Research to Patience (R2P) : ตาปลา แผลสด และผ้าก๊อตมหัศจรรย์...


เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (18 กุมภาพันธ์ 2553) ผมได้มีโอกาสเข้ารับการผ่าตัดเล็กเพื่อที่จะนำชิ้นเนื้อเล็ก ๆ ที่ผ่าเท้าหรือที่คนโดยทั่วไปรู้จักกันว่า "ตาปลา" ออก

"ตาปลา" จุดนี้เกิดขึ้นที่ฝ่าเท้าข้างซ้ายซึ่งเกิดมาประมาณ 3-4 เดือนแล้ว โดยในหนึ่งเดือนแรกผมเองก็ไม่ได้สนใจอะไรแค่รู้สึกว่ารำคาญนิด ๆ เพราะเวลาเดินถ้าไปเดินมันก็จะเจ็บนิดหน่อย

ตอนนั้นเองผมยังไม่รู้จักโรค "ตาปลา" นึกว่าเป็นแผนแล้วมีหนองอยู่ข้างใน ก็เลยพยายามใช้เข็มซึ่งทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ทิ่มลงไปเพื่อให้หนองนั้นออกมา แต่ก็ไม่มี ตอนนั้นเองก็ปล่อยไว้อย่างนั้น ไม่ได้ไปสนใจอะไรมาก จนกระทั่งอีก 1 เดือนต่อมา (ผ่านไปประมาณ 2 เดือน) ตาปลาก็เริ่มใหญ่ขึ้นและมีโอกาสปวดมากขึ้น ตอนนั้นเองก็ได้ปรึกษากับทั้งคุณหมอแผนปัจจุบัน หมอฝังเข็ม และเภสัชกร ก็ได้ทดลองการรักษาหลายรูปแบบ ตั้งแต่

1. การรักษาโดยใช้การฝังเข็มและกระตุ้นด้วยไฟฟ้า ตอนนั้นมีคุณหมอซึ่งเป็นชาวต่างประเทศมาฝังเข็มให้ 2 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งจะมีการปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าไปในบริเวณที่เป็นตาปลานั้น เพื่อฝังเสร็จแล้ว คุณหมอแนะนำให้ใช้ "น้ำมันมะพร้าว" ทาเป็นประจำ แต่อาการก็ยังไม่หายขาด

2. ในช่วงขณะนั้นเองก็ได้เริ่มใช้กรด Salicylic หยอดบริเวณตาปลานั้นและค่อย ๆ ตัดตาปลาซึ่งเป็นเนื้อแข็ง ๆ ออกเรื่อย ๆ ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ แต่อาการปวดก็เริ่มมีมากขึ้น เพราะสังเกตุได้ว่าเริ่มมีอาการอักเสบด้านในของชั้นเนื้อ

และเมื่อวันพุธที่ผ่านมาจึงได้ตัดสินใจเข้าทำการผ่าตัดเล็ก โดยใช้เวลาผ่าด้วยไฟฟ้าประมาณ 15 นาที และคุณหมอก็ให้กลับมาพักรักษาตัว


 

จากการเข้ารับการรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบันครั้งนี้ ผมเองจึงได้เรียนรู้และมีข้อสงสัยบางประการเกี่ยวกับการรักษาทางการแพทย์ ดังนี้

การปิดแผลไว้เป็นเวลา 7 วัน

ในวันผ่าตัด เมื่อทำการตัดชิ้นเนื้อนั้นออกไปแล้ว คุณหมอได้นำ "ก้อนฟองน้ำ ขนาดประมาณ 5x5 ซ.ม. (ไม่ทราบศัพท์ทางการแพทย์) มาปิดบริเวณแผล จากนั้นจึงได้นำ "พลาสเตอร์กันน้ำ" มาซีลปิดไว้อย่างมิดชิด และผ้าทับด้วยผ้าก๊อต โดยแนะนำว่าให้ปิดไว้อย่างนี้ 7 วัน

ตอนนั้นในความคิดของผมเอง (ฐานะคนไข้) ก็เชื่อว่าฟองน้ำก้อนนั้น (ไม่เห็นในขณะปิดแผล) น่าจะเป็นฟองน้ำมหัศจรรย์ หรือคงจะเป็นอุปกรณ์การรักษาแผลสดที่ก้าวหน้ามาก ๆ ที่สามารถปิดไว้ 7 วัน โดยเมื่อเปิดปุ๊บ แผลก็จะหายปั๊บ (จินตนาการของผมในฐานคนไข้เป็นอย่างนี้)

ตอนแรกเองผมก็จะว่าจะทำอย่างนั้น แต่เมื่อถึงตอนเย็น ผมก็เริ่มสงสัยนิดหน่อย เพราะเห็นว่ามีเลือดซึม ๆ มาติดที่ผ้าก๊อตชั้นนอก ก็เลยสอบถามไปยังหมออีกท่านหนึ่ง ท่านก็บอกว่า เลือดไม่มีตั้งแต่การผ่าแล้ว เพราะครั้งนี้ใช้ไฟฟ้า ไม่ได้ใช้มีดผ่า ดังนั้นจึงไม่น่าจะใช่เลือดที่ออกมา "ไม่ต้องไปแกะผ้าออกมาดู"

ตอนนั้นผมเองก็ยังไม่ได้เอะใจอะไรมาก แต่ก็คิดอยู่นิด ๆ ว่า เอ่... ถ้าเป็นเลือดจริงแล้วปล่อยให้มันหมักอยู่ในพลาสเตอร์นั้น มันจะดีหรือไม่หนอ...?

แต่ก็ไม่เป็นไร... เพราะในบ่ายวันที่ 2 ช่วงบ่าย ๆ หลังจากการนอนพักกลางวัน (หมอสั่งไม่ให้เดินมาก) ผมก็เริ่มรู้สึกว่าแผลโล่ง ๆ ผิดปกติ จึงได้สำรวจแผลดูปรากฎว่า ฟองน้ำและพลาสเตอร์กันน้ำนั้นหลุดออก จึงได้มีโอกาสเห็นแผลของตัวเองครั้งแรก มีสภาพเป็นอย่างนี้

ตอนนั้นผมก็ได้เห็นว่ามีเลือดชุ่มอยู่ในฟองน้ำจนกระทั่งทะลักออกมาบริเวณร่องของพลาสเตอร์กันน้ำและมาเปื้นออยู่บริเวณผ้าก๊อซ แต่ตอนนั้นผมก็ต้องตัดสินใจว่า ผมจะปิดฟองน้ำมหัศจรรย์นี้เข้าไปที่แผลเหมือนเดิมหรือเปล่า เพราะมันมีมีเลือดชุ่มอยู่พอสมควร

อย่ากระนั้นเลย ผมว่า (ตามภาษาคนโง่) การฟองน้ำที่ชุ่มเลือดไปปิดแผลอย่างนั้นก็คงไม่ดี จึงขออนุญาตทิ้งฟองน้ำมหัศจรรย์นั้นไปไกล ๆ เพราะว่าถ้าปล่อยไว้ใกล้ๆ อีกไม่นานคงเหม็นฟุ้ง

หลังจากนั้น ผมก็ได้ทำความสะอาดรอบ ๆ แผลโดยใช้แอลกอฮอล์ แล้วจึงใช้พลาสเตอร์กันน้ำแบบที่มีขายตามท้องตลาด (อาจจะไม่มหัศจรรย์) ปิดทับไปเพื่อไม่ให้แผลสัมผัสกับอากาศและป้องกันการโดนน้ำ (ตามคำแนะนำของแพทย์ในวันผ่าตัด) แล้วพันทับด้วยผ้าก๊อซ

ในวันรุ่งขึ้น... ผมก็ต้องตัดสินใจอีกครั้งหนึ่งว่า เราจะแก้พลาสเตอร์ออกมาทำแผลดีไหม เพราะหมอบอกว่าห้ามโดนอากาศ แต่โดยสำมัญสำนึก (common sens) นั้นบอกว่าเปลี่ยนพลาสเตอร์เถอะ ผมก็เลยขออนุญาตขัดคำสั่งแพทย์โดยการแกะออกมาดูและให้เพื่อนช่วยทำแผลให้

สิ่งที่ผมเห็นและได้กลิ่นก็คือ มีน้ำเหลืองไหลออกมาและมีกลิ่นเหม็นพอสมควร (ถึงขนาดเพื่อนผมต้องใช้ผ้าปิดจมูกขณะทำแผล) ตอนนั้นจึงทำความสะอาดน้ำเหลืองบริเวณแผล ใส่ "เบตาดีน (ยารักษาแผลสด) และเปลี่ยนผ้าก๊อตใหม่  ซึ่งเป็นอันว่าผมคงจะต้องทำความสะอาดแผลทุกวัน

หลังจากนั้น มีผู้ปรารถนาดีได้จัดหาอุปกรณ์ในการทำความสะอาดแผลทั้งแผลก๊อต สำลีพันก้านไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "น้ำเกลือ" สำหรับล้างแผลมาให้ แต่ผมเองก็ตั้งตัดสินใจอีกว่าจะใช้ได้หรือเปล่า เพราะหมอสั่งว่า "ห้ามโดนน้ำ"

แต่ตอนนั้นคงจะไม่โดนไม่ได้ เพราะคราบน้ำเหลืองก็เกรอะกรัง จะให้ผมเอาแอลกอฮอล์ไปเช็ดแผลโดยตรงก็ไม่ใช่ที่ ก็เลยค่อย ๆ ใช้สำลีที่พันก้านไม้ (เหมือนกับที่ใช้ในโรงพยาบาล) ค่อย ๆ ชุบน้ำเกลือแล้วเช็ดคราบเลือดและคราบน้ำหนองออก เช็ดแล้วดูแผลนั้น "เอี่ยม" ขึ้นเยอะ

แต่ปัญหาก็เกิดอีก เมื่อหมอรู้ว่าผมรักษาแผลแบบนั้น ก็จึงได้เชิญตัวผมไป "บ่น" ที่คลินิค (ตอนผ่า ผ่าที่โรงพยาบาล แต่คุณหมอท่านมีคลินิคด้วย)

เพราะหลังจากที่เดินทางไปถึงก็ถูกซักถามพร้อม "บ่น" เป็นชุดใหญ่ ตั้งแต่เรื่องการเดินมาก การยกเท้า ทำไมถึงแกะพลาสเตอร์ที่ซีลไว้ออก ทั้ง ๆ ที่พันไว้แน่นขนาดนั้น พอบ่นเสร็จแล้วก็ถามผมว่าเปลี่ยนผ้าก๊อตแล้วใช่ไหม ผมก็ตอบว่า "ครับ" งั้นก็พันไว้อย่างนั้นแหละ ไม่ต้องไปยุ่งกับมัน แต่จะทำแผลให้มาที่โรงพยาบาลวันจันทร์ (ตอนผมไปคลีนิคคือเย็นวันศุกร์) โดยบอกให้ผมกลับบ้านได้โดยไม่ต้องดูแผลผมเลย

ผมคงพลาดวิทยาการทางการแพทย์ไปมากมายทีเดียว เพราะหมอในปัจจุบัน สามารถวินิจฉัยโรคได้โดยไม่ต้องเห็นแผล คือ ไม่ต้องแกะผ้าก๊อซที่ผมพันไปออกดูเลย (สงสัยหมอคงจะได้ "ญาณ" ทัศนะอันวิเศษ) แต่คนที่พาผมไปก็ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า หมอเขาทำงานคนเดียว ไม่มีพยาบาล ท่าทางจะขี้เกียจพันแผล!!!

ระหว่างเดินทางกลับ ก็เลยคุยกันว่าวันจันทร์ (21 กุมภาพันธ์ 2553) จะต้องไปโรงพยาบาลแล้วให้หมอทำแผลอีกหรือไม่ ผมเองก็ตอบแบบเลี่ยงไปนิด ๆ ว่า ขอดูแผลก่อนนะ ถ้าดีขึ้นก็ไม่ต้องไป หรือถ้ามันแย่ลงก็ค่อยไป

ที่ผมเลี่ยงแบบนั้น ก็เพราะผมเริ่มไม่แน่ใจใน "ฟองน้ำมหัศจรรย์" ครับ เพราะว่าถ้าผมไปโรงพยาบาล คุณหมอคนนั้นก็ต้องสั่งให้พยาบาลปิดฟองน้ำนั้นลงที่แผล แล้วจากนั้นก็จะซีลแผลผมไว้อีก 7 วัน แล้วมันจะเป็นอย่างไรหนอเมื่อเปิดแผลนั้นหลังผ่านไป 7 วัน

ดังนั้น ผมขอเลือกวิธีการแบบบ้าน ๆ ธรรมดา ๆ ดีกว่าครับ เอาแบบเห็นแผลทุกวัน ทำความสะอาด เปลี่ยนผ้าพันแผลเช้าเย็น เห็นตรงไหนสกปรกก็เช็ดออก เวลาทำแผลก็ใช้อุปกรณ์ที่สะอาด ผ่านการฆ่าเชื้อโรค (ไม่ต้องกลัวว่าผมจะใช้ของสกปรกหรอกครับ เพราะนี่ขาผม ผมคงจะไม่อยากเจ็บขาแบบนี้ไปนาน ๆ หรอกครับ เพราะเวลาเจ็บแผลนี่ผมเจ็บครับ ไม่ใช่คนอื่นเจ็บ)


ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ เพราะผมเองก็เริ่มสงสัยหรืออาจจะเรียกว่าเกิดประเด็นใหม่ ๆ ในทางการแพทย์หลายประการ ซึ่งจะขออนุญาตบันทึกต่อไปเป็นตอน ๆ อาทิ

การวิจัยในการทำงาน (Research to Routine : R2R) นั้น คือ การวิจัยในฝ่ายของผู้ปฏิบัติที่ผู้ปฏิบัติคิดว่าดีแล้ว แต่นั่นไม่ใช่ตัวเขาหรือผู้ที่ได้รับผลจากการปฏิบัตินั้นอย่างแท้จริง อาทิ ในกรณีของผม ในฝ่ายหมอก็คงจะมีการวิเคราะห์ วิจัยฟองน้ำมหัศจรรย์นี้มาอย่างดีแล้ว (หรือซื้อมาจากบริษัทขายยาชื่อดัง ที่เซลล์มีทักษะการพูดอย่างยอดเยี่ยม) ว่าสามารถปิดแผลได้ 7 วัน แต่แผลนั้นไม่ใช่แผลของหมอ ไม่ใช่ความเจ็บปวดของหมอ และถ้ามันเน่ามันก็ไม่ใช่เท้าหมอ แต่มันเป็นเท้าผม เท้าคนป่วย เป็นแผลที่คนไข้เจ็บ ประเด็นนี้จะมีน้ำหนักมากในการสร้างโจทย์เพื่อพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพราะ "คนทำไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ทำ..." R2R ในวงการแพทย์นั้นมุ่งไปที่การรักษาพยาบาลคนไข้ หรือเพียงเพื่อทำงานวิชาการทางการแพทย์..."

เวลาเจ็บ หมอไม่ได้เจ็บกับคนไข้ และหมอก็ไม่ได้อยู่กับแผลนั้นตลอด 24 ชั่วโมง ดังนั้นการสัมผัส การพิจารณาลักษณะอาการแบบวันต่อวัน นาทีต่อนาทีนั้น น่าจะให้น้ำหนักจะอยู่ที่คนไข้มากกว่าผู้ปฏิบัติ (หมอหรือพยาบาล) ซึ่งนั่นอาจจะผิดหลักการแพทย์ก็ต้องขออภัย เพราะผมเองก็ไม่ได้ศึกษามาทาง "วิทยาศาสตร์การแพทย์" ผมเป็นเพียงผู้ได้รับผลจากการวิทยาศาสตร์การแพทย์นั้น...

หรือประเด็นในเรื่องความรู้ในการทำแผลสด ถ้ามีการประชุมลงความเห็นจากผู้ปฏิบัติงานระหว่างหมอกับพยาบาลนั้น ก็ควรจะให้คำพูดของพยาบาลมีน้ำหนักกว่าหมอจริงหรือไม่ เพราะในเคสผม เมื่อไม่มีพยาบาล หมอก็ไม่ทำแผลให้ หรือจากเคสอื่น ๆ คนที่ทำแผล รักษาแผล ใส่ถุงมือในเช็ดเลือด เช็ดน้ำหนอง เสี่ยงต่อการติดเชื้อก็คือ "พยาบาล" ดังนั้น การให้น้ำหนักในการทำ "มาตรฐานในการปฏิบัติงาน" ว่าควรจะให้ค่าคำพูดประสบการณ์กับทางพยาบาลมากกว่าหรือไม่...?"

หรือถ้าพูดให้ลึกลงไปอีก ประสบการณ์ของคนไข้ ที่หมอและพยาบาลมักมองว่า "ด้อยการศึกษากว่าตนนั้น" จะสามารถใช้ประกอบในการสร้างอุปกรณ์และวางมาตรฐานการรักษาได้หรือไม่...?

หมายเลขบันทึก: 338890เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2010 17:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

โอ้ รอยแผลแบบว่าชัดเจนเปลี่ยนจังเลยคะ

การปิดแผลไว้ส่วนหนึ่งอาจจะช่วยลดภาวะการติดเชื้อ สิ่งที่ไหลออกมาจากร่างกายอย่างน้อยก็เป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย หากเป็นเลือดหรือน้ำเหลืองหากไม่ติดเชื้อก็จะแห้งเองโดยธรรมชาติ เหมือนเราโดนหนามข่วนแผลก็ปิดเองได้ แต่ถ้าติดเชื้อก็เป็นอีกแบบหนึ่งค่ะ

แต่กรณีของท่านหนูไม่แน่ใจค่ะ

อืมและอย่างกรณีคำว่าเชื้อโรคเรามองไม่เห็นค่ะ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือมากมาย เพื่อทำให้เครื่องมืออยู่ในสภาพปราศจากเชื้อก่อนนำไปใช้กับคนไข้ โดยเฉพาะการผ่าตัดหรือแผลเปิด เพราะเชื้อโรคที่อยู่ในดิน หรือ อยู่ในอากาศ อยู่ในอากาศเป็นสภาพว่าไม่เหมาะกับการเติบโต แต่หากพลัดหลงเข้าไปอยู่ในกระเเสเลือดแล้ว ยิ่งกว่าการถูกหวย เขาจะได้อาหารอันอุดม และสภาวะอันเหมาะสม แล้วจะเพิ่มจำนวนขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว แล้วร่างกายของเราก็จะสร้างสิ่งมาต้าน จนทำให้เกิดการ ปวดบวมแดงร้อน ตามความรุนแรงของโรค และอาจจะก่อโรครุนแรงได้ค่ะ

หนูเพียงแค่ให้ข้อมูลไว้ค่ะ คนไข้มีสิทธิในการเลือกการรักษาตามความพึงพอใจค่ะ

สวัสดีค่ะ

ดีนะคะ ที่แผลไม่ติดเชื้อ  อ่านไปลุ้นไปแทบแย่เลยค่ะ..  ดูจากภาพสุดท้าย แผลดีขึ้นใกล้จะหายแล้วนะคะ  ดีใจด้วยค่ะ..

เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ sense เต็มๆ เลยค่ะ  ดิฉันเคยเห็นหมอในโรงพยาบาลใหญ่ๆ ที่เป็นโรงพยาบาลผลิตแพทย์..  แต่ไม่เคยคิดจะใช้เครื่องไม้เครื่องมืออันทันสมัยในขณะนั้นให้เป็นประโยชน์ต่อคนไข้..  อือม.. หรือหมอจะไม่รู้ว่ามีเครื่องมือแพทย์.. คนซื้อเครื่องมือแพทย์.. คนที่จะใช้เครื่องมือแพทย์.. และคนบริจาคเงิน.. เป็นคนละคน.. คนละหน่วยงาน..  คนละเวลา..  คนละความคิด..  และคนละยุค..    Background

ขออนุญาตอีกนิดๆ ค่ะ

ปล.  ที่สำคัญที่สุดคือ  คนละหัวใจ  ด้วยค่ะ     ขอบคุณค่ะ       Background

จากความคิดเห็นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้มาก็สามารถนำมาต่อยอดแล้วแยกออกมาได้หลายประเด็น

ประเด็นแรก น่าจะมีการศึกษาเปรียบเทียบกันให้ชัดเจนระหว่างการรักษาแผลผ่าตัดโดยวิธีการปิดแผลไว้อย่างมิดชิดโดยใช้ผ้าก๊อตมหัศจรรย์ร่วมกับพลาสเตอร์กันน้ำไว้อย่างน้อย 7 วัน ซึ่งนั่นก็น่าจะเป็นหน้าที่ของ ใบไม้ร้องเพลง ที่จะทำการรักษาแผลกับ "ร่างกายของตนเอง"

ขอย้ำว่าต้องเป็นแผลตัวเองนะ ซึ่งไม่น่าจะเป็นแค่แผลหนามเกี่ยวหรือแมวข่วน ถ้าเป็นแผลเมื่อใด หรือมีโอกาสเข้ารับการผ่าตัดด้วยตนเอง ก็ขอให้ทดลองใช้พลาสเตอร์กันน้ำปิดแผลไว้สัก 7 วัน ในระหว่างนั้นก็ให้ภาวนาว่าเลือดกับน้ำเหลืองที่ไหลออกมาจะย่อยสลายกลับคืนไปในแผลได้ อ้อ... ห้ามเปิดแผลดูนะ เดี๋ยวเชื้อโรคในอากาศจะปลิวเข้า ต้องซีลให้มิดชิดเลย ถ้ามีรอยรั่วหรือมีอากาศเข้าตรงไหน ก็รีบปิดพลาสเตอร์กันน้ำแผ่นใหญ่ ๆ ทับลงไปอีกชั้นหนึ่ง ไม่ให้โดนน้ำ ไม่ให้โดนอากาศ เพราะสถานที่ทำงานหรือที่บ้านเราคงจะมีเชื้อโรคมาก หรือคงจะไม่สะอาดเท่ากับโรงพยาบาล

 

ประเด็นที่สองสืบเนื่องจากเรื่องของเชื้อโรคและความสะอาด

ทำไมเมื่อเราอ่านความคิดเห็นแล้วรู้สึกว่า (ซึ่งอาจจะผิด) บุคลากรทางสาธารณสุขในเกือบทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกร มักมองว่าการกระทำของตนเองนั้นสะอาด แล้วสิ่งที่ "ชาวบ้าน" หรือคนไข้ทำนั้น "สกปรก"

เรื่องนี้ก็น่าจะสืบเนื่องมาจาก "ความด้อยการศึกษา" ของคนไข้ ทั้งที่ไม่สามารถมีกล้องจุลทรรศน์ระดับอิเลคตรอนไปมองเชื้อโรคในบ้านได้ และก็ไม่มีความรู้ มีปัญญาที่จะสามารถรักษาแผลของตนเองอย่างถูกวิธีได้

ดังนั้นหน่วยงานสาธารณสุข จึงมักสร้างโครงการต่าง ๆ ที่จะเผยแพร่ความรู้นั่น ความรู้นี่ไปยังคนที่ด้อยการศึกษาในชุมชนต่าง ๆ ว่าอันนั้นก็สกปรก อันนี้ก็มีเชื้อโรค อันนั้นก็ผิด อันโน้นก็ไม่ดี ห้ามทำ ผิด ผิด ผิด

ก็จะขอเล่าย้อนครั้งหนึ่งให้ฟังว่า

เราเองเคยเป็นแผลที่หนักกว่านี้ครั้งหนึ่งที่บริเวณฝ่าเท้าด้านขวา (ครั้งนี้เป็นฝ่าเท้าด้านซ้าย) ครั้งนั้นไปเดินธุดงค์ที่เขาใหญ่ แล้วพลาดไปเหยียบไม้ไผ่ที่เขาตัดไว้เป็นปากฉลาม ซึ่งไม้ไผ่นั้นแทงทะลุรองเท้าแล้วทิ่มเข้ามาในฝ่าเท้าประมาณ 1 เซนติเมตร

ซึ่งบาดแผลครั้งนั้นจะแตกต่างกับแผลครั้งนี้นิดหน่อย ซึ่งแผลครั้งนี้กว้าง 1.5 และ ลึก 0.5 เซนติเมตร และเปิดแผลเปิด คือ เนื้อตรงปากแผลถูกตัดออกไปหมด แต่แผลครั้งนั้นเป็นลัษณะแผลที่ถูกไม้กลม ๆ เซนผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 ซ.ม. ทิ่มเข้าไปลึกประมาณ 1 ซ.ม. ที่สำคัญเป็นแผลปิดและอยู่ในป่าลึก คงจะไม่มีกล้องจุลทรรศน์ หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สะอาดมารักษาแผลเหมือนกับครั้งนี้

ตอนนั้นเราทำได้แค่เพียงให้เพื่อนบีบเลือดที่ไหลออกให้หมด อ้อ เล่าข้ามไปนิดหนึ่ง พอโดนไม้เสียบเข้าไปปุ๊บ เราก็ยังไม่สามารถทำแผลได้ทันที เพราะขณะนั้นทุก ๆ คนต่างรีบเร่งในการเดินเพื่อหาแหล่งน้ำ ซึ่งเราก็ไม่สามารถหยุดเดินได้ ก็ต้องเดินไปอย่างนั้นคือมีเลือดชุ่มรองเท้า (รองเท้าแตะ) เดินไป เดินไปจากเลือดที่ชุ่มจนกลายเป็นแห้งติดรองเท้าไป

ตอนนั้นก็น่าจะประมาณ 2 ชั่วโมงกว่าที่จะได้ไปทำแผล ซึ่งตอนนั้นก็ไม่มีอะไรนอกจากพลาสเตอร์ยาแล้วก็น้ำในลำธารข้าง ๆ ที่จะเอามาล้างแผล

และทุก ๆ วันเราก็ต้องเดินอยู่อย่างนั้น มีแค่พลาสเตอร์ธรรมดาแปะไว้แล้วก็เดินไป เดินไป ตอนเย็นก็ต้องลงไปอาบน้ำในลำธาร คงจะไม่สามารถนั่งยกขาสูงแบบครั้งนี้ได้ พออาบน้ำเสร็จก็ต้องมานั่ง "แคะ" เศษดินที่ติดอยู่ข้างในแผล โดยดึงเนื้อที่ปิดปากแผลออกมาแล้วใช้ไม้ที่หาได้แถว ๆ เขี่ยเศษดินออก

เศษดินนี้สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า คงจะเป็นเชื้อโรคตัวเอ้เลยหละ เห็นได้โดยไม่ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ระดับอิเลคตรอน

เราต้องเดินกระเพลก ๆ อยู่อย่างนั้นอีก 5 วันจึงจะได้ออกมาข้างนอก พอออกมาแล้วก็รักษาแผลไปอย่างนั้น ที่นั่นก็ไม่มีอุปกรณ์อลังการณ์เหมือนครั้งนี้ ที่ใครต่อใครก็ซื้อมาให้เยอะแยะ ทั้งผ้าก๊อก ทั้งสำลี ทั้งน้ำเกลือ แต่แผลก็หายดี (ไม่มีแผลเป็นอีกต่างหาก)

ครั้งนี้เราถูกหมอสั่งให้ "สำออย" มาก คือ ห้ามเดินนะ เวลานั่งหรือนอนต้องยกขาสูง ๆ ห้ามโดนน้ำ ห้ามแกะผ้าพันออก เวลาอาบน้ำต้องเอาถุงพลาสติกสวมไว้ และมีคุณหมออีกท่านหนึ่งโทรมาเช็คอาการเป็นระยะ ๆ นี่ยังไม่รวมถึงมีเพื่อนคอยประคบประหงมทำแผลให้อยู่เป็นเนืองนิจ...

แต่สุดท้ายเราก็ไม่ขอเลือกทำตามแบบของเรา ที่เราเคยเอาชีวิตรอด รวมถึงเอา "ขา" รอดออกมาจากป่าได้ โดยไม่ต้องมามัววิตกกังวล วิตกจริตอะไรมากมายกับความรู้ทางการแพทย์อะไรต่ออะไรที่อะไร อะไร ก็ทำไม่ได้... 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท