โรงพยาบาลห้วยแถลง
พญ. วิภา โรงพยาบาลห้วยแถลง อุทยานินทร์

อาหารกับการควบคุมเบาหวาน


เรียบเรียงโดย : เมลดา อภัยรัตน์ (โภชนากร ร.พ.ห้วยแถลง)

อาหารกับการควบคุมเบาหวาน

            โภชนาการที่ดีเป็นหนึ่งในหัวใจของการควบคุมเบาหวาน ถึงแม้จะได้รับยารักษาเบาหวานหรือฉีดอินซูลินก็ยังจำเป็นต้องควบคุมอาหารร่วมด้วย

            การควบคุมอาหาร คือ การรู้จักเลือกรับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่ในปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วนอย่างสมดุล เป็นการป้องกันหรือลดความรุนแรงของโรคแทรกซ้อนที่จะตามมาภายหลัง

            ในการควบคุมอาหาร ผู้ป่วยเบาหวานจำเป็นต้องเปลี่ยนอุปนิสัยการบริโภค แต่ทว่าควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป อาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานมิได้แตกต่างไปจากอาหารที่คนทั่วๆไปควรจะรับประทาน แต่คนเรามักจะตามใจปากและมิได้คำนึงถึงคุณภาพอาหารที่รับประทานว่าเป็นประโยชน์แก่ร่างกายหรือไม่ ฉะนั้นการปรับอุปนิสัยการบริโภคของผู้ป่วยเบาหวานให้เปลี่ยนไปในทางที่ดีจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมโรคได้

จุดมุ่งหมายในการควบคุมอาหาร

          จุดมุ่งหมายในการควบคุมอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน คือ

  1. เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในระดับปกติหรือใกล้เคียงระดับปกติมากที่สุด ซึ่งจะช่วยชะลอการเกิดโรคแทรกซ้อนให้เกิดช้าที่สุด เช่น โรคเส้นเลือดตีบแข็ง ซึ่งจะมีผลทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือหากเกิดการอุดตันที่หลอดเลือดที่มาเลี้ยงสมองจะทำให้เป็นอัมพาตได้
  2. เพื่อควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม สามารถทำได้โดยการควบคุมปริมาณอาหารที่รับประทานตลอดทั้งวัน ซึ่งผู้ป่วยแต่ละคนมีความต้องการไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับเพศ อายุ น้ำหนักตัวและกิจกรรมประจำวัน ความอ้วนจะทำให้ร่างกายเกิดการดื้อต่อฤทธิ์ของอินซูลิน มีผลให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น การลดน้ำหนักตัวลงจะทำให้อินซูลินทำงานได้ดีขึ้น และระดับน้ำตาลในเลือดก็จะลดลงตามลงไปด้วย
  3. เพื่อชะลอโรคแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน
  4. เพื่อให้รู้จักโภชนาการที่ดีซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการควบคุมเบาหวาน การรู้จักเลือกรับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่ในปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายจะช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วนอย่างสมดุลและช่วยให้ควบคุมเบาหวานได้ดี

หลักในการเลือกรับประทานอาหาร

            ในการรับประทานอาหารของผู้ป่วยเบาหวานควรมีหลักในการเลือกดังนี้

  1. รับประทานอาหารให้หลากหลายและมีความสมดุลของสารอาหาร รับประทานให้เป็นเวลา ไม่ควรรับประทานเฉพาะเวลาที่หิวเพราะจะทำให้รับประทานอาหารมากกว่าที่ควร
  2. หลีกเลี่ยงของหวานและอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำตาล เช่น ขนมหวาน น้ำหวาน น้ำอัดลม ชา กาแฟ โกโก้ เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น รวมถึงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  3. รับประทานผักเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผักที่รับประทานใบ เช่นผักกาด ผักบุ้ง ตำลึง ฯลฯ ซึ่งผักที่รับประทานใบพวกนี้ สามารถรับประทานได้ไม่จำกัดปริมาณ รับประทานได้ทั้งแบบสด และแบบที่ปรุงสุกแล้ว
  4. รับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่มีใยอาหารเพิ่มขึ้น โดยเลือกรับประทานข้าวกล้อง ข้าวแดง  ข้าวซ้อมมือ เส้นหมี่ข้าวกล้อง ข้าวโพด แทนที่ข้าวขาว ข้าวเหนียวและอาหารประเภทแป้งอื่นๆ
  5. รับประทานอาหารประเภทที่มีไขมันให้น้อยลง โดยการเปลี่ยนวิธีปรุงอาหาร เลือกใช้วิธีต้ม นึ่ง อบ แทนที่การทอดและผัด เลี่ยงเนื้อสัตว์ส่วนที่มีไขมันสูง เช่น หมูสามชั้นหรือหนังสัตว์ เป็นต้น

 

นอกจากการควบคุมอาหารแล้ว ผู้ป่วยเบาหวานควรออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักตัวหรือลดน้ำหนักในผู้ที่มีน้ำหนักเกิน พักผ่อนให้เพียงพอ เพียงเท่านี้ก็สามารถควบคุมเบาหวานได้แล้ว

เอกสารอ้างอิง

  1. ศัลยา คงสมบูรณ์เวช. อาหารกับการควบคุมเบาหวาน. ใน : เทพ หิมะทองคำ และคณะ. ความรู้เรื่องเบาหวาน ฉบับสมบูรณ์. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: บริษัทวิทยพัฒน์ จำกัด, 2550: 131-163.
  2. วันทนีย์ เกรียงสินยศ. โภชนาการกับเบาหวาน. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สารคดี, 2551.

 เรียบเรียงโดย  :  เมลดา  อภัยรัตน์ (โภชนากร ร.พ.ห้วยแถลง)

หมายเลขบันทึก: 336180เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2010 13:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 17:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท