Motivational Interviewing


Relaspe

นางอรุณี        โสตถิวนิชย์วงศ์ , นางสาวนิตยา สุริยพันธ์

Motivation Interviewing ช่วยให้ผู้ป่วยจิตเภทมีแรงจูงใจเพิ่มขึ้น  รู้จักตั้งเป้าหมายต่อความร่วมมือในการรับประทานยา และมีพฤติกรรมรับประทานยาอย่างต่อเนื่องหลังจำหน่าย ป้องกันการป่วยซ้ำได้

โรคจิตเภทเป็นโรคที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งของโรงพยาบาลศรีธัญญา และมีอัตราการกำเริบได้สูงถึงร้อยละ 50-70   พบว่าการขาดความร่วมมือในการรักษา  และรับประทานยาไม่ต่อเนื่องของผู้ป่วยที่บ้านเป็นสาเหตุหนึ่งของการกลับมารักษาซ้ำในโรงพยาบาล   ผู้ศึกษาจึงนำแนวคิดการใช้การปรึกษาโดยเสริมสร้างแรงจูงใจ  Motivation Interviewing   ซึ่งเป็นรูปแบบการช่วยเหลือด้านจิตใจ  โดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางโดยเน้นผู้ป่วยพูดข้อความจูงใจตนเอง  โดยใช้ counseling Skill  การถามคำถามปลายเปิด    การชื่นชมยืนยันรับรอง  การฟังอย่างเข้าใจและสะท้อนความ และการสรุปความ เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองร่วมมือในการรับประทานยา  เพื่อช่วยเสริมสร้างแรงจูงใจให้ผู้ป่วยเกิดความตระหนักเรื่องการเจ็บป่วยของตนเองและเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมร่วมมือในการรับประทานยา  สามารถดูแลตนเองที่บ้านได้และกลับไปใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว  ชุมชน  สังคมได้อย่างมีความสุข  และลดปัญหาการกลับมาป่วยซ้ำในโรงพยาบาล

การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษากึ่งทดลอง  กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยจิตเภททั่วไปหอผู้ป่วยเร่งรัดบำบัดชาย 20  ราย คัดเลือกผู้ป่วยที่มีประวัติขาดการรักษา  รับประทานยาไม่ต่อเนื่อง  มีอาการทางจิตสงบ ไม่มีปัญหาการได้ยิน การพูด  เและมีคะแนนการประเมินสภาพจิต (BPRS) < 36 คะแนน   โดยยินดีให้ความร่วมมือในการศึกษาครั้งนี้โดยความสมัครใจ

1.เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินการศึกษา  คือ โปรแกรมการให้การปรึกษาผู้ป่วยจิตเภทเพื่อร่วมมือในการรับประทานยาโดยใช้ Motivation Interviewing   โดยได้แนวคิดของ Miller โดยนำขั้นตอนการสร้างแรงจูงใจเพื่อความร่วมมือในการรับประทายนยาในผู้ป่วยจิตเภทที่พัฒนาขึ้นโดยดรุณี ภู่ขาว มาประยุกต์ใช้ในการให้การปรึกษาแบบกลุ่ม ประกอบด้วยการให้การปรึกษาแบบกลุ่ม  3  ครั้ง

การให้การปรึกษาแบบกลุ่มครั้งที่ 1

วัตถุประสงค์     1)   เพื่อสร้างสัมพันธ์ภาพที่ดีกับผู้ป่วย

                          2)   เพื่อกระตุ้นให้ผู้ป่วยเกิดความตระหนักถึงปัญหาการไม่ร่วมมือในการรับประทานยาต่อเนื่อง

การให้การปรึกษาแบบกลุ่มครั้งที่ 2

วัตถุประสงค์     1)   เพื่อรักษาสัมพันธภาพที่ดีกับผู้ป่วยไว้

                          2)   สำรวจความก้าวหน้าของแรงจูงใจผู้ป่วยในการเปลี่ยนแปลง

                          3)   ช่วยให้ผู้ป่วยมองเห็นความลังเลใจและความขัดแย้งในตนเอง

                          4)  ค้นหาและแก้ไขอุปสรรคต่างๆที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วย

การให้การปรึกษาแบบกลุ่มครั้งที่ 3

วัตถุประสงค์     1)   สำรวจความพร้อมในการเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วย

                          2)   ให้ผู้ป่วยลงมือปฏิบัติตามแผนการเปลี่ยนแปลงที่กำหนดไว้

                          3)   ชี้ให้ตระหนักถึงสถานการณ์เสี่ยงต่อการไม่ร่วมมือในการไม่รับประทานยา

                2.เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลและประเมินผลการทดลอง  ประกอบด้วย

2.1      แบบบันทึกข้อมูลทั่วไปของผู้ป่วย ได้แก่ เพศ อายุ การศึกษา ศาสนา 

2.2      แบบบันทึกพฤติกรรมการร่วมมือในการรับประทานยา

2.3  แบบติดตามเยี่ยมบ้านทางโทรศัพท์หลังจำหน่าย

 

3. ขั้นดำเนินการทดลอง  ผู้ศึกษาดำเนินการทดลอง แบ่งผู้ป่วยเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 10 ราย  กลุ่มทดลองได้รับกลุ่มบำบัดตามปกติและให้การปรึกษาแบบกลุ่มโดยใช้ Motivation Interviewing จำนวน 3 ครั้งๆ ละ 1 ชั่วโมง โดยใช้ระยะเวลาใน 1 สัปดาห์ กลุ่มควบคุมได้รับกลุ่มบำบัดตามปกติ

 ผลการศึกษาระหว่างอยู่ในโรงพยาบาลกลุ่มทดลองมีแรงจูงใจต่อความร่วมมือในการรับประทานยามากกว่ากลุ่มควบคุม  และผลการติดตามเยี่ยมบ้านทางโทรศัพท์หลังจำหน่าย7 วัน 1 เดือน และ 3 เดือน   พบว่ากลุ่มทดลองมีพฤติกรรมในการรับประทานยาโดยไม่ต้องกระตุ้นเตือน มีอาการทางจิตสงบ มีความสามารถในการดูแลตนเอง ช่วยทำงานบ้าน และลดการกลับมารักษาซ้ำใน 28 วัน ได้  

หมายเลขบันทึก: 337891เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2010 22:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 22:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

น่าสนใจมากเชียวค่ะ  ชื่อเรื่อง และเนื้อหา  ขอบคุณมากนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท