เรื่องเล่าระหว่างวันที่ ๘ - ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓


 

๑๓  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๓

เรียน  เพื่อนครูและผู้บริหารที่รักทุกท่าน

วันจันทร์ที่  ๘  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๓ เช้านี้สองจิตสองใจว่าจะเลือกไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิรับฟังการเสนอผลการวิจัยรูปแบบการบริหารสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ หรืออยู่ประชุมการพัฒนาครูทั้งระบบของสำนักงานเขต  อย่างไรก็ตามเลือกที่จะเข้าสำนักงานเขตมาตั้งหลักก่อน ถึงสโมสรทราบว่าการประชุมที่เขตเลื่อนไปตอนบ่าย  จึงเดินทางไปมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์  เพราะเห็นพอมีเวลา ที่สำคัญเขาเจาะจงเลือกเชิญมาเป็นการเฉพาะ  ถึงห้องประชุมสายไปนิดหน่อย ผอ.นคร  ติงคะพิภพ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนเชี่ยวชาญพิเศษ โรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ จังหวัดเพชรบุรี กำลังนำเสนอรายงานการวิจัยรูปแบบการบริหารสถานศึกษาตามที่ท่านได้วิจัยมา ๔ รูปแบบ คือ รูปแบบที่ ๑ สถานศึกษาที่มีอิสระในกำกับของรัฐ จัดรูปแบบคล้ายองค์การมหาชน  รูปแบบที่ ๒ สถานศึกษาที่มีความพร้อมรองรับการเป็นนิติบุคคลเต็มรูปแบบ จัดรูปแบบกระจายอำนาจแบบ  SBM   เต็มที่มีคณะกรรมการสถานศึกษาเข้มแข็ง รูปแบบที่ ๓ สถานศึกษาที่เร่งพัฒนาสู่การเป็นนิติบุคคลที่เข้มแข็ง   จัดรูปแบบขยายฐานกระจายอำนาจ ๔ ด้าน ให้เกิดสมดุลระหว่าง สพท. กับสถานศึกษา เพียงพอที่จะทำให้สถานศึกษาเข้มแข็ง รูปแบบที่ ๔ สถานศึกษาที่ต้องกำกับสนับสนุนส่งเสริมเป็นพิเศษ โดยสร้างนวัตกรรมการบริหารเชิงคุณภาพ  เป็นการกระจายอำนาจสู่เขตพื้นที่การศึกษา  เพื่อสร้างนวัตกรรมการบริหารที่เสริมความเข้มแข็งให้สถานศึกษาเพียงพอต่อการยกระดับคุณภาพนักเรียน  ที่ประชุมซึ่งมากไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิตัวจริง อาทิเช่น รองศาสตราจารย์ ดร. วรากรณ์  สามโกเศศ   ดร.สุวัฒน์  เงินฉ่ำ  ศาสตราจารย์ ดร. ไพฑูรย์  สินลารัตน์  รองศาสตราจารย์ ดร. อุทัย  บุญประเสริฐ  ศาสตราจารย์ ดร.บุญเสริม วีสกุล ทุกท่านได้อภิปรายเชิงสนับสนุนและเสนอแนะ อย่างไรก็ตามในการอภิปรายในสายตาของนักวิชาการบางท่าน มองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นตัวร้าย หรืออุปสรรคของการกระจายอำนาจ ผมได้อภิปรายเสนอข้อเท็จจริงให้ที่ประชุมทราบว่า ปัจจุบันผู้ที่ใช้อำนาจตามมาตรา ๕๓ ตัวจริง คือ ก.ค.ศ. ผู้ซึ่งออกกฎเกณฑ์ล่วงล้ำเข้ามาจนผู้อำนวยการสำนักงานเขตไม่เหลืออำนาจในการตัดสินใจ ด้านการบริหารงานบุคคล  มีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและผู้อำนวยการโรงเรียนเข้าร่วมประชุม จำนวนหนึ่ง เขาอภิปรายต่อเนื่องไปจนบ่าย ผมขออนุญาตกลับก่อนเวลา เพราะบ่ายมีประชุมการพัฒนาครูทั้งระบบ  ถึงเขตที่ประชุมพร้อมแล้ว จึงดำเนินการประชุมโดยให้ท่านรองฯครรชิต  หิรัณยหาดและท่านรองฯสมมาตร ชิตญาติ เป็นผู้แจ้งรายละเอียด โดยสรุปโครงการยกระดับคุณภาพครูทั้งระบบ สพฐ. แบ่งออกเป็น ๒ กิจกรรม คือ กิจกรรมที่ ๑ จัดระบบพัฒนาครูเชิงคุณภาพเพื่อการพัฒนาสมรรถนะครูรายบุคคล  เป็นการทดสอบในวิชาต่าง ๆ ที่ สพฐ.กำหนดตั้งแต่ครูชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึงมัธยมศึกษาปีที่ ๖  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะรับผิดชอบดำเนินการสำหรับครูประถมศึกษา สำหรับระดับมัธยมศึกษารวมทั้งโรงเรียนขยายโอกาสนั้น สพฐ. มอบหมายให้ ศูนย์ประสานงานการจัดการมัธยมศึกษา เป็นผู้รับผิดชอบ กำหนดการทดสอบ วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ประเมินองค์ความรู้ตามกลุ่มสาระคณิตศาสตร์วิทยาศาสตร์ มัธยมศึกษาตอนต้น(ครั้งที่ ๑)   วันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๓ ประเมินองค์ความรู้ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ครูประถมศึกษา  วันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๓ ประเมินองค์ความรู้กลุ่มสาระที่เหลือทั้งมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย       กิจกรรมที่ ๒ ฝึกอบรมยกระดับคุณภาพครูให้เป็นครูดี ครูเก่ง มีคุณภาพและคุณธรรม  สถาบันอุดมศึกษาและเครือข่ายจะร่วมกันพัฒนายกระดับทั้งผู้บริหารและครูทั้งระบบ เลิกประชุมกลับไปทำงานแฟ้มเอกสารที่ห้องจนเย็น

วันอังคารที่  ๙  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๓  ออกจากบ้านพักก่อน ๖ โมงเช้าถึงโรงแรมแอมบราสเดอร์สุขุมวิท ซอย ๑๑ ลงทะเบียนเข้าห้องพัก ได้ห้อง ๘๙๓ เขาให้พักเดี่ยวตามสิทธิ์ จึงค่อนข้างสบายใจไม่ต้องนอนกับคนแปลกหน้า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาเป็นเจ้าภาพเชิญผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศและผู้บริหารองค์กรอื่นร่วม ๔๐๐ คน มาประชุมเพื่อรับทราบนโยบายและระดมความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา ในทศวรรษที่สอง  ภาคเช้า รองศาสตราจารย์ ธงทอง  จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมสัมมนาและบรรยายพิเศษ จากนั้นได้แบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง  กลุ่มที่ ๑ และ ๒ การพัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่ กลุ่มที่ ๓ – ๔ การพัฒนาครูยุคใหม่  กลุ่มที่ ๕ – ๖ การพัฒนาสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ กลุ่มที่ ๗ – ๘ การพัฒนาระบบการบริหารจัดการใหม่  เป็นการแยกไปตามห้องต่อเนื่องไปถึงพรุ่งนี้ นัดหมายไปนำเสนอในที่ประชุมใหญ่เวลา ๑๑.๐๐ น.   การอภิปรายกลุ่มทำกันอย่างเอาจริงเอาจังและหามรุ่งหามค่ำจนน่าชมเชย ในความรู้สึกลึก ๆ การปฏิรูปรอบสอง ไม่ค่อยตื่นเต้นเร้าใจเหมือนปฏิรูปครั้งแรกในปี ๒๕๔๖   มืดค่ำหลังอาหารเย็นเข้าที่พัก อ่านเอกสารที่เขามอบให้ แต่หงอยเหงาเพราะ Notebook เสียรับ Wireless ไม่ได้

วันพุธที่  ๑๐  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๓  หลังอาหารเช้า ที่ชั้น ๓ มีการอภิปรายกลุ่มต่อเนื่องจากเมื่อวาน เป็นธรรมเนียมที่จะต้องหาคนเก่งนำเสนองานกลุ่มต่อที่ประชุมใหญ่  พวกเรารวมกลุ่มได้ เกือบ ๑๐ คน นั่งคุยสถานการณ์บ้านเมืองทั้งภาคราชการประจำและภาคการเมือง   เวลา ๑๑.๐๐ น. เข้าห้องประชุมใหญ่ซึ่งย้ายมาชั้น ๓ เหมือนกัน ฟังรายงานกลุ่มไปจบเอาเที่ยงครึ่ง จึงได้ทานข้าวกลางวัน  เวลา ๑๔.๐๐ น. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายชินวรณ์  บุณยเกียรติ มาถึงห้องประชุมได้กล่าวให้นโยบายว่า ผอ.สพท.จะเป็นขุนพลในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง และนำนโยบายไปปฏิบัติให้เกิดผลอย่างจริงจังโดยมีเป้าหมายคือ การรวมใจและบริหารจัดการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาอย่างเป็นองค์รวมที่มีคนเป็นศูนย์กลาง และการศึกษาเป็นธงนำในการขับเคลื่อนพัฒนาทุกด้าน ขอให้นำนโยบายของ รมว.ศธ.ทั้ง ๘ ข้อ มาดำเนินการพร้อมกันแบบเป็นองค์รวม จึงจะสามารถนำนโยบายไปสู่เป้าหมายได้ กล่าวคือ ประการที่หนึ่ง ขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ต้องเดินหน้าพร้อมกัน เพื่อสร้างกระแสการขับเคลื่อนต่อสังคมในวงกว้าง ในวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง เป็นครั้งแรก โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และในการจัดสมัชชาปฏิรูปการศึกษาระหว่างวันที่ ๖-๗ มีนาคม ๒๕๕๓ จะเชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้าง Model ใหม่ ในการปฏิรูปการศึกษาให้เห็นเป็นกรอบความคิด ผู้เข้าร่วมงานจะได้เห็นถึงผลสำเร็จและสิ่งที่ต้องขับเคลื่อนต่อไป  ประการที่สอง โครงการเรียนฟรี ๑๕ ปี อย่างมีคุณภาพ ต้องเปลี่ยนกรอบความคิดของบางสถานศึกษาที่ไปสร้างความรู้สึกแก่ผู้ปกครองว่าเป็นการแจกหนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน ฯลฯ แต่โครงการเรียนฟรี ๑๕ ปี เป็นการสร้างความเสมอภาคและโอกาสให้แก่ผู้เรียน รวมถึงสร้างจิตสำนึกว่าการที่ได้รับโอกาสและความเสมอภาคนี้เป็นภาษีของประชาชน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการศึกษาเพื่อปวงชน และปวงชนเพื่อการศึกษา จึงขอให้มีการสื่อสารต่อสาธารณชนให้เข้าใจและร่วมแสดงความคิดเห็นว่า ๑ ปี ที่ผ่านมามีจุดบกพร่องอะไรบ้าง หรือควรจะปรับปรุงในส่วนใดประการที่สาม โรงเรียนดีประจำตำบล อยู่ภายใต้การกำกับของชุมชนและมีปัจจัยนำเข้าที่พร้อม เป็นความร่วมมือระหว่าง ศธ.กับกระทรวงมหาดไทย ที่ต้องทำประชาคมร่วมกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพของโรงเรียนขนาดเล็ก ในพื้นที่ด้อยโอกาสในชนบท นอกจากนี้จะมีการทำ School Mapping ในแต่ละตำบล ซึ่งจะทำให้ทราบถึงอัตราประชากร คนวัยทำงาน จำนวนเด็กที่จะเกิดใหม่ ฯลฯ ต้องมีการบริหารโดยข้อมูลที่ชัดเจน (School–based Management) จึงต้องรีบทำประชาคม, กระจายอำนาจโดยให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มีส่วนร่วมในการรับ–ส่งนักเรียน รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนเพราะโรงเรียนต้องอยู่ในกำกับของชุมชน   ประการที่สี่ การศึกษาใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเป็นกรณีตัวอย่างในการนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง เนื่องจากเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีความแตกต่างทางศาสนา และวิถีชีวิต จึงต้องใช้การศึกษาเพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตยที่ยอมรับความหลากหลาย ส่งเสริมการมีอาชีพ ทั้งการศึกษาในระบบและนอกระบบ โดยจะสร้างสถาบันศึกษาปอเนาะดี ระดับอำเภอ ภายใน ๖ เดือนนี้ มีการบูรณาการการศึกษาทุกระดับและส่งเสริมอิสลามศึกษา ต่อยอดไปถึงการมีงานทำ ศักยภาพการแข่งขันกับต่างประเทศโดยเฉพาะในสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ ประการที่ห้า สร้างแหล่งเรียนรู้ราคาถูก  กศน.ตำบลต้องเป็นเครือข่ายในการสร้างแหล่งเรียนรู้ในราคาถูก ส่งเสริมการอ่าน มี IT เพื่อการเรียนรู้สำหรับประชาชน มีศูนย์ Fix it Centre ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ส่วนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็มี Tutor Channel เติมเต็มในเรื่องของโอกาสการเรียนรู้สำหรับนักเรียน ประการที่หก ยกระดับเครือข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษาเป็นระดับชาติ จะตั้งกองทุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา มี e-Library, e-Learning ประการที่เจ็ด สร้างขวัญและกำลังใจครู ให้มีความก้าวหน้าทั้งในส่วนของตัวเองและวิชาการ โดยจะทำทั้งระบบเพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย และจะเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติเงินเดือนเงินวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงการเชิญชวนครูทั่วประเทศร่วมลงทุนในกองทุนพัฒนาวิชาชีพครู โดยไม่มีการเรี่ยไรเพื่อสร้างจิตสำนึกร่วมกันในยุคปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ให้ครูมีจิตวิญญาณของความเป็นครู มีศักดิ์ศรีของความเป็นครู ประการที่แปด สนับสนุนองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ต้องการเห็นการขับเคลื่อนที่เป็นเครือข่ายในทุกระดับทั้ง สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และองค์กรหลัก ในการเปิดห้องเรียนที่โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย โรงเรียนกาญจนาภิเษก โรงเรียนดีระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบล เพื่อส่งเสริมอัจฉริยภาพของผู้เรียน รวมถึงการปลูกฝังด้านดนตรีให้กับเยาวชน  
                หลังการชี้แจงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ท่านเลขาธิการสภาการศึกษาได้กล่าวปิดประชุม  เดินทางกลับสำนักงานเขตเพื่อทำงานแฟ้มเอกสารที่ท่านรองฯเห็นว่าสำคัญ รอไว้ให้ผมมาสั่งการ ใช้เวลาไม่นานงานก็เสร็จทุกแฟ้ม 

วันพฤหัสบดีที่  ๑๑  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๓  ภาคเช้าไปห้องประชุมชั้น ๕ ศาลากลางจังหวัดปทุมธานี เพื่อร่วมเป็นคณะกรรมการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๒ ของจังหวัดปทุมธานี รองผู้ว่าราชการจังหวัด นายพันธ์เทพ ศรีวนิชย์ เป็นประธานการประชุม  มีข้าราชการครูสมัครเข้ารับการพิจารณา ๒ ราย รายแรกเป็นรองผู้อำนวยการโรงเรียนปทุมวิไล  รายที่สองเป็นครูผู้สอนวิทยาลัยเทคนิคปทุมธานี  คู่แข่งของครู คือ หมอ โรงพยาบาลลาดหลุมแก้ว  หลังการโหวดเสียงลงคะแนนปรากฏว่าหมอนำไปไม่กี่คะแนน  ปีที่แล้วก็เป็นหมอ  อีกระดับหนึ่งได้นายช่างไฟฟ้า สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดปทุมธานีเฉือนนายตำรวจไปแค่หนึ่งคะแนน  ลูกจ้างประจำเป็นของโรงพยาบาลเช่นกันเพราะไม่มีคู่แข่งขัน   กลับมาทานข้าวที่ห้องทำงาน และจมอยู่กับแฟ้มเอกสารจนเย็น  ก่อนกลับบ้าน ลงไปดูห้องสโมสร ผู้ใช้บริการร่อยหรอไปมาก คงติดอบรมติดประชุมกัน จึงดูเงียบเหงา

               

วันศุกร์ที่ ๑๒  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๓  ตื่นเช้ามาด้วยข่าวนักเรียนอาชีวศึกษาเอกชนยกพวกตะลุมบอนกันในตอนบ่ายเมื่อวานนี้  ผมตกข่าวนี้ไปอย่างน่าใจหาย เพราะมีการใช้ระเบิดถล่มกันถึงห้องฉุกเฉินโรงพยาบาล สอบถามข้าราชการในสำนักงาน หลายคนทราบข่าวแต่ไม่แจ้งให้ทราบ ต่อไปจึงต้องขอร้องให้รีบรายงานทางโทรศัพท์ให้ทราบทันที   เวลา ๐๘.๐๐ น. เดินทางไปโรงเรียนคณะราษฎร์บำรุงปทุมธานี เพื่อเป็นประธานมอบเกียรติบัตรให้นักเรียนที่ได้รับคัดเลือกในสาขาต่าง ๆ จำนวน ๖๐๐ คน  เขาจัดที่ให้นั่งบนเวที นักเรียนต่อแถวเข้ารับตามลำดับ  เท่าที่รับฟังการกล่าวรายงานของผู้อำนวยการโรงเรียน นางสาวกาญจนา สอนง่าย ทราบว่า โรงเรียนคัดนักเรียนเรียนเก่ง เป็นประเภทหนึ่ง  ประพฤติดี อีกประเภทหนึ่ง นักกีฬาประเภทหนึ่ง และผู้บำเพ็ญประโยชน์อีกประเภทหนึ่ง  บางคนได้รับหลายสาขาแสดงว่ามีคุณสมบัติหลายข้อเข้าตากรรมการ  หลังพิธีมอบลงมาถ่ายภาพเป็นที่ระลึก จึงเดินทางต่อไปที่วิทยาลัยเทคโนโลยีปทุมธานี พบผู้อำนวยการโรงเรียนและครูฝ่ายปกครอง เพื่อสอบถามรายละเอียดเหตุการณ์นักเรียนยกพวกตีกันเมื่อวานนี้ ครูบอกว่าเป็นความเชื่อผิด ๆ ของนักเรียนเมื่อใกล้ถึงวันสถาปนาโรงเรียนจะต้องแสดงออกถึงความเก่ง แต่จะหนักไปการก่อเหตุรุนแรง  โรงเรียนพยายามแก้ไขต่อเนื่องกันมาแต่หลายครั้งก็สุดวิสัยที่จะป้องกันได้  ไม่ได้ซักถามอะไรมากนัก เพราะผู้บริหารโรงเรียนกำลังเครียดกับเหตุการณ์  มาแวะเข้าไปโรงเรียนชัยสิทธาวาส “พัฒน์สายบำรุง” ของ ผอ.พิเชษฐ์ ละหุ่งเพชรเพื่อดูนิทรรศการทางวิชาการของกลุ่มโรงเรียน เช้ามอบท่านรองฯเกรียงศักดิ์  ทองอิ่ม เป็นประธานเปิดงานไปแล้ว มาสายตลาดกำลังวาย แต่มีผลงานให้ดูกันทุกโรงเรียน  ทั้งหมวดศิลปะ  หมวดโภชนาการ หมวดวิทยาศาสตร์และอื่น ๆ  ดูจนทั่วขอตัวกลับมาแวะเข้าร้านตำมั่ว ซึ่งย้ายมาอยู่ติดกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูปทุมธานี  กินส้มตำ ซุปหน่อไม้ เพราะอยากผอมลง  มาอยู่ปทุมธานีไม่ค่อยได้ขับรถทางไกล น้ำหนักจึงขึ้นไปหลายขีด  บ่ายประชุมคณะกรรมการจัดทำโครงการรองรับงบประมาณอุดหนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ในวงเงิน ๓ ล้าน ๗ แสนบาท  เลิกประชุมกลับมาทำงานแฟ้มเอกสารจนเย็น  เดินทางไปโรงเรียนวัดดาวเรือง ของ ผอ.พรชัย  ภัทรโกมล เช้ามีพิธีมอบศาลาการเรียนรู้ที่ผู้มีใจกุศลสร้างให้หลังละ ๑  แสนบาท จำนวน ๕ หลัง เป็นศาลาท่าน้ำแบบถาวร ภายในมีนิทรรศการให้ความรู้แขนงต่าง ๆ ได้ประโยชน์ทั้งนักเรียนและชุมชน  ได้มอบท่านรองฯมนตรี  พรหมลาวัณย์ มาเป็นประธานรับมอบ  ตอนเย็นเขามีงานเลี้ยงสังสรรค์ของศิษย์เก่าและผู้ปกครอง จึงมาเป็นประธานให้  ได้พบนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายชาญ  พวงเพ็ชร์  และส.ส. เขต ๑ ของจังหวัดปทุมธานีอีก ๒ ท่าน คือ ส.ส. สุทิน  นพขำ และ ส.ส.สุรพงษ์  อึ้งอัมพรวิไล  ได้คุยกับท่านนายก อบจ. เรื่องงบประมาณจ้างครูที่จัดสรรให้กับโรงเรียนในเขต ๑ เนื่องจากโรงเรียนจ้างครูได้ประมาณเดือนธันวาคมและมากราคมที่ผ่านมา จึงทำให้เหลือเงิน ๒ – ๓ เดือน หากมารวมกันสามารถจ้างครูเพิ่มได้อีกจนถึงเดือนกันยายน ๒๕๕๓  ท่านบอกว่าให้เขตดำเนินการได้เลย คงต้องไปดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบการเงินต่อไป   โรงเรียนวัดดาวเรืองตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองปทุมธานี การเดินทางต้องไปลอดใต้ทางด่วน ผ่านไร่อ้อยไปอีกหลายกิโลเมตรบรรยากาศเหมือนเมืองกาญจนบุรีสมัยก่อน ถนนค่อนข้างขรุขระ แต่ตัวโรงเรียนพัฒนาได้สวยงาม  ผู้อำนวยการโรงเรียนอยากได้หลังคาโค้งกับอาคารรูปตัว L เชื่อมต่ออาคาร ๒ หลังเข้าด้วยกัน  สามทุ่มลาเจ้าภาพเดินทางกลับ

นิทานสอนใจสัปดาห์นี้เป็นนิทานจีนเรื่อง “ซื้อกล่องคืนมุก” มีชาวรัฐฉู่ผู้หนึ่ง มีไข่มุกเม็ดงามอยู่ในครอบครอง วันหนึ่งเขาวางแผนที่จะนำไข่มุกนั้นไปขาย แต่เพื่อที่จะขายให้ได้ราคาดี จึงคิดที่จะนำไข่มุกบรรจุหีบห่อที่สวยงาม เพราะเขาเชื่อว่าหากอยู่ในหีบห่อที่งดงามเพียงใด มูลค่าของไข่มุกก็น่าจะเพิ่มขึ้นเพียงนั้น เจ้าของไข่มุกลงทุนเชิญช่างฝีมือดีมาเพื่อประดิษฐ์กล่องไข่มุกชั้นเลิศ ทั้งยังนำบรรดาไม้หอม บุหงามาอบร่ำเพื่อให้กล่องมีความหอม จากนั้นจึงแกะสลักรูปดอกไม้ไว้รอบกล่องเดินเส้นลายทองโดยรอบ ดูแล้วช่างเป็นงานฝีมือที่งดงามมาก เมื่อตกแต่งกล่องจนเป็นที่พอใจ เขาจึงนำไข่มุกใส่ลงไปและเดินทางเข้าเมืองเพื่อนำไข่มุกไปจำหน่าย เมื่อไปถึงตลาดไม่นานนัก กล่องไข่มุกแสนสวยพาให้ผู้คนต่างพากันมาหยุดชมดู ในตอนนั้น ชาวรัฐเจิ้งผู้หนึ่งแสดงท่าทางสนใจเป็นพิเศษ เขายกกล่องขึ้นพิจราณาดูเป็นเวลานาน สุดท้ายก็ขอซื้อกล่องที่บรรจุไข่มุกอยู่ภายในไปในราคาสูงยิ่ง เมื่อรับของและจ่ายเงินเรียบร้อยเขาจึงถือกล่องไข่มุกเดินทางกลับบ้านด้วยความยินดี ทว่าเดินทางออกจากร้านไปไม่นานนัก ชาวรัฐเจิ้งคนเดิมก็กลับมา ชาวรัฐฉู่เจ้าของไข่มุกนึกว่าคนซื้อคงรู้สึกเสียดายเงินที่เสียไปและจะนำของกลับมาแลกเงินคืน แต่ยังไม่ทันได้กล่าวอันใด ชาวรัฐเจิ้งก็เปิดกล่องใบนั้นออกมา หยิบไข่มุกเม็ดงามนั้นส่งคืนให้ชาวรัฐฉู่ พร้อมทั้งกล่าวว่า "ท่านลืมไข่มุกไว้ในกล่อง 1 เม็ด ข้าเลยนำกลับมาคืนให้" เมื่อส่งไข่มุกคืนเรียบร้อยแล้ว เขาก็เดินทางกลับพลางชื่นชมกล่องอันสวยงามไปตลอดทาง ชาวรัฐฉู่รับไข่มุกคืนมาด้วยความงุนงง รู้สึกหัวร่อไม่ออกร้องไห้ไม่ได้ เนื่องจากตั้งแต่ต้นเขาคิดว่าผู้ซื้อยอมจ่ายเงินราคาสูงยิ่งเนื่องเพราะไข่มุกเม็ดนี้ โดยไม่คิดว่ากล่องที่งดงามเกินไปจะทำให้ผู้อื่นมองข้ามมูลค่าของสิ่งที่อยู่ข้างใน ด้านชาวรัฐเจิ้งที่ซื้อกล่องในราคาสูงแต่นำไข่มุกกลับมาคืนผู้นั้น ย่อมเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ภายนอก จนพลาดคุณค่าของสิ่งที่อยู่ภายใน ภายหลัง สุภาษิต “ซื้อกล่องคืนมุก" ใช้เปรียบเทียบกับผู้ที่มีตาแต่หามีแววไม่ ไม่อาจแยกแยะว่าสิ่งใดมีคุณค่าที่แท้จริง สิ่งใดเป็นเพียงเครื่องปรุงแต่ง

กำจัด  คงหนู

ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปทุมธานี เขต ๑

  

 

หมายเลขบันทึก: 336034เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2010 22:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

อาจจะช้าไป แต่ตรุษจีนนี้ขอให้ท่านและครอบครัวมั่งมีศรีสุขค่ะ

ครูผู้ปิดทองหลังพระ

อ่านนิทานของท่านแต่ละเรื่องแล้ว สนุกและมีข้อคิด

นิทานแต่ละเรื่องช่างเปรียบเทียบตรงกับเหตุการณ์ปัจจุบัน

ขององค์กรของหนูจังเลยค่ะ

สวัสดีค่ะท่าน ผอ. คิดถึงท่านจัง...ดีใจได้อ่านเรื่องเล่าของท่าน....โดยเฉพาะได้อ่านนิทานอันทรงคุณค่ายิ่ง...นิทานเรื่องนี้...ผู้บริหารน่าจะได้อ่านทุกคน...เพราะบ่อยครั้งที่ผู้บริหารตัดสินลูกน้องเพียงเห็นรูปลักษณ์ภายนอก...หารู้ไม่ว่า จริงแท้แล้วเขามีความสามารถมากกว่าที่เห็น...กว่าจะรู้ก็...สายไปเสียแล้ว เหมือนไก่ได้พลอย..5555....การดูคนให้ทะลุปรุโปร่ง...บางทีมันก็เป็นศาสตร์อย่างหนึ่งในการบริหารใช่ไหมคะ...และบางทีมันก็เป็นพรสวรรค์เฉพาะตัว...ในการดูคน....เคยคุยกับ ผอ. ที่โรงเรียน...ผอ.สอนว่า การดูคน...อย่าดูเพียงเพราะเขาพูดเก่ง....presen ตัวเองเป็น...แต่ต้องดูการกระทำ....บางคนพูดเก่งแต่งานไม่ได้เรื่อง บางคนไม่พูด...แต่ทำงานเก่ง...น้อยคนที่เก่งทั้งพูด เก่งทั้งงาน...นั่นเป็นพรสวรรค์ที่ฟ้าประทานให้เขา....หนูเป็นอย่างหลังสุดค่ะ...ฟันธง..คริคริปล....ไม่ขออะไรให้ท่านแล้วค่ะ...ขอแค่...ให้ท่านเข้ามาโพสต์บ่อย ๆ ...จะเป็นบุญกับพวกเรา...ครูผู้น้อยเป็นอย่างยิ่ง...ถามค่ะ...ปู่หายแล้วยังคะ...(ไม่ชอบเรียกคุณปู่ คุณพ่อ)...

สวัสดีค่ะท่าน...ผอ.เขต...ชอบนิทานท่านมากค่ะ...ไม่รู้ว่าบนโลกนี้จะมีคนประเภทนี้เยอะหรือป่าวนะค่ะ...นิทานของท่านทำให้เด็กอย่างหนูมองโลกได้อีกมุมนึงเลยค่ะ...ขอบพระคุณท่านจากใจ...ด้วยความเคารพ

"อย่าทำงานเพียงหวังให้ได้รับการยอมรับ

แต่จงทำงานให้สมกับที่ได้รับการยอมรับ"

บังเอิญได้เข้ามาอ่านบทความของ ผอ. ด้วยว่า ป้อนข้อความในGoogle " เหตุการณ์วันที่ ๑๔ มี.ค. ๒๕๕๓ " ผลออกมาคือมีบทความของ ผอ. ด้วย ชื่นชมนะคะที่บุคคลากรของ ศธ. มีแนวคิด มุมมองที่กว้างไกล แต่ก่อน เราเห็นแต่กิจกรรมที่เป็นพิธีกรรม หาสาระได้ยาก เดี๋ยวนี้เราเห็นกิจกรรมที่เป็นกระบวนการ แลกเปลี่ยน เรียนรู้ สร้างสรรค์มากขึ้น ดิฉันอยู่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯค่ะ ๒ปีก่อน ได้ชวน ศธ.ทำโครงการ โรงเรียนเยาวชนจิตอาสา มีโรงเรียนเปิดตัวร่วมโครงการ ๒๒ โรงเรียน พอดิฉันถูกย้ายงาน โครงการก็พับไป เสียดายค่ะ อยากชวน ผอ.ร่วมกับ พม.สร้างสรรค์โครงการดีๆ ที่ฝังชิฟในหัวใจเด็กอย่างแท้จริง ไม่ใช่ทำเป็นพิธี ผิวเผิน เสียดายงบประมาณนะคะ วันนี้คุยมากไม่ได้เพราะไม่ได้เอาสายchart battery มา แล้วจะโฉบมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นใหม่นะคะ สวัสดีค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท