ชีวิตที่พอเพียง : ๙๔๐. ให้ทุนการศึกษาอย่างคำนึงถึงเป้าหมายระดับประเทศ



          วันที่ ๒๔ ม.ค. ๕๓ มีการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิพูนพลัง    ที่กรรมการทั้งหมดยกเว้นประธาน (คือผม) อายุประมาณ ๓๖ – ๓๗ ปี    มีงานทำกำลังสร้างฐานะและมีประสบการณ์ชีวิตพอสมควรแล้ว

          มูลนิธินี้เล็กมาก มีเงินใช้ปีละประมาณ ๒ ล้านบาท   แต่คุณค่าไม่ใช่แค่เงินที่เอาไปช่วยเหลือเด็กนักเรียนหรือนักศึกษา    แต่มีการให้คำแนะนำช่วยแก้ปัญหาชีวิตให้ด้วย    เป็นงานที่หนักพอสมควร เมื่อคำนึงว่ามีเด็กที่ได้รับการช่วยเหลือกว่า ๒๐๐ คน ในแต่ละช่วงเวลา 

          มีทุนเรียนระดับมหาวิทยาลัยด้วย   เด็กที่ขอทุนกลุ่มนี้จำนวนมากอยากเข้าเรียนเพื่อเป็นครู ในหลักสูตร ๕ ปี    ส่วนหนึ่งคงจะเป็นเพราะมี มรภ. กระจายอยู่ทั่วประเทศ   และเด็กเหล่านี้คงจะประมาณความสามารถของตนแล้วว่า จะเข้าเรียนจนสำเร็จได้    

          ผมได้ชี้ให้กรรมการทราบว่า หากจะให้ทุนนี้นอกจากเป็นประโยชน์แก่เด็ก ยังเป็นประโยชน์แก่สังคมด้วย    ก็น่าจะไม่ให้ทุนแก่เด็กที่เรียนไปเป็นครูมัธยมในหลักสูตร ๕ ปี ของ มรภ. หรือในสถาบันใดก็ตาม    เพราะครูมัธยมที่ดีควรจบปริญญาตรีในวิชาหลัก (วิทยาศาสตร์, มนุษยศาสตร์, ฯลฯ) ตามด้วยการฝึกวิชาครู ๑ ปี    มูลนิธิพูนพลังควรช่วยชาติในการร่วมแก้ความบิดเบี้ยวในอาชีพครูด้วย  

          ผมได้ชี้ว่า ประเทศไทยต้องการคนมาเรียนสายวิทย์ – เทคโน ให้มากขึ้น   ดังนั้น ถ้าทำได้ควรหาทางชักจูงให้เด็กเลือกเรียนสาขานี้  

          นอกจากนั้น ประเทศต้องการคนที่จบอาชีวศึกษาจำนวนมาก    เพื่อเพิ่มกำลังคนระดับลงมือทำ    และทำงานได้ดี มีความตั้งใจ มีความภูมิใจในงานของตน

          ทั้งหมดนี้เป็นการทำความเข้าใจเรื่องกว้างๆ ของบ้านเมือง    ที่ผมถือโอกาสในการมีปฏิสัมพันธ์กับกรรมการมูลนิธิฯ ที่เป็นคนเก่ง เป็นคนที่ฐานะมั่นคง และมีจริตในการทำงานเล็กๆ เพื่อสังคม   ให้เขาเข้าใจ และช่วยกันชักชวนเด็กที่มาขอรับทุน ให้หันไปเรียนสายอาชีวะ สายวิทย์-เทคโน ให้มากขึ้น

          เราจึงเข้าใจว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทางมูลนิธิฯ ประกาศให้ทุนระดับอุดมศึกษาแก่เด็กยากจน   ปีต่อไปเราจะแยกไปประกาศให้ทุนระดับอาชีวศึกษาครึ่งหนึ่งด้วย

 

วิจารณ์ พานิช
๒๔ ม.ค. ๕๓

 

หมายเลขบันทึก: 334966เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2010 10:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท