ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

ดร.อัญชลี กิ๊บบินส์: บริหารกาย บริหารจิต บริหารชีวิตตามแนวพุทธ


ดร.อัญชลี กิ๊บบินส์
กรรมการที่ปรึกษาและอุปถัมภ์มูลนิธิการศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนาภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง


ชีวิต ที่เกษียณตัวเองจากงานประจำเมื่ออายุ 40 ปี มาทำงานจิตอาสาเพื่อช่วยสร้าง "คน" ทั้งในส่วนของตะเข็บชายแดนไทย-พม่า ขณะเดียวกันก็ปั้นนักศึกษาตอบโจทย์ให้ตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจ

" อัญชลี" เริ่มต้นชีวิตจากนักศึกษาภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาเป็นครีเอทีฟ อยู่เอเยนซี่โฆษณา ไปเรียนต่ออีคอมเมิร์ซ และกลับมาทำงานในสิ่งที่เคยทำ แต่เห็นโลกกว้างขึ้น แข็งแกร่งมากขึ้น มีความกล้ามากขึ้น วันหนึ่งก็รู้สึกว่าตัวเอง "อิ่ม" กับการใช้ชีวิตแบบนี้แล้ว หันกลับมาดูตัวเองอย่างจริงจังว่าจะใช้ชีวิตที่เหลืออย่างไรในการพัฒนาตัว เองและผู้อื่น

เหตุที่ตัดสินใจว่า "พอแล้ว" และเริ่มหันมาทำจิตอาสาเพื่อสังคม

จริง ๆ มันเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อเราอายุได้ 40 ปี มาถึงจุดที่หลาย ๆ คนควรที่จะหยุดคิดว่าผ่านมาครึ่งชีวิตแล้วทำอะไรต่อ มันอิ่มทั้งในเรื่องการเงิน ตำแหน่ง เคยเป็นซีอีโอบริษัทโฆษณาอันดับ 2 ของโลก (Y&R) ตอนนั้นไปอยู่ที่จีนแผ่นดินใหญ่ ตลาดใหญ่ที่สุดแล้ว มีความซับซ้อน ความท้าทายก็คงจะหาที่ไหนเปรียบไม่ได้แล้ว พอกลับมาเมืองไทย มานั่งบริหารเหมือนเดิมอีก และที่ผ่านมาเราไปพัฒนาข้างนอก ไปพัฒนาเรื่องความมั่นคงทางชีวิตของเรา รู้สึกว่า ไม่ได้แล้ว ชีวิตที่เหลืออีกครึ่งหนึ่ง ต้องได้ทำในสิ่งที่มันพัฒนาตัวเรา

อะไรที่ถึงจุดคลิกทำให้เปลี่ยน

คน ที่ทำงานมาแล้ว 20 ปี ถึงวันหนึ่งที่เราหยุดคิด จากบริษัท 100 ล้านบาท เป็น 200 ล้านบาท ปัญหาก็ปัญหาเดิมที่ต้องมาทำซ้ำอยู่ตลอด เวลาเทรนคน คนเก่ง คนเก่าย้ายงานออกไป มันเริ่มซ้ำ เราก็เริ่มมองมันไม่มีความหมาย เวลาที่เราไปแข่งให้ได้งาน 5 ล้านบาท ดีใจฉลองเปิดแชมเปญ แต่ไตรมาสหน้าขอ 10 ล้านน่ะ โฮ...มันเตะลูกบอลไปถึงจุด แล้วต้องเตะอีก...มันสิ้นสุดตรงไหน แล้วเราทำอะไรให้กับคนอื่นบ้าง นอกจากตัวเราเอง พอเราบอกว่า เราพอแล้ว เราลาออก ทุกคนงง...ถามว่า ทำไมถึงพอ เราบอกว่า เวลา ที่คนอยู่จุดสูงสุด Where they go. เราไปไหนต่อ ถ้านายตอบเราได้ เราจะอยู่ต่อ...ลงใช่ไหม วิธีการลง ลงอย่างไร ให้เขาเอาลง หรือ เราอิ่มแล้ว เราเดินลงเอง นี่ต่างหากคือ จุดเปลี่ยน...

ทุกอย่างที่เราทำมาเมื่อจนถึงอายุ 40 ปี ทำให้ครอบครัวของตัวเอง ทำให้ตัวเอง ทำให้ลูกหลานตัวเอง ยังไม่มีทำให้คนอื่นเลย เริ่มคิดว่าจะอยู่ตรงไหนที่จะทำให้คนอื่นได้ แต่เราต้องพัฒนา "ตน" ถึงจุดหนึ่งก่อนที่จะบอกคนอื่นได้ว่ามันอิ่มแล้ว มันรู้สึกอย่างไร เวลาหิวต้องทำอย่างไรจะให้มันอิ่ม อิ่มได้เร็วขึ้นอย่างไร

ความคิดตรงนั้นกลับมาว่าเราจะสอนหนังสือ แต่จะไม่สอนอย่างชนิดที่เราเคย ถูกสอน เพราะตลาดเปลี่ยน ธุรกิจเปลี่ยน เราก็หวนกลับไปคิด จุดที่เรานั่ง แล้วเราต้องหาพนักงาน ทำไมเด็กที่จบออกมา มันไม่ตรงกับตลาดที่ต้องทำ เพราะเรามานั่งอยู่ปลายน้ำนี่นา ก็ลองเปลี่ยนมานั่งต้นน้ำดูบ้าง มาพัฒนาคนจากมหาวิทยาลัย อาจจะช่วยอุตสาหกรรมได้ทางหนึ่ง

เริ่มมาเป็นอาจารย์ มันคือให้อย่างที่ ไม่หวังผล สอนวิชาเดียว แต่ก็ต้องเตรียมปีการศึกษาใหม่ ต้อง เตรียมใหม่ โลกมันเปลี่ยน สังคมมันเปลี่ยน ไม่มีเลกเชอร์เดิม

วัตถุ ประสงค์ที่ตั้งไว้มี 2 หน้าที่ มี 4 เป้าประสงค์ หน้าที่แรก คือ 1.ทางโลก 2.ทางธรรม และ 4 เป้าประสงค์ คือ 1.ขอให้ได้สืบทอดอายุพุทธศาสนา ไม่ว่าจะวิธีใด 2.สืบทอดอายุพุทธศาสนา 3.สืบสานอารยธรรมของบรรพชน 4.สืบสร้างคนดีและช่วยเหลือผู้ยากไร้

ทำไมต้องคิดว่าต้องทำ 4 เป้าประสงค์นี้

เพราะ เราทำสิ่งแรกจบไปแล้ว คือทำให้ตัวเอง มันจบหมดแล้ว วันที่เราอยากได้อะไร เดินเข้าไปได้เลย อย่างไปซื้อเพชร ไปนั่งจิบน้ำชาที่โอเรียนเต็ลทุกวัน แล้วไงล่ะ...มันมีความสุขไหม มันหายใจทิ้ง... ชีวิตมันเป็นโลภะ

แต่ ที่ได้ทำ ได้เข้าไปช่วยเหลือเด็ก ๆ ที่เป็นพระเณร เด็ก ๆ เหล่านั้นตรงตะเข็บชายแดนไทย-พม่า วันหนึ่งเราไปเห็นว่า เขาเป็นเหา เราก็เอายาแก้เหาไปให้ พอกลับไปถามว่าเหาหายยัง หายแล้วครับ มันอิ่มจริง ๆ กินนอนกับพวกเขา ต้องเข้าไปอย่างนั้น เราจะรู้ว่ามันได้อะไรเยอะ แต่มันก็ขึ้นอยู่กับสัดส่วนชีวิตเราด้วยนะ คนที่บ้านเขาเข้าใจไหม ไม่ใช่ข้างในบ้านยังไม่อิ่ม มันออกไปให้ข้างนอกไม่ได้นะ นี่คือพลังที่เรามีอยู่ทุกวันนี้ ขณะที่ทางโลก เรายังมีงานทำ ก็ยังจุนเจือไป

ทุกที่ที่เราไปช่วย เราอยากทำให้เป็นวิถีพุทธ ตอบเป้าประสงค์เรา ซึ่งอยากช่วยคนยากไร้ สืบสานอารยธรรม สืบทอดพระพุทธศาสนา ก็บอกเขาว่า เราจะสร้างตรงนี้เป็นฐานทัพธรรม ทำให้เป็นโรงเรียนนานาชาติกินนอน ฟังแล้วดูดีนะ ชาติต่าง ๆ อาทิ ปกากะญอ มูเซอ ลีซอ ไต หนึ่งห้อง หนึ่งหลังคา มีเด็ก 9 คน ครู 1 คนดูแล เมื่อมีบ้าน มีโรงเรียนแล้ว ถ้ามีวัดด้วย ก็ครบสูตรเลย เป็นโครงการแรกที่เราได้ช่วยอย่างบูรณาการ

โครงการต่อไปต้องเสร็จภาย ใน 3 เดือน เป็นลานธรรม เพื่อให้เด็กได้ฝึกปฏิบัติตรงนั้น มันก็ได้ทั้งสองทาง คือจริยธรรมและการศึกษา เราก็บอกครูว่า เราจะหาช้างเผือกในไทย เด็กที่เก่งจบถึง ม.3 เราจะส่งให้เรียนต่อทางโลก และระหว่างที่ปิด ภาคเรียนแต่ละครั้ง เราให้เด็กบวชชีพราหมณ์ถือศีลปฏิบัติ ใครที่เป็นช้างเผือกในพระพุทธศาสนา เอาไปส่งเรียนทางปริยัติธรรม ฉะนั้น พอเด็กส่งไปจนจบกลับมาพัฒนา เด็กเหล่านี้จะมีอนาคตต่อ

การสอนหนังสือที่ชายแดนไทย-พม่า ถือเป็นการให้อีกมิติหนึ่ง

เรา รู้ว่าคนที่มีประสบการณ์ "การให้" ที่ต่างกันจะเกิดผลที่ต่างกัน เราต้องไปด้วย ไปเพื่อทำให้คนได้เห็นข้ามชอต ไม่ใช่ไปแค่ถ่ายรูปแล้วก็กลับ ยังไม่รู้เลยว่า ดั้งเดิมพื้นเพเขามาจากไหน เขาพูดภาษาอะไร โรงเรียนที่ไป เป็นโรงเรียนนานาชาตินะ มีกี่ชาติ อะไรบ้าง ปกากะญอ มูเซอ ลีซอ ไต ฯลฯ และรู้ไหม ไต เวลาเขาสวัสดี เขาทักกันอย่างไร เราอยากให้กลับมาแบบซึมลึกเข้าไป ถ้าเราไม่เข้าใจเขาและช่วยเขา มันแค่ทักทาย ฮัลโหลแล้วไป มันก็เป็นสังคมเมืองอยู่ดี

ขณะเดียวกัน คนให้ก็ได้ เป็นการลดกิเลสของเรา เวลาเราไปเลี้ยงลูกค้าแต่ละครั้ง เปิดไวน์ขวดหนึ่งเป็นหมื่น เหรียญบาท เด็กยังไม่เคยเห็นเลย เค้กก้อนหนึ่ง เขาไม่เคยเห็น มันเห็น ค่าของเงินเยอะขึ้น เหมือนเราขจัดมารในตัวเรา มันช่วยเรา ไม่ได้ช่วยเขานะ ช่วยตัวเราเยอะ

อะไรทำให้ค้นพบแบบนั้น

พระพุทธเจ้า พระพุทธศาสนา ถ้าเราเข้าถึงจริง ๆ ไม่ใช่แค่อยู่บนบัตรประชาชน ต้องปฏิบัติจริง ๆ ทาน ศีล ภาวนา นี่ง่ายมาก แต่ให้ทานแบบไหน เวลาที่เราอ่านในพระธรรมว่า พระพุทธเจ้าบอกว่า ให้คนที่เราควรสงเคราะห์ เอามาตีความซิ...ว่าเป็นใครบ้างล่ะ แล้วไปให้ทำซิ ไปหยิบเอาแค่พระธรรมมาหนึ่งบรรทัด ดึงออกมาแล้วทำให้มันเกิดขึ้น เราจะเห็นคำตอบของชีวิต แต่เราอ่านผ่าน เราอ่านเพื่อที่จะเอามาพูดกันต่อ แต่ลองหยิบเอามาหนึ่งบรรทัด สงเคราะห์คนที่สมควรสงเคราะห์ เราได้ทำหรือยัง มันคือการสร้างเหตุสร้างผลในการให้ สร้างเหตุสร้างผลอะไรที่เราควรจะให้ และเวลาไปแต่ละที่ มันก็ได้สืบสานอารยธรรม เช่น ไปสิบสองปันนา ไปเชียงตุง เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมบรรพชนทั้งนั้น ที่ยังมีชีวิตอยู่

อะไรทำให้กล้าเปลี่ยน

ก็ความกล้านั่น แหละ เพราะโลกมันยังเปลี่ยนเลย พระพุทธเจ้าบอกว่า ห้ามกลัว ห้ามสะดุ้ง ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องสะดุ้ง แค่นี้เอง เราอ่านพระธรรมแล้วเราไม่นำมาใช้ ในพระไตรปิฎกคือหลักการบริหารงานและหลักการครองใจคน มีหมดเลย...แต่เราไม่เอามาใช้เอง และเราอยากลอง โดยที่เราต้องรอบคอบ และรู้เท่าทันสังขาร รู้ว่าเราจะชา เดี๋ยวมันจะปวด...

ตอนเรียบจบจาก ออสเตรเลีย กลับมาทำงานที่สิงคโปร์ แค่เปลี่ยนประเทศ เปลี่ยนสิ่งแวดล้อม แต่ยังทำอาชีพเดิมที่เรายังทำได้ดี คือครีเอทีฟ

พอไปจีนก็ยิ่งสนุก ท้าทายมาก ในยุคจีนปี 1998 อินเทอร์เน็ตกำลังบูม ฝรั่งเต็มบ้านเต็มเมือง แต่ภาษาจีนเราไม่แข็งแรง พวกฝรั่งไม่ต้องพูดภาษาจีน แต่ได้เงินเดือนเยอะ ไม่ต้องเข้าใจลูกน้องก็อยู่ได้ พอไปจีน เราหัวดำ แม้จะพูดภาษาอังกฤษคล่อง แต่ไม่มีโอกาส คงไม่มีใครเชื่อเรา จึงไปเรียนภาษาจีน มีหลัก คือ "3 ม" คือ

1.มุ่งมั่น ต้องเอาให้ได้

2.หมกมุ่นกับมัน 6 เดือน ไม่เปิดรับภาษาอื่นเลย พูดภาษากับคนทำความสะอาด เปิด CCTV ตัดบทความสั้น ๆ จากหนังสือพิมพ์แล้วแปล

3.หมั่นฝึก ออกจากบ้านเรียกแท็กซี่ ฝึกถาม ที่นี่คืออะไร ไปย่านโน้นย่านนี้ หากทำ "3 ม" ทุกคนเก่งได้หมด เชื่อว่าทุกคนทำได้

เป็นคนเอเชียแล้วไปทำงานใหญ่อย่างนั้น ยากไหม

เรา จะไปประเทศนั้น เราต้องชอบประเทศนั้น เราต้องชอบคนในประเทศนั้น และต้องชอบภาษาเขา เราจึงจะอยู่ได้อย่างมีความสุข อย่างที่บอก เราต้องได้ภาษาก่อน เพราะการเรียนภาษา จะรู้วัฒนธรรม พอรู้วัฒนธรรม จะรู้หัวใจของคนประเทศนั้น ๆ เรากลายเป็นคนที่คนท้องถิ่นรักเราเหมือนพี่สาว ไม่ใช่เจ้านายอย่างเดียว เป็นเหมือนญาติพี่น้อง มีพนักงาน 300 กว่าคน คนไทย เฉิงตู ปักกิ่ง กว่างโจว เพราะฉะนั้น เอาภาษาให้ได้ก่อน เหมือนไป ต่างประเทศ หากไปเที่ยว ถ้าไม่พูดภาษาเขา เราไม่ได้อะไรลึก เช่นเดียวกัน เรียนภาษาไหน ก็ไปที่นั่น

มีหลักบริหารอย่างไร

หลัก เหรอ...ถ้าพูดอีก ก็ต้องหลักพระพุทธเจ้านั่นแหละ หลักเดียวเลย คือหลักที่เราดำเนินชีวิต ที่เราเดินอย่างนี้แล้วมีความสุข แต่บางคนมีย้อนกลับมา โธ่เอ๊ย...ฉันยังไม่อิ่มแบบเธอเนี่ย เราบอกว่า อย่ารอให้อิ่มซิ วันนี้มีเท่าไหร่ ก็เจียดมันออกมา แบ่งส่วนที่เหลือ เจือส่วนที่ขาด

บางคนบอกว่า ต้องมี 300 ล้านบาทก่อน แล้วจึงหยุด แล้วค่อยมาทำบุญ แต่จริง ๆ ไม่ได้หมายความว่าต้องเอาเงินมาทำ และไม่ได้หมายความว่าเอากายมาทำ แต่เอา "ใจ" ที่อนุโมทนาไปด้วย ก็ได้แล้ว บางคนคิดว่าเราเรียนมาตั้งเยอะตั้งแยะ แต่ไปอยู่ป่า มองแบบนั้น ถึงบอกว่า "ปัจจัย" ไม่ใช่เรื่องใหญ่ "เวลา" ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ "ใจ" ที่วันนี้เราทำไม่ได้ แต่เราได้ยินมา แล้วเราบอกต่อไหม มีนะที่เพื่อนเป็นแบบนั้น อย่างที่เขียนเรื่อง "ไม่มีเทียนไม่ได้เรียน" เพื่อนก็ช่วยส่งเทียนไขมาเลย 6,000 เล่ม เพราะเด็กที่ศูนย์อพยพต้องใช้เทียนไข คืนหนึ่งมีโควตาให้เทียน 1 เล่ม ปักไว้บนก้อนหินซึ่งมีน้ำตาเทียนเต็มเลย ลูก 3 คนล้อมตรงกลาง บ้างวาดรูป บ้างเรียนหนังสือจนเทียนหมด ก็นอน ต่างจากเด็กในเมือง กลับมาจากโรงเรียน ก็เล่นเกม แต่เขาไม่มี

เรื่องเหล่านี้ จริง ๆ ต้องคลิกเองหรือไม่

ใช่... จริง ๆ เป็นสิ่งที่ต้องรู้ได้ด้วยตัวเอง แต่ก็มี 2 ทางนะ คือ 1.รู้ด้วยตัวเอง และ 2.การมีบุคคลที่เป็นกัลยาณมิตรบอกเราให้ได้เห็นตาม แต่ใจเราต้องเปิด ใจเราอย่าไปยึดกับสิ่งที่เป็นเปลือก จนถอดเปลือกไม่ออก อย่างบางคนยึดอยู่ในตำแหน่ง วันนี้โดนแป๊ก หาทางออกไม่ได้ ถามว่า ยึดทำไม อย่างนามบัตร ถ้าไม่อยู่ที่นี่แล้ว ก็เป็นแค่กระดาษแผ่นหนึ่งเท่านั้น อย่ายึด ในสิ่งที่ว่าเราได้ทำอะไรให้คนอื่นหรือเปล่า เราทำอะไรที่มันเป็นสุขจริง ๆ ให้ตัวเองหรือเปล่า..

http://www.prachachat.net/view_news.php?newsid=02spe01040253&sectionid=0223&day=2010-02-04

หมายเลขบันทึก: 334469เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2010 00:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ตัวอย่างที่ดี มีค่ามากกว่าคำสอน

หลังจากได้เข้าร่วมโครงการ "จิตอาสา" กับพี่ๆ น้องๆ ชาว Gotoknow พลันสายตาได้เหลือบไปพบ "เพื่อนร่วมโลกอีกท่าน" ได้พยายามสรรค์สร้างคุณงามความดีแก่เพื่อนมนุษย์ โดยไม่เห็นแก่ความยากลำบาก โดยใช้หลักการทางพระพุทธศาสนามาเป็นฐานในการดำเนินชีวิต จึงได้นำตัวอย่างที่ดีเหล่านี้มาบอกเล่าเก้าสิบให้พวกเราได้มีโอกาสได้แบ่งปันประสบการณ์ และเป็นแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิต

นมัสการ พระคุณเจ้าค่ะ

คนต้นแบบ ที่น่าเอาเป็นตัวอย่างค่ะ

แต่พอลล่าคิดว่า คนเราจะทำ เท่าที่ตัวเอง สามารถก่อนเจ้าค่ะ ปัจจัยสี่ต้องพอเพียงก่อนค่ะ

ที่สำคัญ ใจต้องพอ ค่ะ พอลล่าได่เรียนรู้ จากเรื่องนี้เจ้าค่ะ

นมัสการ ค่ะ

โยมพอลล่า

  • "ใจต้องพอ" นับเป็นการสรุปที่ลึกซึ้งและตรงประเด็น
  • ปัญหาืคือ "แม่น้ำไม่เคยเต็มฉันใด ใจมนุษย์มักจะไม่มีคำ่ว่าพอฉันนั้น"

นมัสการเจ้าค่ะ

อ่านด้วยความอิ่ม

อนุโมทนากับท่านด้วย

พระพุทธองค์สอนเราหมดแล้วทุกอย่าง เพียงแต่เรายังนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับชรวิตไม่มากเท่านั้นเองนะเจ้าคะ

นมัสการลาเจ้าค่ะ

_/|\_

ได้ตรงนี้ ดีมากเลยครับ

  *   เราอย่าไปยึดกับสิ่งที่เป็นเปลือก จนถอดเปลือกไม่ออก

*   อย่างบางคนยึดอยู่ในตำแหน่ง วันนี้โดนแป๊ก หาทางออกไม่ได้

*  ยึดทำไม อย่างนามบัตร ถ้าไม่อยู่ที่นี่แล้ว ก็เป็นแค่กระดาษแผ่นหนึ่งเท่านั้น

*   อย่ายึด ในสิ่งที่ว่าเราได้ทำอะไรให้คนอื่นหรือเปล่า เราทำอะไรที่มันเป็นสุขจริง ๆ ให้ตัวเองหรือเปล่า..

      ขอบคุณธรรมะดีๆครับ   ผมยังไปไม่ถึงจุดนั้น  แต่จะค่อยๆพยายามทำใจครับ 

ท่านรองฯ

  • สังเคราะห์และต่อยอดให้พวกเราได้เห็นมุมอื่นๆ อีกมากมาย
  • เป็นการตึกผลึกจากการทำงานของท่านรองเองด้วย
  • อนุโมทนาขอบคุณมากสำหรับแงุ่มุมดีๆ ที่มาเติมเต็มให้
  • เจริญพร

นมัสการเจ้าค่ะ

ขออนุโมทนากับตัวอย่างการดำเนินชีวิตที่น่าเอามาเป็นแบบอย่าง

อ่านไปก็ร้องอือฮือทำได้ไงเนี่ย

ถ้ามีโอกาสเราจะทำบ้างในส่วนที่เราทำได้

โยมวรรณา

  • ดีใจที่โยมได้แรงบันดาลใจที่ดี
  • สักวันหนึ่งโยมอาจจะเป็นเช่นดร.อััญชลีก็ได้
  • และเราอาจจะได้งานหลักการดำเนินชีวิตของโยมน่ะ
  • เจริญพร

สวัสดีค่ะหลวงพ่อ

ตั้งแต่หนูได้อ่านเรื่องราวมาทั้งหมด

ทำให้หนูรู้ว่า

คนเราถ้าอยากเป็นคนดี

ก็ไม่ยากถ้าเราคิดจะทำ

เท่านี้เอง ค่ะ

ขอบคุณค่ะหลวงพ่อ *-*

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท