Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

อาฏานาฏิยปริตร


อาฏานาฏิยปริตร: ปริตรแห่งอาฏานาฏานคร (ปรากฏในพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรคและ สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค)

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้น ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ซึ่งสถิตย์อยู่เหนือยอดเขายุคันธร ที่เรียกว่าชั้นจาตุมหาราชิกา อันเป็นชั้นต่ำกว่าสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ลงมา ซึ่งเป็นที่สถิตย์ขององค์อินทร์ 

พระอินทร์  ทรงมีเทวะพระบัญชาให้มหาราชทั้ง ๔ ทำหน้าที่เฝ้ารักษาประตูสวรรค์ในทิศทั้ง ๔  เพื่อป้องกันมิให้พวกอสูรมารบกวน  โดยมี

ท้าวธตรฐ       เป็นเจ้าแห่งพวกคนธรรพ์ รักษาทิศบูรพา

ท้าววิรุฬหก     เป็นเจ้าแห่งกุมภัณฑ์ รักษาทิศทักษิณ

ท้าววิรูปักษ์     เป็นเจ้าแห่งนาคทั้งปวง รักษาทิศปัจจิม

ท้าวเวสวัณ      เป็นเจ้าแห่งยักษ์ รักษาทิศอุดร

ท้าวมหาราชทั้ง  ๔  มีจิตเลื่อมใสศรัทธา  ปรารถนาจะเกื้อกูลพระพุทธศาสนา มิให้พวกอสูร หรือพวกศัตรูมาย่ำยีบีฑา  แด่พระภิกษุสงฆ์สาวกของพระบรมสุคตเจ้า จึงคิดจะชวนกันลงมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า  แต่ก็ห่วงภาระหน้าที่ที่จะต้องดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในประตูสวรรค์ทั้ง ๔ ทิศ ท้าวมหาราชทั้ง ๔  จึงมีบัญชาแต่งตั้งให้  คนธรรพ์  กุมภัณฑ์ นาค  และยักษ์  อย่างละแสนรักษาประตูสวรรค์ทั้ง ๔  ทิศ คือ

เสนาคนธรรพ์            รักษา   ทิศบูรพา

เสนากุมภัณฑ์            รักษา   ทิศทักษิณ

เสนานาค                  รักษา   ทิศปัจจิม

เสนายักษ์                 รักษา   ทิศอุดร

ครั้นผูกมนต์พระปริตรแล้ว ท้าวมหาราชทั้ง ๔ จึงประกาศแก่บริวารของตนว่า ธรรมเขตบริเวณธรรมรักษา ที่บรมครูของเราผูกไว้นี้เรียกว่า อาฏานาฏิยปริตร นี้ แล้วถ้าใครไม่เชื่อฟัง ไม่สดับ จะต้องถูกลงโทษอย่างสาสม รุนแรง และแล้วมหาราชทั้ง ๔ ก็พร้อมใจกันลงมาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ ภูเขาคิชฌกูฏ

เมื่อราตรีล่วงปฐมยามไปแล้ว ท้าวมหาราชทั้ง ๔ เปล่งรัศมีงามยิ่ง ยังภูเขาคิชฌกูฏทั้งสิ้นให้สว่างไสว แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

ฝ่ายยักษ์เหล่านั้น บางพวกถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

บางพวกได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

บางพวกประนมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับ แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

บางพวกประกาศชื่อและโคตร แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

บางพวกได้นั่งนิ่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

ท้าวเวสวัณมหาราช ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยักษ์ชั้นสูงบางพวกมิได้เลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาคก็มี

ยักษ์ชั้นสูงบางพวกที่เลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาค ก็มี

ยักษ์ชั้นกลางบางพวกมิได้เลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาค ก็มี

ยักษ์ชั้นกลางบางพวกที่เลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาค  ก็มี

ยักษ์ชั้นต่ำบางพวกมิได้เลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาค ก็มี

ยักษ์ชั้นต่ำบางพวกที่เลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาค  ก็มี

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญโดยมากยักษ์มิได้เลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาคเลย ข้อนั้นเหตุไร เพราะพระผู้มี

พระภาคทรงแสดงธรรมเพื่องดเว้นจากปาณาติบาต

ทรงแสดงธรรมเพื่องดเว้นจากอทินนาทาน

ทรงแสดงธรรมเพื่องดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร

ทรงแสดงธรรมเพื่องดเว้นจากมุสาวาท

ทรงแสดงธรรมเพื่องดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ  สุราและเมรัย

อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท แต่โดยมากพวกยักษ์มิได้งดเว้นจากปาณาติบาต  มิได้งดเว้นจากอทินนาทาน มิได้งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร มิได้งดเว้นจากมุสาวาท  มิได้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

ข้อที่พระองค์ให้งดเว้นนั้น จึงไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของยักษ์เหล่านั้น

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระสาวกของพระผู้มีพระภาค บางพวกย่อมเสพราวไพรในป่า  เสนาสนะอันสงัด มีเสียงน้อย มีเสียงกึกก้องน้อย ปราศจากลมแต่ชนผู้เดินเข้าออก ควรแก่การทำกรรมอันเร้นลับของมนุษย์ ควรแก่การหลีกเร้น ยักษ์ชั้นสูงบางพวกมักอยู่ในป่านั้น พวกใดมิได้เลื่อมใสในปาพจน์ของพระผู้มีพระภาคนี้

เมื่อพระสาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ยินดีในการอยู่ป่า เพื่อบำเพ็ญสมณธรรม ในที่ห่างไกลจากมนุษย์สัญจร อมนุษย์ผู้ไม่เลื่อมใส ย่อมจะย่ำยี หลอนหลอก กระทำให้เจ็บไข้เป็นอันตรายแก่ชีวิตและพรหมจรรย์ แต่ต่อนี้ไปจะไม่บังเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอีกแล้ว ถ้าพระบรมสุคตเจ้า ทรงพระกรุณาโปรดรับมนต์อาฏานาฏิยปริตรนี้ไว้  แล้วโปรดประทานให้พระภิกษุสาวก สาธยายอยู่เนือง ๆ อมนุษย์ทั้งปวงก็จะมิกล้าย่ำยีหลอนหลอกทำร้าย อีกทั้งยังจะช่วยปกป้องคุ้มครอง ป้องกันภัยทั้งปวงให้อีกด้วยพระเจ้าข้า

ขอพระผู้มีพระภาค  จงทรงเรียนการรักษาอันชื่อว่าอาฏานาฏิยะเพื่อให้ยักษ์พวกนั้นเลื่อมใส คุ้มครอง เพื่อรักษา เพื่อไม่เบียดเบียน เพื่ออยู่สำราญของอุบาสกอุบาสิกา ภิกษุ ภิกษุณีทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า ฯ

 

พระผู้มีพระภาคทรงรับโดยดุษณีภาพ (รับโดยการนิ่ง) ลำดับนั้น ท้าวเวสวัณมหาราช  ทรงทราบการทรงรับของพระผู้มีพระภาค  ก็แสดงอาฏานาฏิยปริตรนั้นถวาย ซึ่งมีเนื้อความสรรเสริญคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๗ พระองค์ ในเวลานั้นว่า

พระวิปัสสี พุทธเจ้า               ผู้มีพระจักษุ  ผู้มีสิริอันงาม

พระสิขี พุทธเจ้า                   ผู้มากด้วยการอนุเคราะห์แก่สัตว์ทั้งปวง ทั่วหน้า

พระเวสสภู พุทธเจ้า              ผู้ทรงชำระกิเลส  มีความเพียร ผู้ปราศจากกิเลส มีตบะ

พระกกุสันธะ พุทธเจ้า           ผู้มีชัยชนะแก่พญามารและเสนามาร

พระโกนาคมนะ พุทธเจ้า        ผู้มีบาปอันลอยเสียแล้วมีพรหมจรรย์อันจบแล้ว

พระกัสสปะ พุทธเจ้า             ผู้พ้นวิเศษแล้ว จากกองกิเลสทั้งปวง

พระอังคีรส พุทธเจ้า              ผู้เป็นโอรสแห่งหมู่ศากยราช ผู้มีศักดิ์ มีสิริ

พระพุทธเจ้าพระองค์ใด  ได้ทรงแสดงธรรมนี้ อันเป็นเครื่องบรรเทาทุกข์ทั้งปวง อนึ่งพระพุทธเจ้าเหล่าใด ผู้ดับแล้วในโลก ทรงเห็นแจ้งแล้ว  ตามเป็นจริง พระพุทธเจ้าเหล่านั้น เป็นผู้ไม่ส่อเสียด เป็นผู้ยิ่งใหญ่ ปราศจากความครั่นคร้าม เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย  นอบน้อมพระพุทธเจ้าพระองค์ใด ผู้โคตมโคตร ทรงเกื้อกูลแก่ทวยเทพและมนุษย์ ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้ยิ่งใหญ่ ปราศจากความครั่นคร้าม พระสุริยาทิตย์ มีมณฑลใหญ่อุทัยขึ้นแต่ทิศใดแล เมื่อพระอาทิตย์อุทัยขึ้น ราตรีก็หายไป ครั้นพระอาทิตย์อุทัยขึ้น ย่อมเรียกกันว่ากลางวัน แม้น่านน้ำในที่พระอาทิตย์อุทัยนั้นเป็นสมุทรลึก มีน้ำแผ่เต็มไป ชนทั้งหลาย  ย่อมรู้จักน่านน้ำนั้นในที่นั้นอย่างนี้ว่า สมุทรมีน้ำแผ่เต็มไป ฯ

ดัง นี้เป็นต้น

 

ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ การรักษาอันชื่อว่าอาฏานาฏิยะนี้แล  ย่อมเป็นไปเพื่อคุ้มครอง เพื่อรักษา เพื่อไม่เบียดเบียน เพื่อความอยู่สำราญแห่งภิกษุ ภิกษุณี  อุบาสก อุบาสิกา ทั้งหลาย ฉะนี้ ฯ

ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ และบัดนี้  ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นผู้มีกิจมาก มีกรณีย์มาก ขอทูลลาไป

เราได้กล่าวว่า ดูกร  มหาบพิตร มหาบพิตรจงทรงทราบกาลอันควร ณ บัดนี้เถิด ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น ท้าวมหาราชทั้ง ๔ เสด็จลุกขึ้นจากอาสนะไหว้เรา ทำประทักษิณ แล้วอันตรธานไปในที่นั้นเอง  

ฝ่ายยักษ์เหล่านั้นก็พากันลุกขึ้นจากอาสนะ บางพวกไหว้เรา ทำประทักษิณ แล้วอันตรธานไปในที่นั้นเอง

บางพวกปราศรัยกับเรา ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว อันตรธานไปในที่นั้นเอง บางพวกประนมอัญชลีมาทางที่เราอยู่ แล้วอันตรธานไปในที่นั้นเอง

บางพวกประกาศนามและโคตร แล้วอันตรธานไปในที่นั้นเอง บางพวกนิ่งอยู่แล้วอันตรธานไปในที่นั้นเอง ฯ

สมเด็จพระบรมศาสดา จึงทรงมีพระบัญชาให้ประชุมภิกษุทั้งหลายในที่นั้น  แล้วทรงแสดงมนต์พระปริตรนั้นให้แก่ภิกษุทั้งหลายได้เรียนสาธยายเสร็จแล้ว  ทรงมีพุทธฎีกาตรัสว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย  เธอทั้งหลายจงเล่าเรียนการรักษาอันชื่อว่าอาฏานาฏิยะ  จงทรงไว้ซึ่งการรักษาอันชื่อว่าอาฏานาฏิยะ การรักษาอันชื่อว่าอาฏานาฏิยะ ประกอบด้วยประโยชน์ ย่อมเป็นไปเพื่อคุ้มครอง เพื่อรักษา เพื่อไม่เบียดเบียน เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทั้งหลาย ดังนี้ ฯ”

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์ นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นยินดีชื่นชม  พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค  ดังนี้แล ฯ

 

กล่าวโดยสรุป

อาฏานาฏิยปริตร  เป็นปริตรที่ท้าวจาตุมมหาราช  ผูกขึ้นที่อาฏานาฏานคร  อันเป็นหนึ่งในจำนวนเทพนคร ๑๑  แห่ง ที่ถูกนิรมิตขึ้นบนอากาศของเหล่าเทวดาในสวรรค์ชั้นจาตุมมหาราชิกา  พระปริตรนี้จึงถูกเรียกว่า  อาฏานาฏิยปริตร  ตามชื่อเทพนครที่ผูกขึ้นนั้น

อาฏานาฏิยปริตร  มีอานุภาพ ๒ ประการคือ 

๑.     มีอานุภาพในการทำให้อมนุษย์ที่ไม่เลื่อมใส  ให้เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา

๒.     มีอานุภาพในการคุ้มครองป้องกันไม่ให้อมนุษย์ที่ไม่เลื่อมใสจับต้องสิงสู่  เบียดเบียน  ประทุษร้าย  ทำให้ได้รับความลำบากเดือดร้อน

สำหรับอาฏานาฏิยปริตร  ที่พระสงฆ์ใช้สวดในปัจจุบัน  เป็นบทย่อที่บูรพาจารย์ได้นำเอาคาถานมัสการพระพุทธเจ้าในอดีตที่ท้าวเวสสุวัณแสดงไว้เฉพาะพระพักตร์พระพุทธองค์  มาอ้างเป็นสัจกิริยา  ให้เกิดเป็นอานุภาพในการคุ้มครองป้องกันรักษา  ตามคำของท้าวจตุโลกบาล  ถ้าอมนุษย์ตนใดเบียดเบียนผู้ที่เจริญอาฏานาฏิยปริตร  ให้ได้รับความลำบาก  อมนุษย์นั้น  ก็จะได้รับการลงโทษ  จากเหล่าเทพทั้งหลาย

 

       ต่อมามีการสวดอาฏานาฏิยปริตรขับไล่ยักษ์  เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งในหมู่ชาวพุทธ นิยมเรียกว่า สวดภาณยักษ์

หมายเลขบันทึก: 335068เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2010 16:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 14:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อาฏานาฏิยปริตร

วิปัสสิสสะ นะมัตถุ จักขุมันตัสสะ สิรีมะโต

สิขิสสะปิ นะมัตถุ สัพพะภูตานุกัมปิโน

เวสสะภุสสะ นะมัตถุ นหาตะกัสสะ ตะปัสสิโน

นะมัตถุ กะกุสันธัสสะ มาระเสนัปปะมัททิโน

โกนาคะมะนัสสะ นะมัตถุ พราหมะณัสสะ วุสีมะโต

กัสสะปัสสะ นะมัตถุ วิปปะมุตตัสสะ สัพพะธิ

อังคีระสัสสะ นะมัตถุ สักยะปุตตัสสะ สิรีมะโต

โย อิมัง ธัมมะมะเทเสสิ สัพพะทุกขาปะนูทะนัง

เย จาปิ นิพพุตา โลเก ยะถาภูตัง วิปัสสิสุง

เต ชะนา อะปิสุณา มะหันตา วีตะสาระทา

หิตัง เทวะมะนุสสานัง ยัง นะมัสสันติ โคตะมัง

วิชชาจะระณะสัมปันนัง มะหันตัง วีตะสาระทัง

วิชชาจะระณะสัมปันนัง พุทธัง วันทามะ โคตะมันติ

เอเต จัญเญ จะ สัมพุทธา อะเนกะสะตะโกฏะโย

สัพเพ พุทธา อะสะมะสะมา สัพเพ พุทธา มะหิทธิกา

สัพเพ ทะสะพะลูเปตา เวสารัชเชหุปาคะตา

สัพเพ เต ปะฏิชานันติ อาสะภัณฐานะมุตตะมัง

สีหะนาทัง นะทันเตเต ปะริสาสุ วิสาระทา

พรัหมะจักกัง ปะวัตเตนติ โลเก อัปปะฏิวัตติยัง

อุเปตา พุทธะธัมเมหิ อัฏฐาระสะหิ นายะกา

ทวัตติงสะลักขะณูเปตา สีติยานุพยัญชะนาธะรา

พยามัปปะภายะ สุปปะภา สัพเพ เต มุนิกุญชะรา

พุทธา สัพพัญญุโน เอเต สัพเพ ขีณาสะวา ชินา

มหัปปะภา มหาเตชา มหาปัญญา มะหัพพะลา

มหาการุณิกา ธีรา สัพเพสานัง สุขาวะหา

ทีปา นาถา ปติฏฐา จะ ตาณา เลณา จะ ปาณินัง

คะตี พันธู มหัสสาสา สะระณา จะ หิเตสิโน

สะเทวะกัสสะ โลกัสสะ สัพเพ เอเต ปะรายะนา

เตสาหัง สิระสา ปาเท วันทามิ ปุริสุตตะเม

วะจะสา มะนะสา เจวะ วันทาเมเต ตะถาคะเต

สะยะเน อาสะเน ฐาเน คะมะเน จาปิ สัพพะทา

สทา สุเขนะ รักขันตุ พุทธา สันติกะรา ตุวัง

เตหิ ตวัง รักขิโต สันโต มุตโต สัพพะภะเยนะ จะ

สัพพะโรคะวินิมุตโต สัพพะสันตาปะวัชชิโต

สัพพะเวระมะติกกันโต นิพพุโต จะ ตุวัง ภะวะ

สัพพีติโย วิวัชชันตุ สัพพะโรโค วินัสสะตุ

มา เต ภะวัตวันตะราโย สุขี ทีฆายุโก ภะวะ

อะภิวาทะนะสีลิสสะ นิจจัง วุฑฒาปะจายิโน

จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท