คำปลาหลาย หมู่บ้านมหัศจรรย์


คำปลาหลาย เศรษฐกิจพอเพียง การพึ่งตนเอง ผู้ใหญ่ถาวร สารสมบัติ

        นับเป็นความโชคดีของผู้เขียนได้มีโอกาสไปเยี่ยมหมู่บ้านที่ถือว่าก้าวพ้นการพึ่งพาคนอื่น เป็นแบบอย่างที่หาได้ยากในสังคมปัจจุบันที่อยู่ภายใต้กระแสอำนาจรัฐและทุนอย่างหลีกเลี่ยงยาก  ที่โชคดีกว่านั้น ผู้เขียนได้ไปเยี่ยมบ้านบ้านคำปลาหลาย ตำบลบ้านคา อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2552 กับนักศึกษาปริญญาตรีสาขาสังคมวิทยา โปรแกรมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย รศ.ดร.สมศักดิ์  ศรีสันติสุข ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาดุษฏีนิพนธ์ของผู้เขียน ก่อนหน้านั้นไปมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2551 กับคณะนักศึกษาปริญญาตรีเหมือนกัน แ่ต่ตอนนั้นไปกันหลายคณะตามที่แต่ละคนสนใจ ซึ่งจัดโดยกองกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่ถึงจะไปซ้ำอีกครั้งหนึ่งหรือกี่ครั้ง การไปแต่ละครั้งได้แง่่คิดมุมมองทั้งที่แตกต่างและเพิ่มเติมในรายละเอียดที่เราไม่เคยได้ฟังในคราวก่อนทำให้เข้าใจความเป็นมา เป็นไปของหมู่บ้านมากขึ้น ซึ่งผู้เขียนจะนำมาถ่ายทอดไว้ส่วนหนึ่งดังนี้

       ใครจะคิดว่าหมู่บ้านหนึ่งของภาคอีสานที่ถูกจัดอันดับว่ายากจนที่สุดในประเทศไทย ได้ยกตัวเองให้พ้นจากข้อกล่าวหาดังกล่าวด้วยความท้าทายอันใหม่ ที่หมู่บ้านไทยจำนวนไม่น้อยยังคงตกอยู่ในวังวนของสิ่งเหล่านั้นอยู่ คือ “ความร่ำรวยที่วัดกันด้วยเงินเป็นตัวตั้ง” ไม่ใช่วัดกันด้วยความมั่งคั่งของทรัพยากรที่มีอยู่เหลือเฟือในสังคมไทยทุกภาค         ปัจจุบันกลายเป็นหมู่บ้านที่มีคนจากต่างถิ่นทุกระดับ หลากหลายสาขาอาชีพ มาเยี่ยมเยือนมาก ที่สุดหมู่บ้านหนึ่งในประเทศไทย ทั้งมาเพื่อชื่นชมความสำเร็จ และนำไปเป็นแบบอย่างในการพัฒนาพื้นที่ของตนเองต่อไป

       “บ้านคำปลาหลาย” ชื่อก็บอกถึงสภาพของพื้นที่อย่างดีที่สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินอีสานที่ขัดแย้งกับความเห็นของหน่วยงานรัฐจำนวนไม่น้อยว่า “คนอีสานจน” จนหลายรัฐบาลที่ผ่านมาทุ่มงบประมาณมากมายมหาศาล เพื่อให้คนอีสานรวย แต่สุดท้ายก็กลายเป็นพ่อค้านายทุน และนักการเมืองเหล่านั้นต่างหากที่ใช้วาทกรรม “คนอีสานจน” มาเป็นแหล่งตักตวงผลประโยชน์ตลอดมา “คำปลาหลาย” แปลเป็นภาษาอีสาน และภาษาไทยแบบตรงตัวว่า “มีปลามากมาย” สะท้อนให้เห็นว่าเป็นหมู่บ้านที่มีความชุกชุม อุดมสมบูรณ์ของปลา ที่เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของมนุษย์เป็นอย่างมาก

         บ้านคำปลาหลาย ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2520 เป็นหมู่บ้านหนึ่ง (หมู่ที่ 9) ในตำบลบ้านดง อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ตั้งอยู่ในบริเวณใต้เขื่อนอุบลรัตน์จังหวัดขอนแก่น มีเนื้อที่ประมาณ 3,500 ไร่ ประชาชนส่วนใหญ่ทำอาชีพการเกษตรเพื่อเลี้ยงตัวเอง มีกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรมากมาย ผู้ใหญ่บ้านคนแรก ชื่อ นายมี ชนวัตร และคนปัจจุบันที่อยู่ในตำแหน่งมาร่วม 20 ปี คือ นายถาวร สารสมบัติ

 

        ผู้ใหญ่ถาวร  สารสมบัติเป็นผู้นำท้องที่คนหนึ่งที่เป็นตัวอย่างของการเป็นผู้ใหญ่บ้าน ที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ถ้าบ้านคำปลาหวายไม่มีผู้ใหญ่คนนี้ ก็ไม่รู้ว่าวันนี้บ้านคำปลาหวายจะพ้นจากวาทกรรมความยากจนดังกล่าวข้างต้นได้อย่างไร  ดังนั้นผู้นำจึงมีความสำคัญไม่น้อยในการสร้างชุมชนให้เข้มแข็งสามารถต่อสู้กับพลังภายนอกทั้งอำนาจรัฐและทุนนิยมที่เข้ามา

        ผู้ใหญ่ถาวร เล่าให้ฟังว่า ในปี 2532 บ้านคำปลาหลายจัดอยู่ในอันดับหมู่บ้านที่ยากจนมากที่สุดในอำเภออุบลรัตน์  คือ มีรายได้เฉลี่ยต่อคน/ปี ประมาณ 8,000 – 15,000 บาท และเป็นหมู่บ้านพึ่งตัวเองไม่ได้  เมื่อก่อนมีเด็กขาดสารอาหารเป็นจำนวนมาก ประมาณว่า เด็กใน 25 คน จะมี 24 คนที่พบว่าขาดสารอาหาร ที่เป็นเช่นนี้  เพราะบ้านคำปลาหลายในเวลานั้น ตกอยู่ภายใต้อุดมการณ์ทุนนิยมเต็มตัว ประชาชนในหมู่บ้านปลูกพืชเชิงเดี่ยวทั้งหมู่บ้าน เช่น อ้อย มันสำปะหลัง และยูคาลิปตัส ปอแก้วส่งโรงงาน เป็นต้น พืชเหล่านี้กินไม่ได้สักอย่าง ชาวบ้านยิ่งทำยิ่งพึ่งตนเองได้  ขายได้แต่เงินเอาไปซื้ออาหารกินอย่างเดียว  เพราะในหมู่บ้านไม่มีอาหารที่จะกินดังเช่นแต่ก่อน   เมื่อราคาผลผลิตของพืชเศรษฐกิจเหล่านั้นตกต่ำ  ก็ต้องเป็นหนี้เป็นสิน ไม่มีเงินซื้อข้าวปลา อาหารที่ประทังชีวิตที่ดีได้   ชาวบ้านจึงยิ่งจนลงไปอีก

       ในปี 2537 คนลำปลาหลายเริ่มมาทบทวนความทุกข์ของตนเอง  โดยจัดเวทีชุมชนค้นหาสาเหตุ และแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน สิ่งที่เรายากจนเพราะอะไร และทำอย่างไรเพื่อที่จะให้ชาวบ้านหายจน และพึ่งตนเองได้  แนวทางที่ใช้ คือ  บันได 9 ขั้นตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช มหาราช และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  ทำให้คนในหมู่บ้านได้รู้ว่า ทางสายกลางอยู่ตรงไหน ซึ่งบันได 9 ขั้นสู่เศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วย

 

                บันได 9 ขั้นนี้ ถ้าใครทำไม่สำเร็จแล้วถือว่าไม่มีปัญญา ไม่มีสมอง ดังนั้นบันไดเก้าขั้นจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้  คนต้องมีจิตสำนึกที่ดี  บันได 9 ขั้นดังกล่าวจะสำเร็จได้ก็ด้วย 6 x 2 ตัวชี้วัด คือ 6 สถานี ประกอบด้วย

1. สถานีลดรายจ่าย

2. สถานีเพิ่มรายได้

3. สถานีประหยัด

4. สถานีกระบวนการเรียนรู้

5. สถานีอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

6. สถานีเลี้ยงอาหารต่อกันในชุมชน

       ปัจจุบันคนในบ้านคำปลาหลายมีความอยู่ดีกินดีกว่าในอดีตมาก คนทั้งหมู่บ้านยึดอาชีพเกษตร  ซึ่งเป็นอาชีพที่คนไทยจำนวนไม่น้อยดูถูกว่ายากจน ลำบาก ทุกข์ยาก แต่คนปลาหลายยืนยันด้วยการกระทำ และรักในอาชีพนี้  อาชีพเกษตรกร ไม่ใช้อาชีพที่สร้างเงินเพื่อมาสร้างความสุขอันจอมปลอมให้กับมนุษย์ แต่เป็นวิถีชีวิตซึ่งเป็นมากกว่าอาชีพ ที่เกี่ยวโยงกันระหว่างคนกับคน และคนกับธรรมชาติ  คนที่ทำการเกษตรจึงไม่สามารถแยกชีวิตออกจากธรรมชาติได้ เพราะธรรมชาติ คือส่วนสำคัญของชีวิต

ความสำเร็จดังกล่าว ทำให้หน่วยงานราชการยกย่องให้บ้านคำปลาหลายเป็นหมู่บ้านมหัศจรรย์ คือ

1. คนในหมู่บ้านไม่มีคนเป็นหนี้ ธกส.เลยแม้แต่ครอบครัวเดียว

2.  ทุกหลังคาเรือนมีแหล่งอาหารเป็นของตนเอง มีบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงโค เป็นไก่ ปลูกพืชสัตว์สวนครัว และสามารถแบ่งปันให้กับเพื่อนบ้านได้ตลอดเวลา

3. มีกฎ กติกาของหมู่บ้าน ทุกหลักคาเรือนต้องปลูก ต้นไม้ อย่างน้อยปีละ 10 ต้นต่อคาเรือน

 

สิ่งที่หมู่บ้านทำปลาหลายทำในปัจจุบัน คือ ทำเรื่อง กินอิ่ม (ปากท้อง)  นอนอุ่น (ลูกหลานไม่ติดยา พ่อแม่ไม่ติดอบายมุข) และทุนมี (ปัญญา สังคม เงินตรา)

ตอนนี้ในหมู่บ้านมีกลุ่มโค 350 ตัว แยกเป็นโคนม ประมาณ 150 ตัว ควาย 40 ตัว รวมกับแล้วประมาณ 600 ตัว ในวันหนึ่ง ๆ ให้มูลสัตว์ประมาณ 6 กิโลกรัมต่อตัว จึงมีมูลสัตว์ที่สามารถทำปุ๋ยธรรมชาติได้มหาศาล ไม่จำเป็นต้องซื้อปุ๋ยเคมีมาใช้แต่อย่างใด

มีกลุ่มแม่บ้านเพื่อการพัฒนา ทำให้แม่บ้านมีงานทำเป็นอาชีพ ไม่ต้องออกไปหางานทำข้างนอกหมู่บ้าน 

มีกลุ่มออมทรัพย์ของหมู่บ้าน สร้างภูมิคุ้มกันให้กับหมู่บ้าน ทั้งอาหาร การเงิน และความสงบ และสังคม

มีกลุ่มเด็กและเยาวชนรักษ์ถิ่น ทำให้เด็กได้เห็นกระบวนการเรียนรู้ นำไปสู่การพึ่งตนเองได้ เรียนรู้ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น ฮีต 12 คอง 14 และสอนจริยธรรมที่ท้าทายกระแสโลกาภิวัตน์  เด็กและเยาวชนเหล่านี้ เรียนจบแล้วพึ่งตนเองได้ มีชีวิตที่ไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น ไม่ต้องเป็นลูกจ้างคนอื่น หรือขี้ข้าคนอื่น

คำสำคัญ (Tags): #บ้านคำปลาหลาย
หมายเลขบันทึก: 334510เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2010 10:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท