คู่มือคนไข้ก่อนไป รพ.(ป้องกันโรคติดเชื้อ) [EN]


อาจารย์แมทติว บาร์บัว (Matthew Barbour) ตีพิมพ์เรื่องเกี่ยวกับวิธีรักษาตัวให้รอดจากโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล ในเว็บไซต์เมล์ออนไลน์ ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ [ Dailymail.co.uk ]

วิธีป้องกันโรคติดเชื้อที่คนไข้และญาติช่วยกันทำได้มีดังต่อไปนี้

...

(1). กินให้พอ และพอดีด้วย

อ.นพ.ไมค์ สเตราด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหาร รพ.มหาวิทยาลัยเซาแตมทัน UK กล่าวว่า คนที่ขาดอาหารเพิ่มเสี่ยงภาวะแทรกซ้อน 30% และเสี่ยงเสียชีวิตเพิ่ม 40% 

เพราะฉะนั้นทางที่ดีอย่างแรก คือ กินอาหารให้ครบทุกหมู่อย่างพอดี ไม่ผอมและไม่พี (อ้วน) ไว้ก่อน

...  

(2). อย่าให้คนที่ีมาเยี่ยมแตะเตียง

การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร BMJ พบว่า การห้ามคนที่มาเยี่ยมไม่ให้แตะเตียงคนไข้ ช่วยลดการแพร่เชื้อดื้อยา MRSA และลดการติดเชื้อได้ 70%

...

อ.ดร.รอน คัทเลอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจุลชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยควีน แมรีกล่าว่า เสื้อผ้าหรือของใช้ เช่น เก้าอี้ ฯลฯ ต้องทำความสะอาดบ่อยๆ และตัวแพร่เชื้อที่ลืมไม่ได้ คือ ญาติคนไข้และคนที่ไปเยี่ยม

วิธีที่ดี คือ ให้ญาติคนไข้และคนที่ไปเยี่ยมล้างมือด้วยสบู่ หรือถูมือให้ถูกวิธีด้วยเจลแอลกอฮอล์ก่อนเยี่ยม และต้องระวังอย่าให้คนที่ไปเยี่ยมแตะต้องเตียงคนไข้ด้วย

...

(3). ผ่าคนแรกๆ ดีกว่าคนหลังๆ

การศึกษาจาก US ทำในกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการผ่าตัด 90,000 ครั้ง พบว่า คนไข้ที่ได้รับการผ่าตัดใกล้ 9.00 น. มีโอกาสได้รับภาวะแทรกซ้อนจากการดมยาสลบ เช่น คลื่นไส้ ปวดหลังผ่าตัด ความดันเลือดขึ้นๆ ลงๆ ฯลฯ มากกว่าคนไข้ที่ได้รับการผ่าตัดใกล้เวลา 16.00 น. ถึง 4 เท่า

...

กลไกที่อาจเป็นไปได้ คือ คุณพยาบาล หมอ และทีมงานเกิดความเหนื่อยล้าสะสม

...

(4). ล้างมือ

อ.ดร.รอน คัทเลอร์กล่าวว่า การใช้ห้องน้ำร่วมกันอาจเพิ่มเสี่ยงโรคติดเชื้อได้ แต่ที่พบบ่อยกว่านั้น คือ เชื้อโรคที่มาจากบ้านคนไข้ ซึ่งติดมากับตัวคนไข้ เสื้อผ้า ของใช้ ญาติ หรือคนมาเยี่ยม

...

วิธีที่ดีคือ หััดล้างมือด้วยสบู่ หรือถูมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ให้ถูกวิธีทั้งบ้าน หลังล้างมือต้องทำให้มือแห้ง ซึ่งไม่ควรเช็ดกับผ้าเช็ดมือร่วมกับคนอื่นๆ ควรเช็ดกับกระดาษทิชชูแล้วทิ้งไป หรือไม่ก็สะบัดมือให้แห้งกลางอากาศ (สะอาดกว่าเช็ดกับผ้าเช็ดมือที่ใช้หลายคน)

ก่อนผ่าตัดควรหัดล้างมือให้ถูกวิธีทั้งบ้าน และซ้อมล้างมือก่อนกินอาหาร-ดื่มน้ำ หลังใช้ห้องน้ำ-สัมผัสของใช้ร่วมกัน เช่น ลูกบิดประตู คีย์บอร์ด-เมาส์คอมพิวเตอร์ ฯลฯ อย่างน้อย 1 สัปดาห์ 

...

เมื่อไปถึงโรงพยาบาลให้ล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆ เตรียมเจลแอลกอฮอล์ไว้ในห้อง บีบเจลให้ทุกคนที่เข้ามาในห้อง (รวมทั้งพยาบาล หมอ และเจ้าหน้าที่) ทันที (ไม่ว่าใครก็ไว้ใจไม่ได้)

คนที่ไว้ใจได้น้อยที่สุด คือ คนที่มาเยี่ยม เพราะอาจนำโรคติดเชื้อจากข้างนอกมาฝาก หรือไม่ก็มือบอน คือ จับโน่นจับนี่ไปทั่วโรงพยาบาล แล้วนำเชื้อโรคมาป้ายไปทั่วห้อง

...

(5). รู้จักชื่อคุณพยาบาล คุณหมอ

การศึกษาหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Lancet พบว่า คนไข้ที่ถ่ายภาพหมอไว้มีแนวโน้มจะจำหมอได้ดีกว่าคนที่ไม่ถ่ายภาพ ซึ่งควรขออนุญาตก่อนถ่ายภาพจึงจะดี

...

อ.เกล วาน เคนแกน พยาบาลผู้แต่งหนังสือเรื่อง 'How to survive your hospital stay' = "วิธีอยู่ให้รอดในโรงพยาบาล" แนะนำว่า ควรขอให้คุณหมอ พยาบาล และบุคลากรโรงพยาบาลแนะนำตัว 

และที่สำคัญ คือ ควรจำชื่อคุณหมอที่รักษา เช่น หมอที่จะผ่าตัด หรือผู้ประสานงานการรักษาพยาบาล (รพ.เอกชนบางแห่งมีผู้จัดการประจำตัวที่ช่วยดูแลคนไข้ประจำตัวตั้งแต่ก่อน -ระหว่าง-หลังรักษา) ฯลฯ ให้ได้ เพราะจะช่วยป้องกันการสับชื่อ-สับคนได้ดี โดยเฉพาะกรณีคนไข้ชื่อซ้ำกันเข้ามาในเวลาไล่เลี่ยกัน

...

(6). อย่าแตะของเล่น

การศึกษาจากมหาวิทยาลัยนอททิงแฮม UK สำรวจของเล่น 12 รายการใน ICU (intensive-care unit = ห้องบำบัดภาวะวิกฤต / ห้องคนไข้อาการหนัก) พบว่า ครึ่งหนึ่งมีเชื้อโรคเพียบ โดยเฉพาะเชื้อฝีหนอง (S. aureus) ที่ทำให้เกิดโรคสารพัด ตั้งแต่ปอดบวม จนถึงเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

...

อ.ดร.แจคเกอลีน แรนเดิล ผู้ทำการวิจัยกล่าวว่า ของในโรงพยาบาลทุกชิ้นเป็นสื่อนำเชื้อโรค หรือสื่อนำเชื้อโรคประเภท "ถึงตาย" ได้ทั้งนั้น 

ที่กล่าวอย่างนี้ไม่่ใช่จะให้กลัวจนทำอะไรไม่ได้เลย ทว่า... ถ้าจะให้ปลอดภัย ควรนำเจลแอลกอฮอล์ไปด้วย จับแล้วถู (ด้วยเจลแอลกอฮอล์) หรือไม่ก็จับแล้วล้าง (มือด้วยสบู่) เสมอ

...

(7). ดื่มน้ำให้พอ

อ.ดร.รอน คัทเลอร์แนะนำ่ว่า ภาวะขาดน้ำ (dehydrated; de- = นำออก; hydrate = ทำให้มีน้ำ; รวม = ซึ่งมีภาวะขาดน้ำ) เพิ่มเสี่ยงโรคติดเชื้อ แผลกดทับ เกลือแร่เสียสมดุล (สูงหรือต่ำไป)

...

แถมยังเพิ่มเสี่ยงความรู้สึกคลื่นไส้ ไม่สบาย ภูมิต้านทานโรคต่ำลง หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ และโรคหลอดเลือดดำอุดตัน

วิธีที่ดี คือ ดื่มน้ำให้พอเป็นประจำ โดยเฉพาะก่อนไปโรงพยาบาล 2 สัปดาห์ สังเกตได้จากการปวดปัสสาวะช่วงกลางวันทุก 1-2 ชั่วโมงกำลังพอดี (ถ้าปวดถี่เกิน 1 ชั่วโมง/ครั้งอาจเป็นผลจากการดื่มน้ำมากเกินไป) และสีปัสสาวะไม่เหลืองเข้มเกินไป

...

(8). ระวังหูฟังคุณหมอ (stethoscope - สเต๊ตโตสโขป - "สเต๊ตฯ")

อ.เกล วาน เคนกานแนะนำว่า ควรขอให้คุณหมอทำความสะอาด "สเต๊ตฯ" ก่อนตรวจ หรือไม่ก็ขอให้หุ้มสเต๊ดฯ ด้วยถุงยางหุ้ม "สเต๊ตฯ" แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

...

ศ.ฮิว เพนนิงทัน ผู้เชี่ยวชาญด้านแบคทีเรียจากมหาวิทยาลัยอะเบอร์ดีน UK แนะนำว่า ไม่ว่าเครื่องมืออะไรก็ควรทำความสะอาดให้ดี เพราะอาจเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคได้ทั้งนั้น 

...

(9). กินให้พอ

อ.ไอลีน สไตน์บรอค ผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมโภชนาการ UK แนะนำว่า ช่วงที่ร่างกายเจ็บป่วย ได้รับบาดเจ็บ ป่วยหนัก ผ่าตัด หรือติดเชื้อ เป็นช่วงที่ร่างกายต้องการกำลังงานมากขึ้น

...

วิธีที่ดี คือ กินอาหารสุขภาพให้ครบทุกหมู่ และพอดีเป็นประจำ หลังจากนั้นเมื่ออยู่โรงพยาบาลคงต้องกินให้มากขึ้นอีกหน่อย เพื่อให้มีแรงมีกำลังสู้กับโรคภัยไข้เจ็บมากพอ

ไม่ควรใช้โรงพยาบาลเป็นสถานลดความอ้วน เช่น เข้าไปแล้วทำตัวกินยาก-อยู่ยาก ควรทำตัวให้อยู่ง่าย-ไม่ทำตัวขี้บ่น-กินให้พอ ฯลฯ เพื่อไม่ให้ภูมิต้านทานโรคลดต่ำลง

...

(10). ขอผ้าห่มอีกผืน

อ.เดอเรค บัทเลอร์ แห่งโครงรณรงค์ป้องกันโรคติดเชื้อ MRSA (MRSA Action UK) แนะนำว่า ก่อนไปโรงพยาบาลควรตัดเล็บให้สั้น ซึ่งจะช่วยป้องกันการสะสมของเชื้อโรคใต้เล็บ, วันผ่าตัดให้อาบน้ำ สระผม แปรงฟัน ใช้ไหมขัดฟันให้เรียบร้อย

...

ถ้าหมอแนะนำอะไรก็ให้ทำตาม เช่น บางโรงพยาบาลอาจขอให้ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อฟอกทั่วตัวในเช้าวันผ่าตัด ฯลฯ และอย่าลืมขอผ้าห่มอีกผืนถ้าจะต้องดมยาผ่าตัด

ห้องผ่าตัดมักจะหนาว และการดมยาผ่าตัดมักจะทำให้เกิดภาวะตัวเย็น (hypothermia) ซึ่งอาจทำให้การหายของบาดแผลช้าลงได้

...

(11). กินผลไม้ให้เป็น

อ.เดเรค บัทเลอร์ แนะนำว่า ให้ล้างผลไม้ก่อนกินเสมอ, วิธีที่ดี คือ ใช้ฟองน้ำล้างจานที่แห้ง ถูเปลือกกับน้ำยาล้างจานหรือสบู่ก่อนกินทุกครั้ง เนื่องจากอาจมีเชื้อโรคติดอยู่กับเปลือกนอกผลไม้ โดยเฉพาะถ้ามีภูิมิต้านทานต่ำ เป็นเด็ก หรือคนสูงอายุ

...

(12). ไม่สูบบุหรี่

การสูบบุหรี่ทำให้ปริมาณออกซิเจนที่ไปเลี้่ยงเนื้อเยื่อต่างๆ ลดต่ำ ทำให้แผลหายช้าลง ภูมิต้านทานโรคต่ำลง ติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจ เช่น หวัด ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม วัณโรค ฯลฯ

...

การศึกษาหนึ่งจาก US พบว่า การสูบบุหรี่ 10 มวน/วัน 2 สัปดาห์ ก่อนไปผ่าตัด ทำให้ฟื้นตัวช้า หรือมีภาวะแทรกซ้อนเพิ่ม ทำให้ต้องนอนโรงพยาบาลนานขึ้นถึง 1/3 ของคนไข้ทั่วไป

การศึกษาอีกรายงานหนึ่งพบว่า แม้แต่ตัวมวนบุหรี่เองก็มีเชื้อโรคหลายชนิดที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อในปอด หรือในกระแสเลือดได้

...

ข่าวดีคือ คนที่เลิกบุหรี่ก่อนผ่าตัด 6 เดือนขึ้นไปจะทำให้ร่างกายแข็งแรง แผลหายเร็ว และการฟื้นตัวหลังผ่าตัดดีเท่าคนทั่วไป

...

(13). แพ็คของก่อนไป

โรงพยาบาลในไทยมักจะมีชุดคนไข้ที่ซักแล้วให้พร้อม (และหายบ่อยด้วย), ทว่า... ถ้าจะไปรักษาใน UK ควรเตรียมชุดนอน (pyjamas) ไปด้วย 2 ชุด, รองเท้าแตะ, แปรงสีฟัน (หลังผ่าตัดควรใช้แปรงด้ามใหม่ถ้าทำได้ เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อ), ยาสีฟัน, ไหมขัดฟัน, สบู่ (สบู่เหลวสะดวกกว่าสบู่ก้อน), กล่องสบู่ (กรณีใช้สบู่ก้อน)

...

ของใช้ส่วนตัวควรทำให้ "แห้ง" เท่าที่จะทำได้ เนื่องจากของที่เปียกจะเพิ่มโอกาสให้เชื้อโรคเจริญเติบโต และอาจเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคได้

ควรนำหนังสือสวดมนต์ไป สวดอย่างน้อย 2 รอบ คือ รอบเช้าและรอบค่ำ โดยเฉพาะถ้ากลัวผีควรสวดบ่อยกว่านั้น เช่น ทุกชั่วโมงหรือทุกครึ่งชั่วโมง ฯลฯ... ขวัญจะได้อยู่กับเนื้อกับตัว

...

วิธีที่ดี คือ สอบถามทางโรงพยาบาลก่อนว่า ควรเตรียมอะไรไปบ้าง อย่านำของมีค่าหรือทำตัวเป็นตู้ทองเคลื่อนที่ เพื่อป้องกันของหายหรือการถูกจี้ปล้น และอย่าทำตัวโป๊ เพื่อความปลอดภัยด้วยเสมอ

โรงพยาบาลเป็นที่ที่ค่อนข้าง 'extreme (สุดโต่ง)' คือ มีทั้งคนดีมากๆ และร้ายมากๆ แถมยังเป็นที่ที่มีคนเข้าออกทั้งวันทั้งคืน โจรผู้ร้ายอาจแฝงมาเมื่อไรก็ได้ เวลาไปโรงพยาบาลจึงไม่ควรอวดรู้ (ดื้อ-ไม่เชื่อหมอ), ไม่ควรอวดรวย หรือทำตัวโป๊ (เสี่ยงอันตรายโดยไม่จำเป็น)

...

(14). ทำตามที่หมอ-พยาบาลแนะนำ

ทางโรงพยาบาลมักจะทำคู่มือในรูปแผ่นพับเป็นคำแนะนำสำหรับคนไข้ เช่น คนไข้ที่ผ่าตัดเลนส์ตา (เช่น ต้อกระจก ฯลฯ) ไม่ควรล้างหน้าด้วยการวักน้ำ ซึ่งอาจทำให้เชื้อโรคจากน้ำเข้าสู่ตา ทำให้ตาบอดได้ ควรใช้ิวิธีเช็ดหน้าเบาๆ ฯลฯ

...

ก่อนไปรักษาตัวในโรงพยาบาลควรทำการบ้าน ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับโรคที่เราเป็น (กรณีไม่เร่งด่วน) และศึกษาคำแนะนำจากโรงพยาบาลเสมอ เพื่อให้ผลการรักษาดีเท่าที่จะทำได้

...

(15). กินยาอะไรต้องปรึกษาหมอก่อน

ต้นฉบับเรื่อง นี้มีคำแนะนำอีกข้อหนึ่ง คือ ให้กินแอสไพริน 300 มิลลิกรัม 3 วันก่อนผ่าตัด เนื่องจากมีการศึกษาจากมหาวิทยาัลัยดาร์ทเมาต์ US ว่า ป้องกันโรคติดเชื้อได้ครึ่งหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนขอตัดออกไป

...

คำแนะนำนี้ยังไม่ใช่คำแนะนำมาตรฐาน ไม่เหมาะกับเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี อาจเพิ่มโอกาสตกเลือดในทางเดินอาหาร หรือทำปฏิกริยากับยาอื่นๆ ที่จำเป็นต้องใช้ได้

ทว่า... เรื่องที่ควรรู้ คือ ถ้าเป็นการรักษาผ่าตัดที่ไม่เร่งด่วน ขอให้ปรึกษาหมอก่อนว่า ยาที่ใช้เป็นประจำมียาอะไรบ้าง กินอาหารเสริมหรือสมุนไพรอะไรเป็นประจำ จะกินต่อได้หรือไม่ ไม่ควรกินยาก่อนปรึกษาหมอที่ดูแลท่าน

...

ถึงตรงนี้... ขอให้ท่านผู้อ่านมีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

...

ภาษาอังกฤษสบายๆ สไตล์เรา                                

ต้นฉบับเรื่องนี้คือ 'Your hospital survival guide: The ingenious tricks that can save you from superbugs and other hospital disasters'

แปลว่า "คู่มือเอาตัวรอดในโรงพยาบาลของคุณ: วิธีการอันชาญฉลาดที่ช่วยให้คุณรอดจากเชื้อดื้อยา (superbug; super- = อภิ มหา เหนือ ซูเปอร์; bug = แมลง เชื้อโรค; รวม = เชื้อดื้อยาระดับซูเปอร์ ตัวร้าย) ตัวร้ายและหายนะอื่นๆ ในโรงพยาบาล" = "คู่มือเอาตัวรอดในโรงพยาบาล: วิธีการต้านเชื้อดื้อยาและหายนะ"

...

คลิกลิ้งค์ > คลิกลำโพง-ธงชาติ > ฟัง-ออกเสียงตามเจ้าของภาษา 3 รอบ เพื่อให้จำศัพท์ได้ถูกต้องและเร็ว

ย้ำเสียงหนัก (accent) ที่พยางค์แต้มสี กรณีมีตำแหน่งย้ำเสียง 2 ตำแหน่ง, ตำแหน่งที่ย้ำเสียงหนักกว่า คือ พยางค์ที่ใช้ตัวอักษรตัวหนา

...

@ [ stethoscope ] > [ s - เต๊ต - โต - s - โขพ - p ] > http://www.thefreedictionary.com/stethoscope > noun = หูฟังหมอ

คำนี้มาจาก 'stethos' ภาษากรีก = chest = ทรวงอก หน้าอก; และ '-scope' ภาษาฝรั่งเศส = กล้องส่อง เครื่องมือสำหรับดู; รวม = หูฟังหมอ

...

@ [ ingenious ] > [ อิ่น - จี๊ - เหนียส - s ] > http://www.thefreedictionary.com/ingenious > adjective = ซึ่งชาญฉลาด

# They are ingenious at teaching. = พวกเขา (พวกเธอ) สอนเก่งมากๆ (ชาญฉลาดในการสอน).

# You have an ingenious plan. = คุณมีแผนการอันชาญฉลาด.

...

@ [ trick ] > [ ทริค - k ] > http://www.thefreedictionary.com/trick > noun = ทริค เล่ห์เหลี่ยม มายากล วิธีการ

# The magician performed clever tricks. = นักมายากลเล่นกลอย่างฉลาด.

# They got money by tricks. = พวกเขา (พวกเธอ) หาเงินด้วยเล่ห์กล (หลายอย่าง).

...

@ [ disaster ] > [ ดิส - แอ๊ส - เต้อ ] > http://www.thefreedictionary.com/disaster > noun = หายนะ ภัยพิบัติ

คำนี้มาจาก 'dis-' = เลว; 'aster' = astra = ดวงดาว; รวม = ดวงไม่ดี; ชื่อนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อของชาวอังกฤษในอดีตที่ตรงกับคนทั่วโลก จำนวนมาก คือ เชื่อเรื่องหมอดู โหร ดวงดาว

...

# It sounds as if we were to blame for the disaster. = ดูเหมือนว่า พวกเราจะเป็นแพะ (ถูกเพ่งเล็ง ถูกใส่ร้าย) ว่าเป็นสาเหตุของภัยพิบัติ (หรือความไม่สำเร็จ เช่น ทำให้งานเสีย ฯลฯ) [ longdo ]

คำที่มีรากศัพท์คล้ายๆ กับ 'disaster' หรือ "เลว + ดวง" = "ดวงไม่ดี" ได้แก่

@ astrology = โหราศาสตร์ (astro- = ดวงดาว; logy = วิชา)

@ astrologer = astrologist = โหร หมอดู (รากศัพท์คล้ายๆ กัน)

...

 ติดตามบล็อกของเราได้ทางทวิตเตอร์ > [ Twitter ]

ที่มา                                                         

  • Thank Mailonline / Dailymail.co.uk > Mathew Barbour. Your hospital survival guide: The ingenious tricks that can save you from superbugs and other hospital disasters.16 February 2010. 
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ รพ.ห้างฉัตร ลำปาง สงวนลิขสิทธิ์. ยินดีให้นำไปเผยแพร่โดยอ้างอิงที่มาได้. > 16 กุมภาพันธ์ 2553.
  • ข้อมูลทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแล ท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.
หมายเลขบันทึก: 337215เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2010 00:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 12:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท