Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

อังคุลิมาลปริตร


อังคุลิมาลปริตร: = ช่วยให้คลอดลูกได้ง่าย มีมนต์ขลังตลอดกาลนาน ปรากฏในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์

 ในพุทธุปบาทกาลนี้ องคุลีมาลบังเกิดเป็นบุตรพราหมณ์นามว่าภัคควะ ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าโกศลในเมืองสาวัตถี.

ภรรยาของท่านปุโรหิตได้ตั้งครรภ์แก่ใกล้คลอด พอถึงการอันควร นางพราหมณีมันตานีภรรยาปุโรหิตนั้น ก็คลอดบุตรออกมาเป็นผู้ชาย ขณะที่ทารกน้อยนั้นคลอดออกจากครรภ์มารดา  อาวุธนานาชนิดทั่วทั้งพระนครลุกโพลง บังเกิดเป็นแสง รัศมีสีแดงรุ่งเรือง ประดุจดังถูกเปลวไฟเผาไหม้กำลังจะหลอมละลาย เมื่อจับก็ไม่ร้อน และพระแสงมงคลของพระราชา ซึ่งวางอยู่บนตั่งที่บรรทมก็ลุกโพลงด้วย พระราชาทรงเห็นดังนั้นทรงกลัวหวาดเสียว บรรทมไม่หลับ.

ในเวลานั้น ปุโรหิตตรวจดูดาวนักษัตร รู้ทักษา รู้ฤกษ์นิมิตหมาย (โหราศาสตร์) จึงได้กระทำการตกลงว่า มีทารกเกิดแล้วในโจโรฤกษ์ ฤกษ์โจร. ฝ่ายปุโรหิตผู้เป็นบิดา จึงได้รู้อยู่แก่ใจว่า บุตรของตนเป็นกาลกิณี เป็นการีต่อผู้คน หมู่ชนในบ้านเมือง

เมื่อราตรีสว่าง ท่านปุโรหิตเข้าไปเฝ้าพระราชา ทูลถามถึงความบรรทมสบาย.

พระราชาตรัสว่า จะนอนสบายมาแต่ไหน อาจารย์ ตอนกลางคืน พระแสงมงคลของฉันลุกโพลง ข้อนั้นจักมีผลเป็นอย่างไรหนอ.

ปุโรหิตกราบทูลว่า อย่าทรงกลัวเลย พระเจ้าข้า ทารกเกิดในเรือนของข้าพระองค์, ด้วยอานุภาพของทารกนั้น แม้อาวุธนานาชนิด ทั่วทั้งพระนครก็ลุกโพลง.

พระราชาตรัสถามว่า จักเป็นอย่างไรล่ะ อาจารย์. ปุโรหิตทูลว่า ทารกจักเป็นโจร พระเจ้าข้า.

พระราชาตรัสถามว่า จักเป็นโจรเที่ยวไปคนเดียว หรือว่าเป็นหัวหน้าคณะ. ปุโรหิตทูลว่า เป็นโจรเที่ยวไปผู้เดียว พระเจ้าข้า, จักให้พวกข้าพระองค์ฆ่าเขาไหมพระเจ้าข้า.

พระราชาตรัสว่า ถ้าเป็นโจรเที่ยวไปคนเดียวไซร้ พวกท่านจงเลี้ยงเขาไว้ก่อน.

เมื่อจะตั้งชื่อเขา เพราะเหตุที่เขาเมื่อจะเกิด ได้เกิดมาเบียดเบียนพระหฤทัยของพระราชา เพราะฉะนั้น จึงตั้งชื่อว่าหิงสกะ ภายหลังจึงเรียกชื่อว่า  อหิงสกะ เหมือนที่พูดกันว่า เห็นแล้วก็พูดเสียว่าไม่เห็นฉะนั้น.

อหิงสกะนั้นเติบโตแล้ว ทรงกำลังเท่าช้างสาร ๗ เชือก เพราะกำลังแห่งบุรพกรรม.

อหิงสกะนั้นมีบุรพกรรมดังนี้ :-

ในคราวที่โลกว่างจากพระพุทธเจ้า เขาบังเกิดเป็นชาวนา ได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งเปียกน้ำฝน มีจีวรชุ่ม ถูกความหนาวเบียดเบียน เข้าไปยังพื้นที่นาของตน เกิดความโสมนัสว่า บุญเขตปรากฏแก่เราแล้ว จึงได้ก่อไฟถวาย.

ด้วยกำลังแห่งกรรมนั้น เขาจึงเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยกำลังแรงและกำลังเชาวน์ ในที่ที่เกิดแล้วๆ ในอัตภาพสุดท้ายนี้จึงทรงกำลังเท่าช้างสาร ๗ เชือก.

อหิงสกะนั้นไปเมืองตักกศิลา เป็นธัมมันเตวาสิก (คือศิษย์ชนิดทำการงานให้อาจารย์) ในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เรียนศิลปะ ปฏิบัติพราหมณ์ผู้อาจารย์ และภรรยาของอาจารย์โดยเคารพ. ด้วยเหตุนั้น นางพราหมณีนั้นจึงได้ทำการสงเคราะห์เขาด้วยอาหารเป็นต้นที่มีอยู่ในเรือน.

พวกมาณพอื่นๆ อดทนไม่ได้ซึ่งการสงเคราะห์นั้น จึงได้ทำให้แตกกับอาจารย์.

พราหมณ์ไม่เชื่อคำของมาณพเหล่านั้น ๒-๓ วาระ มาภายหลังเชื่อ คิดว่ามาณพมีกำลังมาก ใครๆ ไม่อาจฆ่าได้ เราจักฆ่าเขาด้วยอุบาย จึงกล่าวกะมาณพผู้เรียนจบศิลปะแล้ว มาลาเพื่อจะไปเมืองของตนว่า พ่ออหิงสกะ ธรรมดาศิษย์ผู้เรียนจบศิลปะแล้ว จะต้องให้ของคำนับครู แก่อาจารย์ เจ้าจงให้ของคำนับครูนั้นแก่เรา.

อหิงสกะกล่าวว่า  ดีแล้วท่านอาจารย์ ผมจักให้อะไร.

พราหมณ์กล่าวว่า เจ้าจงนำเอานิ้วมือขวาของพวกมนุษย์มา ๑,๐๐๐ นิ้ว. ได้ยินว่า พราหมณ์ได้มีความประสงค์ต่อเขา ดังนี้ว่า

เมื่อฆ่าคนจำนวนมาก คนๆ หนึ่งจักฆ่าเขาได้โดยแท้.

อหิงสกะได้ฟังดังนั้น จึงมุ่งหน้าว่า ตนไม่มีความกรุณาที่สะสมไว้นาน ผูกสอดอาวุธ ๕ อย่าง เข้าไปยังป่าชาลินวัน ในแคว้นของพระเจ้าโกศล อยู่ในระหว่างเขาใกล้หนทางใหญ่ ยืนยอดเขาเห็นพวกมนุษย์ผู้เดินไปตามทาง จึงรีบไป (ฆ่าตัด) เอานิ้วมือมาห้อยไว้ที่ยอดไม้. แร้งบ้าง กาบ้างกินนิ้วมือเหล่านั้นที่หล่นลงบนพื้นดินก็เปื่อยเน่าไป. เมื่อนิ้วมือไม่ครบจำนวนอย่างนี้ จึงเอาด้ายร้อยนิ้วมือที่ได้แล้วๆ กระทำให้เป็นพวงแล้วสะพายไหล่ เหมือนคล้องสายยัชโญปวีต ฉะนั้น ตั้งแต่นั้นมา เขาจึงได้มีสมัญญาว่า องคุลิมาล.

เมื่อเขาฆ่าพวกมนุษย์อยู่อย่างนี้ หนทางก็ไม่มีคนใช้เดินทาง. เขาไม่ได้มนุษย์ในหนทาง จึงไปยังอุปจารบ้าน แอบฆ่ามนุษย์ที่มาแล้วๆ เอานิ้วมือไป. มนุษย์ทั้งหลายรู้เข้าก็พากันหลีกออกไปจากบ้าน บ้านทั้งหลายก็ร้าง นิคมและชนบทก็เหมือนกัน. ประเทศนั้นได้ถูกเขาทำให้อยู่กันไม่ได้ด้วยประการฉะนี้. องคุลิมาลได้รวบรวมนิ้วมือได้พันนิ้ว หย่อนอยู่หนึ่งนิ้ว.

ลำดับนั้น มนุษย์ทั้งหลายได้กราบทูลถึงอันตรายเพราะโจรนั้นแด่พระเจ้าโกศล. พระราชาจึงรับสั่งให้เที่ยวตีกลองไปในพระนครแต่เช้าตรู่ว่า พวกเรารีบจับองคุลิมาลโจร, พลนิกายจงมา.

นางพราหมณีชื่อว่ามันตานี  ผู้เป็นมารดาขององคุลิมาล กล่าวกะบิดาขององคุลิมาลนั้นว่า ข่าวว่าบุตรของท่านเป็นโจรกระทำดังนี้ๆ ท่านจงไปเกลี้ยกล่อมเขาว่าอย่าทำเช่นนี้ แล้วพามา พระราชาจะพึงฆ่าเขาโดยประการอื่น. พราหมณ์กล่าวว่า เราไม่ต้องการบุตรเช่นนั้น พระราชาจงทรงกระทำตามพอพระทัยเถิด.

ลำดับนั้น พราหมณีมีความรักบุตร จึงถือเอาเสบียงทางแล้วเดินทางไปด้วยหวังใจว่า เราจักยังบุตรของเราให้ยินยอมแล้วพามา.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า พราหมณีนี้จะไปด้วยหวังว่าจักนำองคุลิมาลมา ถ้านางจักไป องคุลิมาลก็จักฆ่ามารดาเสียด้วยคิดว่าจะให้ครบ ๑,๐๐๐ นิ้ว. ก็องคุลิมาลนั้นเป็นปัจฉิมภวิกสัตว์ ถ้าเราจักไม่ไปไซร้ ความเสื่อมใหญ่จักได้มีแล้ว จึงเสด็จกลับจากบิณฑบาตภายหลังภัต ทรงถือบาตรและจีวรด้วยพระองค์เอง ทรงดำเนินไปด้วยพระบาทสิ้นหนทาง ๓๐ โยชน์ เฉพาะเจาะจงองคุลิมาล ในระหว่างทาง แม้คนเลี้ยงโคเป็นต้นห้ามปรามก็เสด็จเข้าถึงป่าชาลินวัน.

ก็ขณะนั้น พอดีเขาได้เห็นมารดาของเขา ครั้นเขาเห็นมารดาแต่ไกล จึงเงื้อดาบวิ่งเข้าไปหมายใจว่า แม้มารดาเราก็จักฆ่า ทำนิ้วที่ หย่อนให้ครบเต็มพันในวันนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระองค์ในระหว่างคนทั้งสองนั้น. องคุลิมาลได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงคิดว่า เราจะประโยชน์อะไรด้วยการฆ่ามารดาแล้วถือเอานิ้วมือ มารดาเราจงมีชีวิตอยู่เถิด ถ้ากระไรเราพึงปลงชีวิตพระสมณะนี้แล้วถือเอานิ้วมือ จึงเงื้อดาบติดตามพระผู้มีพระภาคเจ้าไปข้างหลังๆ .

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงอิทธาภิสังขารโดยประการที่องคุลิมาลแม้จะวิ่งจนสุดแรง ก็ไม่อาจทันพระองค์ทั้งที่พระองค์เสด็จไปโดยพระอิริยาบถปกติได้. เขาถอยความเร็วลง หายใจครืดๆ เหงื่อไหลออกจากรักแร้ทั้งสองข้าง ไม่อาจแม้จะยกเท้าขึ้น จึงยืนเหมือนตอไม้ กล่าวกะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า หยุดเถิด หยุดเถิด สมณะ.

พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้เสด็จดำเนินอยู่ จึงตรัสว่า เราหยุดแล้ว องคุลิมาล เธอแหละจงหยุด.

เขาคิดว่า พระสมณศากยบุตรเหล่านี้แลมีปกติพูดคำสัจจริง สมณะนี้ทั้งๆ ที่เดินไปก็พูดว่า เราหยุดแล้ว องคุลิมาล เธอนั่นแหละจงหยุด. ก็เราเป็นผู้หยุดแล้ว สมณะนี้มีความประสงค์อย่างไรแล เราจักถามให้รู้ความประสงค์นั้น จึงได้กล่าวกะพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคาถาว่า

ดูก่อนสมณะ ท่านสิกำลังเดินอยู่ กลับกล่าวว่า เราหยุดแล้ว

ส่วนข้าพเจ้าหยุดแล้ว ท่านกลับกล่าวว่า ไม่หยุด

ดูก่อนสมณะ ข้าพเจ้าขอถามความนี้กะท่าน

ท่านกำลังเดินอยู่ เพราะเหตุไร จึงกล่าวว่าหยุดแล้ว

ส่วนข้าพเจ้าสิ หยุดแล้ว ท่านกลับกล่าวว่าไม่หยุด.

องคุลิมาลเรียกพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า สมณะ.

ดูก่อนสมณะ ท่านกำลังเดินอยู่แท้ๆ กลับกล่าวว่า เราหยุดแล้ว. ส่วนข้าพเจ้าผู้หยุดแล้ว ท่านกลับกล่าวคือพูดว่า ยังไม่หยุด ในข้อนี้น่าจะมีเหตุ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าขอถามความนั้นกะท่านคือกะพระสมณะว่า อย่างไรคือโดยอาการอะไร ท่านได้เป็นผู้หยุดแล้วและข้าพเจ้าเป็นผู้ยังไม่หยุด.

เมื่อองคุลิมาลกล่าวอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสกะเขาด้วยพระคาถาว่า

ดูก่อนองคุลิมาล เราวางอาชญาในสัตว์ทั้งปวงเสียแล้ว

ส่วนท่านสิ ยังไม่สำรวมในสัตว์ทั้งหลายฉะนั้น

เราจึงชื่อว่าหยุดแล้ว ส่วนท่านชื่อว่ายังไม่หยุด.

ดูก่อนองคุลิมาล ในทุกกาลคือในกาลทั้งปวง ได้แก่ในเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุด เราวางอาชญาเสียแล้วในสัตว์ทั้งปวง ชนิดที่เคลื่อนไหวได้และชนิดอยู่กับที่ ชื่อว่าวางอาชญา วางศาสตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู ชื่อว่าหยุดแล้วโดยอาการเห็นปานนั้นนั่นแหละ เพราะไม่เป็นไปโดยประการอื่นจากนั้น

ส่วนท่านเป็นผู้เว้นความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย หยาบช้า มีมือเปื้อนเลือด ยึดมั่นในการฆ่าและการประหาร ไม่มีความเอ็นดู เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าไม่หยุด ด้วยอำนาจการงดเว้นจากความไม่สำรวม, เพราะเหตุนั้นแหละ คือแม้เพราะการหมุนไปรอบๆ ในคตินั้นๆ บัดนี้ ท่านแม้จะหยุดโดยอิริยาบถ ก็ชื่อว่าเป็นผู้ยังไม่หยุด ส่วนเราเป็นผู้หยุดแล้วโดยประการดังกล่าวมาแล้ว.

ลำดับนั้น องคุลิมาลเกิดความปิติโสมนัสว่า พระสมณะนี้คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เพราะเคยได้ฟังเกียรติศัพท์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประกาศคุณตามความเป็นจริง ผู้ทรงทำชาวโลกทั้งสิ้นให้เอิบอาบอยู่ ดุจน้ำมันเอิบอาบอยู่บนพื้นน้ำฉะนั้น และเพราะเหตุสมบัติและญาณถึงความแก่กล้าแล้ว จึงคิดว่าการบันลือสีหนาทใหญ่นี้ การกระหึ่มใหญ่นี้จักไม่มีแก่ผู้อื่น การกระหึ่มนี้เห็นจะเป็นของพระสมณโคดม เราเป็นผู้อันพระสัมพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณใหญ่ทรงเห็นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาที่นี้เพื่อกระทำการสงเคราะห์เรา จึงได้กล่าวคาถานี้ว่า

พระองค์เป็นสมณะที่ชาวโลกกับทั้งเทวโลกบูชา

ด้วยเครื่องบูชามากมาย ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่

เพิ่งจะเสด็จมาถึงป่าใหญ่ เพื่อโปรดข้าพระองค์โดยกาล

นานหนอ ข้าพระองค์ได้สดับพระคาถาซึ่งประกอบด้วย

เหตุผลของพระองค์แล้ว จักละเลิกบาปกรรมตั้งพันเสีย.

ก็ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว เพื่อจะแสดงประการที่ตนปฏิบัติ และประการที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุเคราะห์.

ครั้นองคุลิมาลโจรกราบทูลดังนี้แล้ว ก็โยนดาบและ อาวุธทั้งหมดทิ้งลงในหนองน้ำ บ่อน้ำและเหว ได้ถวาย บังคมพระยุคลบาทของพระสุคตเจ้า แล้วทูลขอบรรพชา กับพระพุทธเจ้า ณ ที่นั้นเอง

เมื่อองคุลิมาลโจรนั้นทูลขอบรรพชาอย่างนี้ พระศาสดาทรงตรวจดูกรรมในก่อนของเขา ทรงเห็นเหตุสมบัติแห่งความเป็นเอหิภิกษุ พระพุทธเจ้า ผู้ทรงประกอบไปด้วยพระกรุณา ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ เป็นศาสดาของโลกกับทั้งเทวโลก จึงทรงเหยียดพระหัตถ์เบื้องขวาออกไปแล้วตรัสว่า

จงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมเรากล่าวดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด.

ก็พระวาจานั้นนั่นแล ได้เป็นบรรพชาและอุปสมบทขององคุลิมาลนั้น.

จงเป็นภิกษุมาเถิด เท่านี้ ความเป็นภิกษุได้มีแก่องคุลิมาลโจร นั้นในขณะนั้นทีเดียว.

พระเถระได้การบรรพชาและอุปสมบท โดยความเป็นเอหิภิกขุอย่างนี้แล้ว กระทำวิปัสสนากรรมได้บรรลุพระอรหัตแล้ว เสวยวิมุตติสุขอยู่ เกิดความปิติโสมนัส จึงกล่าวคาถา ๓ คาถาโดยอุทานว่า

ผู้ใดประมาทแล้วในตอนต้น ภายหลังเขาไม่ประมาท

ผู้นั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว เหมือนพระจันทร์พ้นแล้ว

จากหมอกฉะนั้น. บาปกรรมที่ทำไว้แล้วอันผู้ใดปิดกั้นไว้ ด้วยกุศล

ผู้นั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว เหมือนพระจันทร์ พ้นแล้วจากหมอก

ฉะนั้น. ภิกษุใดแล แม้จะยังหนุ่มประกอบความขวนขวายในพระพุทธศาสนา

ภิกษุนั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว เหมือนพระจันทร์พ้นแล้วจากหมอก

ฉะนั้น.

บุคคลใดจะเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิตก็ตาม ในกาลก่อนแต่การคบหากับกัลยาณมิตร ประมาทแล้วโดยการเกี่ยวข้องกับมิตรชั่ว หรือโดยภาวะที่ตนไม่มีการพิจารณา คือถึงความประมาทในสัมมาปฏิบัติ ภายหลังความแยบคายผุดขึ้น เพราะการเกี่ยวข้องกับกัลยาณมิตร ชื่อว่าย่อมไม่ประมาท คือปฏิบัติชอบอยู่ หมั่นประกอบเนืองๆ ซึ่งสมถะและวิปัสสนา ย่อมบรรลุวิชชา ๓ อภิญญา ๖ บุคคลนั้นย่อมทำโลกมีขันธโลกเป็นต้นนี้ให้สว่างไสวด้วยวิชชาและอภิญญาที่ตนบรรลุ เหมือนพระจันทร์พ้นแล้วจากหมอกเป็นต้น ทำโอกาสโลกให้สว่างอยู่ฉะนั้น.

กรรมชั่วที่บุคคลใดทำไว้แล้ว คือสั่งสมไว้แล้ว ย่อมปิดคือกั้นด้วยการปิดกั้นทวารในอันที่จะยังวิบากให้เกิดขึ้น เพราะภาวะที่โลกุตรกุศลอันกระทำกรรมให้สิ้นไป นำเอาภาวะที่ไม่ควรแก่วิบากมาให้.

ท่านแสดงถึงความที่พระเถระเป็นผู้มีร่างกายอดทนต่อการประกอบความเพียร. จริงอยู่ พระเถระนั้นสามารถครอบงำอันตรายจากลมและแดดที่เกิดขึ้น แล้วกระทำความเพียรเป็นเครื่องประกอบ. ย่อมประกอบความขวนขวายในพระพุทธศาสนา คือเป็นผู้ประกอบความขวนขวายในสิกขา ๓. ให้ถึงพร้อมโดยความเคารพ.

พระเถระเกิดปิติโสมนัสอย่างนี้ อยู่ด้วยวิมุตติสุข ในกาลใดเข้าไปบิณฑบาตในนคร ในกาลนั้น ก้อนดินแม้คนอื่นขว้างมา ก็ตกลงที่ร่างกายของพระเถระ ท่อนไม้แม้ที่คนอื่นปามา ก็ตกลงที่ร่างกายของพระเถระนั้นเหมือนกัน. พระเถระนั้นมีบาตรแตก เข้าไปยังพระวิหารเข้าเฝ้าพระศาสดา.

พระศาสดาทรงโอวาทพระเถระว่า

เธอจงอดกลั้นเถิดพราหมณ์ เธอจงอดกลั้นเถิดพราหมณ์  เธอจงเสวยวิบากของกรรมที่จะทำให้ไหม้ในนรกหลายพันปีนั้น เฉพาะในปัจจุบันเถิดพราหมณ์.

ลำดับนั้น พระเถระจึงเข้าไปตั้งเมตตาจิตในสรรพสัตว์ทั้งหลายโดยไม่เจาะจง แล้วได้กล่าวคาถาทั้งหลายนี้ว่า

ก็ผู้เป็นข้าศึกต่อเรา จงฟังธรรมกถาที่เราได้ฟังแล้ว ในสำนักของพระศาสดา ขอจงประกอบความขวนขวายในพระพุทธศาสนา ขอจงคบหากับมนุษย์ผู้เป็นสัตบุรุษผู้ถือ มั่นแต่ธรรมอย่างเดียว. ก็ผู้เป็นข้าศึกต่อเรา ขอเชิญฟังธรรมของท่านผู้กล่าว สรรเสริญความอดทน ผู้มีปกติสรรเสริญความไม่โกรธ ตามเวลาอันควร และขอจงปฏิบัติตามธรรมอันสมควรแก่ธรรมนั้นเถิด ขออย่าเบียดเบียนเราและประชาชนหรือว่าสัตว์อื่นใดเลย พึงบรรลุความสงบอย่างเยี่ยมและพึงรักษาสัตว์ทั้งปวงให้เป็นเหมือนบุตรที่รักเถิด. ก็ชาวนาที่ต้องการน้ำย่อมไขน้ำไป ช่างศรย่อมดัด ลูกศร ช่างไม้ย่อมถากไม้ บัณฑิตย่อมฝึกตน. คนบางพวกย่อมฝึกช้างและม้าเป็นต้น ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยขอบ้าง ด้วยแส้บ้าง ส่วนเราเป็นผู้อันพระศาสดา ผู้คงที่ทรงฝึกแล้ว โดยไม่ได้ทรงใช้อาชญาและศาสตรา.

เมื่อก่อนเรามีชื่อว่าอหิงสกะ ผู้ไม่เบียดเบียน แต่เรายังเบียดเบียนผู้อื่นอยู่ วันนี้เราเป็นผู้มีชื่อจริง ไม่เบียดเบียนใคร แต่ก่อนเราเป็นโจรลือชาทั่วไปว่าองคุลิมาล แต่บัดนี้ องคุลิมาลได้มาพบพระพุทธเจ้าผู้เป็นที่พึ่งเข้าแล้ว ถอนตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพน้อยใหญ่ขึ้นได้แล้ว เราได้ทำกรรม เช่นนั้นอันเป็นเหตุให้ไปสู่ทุคติเป็นอันมาก จึงต้องมารับผล กรรมที่ทำไว้ แต่บัดนี้ เราบริโภคโภชนะโดยไม่เป็นหนี้ คนพาลผู้มีปัญญาทรามย่อมประกอบตามความ ประมาท ส่วนนักปราชญ์ ย่อมรักษาความไม่ประมาทไว้ เหมือนทรัพย์อันประเสริฐสุดฉะนั้น.

ท่านทั้งหลายอย่าประกอบตามความประมาท อย่า ประกอบความสนิทสนมด้วยความยินดีในกาม เพราะว่า ผู้ไม่ประมาทเพ่งพินิจอยู่ ย่อมถึงความสุขอันไพบูลย์. การที่เรามาสู่สำนักของพระศาสดา เป็นการมาดีแล้ว มิใช่ว่าเป็นการมาไม่ดี การที่เราคิดจะมาบวชในสำนักของ พระศาสดานี้ ก็ไม่ใช่เป็นความคิดที่เลวเลย เพราะเป็นการ เข้าถึงธรรมอันประเสริฐ ในธรรมทั้งหลายที่พระศาสดาทรง จำแนกดีแล้ว การที่เรามาสู่สำนักของพระศาสดานี้ เป็นการ มาดีแล้ว มิใช่ว่าเป็นการมาไม่ดี การที่เราคิดจะมาบวชใน สำนักของพระศาสดานี้ ก็ไม่ใช่เป็นความคิดที่เลวเลย. เราได้บรรลุวิชชา ๓ ตามลำดับ ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว. แต่ก่อนเราอยู่ในป่า โคนไม้ ภูเขาหรือในถ้ำทุกแห่ง มีใจหวาดเสียวอยู่เป็นนิตย์ เราผู้อันพระ ศาสดาทรงอนุเคราะห์แล้ว ไม่ไปในบ่วงมาร จะยืน เดิน นั่ง นอนก็เป็นสุข.

เมื่อก่อนเรามีเชื้อชาติเป็นพราหมณ์ มีครรภ์เป็นที่ถือ ปฏิสนธิ บริสุทธิ์ทั้งสองฝ่าย บัดนี้เราเป็นโอรสของพระสุคต ผู้ศาสดา ผู้เป็นพระธรรมราชา เราเป็นผู้ปราศจากตัณหา แล้วไม่ถือมั่น คุ้มครองทวาร สำรวมดีแล้ว เราตัดรากเหง้า ของทุกข์ได้แล้ว บรรลุถึงความสิ้นอาสวะแล้ว เรามีความคุ้น เคยกับพระศาสดา ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว ปลงภาระอันหนักลงแล้ว ถอนตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพเสียแล้ว.

แม้โจรผู้ปรากฏ คือแม้ข้าศึกผู้ไม่เป็นมิตรต่อเราเหล่าใด ย่อมว่าร้ายเราอย่างนี้ว่า พวกเราถูกทุกข์เพราะพลัดพรากจากญาติครอบงำ ย่อมได้รับทุกข์ด้วยอำนาจขององคุลิมาลฉันใด แม้องคุลิมาลก็จงได้รับความทุกข์ฉันนั้น.

 

เมื่อบวชแล้ว ออกบิณฑบาตผ่านประตูบ้านใคร ก็ไม่มีผู้ใดกล้าออกมาใส่บาตรเลย เพราะกลัวว่าจะถูกฆ่า

ขณะนั้น มีนางหญิงท้องแก่ เห็นองคุลิมาลภิกษุเดินมา ก็กลัวลนลาน จะหลบเข้าบ้านก็เดินออกมาไกลจากบ้าน อยู่บริเวณเขตรั้ว จึงได้ก้มตัวลงเพื่อจะคลานรอดรั้วหนีองคุลิมาลภิกษุไปให้พ้น แต่เจ้ากรรมช่วงหัวและหน้าอกลอดผ่านพ้นรั้วไปได้ แต่ติดครรภ์ที่โตใกล้คลอด ขณะนั้นนางเกิดเจ็บครรภ์ขึ้นมากระทันหันดิ้นรนร้องทุรนทุรายติดคารั้วบ้านอยู่

องคุลิมาลเดินผ่านมา มีจิตประกอบด้วยเมตตา ไม่รู้จะทำประการใด จึงตั้งสัจจะอธิษฐานว่า

"ดูก่อนน้องหญิง บัดนี้เราได้เกิดในสกุลพระสมณะ ศากยะผู้ประเสริฐพระองค์นั้นแล้ว มิได้เบียดเบียน ทำร้ายทำลายสัตว์ตนใด ให้เดือดร้อนเสียหาย นี้เป็นคำสัตย์ขอความสวัสดีจงมีแก่น้องหญิงและบุตรในครรภ์ด้วยเทอญ" 

หญิงคนนั้นจึงคลอดลูกออกมา ปราศจากอันตรายและโดยสวัสดี (ต่อมาภายหลัง ผู้คนที่เลื่อมใสได้นำน้ำไปล้างตั่งที่นั่งของท่านแล้วเอาไปให้หญิงหรือสัตว์มีครรภ์กินหญิงและสัตว์นั้นพลันคลอดบุตรง่าย)

เมื่อพระองคุลิมาล ได้ตั้งสัจจะอธิษฐานช่วยหญิงนั้นแล้ว ท่านก็ออกเดินบิณฑบาต จนได้อาหารแล้วกลับที่พักมาเจริญสมณธรรมต่อไป

ภิกษุองคุลิมาล ขณะเจริญสมณธรรม ก็มีจิตคิดฟุ้งซ่าน เห็นแต่กายมนุษย์ที่ถูกตนฆ่า มาในรูปอสุรกาย ปรากฏเฉพาะหน้า ยืนยื่นมือร้องทวงชีวิตเป็นเช่นนี้อยู่เนืองนิจ จนความนี้รู้ถึงองค์สมเด็จพระชินสีห์จึงทรงมีพุทธโอวาทตรัสสอนว่า

“ดูก่อนภิกษุ เธอจงมีความเพียรเพ่งอยู่ เพื่อกำจัดบาปในใจ ดุจดัง บุรุษเอาสาหร่ายจอกแหนออกจากบ่อน้ำฉะนั้น”

ภิกษุองคุลิมาล ปฏิบัติพุทธโอวาท ไม่ช้าก็บรรลุอรหัตผล เป็นพระอริยบุคคลผู้วิเศษในศาสนา

กล่าวโดยสรุป

อังคุลิมาลปริตร เป็นถ้อยคำของท่านพระองคุลิมาล  ที่กล่าวกับหญิงท้องแก่ด้วยความเมตตาว่า  “ตัวเราเองนั้นมิได้มีเจตนาจะทำร้ายผู้ใดจากชีวิต ขอให้ท่านคลอดบุตรโดยง่ายและถึงความโชคดีเถิด”

            อ่านดูแล้วเหมือนจะง่ายนะคะ แต่หากผู้ที่เคยทำอะไรเสียหายอย่างร้ายแรงมาแล้ว กลับใจได้เพราะอานุภาพของพระรัตนตรัย นั่นคือ  อภัยทานค่ะ  เป็นทานที่ทำแล้วทำให้ชีวิตของคนกลับมีชีวา และจะเป็นหนทางที่นำสู่ชีวิตใหม่ที่ประเสริฐอย่างยิ่งค่ะ

            องคุลิมาลท่านพลาดพลั้งเพราะหลงเชื่อคำของคนพาล แม้เขาจะเป็นอาจารย์ก็ตาม แต่เรื่องของปุถุชน ต้องใช้ปัญญาอย่างมหาศาล ยึดหลักของศีลที่ถูกต้องเป็นฐาน แล้วจึงดำเนินชีวิตในทางที่ควรนั้น นั่นแหละจึงจะไม่หลง

            การที่องคุลิมาล ท่านพลาดนั้นถึงกับทำให้ท่านก่อเวรกรรม ไม่เพียงแต่ในภพนี้ ยังต้องพบการเกิดใหม่ในภพภูมิอีกหลายแสนหลายล้านชาติเลย หากไม่มีคนอย่างพระพุทธเจ้ามาโปรดแล้ว ท่านพระองคุลิมาลคงต้องเป็นคนหนึ่งที่ต้องอยู่ในมหานรกอเวจีแน่นอนค่ะ

            พระพุทธองค์ผู้เป็นพระผู้นำหมู่สัตว์ให้พ้นจากทางไม่ดี ได้ชี้นำพระองคุลิมาล ท่านจึงได้กลับกลายมาเป็นพระอรหันต์ได้ เป็นวาสนาที่ดีงามของท่านด้วย 

            อังคุลิมาลปริตร ได้กล่าวถึงอำนาจของสัจจะ หรือคำสัตย์ที่ได้ตั้งใจกระทำ ว่าสิ่งที่เราทำนั้นเป็นจริงเช่นนี้ ๆ พูดง่ายๆก็คือ การกล้ายอมรับความเป็นจริงให้ได้ ชีวิตที่เป็นจริงเป็นสิ่งที่ไม่ตาย ไม่น่าอายเลยค่ะ ส่วนชีวิตที่หลอกตัวเองและคนอื่นสิคะ เป็นชีวิตที่น่าสงสารและไม่น่าให้อภัย

            การยอมรับตนเองและหันกลับมาในวิถีทางที่ถูกต้องนั่นเป็นความยากลำบากสำหรับผู้ที่ชอบความสบายคะ แต่หากเขาทำได้ เมื่อนั้น คุณค่าแท้ของชีวิตจะปรากฏและทำให้ชีวิตประเสริฐเป็นมหามงคลยิ่งกว่าวัตถุสิ่งของใดๆ ทั้งสิ้นค่ะ

 

อังคุลิมาลปริตร

ยะโตหัง ภะคินี อะริยายะ ชาติยา ชาโต นาภิชานามิ สัญจิจจะ ปาณัง ชีวิตา โวโรเปตา เตนะ สัจเจนะ โสตถิ  เต โหตุ โสตถิ คัพภัสสะ ฯ

 

ยะโตหัง ภะคินิ อะริยายะ ชาติยา ชาโต นาภิชานามิ สัญจิจจะ ปาณัง ชีวิตา โวโรเปตา เตนะ สัจเจนะ โสตถิ เต โหตุ โสตถิ คัพภัสสะ ฯ

 

ยะโตหัง ภะคินิ อะริยายะ ชาติยา ชาโต นาภิชานามิ สัญจิจจะ ปาณัง ชีวิตา โวโรเปตา เตนะ  สัจเจนะ โสตถิ เต โหตุ โสตถิ คัพภัสสะ ฯ

 

            ข้อคิดนะคะ 

          การจะกล่าวคำสัตย์ แล้วได้ผลจริง จะต้องละทิ้งทิฏฐิมานะ และการหลอกลวงตนเองทุกอย่างได้อย่างถาวรนะคะ ผลของความดีจะตอบสนองผู้ที่จริงจังในความดีเสมอ

           เรื่องราวของท่านพระองคุลิมาล  เป็นเรื่องที่ศึกษาเรียนรู้แล้วได้กำลังใจมากเลยค่ะ  เพราะทุกคนอาจพลาดพลั้ง เผลอทำความผิดหรือสิ่งที่เลวร้ายได้ด้วยความไม่รู้  ไม่มีใคร  ไม่เคยทำผิดค่ะ  แต่เมื่อมีโอกาสได้พบกับพระพุทธศาสนา เห็นสิ่งที่ถูกต้อง  เข้าใจได้ถูกต้อง กลับตัวกลับใจ  ให้อภัยตนเอง  ยอมรับความจริง  ยอมรับผลกรรม  แล้วพากเพียรปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ก็สามารถพ้นทุกข์ได้  เป็นเรื่องราวที่นำไปสอนคนได้ดีค่ะ  เพื่อชี้นำแนวทางที่ถูกต้องได้  แม้อดีตเคยผิดพลาดไป  ทำปัจจุบันให้ดี  แล้วอนาคตก็จะดีเองค่ะ

 

ให้โอกาสและให้กำลังทุกคนนะคะ  สู้ ๆ ค่ะ

 

ขอให้เจริญในธรรมค่ะ

 

บุญรักษา  ธรรมคุ้มครองค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 335964เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2010 16:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2012 22:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สัมพุทเธบวกยันทุนป้องกันอุบัติเหตุได้เพราะว่าพระท่านบอกในความฝันว่าให้ใช้เวลาเจิมรถให้โยมเหมือนยาผีบอกแต่อันนี้พระบอก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท