Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

ธชัคคปริตร


ธชัคคปริตร: ธงชัยนำสู่ชัยชนะ เหมือนผู้มีที่พึ่งที่ถูกทางย่อมเห็นชัย ทำให้พ้นจากอุปสรรคอันตราย การตกจากที่สูง ปรากฏในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค

ครั้รเมื่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับอยู่ในนครเวสาลี ได้ตรัสเล่าประวัติของท้าวสักกะ นามว่า  “มะฆะ”ให้แก่เจ้าลิจฉวี  นามว่า "มหาลี" ฟังว่า  

ชายคนหนึ่งชื่อ นายมะฆะ  อยู่ในหมู่บ้าน อะจะละ แคว้นมคธ ได้สร้างที่แถบชายป่าให้สะอาด ร่มรื่นให้น่าอยู่ น่าอาศัย             

ในเวลานั้นมีชายคนหนึ่งเดินผ่านมา เลยแวะเข้าไปพัก เมื่อเจอนายมะฆะก็ไม่พอใจเลยเอ่ยขึ้นว่า  เอ่ะ เจ้านี้มายังไงนะ บังอาจมานั่งบนที่ของข้าได้ ไป..ไปเสียให้พ้น อากาศยิ่งร้อนๆอยู่ เดี๋ยวพ่อก็แพ่นกระบาลเสียด้วยไม้เท้านี้หรอก 

มะฆะมานพ  พอได้ฟังดังนั้นแทนที่จะโกรธ กลับคิดว่า เออ...ดีนะ รมณียสถานแห่งนี้  เราเป็นผู้สร้างขึ้นคนทั้งหลายชอบตำหนิว่าไม่มีประโยชน์ มาบัดนี้มีผู้เห็นประโยชน์ในสิ่งที่เราสร้างขึ้นแล้วดีหละ..เราจักสร้างสถานที่เช่นนี้ต่อไป  นายมะฆะได้เดินออกจากชายป่านั้นโดยดี มิได้ถือโกรธเลย พร้อมทั้งยัง ได้ไปสร้างที่รื่นรมย์ยังที่อื่นๆ ต่อไป               

เหตุการณ์ดำเนินอยู่เช่นนี้เรื่อยมา เมื่อนายมะฆะสร้างที่ใดเสร็จก็จะมีผู้อ้างกรรมสิทธิ์เอาสถานที่นั้นเฉยๆ แต่เขาก็หาได้โกรธไม่ แถมซ้ำยังมีความคิดสร้างสถานที่ต่อไปอีก               

ต่อมา แม้ในขณะเดินทาง เขาจะต้องนำเอามีดหรือจอบติดมือไปด้วยเสมอ เมื่อเห็นว่าหนทางไม่ราบเรียบมีหญ้าขึ้นปกคลุมรกทาง  มีหลุมเป็นบ่อระหว่างทาง  มีกิ่งไม้ระเกะระกะรุงรัง เขานั้น ก็จะเอาจอบถาก มีดหวด ทำให้ตลอดทางเป็นที่ร่มรื่น สะดวกสบายแก่ผู้สัญจรไปมา      

เมื่อนายมะฆะทำเช่นนี้เสมอมา  ผู้คนชนทั้งหลายที่สัญจรไปมาก็พากันเข้าไปถามว่า เพื่อนท่านกำลังทำอะไรอยู่ เขาก็ตอบว่า “เรากำลังทำทางไปสวรรค์” พวกเขาก็ร่วมมือด้วย จนมีพวกร่วมทางถึง ๓๓ คน หมู่ชนทั้งหลาย เมื่อเดินทางได้รับความสะดวกสบาย ต่างก็พากันสรรเสริญ

 ฝ่ายผู้ใหญ่บ้าน ผู้เป็นเจ้าหน้าที่ปกครองท้องถิ่น เห็นฝูงชนยกย่องสรรเสริญมะฆะและบริวาร ก็บังเกิดความริษยา จึงหาเรื่องกล่าวใส่ร้ายเขาว่า  เจ้าทั้งหลายกระทำอะไรไร้ประโยชน์ ทำไมไม่ใช้เวลาและแรงที่มีไปหาเนื้อหาปลามาเป็นอาหาร วัยฉกรรจ์อย่างพวกเจ้าควรที่จะไปเที่ยวเล่น ดื่มสุรา เที่ยวดูการละเล่นยังจะสนุกเพลิดเพลินเสียกว่า อย่ามามัวเหนื่อยเปล่ากับเรื่องไม่เป็นประโยชน์เหล่านี้อยู่เลย

นายมะฆะ หาได้เชื่อฟังถ้อยคำของผู้ใหญ่บ้านเลย  นายบ้านจึงผูกใจโกรธ นำเรื่องไปเท็จทูลพระราชาว่า นายมะฆะและบริวาร เป็นคนเกเร ไม่ทำมาหากิน คอยดักปล้นสะดมผู้คนที่เดินทาง

พระราชา พอได้ฟังคำเท็จทูลของนายบ้านก็หลงเชื่อ มีรับสั่งให้เจ้าหน้าที่ไปจับตัวเขาและบริวารทั้ง ๓๓ คนมาลงโทษด้วยการให้นอนลงกับพื้นแล้วต้อนช้างพลายที่ดุร้ายให้ไปเหยียบขณะที่ช้างพลายที่ดุร้ายจะมาเหยียบนั้น มะฆะมานพได้สั่งให้บริวารทั้ง ๓๓ คน เจริญเมตตาไว้ในใจ อย่าผูกโกรธเคืองแค้นต่อนายบ้าน แผ่เมตตาให้แก่พระราชาและช้างพลายที่จะตรงมาเหยียบด้วย

อานุภาพแห่งเมตตาของมะฆะและบริวาร ช้างพลายที่ดุร้ายนั้นพลัน ก็ยืนสงบนิ่ง ไม่ยอมที่จะก้าวเดินไปเหยียบมะฆะและบริวาร ข้างพระราชาทรงประทับทอดพระเนตรการลงทันต์อยู่ ทรงเห็นว่าช้างไม่ยินยอมที่จะย่างเหยียบคนทั้ง ๓๓ ก็ให้พนักงานนำเอาเสื่อลำแพนมาปกคลุมร่างของคนทั้ง ๓๓ คนเสีย ด้วยคิดว่าช้างอาจจะเห็นเป็นคนเลยมิกล้าที่จะเดินเหยียบได้   เมื่อชาวพนักงานนำเสื่อลำแพนมาคลุมร่างมะฆะมานพและบริวารมิดชิดแล้ว จึงให้ควาญช้างไสช้างพลายนั้นให้ก้าวเหยียบไปบนเสื่อลำแพน มิใยที่ควาญช้างจะโขกสับ บังคับไสช้างพลายนั้นให้เดินสักปานใด ช้างนั้นก็ยืนสงบนิ่ง มิขยับ เขยื่อนเลื่อนไปแม้แต่ก้าวเดียว             

พระราชาครั้นได้ทรงทอดพระเนตรเห็นดังนั้น จึงทรงดำริว่า เอ... นี่มันเกิดอาเพศเหตุอัศจรรย์ใดกันหนอทำไมชนทั้ง ๓๓ คนนี้  จึงมิได้มีอันตรายใดๆ จากการลงทันต์ในครานี้เลย ชะรอยเราต้องเรียกมาไต่สวนดูให้รู้ความจริง และแล้วจึงทรงมีพระดำรัสเรียกมะฆะมานพและบริวารเข้าเฝ้า

เมื่อมะฆะมานพและบริวารได้เข้าเฝ้าเบื้องหน้าพระพักตร์แล้ว   พระราชาจึงทรงมีพระดำรัสตรัสถามขึ้นว่า อาชีพที่สุจริตในแผ่นดินนี้มีออกมากมาย เหตุใดพวกเจ้าจึงพากันเป็นโจรประกอบทุจริต

มะฆะมานพครั้นได้ฟังพระราชาทรงตรัสตำหนิถามดังนั้น จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ข้าพระพุทธเจ้าและสหาย มิได้เป็นผู้ทำอาชีพทุจริตผิดกฎหมาย พวกข้าพระพุทธเจ้าเป็นสุจริตชน สิ่งที่ข้าพระพุทธเจ้าทำ คือทางไปสวรรค์ แต่กลับถูกกล่าวหาว่าเป็นโจร เหตุเพราะนายบ้านมีความริษยา ผูกโกรธคิดกลั่นแกล้งใส่ความพวกข้าพระพุทธเจ้า ถ้าพระองค์ไม่เชื่อ ขอได้ทรงโปรดให้เหล่าทหารไปเรียกชาวบ้านมาไต่ถามสอบความจริงก็จะปรากฏได้

พระราชาจึงส่งทหาร ไปเกณฑ์ชาวบ้านมาไต่ถาม จึงได้ทรงทราบความจริง ว่ามะฆะมานพและบริวารได้ชวนกันทำงานไปสวรรค์จริงๆ จึงทรงปราโมทย์ยินดี ทรงพระราชทานช้างพลายตัวนั้น ให้แก่มะฆะ และบริวาร และแถมให้นายผู้ใหญ่บ้านคนนั้นเป็นคนรับใช้ด้วย

ข้างนายมะฆะและสหาย เมื่อได้เห็นอานิสงส์ผลบุญ ที่พวกตนได้ร่วมกันกระทำปรากฏให้เป็นที่ประจักษ์ จิตโสมนัส ยินดีและมีศรัทธาในการบำเพ็ญบุญนั้นมากยิ่งขึ้น นอกจากทำทาง ทำสถานที่ร่มรื่นให้ผู้คนและสัตว์ ที่กำลังเดินทางได้หยุดพักแล้ว ยังได้ช่วยกันทำศาลาพักผ่อน ขุดสระ ทำปลูกพืชผักผลไม้เอาไว้ให้ผู้คนที่หิวกระหายได้ตักดื่ม เก็บกิน จนเป็นที่สำราญของผู้คนที่เดินทางผ่านไปมา ณ ตำบลบ้านนี้ นอกจากนายมะฆะ จะเป็นผู้ชอบบำเพ็ญบุญดังกล่าวมาแล้ว ยังจะเป็นผู้ปฏิบัติข้อวัตตะบท ๗ ประการโดยบริบูรณ์  คือ

  1. ปฏิบัติเลี้ยงดูรักษาบิดามารดา
  2. อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล
  3. กล่าวความสัตย์ไม่โกหก
  4. ไม่พูดหยาบคาย
  5. มีวาจาที่สุภาพเรียบร้อย ระรื่นหูแก่ผู้ได้สดับไม่ส่อเสียดยุยง
  6. ไม่ตระหนี่ ยินดีในการให้
  7. เป็นผู้ที่มีปกติไม่โกรธ            

ครั้นเมื่อถึงกาลมรณะสมัย ต้องตายจากลงนายมะฆะและสหายได้สิ้นชีวิตลง ด้วยสิ้นอายุขัย ผลบุญที่ตนได้ทำเอาไว้ ส่งผลให้เขาไปบังเกิดเป็นพระอินทร์ในเทพพิภพ พร้อมด้วยสหายอีก ๓๒ องค์ จึงรวมเป็นเหล่าเทพ ๓๓ องค์ เทพนครแห่งนั้น จึงเปลี่ยนชื่อเป็น ตาวะตึงสะ หรือ ดาวดึงส์สวรรค์ ซึ่งแปลว่า ๓๓ ส่วนเทพยดา ที่สถิตในเทพนครนี้อยู่เดิม เห็นเทพบุตรเกิดขึ้นใหม่ มีวรกายสง่างาม รัศมีกายเรืองรอง ปรารถนาจะผูกมิตรจึงไปจัดเตรียมอาหารโอชารส พร้อมกับเหล้าหอม ชื่อ คันธบาน  ไปต้อนรับน้องใหม่ที่ ๓๓ พระองค์ แต่พระอินทร์ (นายมะฆะในอดีต) ได้แอบกระซิบแก่เทพบริวารทั้ง ๓๒ ว่า อย่าดื่มน้ำคันธบาน (เหล้าหอม)นั้น แต่ให้แสร้งทำประหนึ่งว่า ได้ดื่มน้ำเหล้านั้นเข้าไปด้วย ฝ่ายเทพดาที่สถิตอยู่ในเทพพิภพเดิม ก็มิได้คิดระแวงอันใด จึงพากันดื่มเหล้าหอมนั้นเข้าไป จนเมามายหมดสติ มิอาจทรงกายอยู่ได้ จึงลงนอนและหลับไปในที่สุด ฤทธิ์แห่งเหล้าหอมนั้น ทำให้เทพดาเก่าเหล่านั้นหลับไปนานถึง ๔ เดือน

พระอินทร์ได้เห็นสภาพที่หมดสติ ผ้าผ่อนขาดหลุดลุ่ย นอนได้กระทั่งที่ไม่มีใครนอน ขืนให้อยู่บนเทพพิภพรังแต่จะทำให้ เทพนครเสื่อมเสีย พวกเรามาช่วยกันหามเทพขี้เมาเหล่านี้โยนกันเถิด เมื่อถูกโยนลงไปในมหาสมุทร  เทพวิมานที่สำเร็จด้วยบุญฤทธิ์ของเทพขี้เมาเหล่านั้น  ก็ปรากฏขึ้น มีสภาพดุจดัง เทพนครบนสวรรค์มิได้ผิด จะต่างก็ตรงต้นไม้ชื่อ ปาริจฉัตตกะ ซึ่งมีอยู่บนเทพนครชั้นดาวดึงส์ แต่ในเทพพิภพมีแต่ต้นไม้ชื่อ แคฝอย ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ต้นจิตตปาตลี

เทพขี้เมาทั้งหลาย เมื่อฟื้นคืนสติขึ้นมา จึงได้รู้ว่าพวกตนถูกเทพบุตรใหม่ทั้ง ๓๓ องค์ จับโยนลงมาอยู่ในมหาสมุทร ก็ให้นึกละอาย แล้วก็พากันดำริขึ้นว่า ที่พวกเราต้องเป็นเช่นนี้เพราะมัวเมาประมาท กินเหล้าจนขาดสติหลับไป จึงโดนเทพใหม่เหล่านั้นกลั่นแกล้งให้ได้อาย เป็นเพราะน้ำเหล้าหอมนั้นเชียว เราทั้งหลายเอ๋ย ต่อนี้ไปจงอย่ากินเหล้าอีกเลย ด้วยว่าดำริเช่นนี้ เทพขี้เมาเหล่านี้ ก็เลยเป็นเทพที่ไม่ยอมเมาอีกต่อไป จนได้ชื่อว่า อสูร อสูรนั้น ได้พักอาศัยอยู่ใน อสูรพิภพ ซึ่งมีสภาพเหมือนกับเทพนครทุกอย่าง ซึ่งทุกอย่างก็สำเร็จได้ด้วยบุญฤทธิ์ของตน ของตน ต่างตนต่างก็อยู่อย่างเป็นสุข สถิตสถาพร และมีหัวหน้าที่สำเร็จด้วยบุญฤทธิ์ ชื่อว่า ท้าวเวปจิตติอสูร               

ต่อมาเมื่อต้นแคฝอยออกดอก เหล่าอสูรทั้งหลายต่างพากันหวนคำนึงนึกถึง เทพนครสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นที่สถิตของต้นปาริจฉัตตกะ มีดอกใหญ่สีสวยกลิ่นหอม เมื่อถึงคราวฤดูออกดอกก็ส่งกลิ่นทำให้เทพนครหอมอบอวลเป็นที่รื่นรมย์ยิ่งนัก เหล่าอสูรทั้งหลาย ก็พากันหวนคำนึงระลึกถึง เทพนครสวรรค์

เวปจิตติอสูร ผู้เป็นหัวหน้า จึงชักชวนพลโยธา จัดเตรียมเป็นกองทัพ เพื่อไปชิงเอาเทพนครสวรรค์กลับมาเป็นของตน พร้อมทั้งยกทัพ ขึ้นไปท้ารบกับพระอินทร์

องค์อินทราชจึงมีเทวบัญชา ให้ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ แต่งกองทัพเทวดาลงไปรักษาเชิงเขาพระสุเมรุในทิศทั้ง ๔ คอยสู้รบ รุกรับ ขับไล่ต่อกรกับพวกอสูร ซึ่งบางครั้งก็มีชัย บางครั้งก็พ่ายแพ้ คราใดที่ท้าวจาตุมทั้ง ๔ พ่าย ก็พาทัพเทวดาถอยร่นขึ้นไปจนถึงประตูสวรรค์ องค์อินทร์ก็ต้องคุมทัพออกมารุกไล่รบแก่ทัพอสูรด้วยพระองค์เอง

และก่อนที่จะออกรบ องค์อินทราธิราช ได้ทรงตรัสสั่งแก่บรรดาพลเทวดาว่า ถ้าพลเทวดา หวาดกลัว สะดุ้ง และมีขนพองสยองเกล้าบังเกิดขึ้น ก็ให้แลดูชายธงที่ปลิวไสว อยู่บนราชรถศึกของพระองค์ หรือไม่ก็แลดูชายธงขององค์เทวะชื่อ ปชาบดี ของพระวรุณเทวราช หรือ พระอีสานเทวราชเพื่อเป็นกำลังใจว่า ผู้นำ ผู้เป็นที่พึ่งของเรายังสถิตอยู่กับเรา เหล่าบรรดาพลทหารเทวดาทั้งหลาย เมื่อได้แลเห็นชายธงของมหาเทวะทั้งหลายที่กล่าวนามมาแล้ว จึงมีกำลังมีใจที่ฮึกเหิมทำสงครามอย่างเกรียงไกรมีชัยในที่สุด  อีกทั้งยังสามารถจับตัวหัวหน้าอสูรทั้งปวงได้

ท้าวอสูรเมื่อถูกจับ ก็สบถด่าพระอินทร์และบริวาร ต่างๆนานา ด่าชนิดแบบเสียหาย แต่พระอินทร์กับบริวารหาได้โกรธไม่ แถมซ้ำยังให้อภัยและปล่อยไปนับแต่นั้นมาสงครามก็สงบลง             

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสต่อไปว่า อย่างนั้นเหมือนกันภิกษุเอ๋ย เมื่อพวกท่านไปในสถานที่ใดก็ตาม แล้วเกิดความหวาดกลัว สะดุ้ง หรือเกรงภัยอันตรายใดๆ ก็ให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ หากไม่ระลึกถึงเรา ก็ให้ระลึกถึงพระธรรมคุณหรือคุณของพระสงฆ์เถิด                  

ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลาย พากันมาระลึกถึง

คุณของพระพุทธเจ้า

คุณของพระธรรมเจ้า

คุณของพระสงฆ์เจ้า

เห็นปานนี้ ความสะดุ้งกลัว หวาดผวา ขนพองสยองเกล้า จักมิอาจครอบงำเธอ จะไม่เกิดแก่พวกเธอเลย

 

#######################################

หมายเลขบันทึก: 335037เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2010 14:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 12:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท