เงินตราสมัยศรีวิชัย


อาณาจักรศรีวิชัย

 

         ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓  อาณาจักรศรีวิชัย  “ ดินแดนแห่งการพาณิชย์ทางทะเล”  เริ่มโดดเด่นและรุ่งเรืองขึ้นด้วยความสามารถในการควบคุมปากแม่น้ำและบริเวณอ่าวต่างๆ  ทางตอนใต้ของประเทศไทยไปจนถึงบริเวณเกาะสุมาตรา  ทำให้สามารถควบคุมเส้นทางการค้าระหว่างอินเดียและจีน  ซึ่งส่งผลให้อาณาจักรสามารถแผ่ขยายดินแดนออกไปได้ไกลตั้งแต่บริเวณนครศรีธรรมราชจนถึงบริเวณตอนเหนือของแหลมมลายูและบริเวณหมู่เกาะชวาทั้งหมด

         จากสภาพภูมิประเทศซึ่งส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นเมืองท่าที่เอื้อต่อการติดต่อค้าขายกับชาวต่างแดน  จึงสร้างความมั่งคั่งและอำนาจให้กับอาณาจักรในช่วงเวลาต่อมา  และปรากฎข้อสนับสนุนความรุ่งเรืองของอาณาจักรนี้โดยนักภูมิศาสตร์ชาวอาหรับชื่อมะสุดี  ซึ่งบันทึกไว้เมื่อ พ.ศ. ๑๕๓๙ ว่า   “ อาณาจักรแห่งมหาราชผู้เป็นเจ้าแห่งหมู่เกาะซาบัค  ซึ่งมีกะลาห์  ศรีบูชา ( ศรีวิชัย )  และเกาะอื่นๆ ในทะเลจีนนั้น  เขาเรียกราชาของเขาว่ามหาราช  อาณาจักรของมหาราชนี้มีประชาชนมาก  มีกองทัพใหญ่โต  ไม่มีใครสามารถเดินทางโดยเรือที่เร็วที่สุดไปให้ครบหมู่เกาะที่มีประชาชนหนาแน่นเหล่านั้นให้ทั่วถึงภายใน ๒ ปี  พระราชาทรงมีเครื่องหอมและไม้หอมนานาชนิด  เช่น  พิมเสน  กานพลู  ฝาง  จันทน์  อบเชยและอื่นๆ”

         เนื่องจากมีความสามารถทางด้านการค้าขาย  จึงมีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาติดต่อแลกเปลี่ยนสินค้ากันมากหลักฐานการขุดพบสื่อกลางหรือเงินตราในแถบอาณาจักรแห่งนี้พบว่ามี ๒ ประเภท  ได้แก่  เงินดอกจันและเงินนโม

         เงินดอกจัน  มีลักษณะค่อนข้างกลมแบน  ทำด้วยโลหะเงินและทองคำ  ด้านหนี่งเป็นตรา ๔ แฉก  ส่วนอีกด้านหนึ่งมีอักษรสันสกฤตโบราณอ่านได้ว่า “ วร”  พบเป็นจำนวนมากในบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดสงขลา

         เงินนโม  มีลักษณะค่อนข้างกลมแบน  มีขนาดเล็ก  ด้านหนึ่งมีอักษรสันสกฤตโบราณคล้ายอักษร “ น”  อีกด้านหนี่งมีรอยบากเป็นร่องตรงกลาง  ทำจากแร่เงินผสมพลวงซึ่งเป็นแร่ที่หาได้ง่ายทางภาคใต้  พบเป็นจำนวนมากที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดสุราษฎร์ธานี

         อาณาจักรศรีวิชัยยั่งยืนมาจนกระทั่งถูกอาณาจักรชวาเข้าโจมตี  จึงหมดอำนาจลงใน พ.ศ. ๑๘๑๘  กระนั้น  ความยิ่งใหญ่และความเจริญของอาณาจักรศรีวิชัยยังคงหลงเหลือให้เห็นจนถึงทุกวันนี้จากโบราณสถานและโบราณวัตถุต่างๆ  เช่น  พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร  รวมทั้งเงินดอกจันและเงินนโม  ซึ่งเป็นหลักฐานแสดงความรุ่งเรืองทางการค้าของอาณาจักรได้เป็นอย่างดี

(เงินตราสมัยศรีวิชัย) 

ข้อมูล : เพื่อนนักศึกาภาควิชาประวัติศาสตร์

เรียบเรียง : วาทิน ศานติ์ สันติ

หมายเลขบันทึก: 334454เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2010 22:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท