สังคมหรือพ่อแม่...?


มันง่ายนะที่จะตัดสินใจไปรับใช้คนทั้งโลก แล้วทิ้งพ่อกับแม่ไว้ที่บ้าน เพราะในสังคมนี้ใคร ๆ เขาก็ทำกัน ใคร ๆ เขานั้นก็ทิ้งพ่อและแม่ไว้บ้านกันจนเป็น “ประชาธิปไตย”

การเสียสละทำประโยชน์ให้กับประชาชน สังคม ประเทศชาติหรือว่าโลกใบนี้นับว่าเป็นการเสียสละอันยิ่งใหญ่ แต่การเสียสละทำให้บุคคลเพียง 2 คนคือพ่อและแม่ถือว่าเป็นความเสียสละที่ยิ่งใหญ่กว่า...

ทุกวันนี้หลาย ๆ คนมีความเชื่อว่าการทำงานเพื่อสังคมที่มีประชาชนได้รับผลประโยชน์นับร้อย นับพัน นับหมื่น นับแสน หรือเป็นล้าน ๆ คนนั้นเป็นงานที่ยิ่งใหญ่
หลาย ๆ คนจึงอุทิศชีวิต จิตใจ โดยให้เวลาและทรัพยากรทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตมุ่งไปที่ประชาชนหรือคนทั้งหลายในสังคม

การทำงานที่ยิ่งใหญ่ยิ่งเช่นนี้มักจะมีข้อยกเว้น ขาดตก บกพร่อง หลงลืมบุคคลเพียง 2 คนไปเสมอ คน 1 คือ “แม่” คนที่ 2 คือ “พ่อ...”

หลาย ๆ ครั้งเราทิ้งท่านทั้ง 2 ให้รอคอยความรัก ความห่วงใย ความดูแล ความเอาใจใส่ จากคนอย่างเราที่ยิ่งใหญ่สามารถทุ่มเทความรักความห่วงใยให้กับคนทั้งโลก
วีรบุรุษและวีรสตรีของโลกในวันนี้ ท่านดูแลเอาใจใสพ่อแม่ให้คุ้มค่ากับที่ท่านดูแลเอาใจใส่บุคคลทั้งปวงแล้วหรือยัง...?

ในสายตาของเรา เราอาจจะมองคนทั้งโลกเป็นภาระที่ยิ่งใหญ่ เหตุด้วยเพราะหมวก หัวโขน ตำแหน่ง หรือสิ่งต่าง ๆ ที่เราถูกสมมติให้ต้องมีหน้าที่ มีภาระที่จะต้องรับผิดชอบ ตำแหน่งหน้าที่ที่ถูกสมมติขึ้นมานั้นอาจจะปรับเปลี่ยน เปลี่ยนแปลงบุคคลต่าง ๆ ขึ้นมานั่งคนแล้วคนเล่า วันนี้ก็มาถึงตาเราที่ต้องเข้ามานั่งแล้วทำงาน

แต่ตำแหน่งของ “ลูก” ที่เราได้รับมาตั้งแต่ครั้งเมื่อคราที่ดวงตาของเราได้มองโลกนั้น เรายังรับผิดชอบตำแหน่งนั้นเทียบเท่ากับตำแหน่งสมมติทางสังคมแล้วหรือไม่
เมื่อเราได้รับตำแหน่งลูก ผู้หญิงคนหนึ่งที่ตั้งท้องเราก็ได้รับตำแหน่งแม่ และผู้ชายที่ทำให้แม่ของเราตั้งท้องแล้วคลอดออกมาเป็นเรานั้นท่านก็ได้รับตำแหน่งสำคัญนั้นคือ “พ่อ” ท่านทั้งสองรับผิดชอบหน้าที่ในตำแหน่งอันทรงเกียรติที่ลูกมอบให้นี้เสมอ แล้วลูก ๆ อย่างไรรับผิดชอบหน้าที่ในตำแหน่งนี้ของเราดีเพียงพอหรือยัง...?

การทำงานในสังคม บางครั้งก็ทำให้เราพลั้งเผลอนำความเสียสละที่เราทำให้คนอื่นมาเปรียบเทียบกับความเสียสละที่เราควรจะทำต่อพ่อและแม่
เรานำภาระคนอื่นมาเทียบกับภาระของพ่อแม่ ถ้าเทียบกัน 1 ต่อ 1 ก็ยังพอไหว คือ ดูแลสังคม 1 ชั่วโมง ดูแลพ่อแม่ 1 ชั่วโมง แล้วในวันนี้กับการทำงาน 1 วัน 8 ชั่วโมง เวลาที่เหลืออีก 16 ชั่วโมงนั้นท่านใช้นำไปดูแลพ่อแม่มากน้อยเพียงใด...?

หรือถ้าหากจะย้อนกลับไปเมื่อถึงคราวที่จะต้องตัดสินใจรับตำแหน่ง
ตำแหน่งหน้าที่ที่จะต้องเดินออกจากบ้านเพื่อไปรับใช้คนทั้งโลก กับการตัดสินใจไม่ไปรับใช้คนทั้งโลกแต่ขออยู่ดูแลพ่อและแม่แทน ทั้ง 2 หน้าที่นี้สามารถใช้ตรรกกะทางคณิตศาสตร์คิดออกมาให้เท่าเทียมกันได้หรือไม่...?

มันง่ายนะที่จะตัดสินใจไปรับใช้คนทั้งโลก แล้วทิ้งพ่อกับแม่ไว้ที่บ้าน เพราะในสังคมนี้ใคร ๆ เขาก็ทำกัน ใคร ๆ เขานั้นก็ทิ้งพ่อและแม่ไว้บ้านกันจนเป็น “ประชาธิปไตย”
มันยากนะที่จะตัดสินใจทิ้งงาน เงิน เกียรติยศ ชื่อเสียงที่คนทั้งโลกจะมอบให้ เพราะในสังคมนี้น้อยคนที่จะเข้าใจความเป็น “ธรรมาธิปไตย” ซึ่งรู้อยู่ในใจของลูก “กตัญญู”

เมื่อสังคมนี้ถูกตีตราว่าเป็นสังคมโลกาภิวัฒน์ (Globalization) ระดับความเข้าใจของคนในโลกก็มีแนวทางที้ชัดว่าเป็น “พวกมากลากไป”
ในสังคมโลกาภิวัฒน์เขาเชื่อกันว่าทุกคนเกิดมาต้องตีค่ากายและใจเป็นทรัพย์สิน เงินตรา แล้วค่อยเปลี่ยนค่ามาเป็น “ความกตัญญู”
มนุษย์ในยุคโลกาภิวัฒน์นี้จึงสามารถตีค่าความกตัญญูเป็นตัวเงินที่สามารถส่งให้พ่อและแม่เป็นรายได้ต่อเดือนได้
มนุษย์ในยุคโลกาภิวัฒน์นี้จึงตีค่าความสุขของพ่อแม่เป็นทริปเดินทางไปต่างประเทศ รถคันหรู ของใช้ที่หรูหรา หรืออาหารที่มีราคาแพง

ครั้งหนึ่งเราเคยหลงจะพาพ่อและแม่ออกไปกินอาหารที่ร้านข้างบ้าน แต่พ่อและแม่ของเราท่านฉลาด เพราะท่านรู้ว่าความสุขของท่านไม่จำเป็นต้องไปเสพรสนิยจากสังคมหรู ๆ ก่อน แล้วจึงค่อยแปลงรสนิยมเหล่านั้นเป็นความสุข
พ่อและแม่สามารถรับค่าความสุขได้โดยเพียงแค่การได้อยู่พร้อมหน้า พร้อมตา “พ่อ แม่ ลูก”
ถึงแม้นว่าอาหารจะไม่หรูหรา จานและช้อนจะไม่ทำด้วยทองคำ โต๊ะจะไม่หรู ไฟ แสง สี ดนตรีจะไม่มี ท่านก็สามารถเข้าใจถึงความสุขแท้ได้โดยไม่ต้องพึ่งการเสพสุขตามโลกาภิวัฒน์ของสังคม...

 

เงินอาจจะสามารถตีค่าและซื้อได้ทุกสิ่ง แต่เงินสามารถตีค่าและซื้อความรักจริงของ “พ่อ แม่ ลูก” ได้หรือไม่...?
เกียรติยศ ตำแหน่ง หน้าที่ การงานสามารถนำความภูมิใจมาให้พ่อและแม่ แต่ความสุขที่แน่แท้คือการที่อยู่พร้อมหน้ากัน “พ่อ แม่ ลูก” ใช่หรือไม่...?
เงินทอง ทรัพย์สิน บ้านและรถสามารถนำความสุขทางร่างกายมาให้พ่อและแม่ แต่สามารถนำความสุขแท้ทางจิตใจมาให้ท่านได้หรือไม่...?
ในวันนี้ก่อนที่เราจะตัดสินใจไปทางใด ขอเพียงให้พิจารณาคำถามนี้ให้ดีเอย...


 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ความกตัญญู
หมายเลขบันทึก: 338137เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2010 15:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มันง่ายนะที่จะใช้เหตุผลของ "กิเลส ตัณหา และกามรมณ์" ในการตัดสินใจก้าวเดินออกจากบ้านไปทำงานยังเมืองใหญ่ เข้าไปอยู่ในตำแหน่งที่มีชื่อเสียง เกียรติยศ และเงินทองที่สามารถตอบสนอง "กิเลส ตัณหา และกามรมณ์" นั้น

แต่มันเป็นการยากที่จะตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่กับชายชราและหญิงแก่ ที่เราเรียกว่าพ่อและแม่ เพราะต้องเดินทวนกระแสในหัวใจ

พญามารทั้ง 3 นั้น พยายามที่จะใช้เหตุผลทางสังคมก็ดี เหตุผลทางประชาธิปไตยก็ดีมาหลอกล่อให้เราก้าวเดินออกไปตามกระแสแห่งความอยากนั้น

เพราะเราไม่ต้องฝืนอะไรเพียงแค่ปล่อยลอยตามน้ำไป ใจของเราก็วิ่งแล่นลงไปในความอยากทั้งแล้วอยู่แล้ว

แต่การเดินทวนกระแสโดยการอยู่กับพ่อและแม่นั้นเป็นการลงทุนสูง สูงทั้งกาย สูงทั้งใจ เป็นการทำงานที่เหนื่อยหนัก เหนื่อยทั้งกาย เหนื่อยทั้งใจ

ถ้าหากใครเรียนมากเหตุผลทางสังคม เหตุผลทางวิชาการก็มาก เหตุผลทั้งหลายก็มักที่จะพาเราคิดมากและทนต่อกระแสเรียกร้องของสังคมไม่ไหว

ถ้าหากใครเรียนน้อยเหตุผลทางสังคม เหตุผลทางวิชาการก็น้อย เหตุปัจจัยที่จะดึงให้เราก้าวเดินออกไปจากบ้านนั้นก็ยังพอไหว พอทน

ความรู้ ความเก่งจึงเป็นเรือที่ใช้เร่งให้เราลอยไปในแม่น้ำแห่งกิเลสและตัณหานั้น

แต่ความดีมีเพียงสองแขนที่สามารถใช้เป็นตัวแทนของพลัง ที่จะทวนกระแสจนฝ่ายถึงฝั่งแห่งความ "กตัญญู..."

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท