั้ง Explicit และ Tacit จากภายนอกมาผสมผสานให้ได้ด้วย (ปกติจากภายนอกเรามักได้มาแค่ Explicit) ถ้าเราทำได้ก็จะเกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่พัฒนาองค์การให้ต่อยอดไปได้เรื่อยๆ

แต่สิ่งที่ได้ยินแล้วชื่นใจที่สุด คือ เมื่อพี่ท่านนึงพูดว่า คนทำ KM น่ะ เหมือนเป็นโรคจิตนิดๆ (^^) ส่วนใหญ่แล้วต้องเป็นคนดี เพราะมีแต่คนดีที่พร้อมจะให้คนอื่นออกไป และคนทำ KM ทุกคนล้วนแต่มีความสุข (สังเกตหน้าทุกคนที่มาร่วมงาน ยิ้มแป้นกันตลอดงานเลย) เลยคิดว่า Indicator ที่สำคัญที่สุดของการทำ KM ไม่ใช่จำนวนองค์ความรู้ที่จัดเก็บหรือแบ่งปันได้ หรือการที่องค์การพัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด (KM ไม่ใช่บะหมี่สำเร็จรูปที่ใส่น้ำร้อนแล้วจะสำเร็จในสามนาทีนะจ๊ะ) แต่คือ คนที่ทำ KM และคนที่เกี่ยวข้อง มีความสุขที่ได้ทำ เพราะเมื่อมีความสุข ก็จะอยากที่จะทำงานนั้นให้ดีอย่างทุ่มเทเต็มที่ และความสุขก็เหมือนโรคติดต่อนั้นแหละครับ เริ่มแรกมีแต่ทีม KM ที่มีความสุข ทีนี้ทีมนี้ไปที่ไหน ก็ไปสร้างความสุขต่อให้กับคนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง แล้วความสุขก็จะค่อยๆ ระบาดออกไป จนสุดท้ายก็ทั่วทั้งองค์การ ประสิทธิภาพการทำงาน จึงเพิ่มขึ้นได้ด้วยประการฉะนี้

ขอให้คนทำ KM จงเจริญ... อิอิ

หมายเลขบันทึก: 339372เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2010 13:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 17:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ยินดีมาก และขอบคุณที่ให้เกียรติมาร่วมงานครั้งนี้ ^_^

ขอบคุณ อาจารย์ธนาวิชญ์ที่แม้จะติดภารกิจด่วน ก็ยังส่งตัวแทนมา (พร้อมคุณภาพเต็มกระเป๋า) ขนาดไม่ได้เตรียมตัวมา ยังร่วมแลกเปลี่ยนได้ประเด็นที่เป็นประโยชน์ขนาดนี้

สคส.หวังเช่นกัน ว่าคราวหน้าจะมีโอกาสได้ร่วมงานกันเช่นกัน

  • ธรรมะจัดสรรให้ทุกคนในวันนั้นได้มาพบกันนะคะ
  • และคงได้มีโอกาสทำความดีร่วมกันเพื่อชาติค่ะ
  • ดีใจนะคะที่ได้พบกัน แม้ว่าจะช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ก็จดจำภาพใบหน้าและรอยยิ้มของทุกคนได้ดีค่ะ แล้วคงได้พบกันอีกนะคะ
  • แต่สิ่งที่ได้ยินแล้วชื่นใจที่สุด คือ เมื่อพี่ท่านนึงพูดว่า คนทำ KM น่ะ เหมือนเป็นโรคจิตนิดๆ (^^) ส่วนใหญ่แล้วต้องเป็นคนดี เพราะมีแต่คนดีที่พร้อมจะให้คนอื่นออกไป และคนทำ KM ทุกคนล้วนแต่มีความสุข (สังเกตหน้าทุกคนที่มาร่วมงาน ยิ้มแป้นกันตลอดงานเลย) เลยคิดว่า Indicator ที่สำคัญที่สุดของการทำ KM ไม่ใช่จำนวนองค์ความรู้ที่จัดเก็บหรือแบ่งปันได้ หรือการที่องค์การพัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด (KM ไม่ใช่บะหมี่สำเร็จรูปที่ใส่น้ำร้อนแล้วจะสำเร็จในสามนาทีนะจ๊ะ) แต่คือ คนที่ทำ KM และคนที่เกี่ยวข้อง มีความสุขที่ได้ทำ เพราะเมื่อมีความสุข ก็จะอยากที่จะทำงานนั้นให้ดีอย่างทุ่มเทเต็มที่ และความสุขก็เหมือนโรคติดต่อนั้นแหละครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท