ปฏิญญาสมานฉันท์ดับไฟใต้


'อานันท์ ปันยารชุน' ในฐานะประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.)จะมาเปิดใจถึงต้นตอของปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น ภายหลังเข้ามารับหน้าที่ตลอด 1 ปีเต็มๆ รวมทั้งเปิดเผยถึงรายงานฉบับสมบูรณ์ของ (กอส.) ที่ไม่เพียงจะส่งถึงมือรัฐบาลเพื่อใช้เป็นแนวทางจัดการปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ด้วยสันติวิธีเท่านั้น ทว่ายังเผยแพร่สู่สาธารณชนเพื่อสร้างความตระหนักชัดในสาเหตุความรุนแรง
          แน่ทีเดียว หม่นเมฆบาดหมางที่กดทับปลายด้ามขวานทองของไทยไว้ตั้งแต่อรุณรุ่งของต้นปี 2547 ย่อมรัดร้อยแน่นแนบกับความจริงอันประจักษ์ชัดผ่านกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม การลุแก่อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐที่นำไปสู่การอุ้ม รีดเค้นพยานวัตถุจากผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหา และเหนืออื่นใดนโยบายและมาตรการรัฐบาลภายใต้การบริหารงานของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรที่บ่อยคราขัดหลักการสมานฉันท์อย่างรุนแรง จนเหลือทิ้งไว้เพียงเถ้าถ่านความกลัวเกรง หวาดระแวง ไม่ไว้วางใจในรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐ หรือกระทั่งระหว่างผู้นับถือศาสนาต่างกันชนิดยากที่จะลืมเลือน
       
       'อานันท์ ปันยารชุน' ในฐานะประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.)จะมาเปิดใจถึงต้นตอของปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น ภายหลังเข้ามารับหน้าที่ตลอด 1 ปีเต็มๆ รวมทั้งเปิดเผยถึงรายงานฉบับสมบูรณ์ของ (กอส.) ที่ไม่เพียงจะส่งถึงมือรัฐบาลเพื่อใช้เป็นแนวทางจัดการปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ด้วยสันติวิธีเท่านั้น ทว่ายังเผยแพร่สู่สาธารณชนเพื่อสร้างความตระหนักชัดในสาเหตุความรุนแรงในวันที่ 5 มิถุนายนนี้
       
       *ขวากหนามบนรายทาง
       
       "ปัญหาแท้จริงคือประชาชนไม่ไว้ใจรัฐ ไม่มีความเชื่อถือ ตราบใดชุมชนไม่ไว้ใจรัฐ ไม่มีความเชื่อถือเจ้าหน้าที่รัฐ เขาก็จะกลัว เมื่อมีความกลัวประกอบกับความไม่ไว้ใจ ก็จะเกิดความเกลียดชัง หวาดเกรง เกิดความรู้สึกต่างๆ ในทางไม่ดี เพราะฉะนั้น ความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่จึงน้อยมาก ซึ่งปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นนั้นอยู่ แม้กอส.ได้เข้าไปวางแนวทางสมานฉันท์ในพื้นที่กว่า 1 ปีแล้ว สถานการณ์จะดีขึ้นบ้าง แต่ก็ยังไม่มากนัก"
       

       นั่นคือบทสรุปของอานันท์ที่ตรงประเด็นที่สุดในสิ่งที่เกิดขึ้นในภาคใต้
       
       จากนั้นประธานกอส.ได้ขยายความเพิ่มเติมว่า สถานการณ์พื้นที่ชายแดนใต้ยากสงบและแนวโน้มความรุนแรงขัดแย้งจะไม่ลดระดับลง หากผู้รับผิดชอบทางการเมืองยังไม่เปลี่ยนวิธีคิดและกลับมาทบทวนเรื่องการศึกษา การพัฒนาที่เชื่อมโยงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การยอมรับความแตกต่าง และกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งยังต้องมองปัญหาความมั่นคงครอบคลุมมิติทางเศรษฐกิจ สังคม ความยุติธรรมและการให้โอกาสทางสังคมด้วย
       
       "ปัญหาภาคใต้ไม่ใช่ต่างจากภาคอื่นๆ เพราะเป็นความยากจน ว่างงาน แย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ได้รับความยุติธรรมจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและกระบวนการยุติธรรม แต่แน่ละถ้ามีปัญหาเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา และสภาพท้องถิ่น ยิ่งประกอบกับการสอบสวน จับกุมคนผิด ซึ่งศาลปล่อยหมด ก็ยิ่งเกิดความไม่ไว้วางใจมากขึ้น สิ่งเหล่านี้กลายเป็นปัญหาลูกโซ่และถูกอ้างอิงเพื่อทำให้เหตุการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น การแก้ไขจึงต้องทำทั้งต้นเหตุและปลายเหตุ โดยทางกอส.เน้นแก้ปัญหาที่ต้นเหตุมากกว่า ขณะรัฐบาลพยายามแก้ไขปลายเหตุด้วยการปราบปราม" ประธานกอส.ไขปริศนา พร้อมกำชับว่าต้องเร่งเปลี่ยนทัศนคติของรัฐที่มักเน้นการปราบปรามอย่างเดียว ขณะที่มาตรการป้องกันค่อนข้างถูกละเลย อย่างไรก็ตาม การปราบปรามก็จำเป็น แต่ต้องถูกต้องเหมาะสม อยู่ในขอบเขตที่ประชาชนรับได้ ไม่ใช่ดังการปราบปรามตากใบหรือกรือเซะ
       
       และแม้สถานการณ์รอบกว่า 1 ปีหลังตั้งคณะกรรมการกอส. เหตุร้ายรายวันจะไม่ได้ลดลงมากหรือหมดไปตามสังคมคาดหวัง ทว่าถ้าถ้วนถี่ในการพิจารณาจะพบว่าภารกิจของกอส.ไม่ใช่ลดอัตราฆ่ารายวัน แต่เป็นการขจัดเงื่อนไขปัจจัยความขัดแย้งรุนแรงระยะยาวมากกว่า กระนั้นก็มิได้หมายความว่าจะไม่นำเสนอแนวทางคลี่คลายปัญหาระยะสั้นเลย เช่น มาตรการคุ้มครองครู โรงเรียน
       
       "สังคมต้องเรียนรู้ว่ากอส.ไม่มีอำนาจแก้ปัญหารายวัน เพราะไม่มีหน่วยทหาร ตำรวจ ข่าวกรอง คือไม่มีอำนาจบริหาร มีเพียงอำนาจเสนอแนะมาตรการและนโยบายระยะยาวเพื่อผ่อนคลายปัญหาต้นเหตุ ส่วนเหตุร้ายที่เกิดเกือบทุกวัน เป็นหน้าที่ของรัฐต้องเข้ามาจัดการดูแลทุกข์สุข ปกป้องทรัพย์สินชีวิตประชาชน ซึ่งกอส.ไม่มีหน้าที่โดยตรงในการแก้ปัญหาประจำวัน เพราะนั่นเป็นหน้าที่ของรัฐโดยตรง" ประธานกอส.เผย พลางย้ำว่าหน้าที่ความรับผิดชอบแท้จริงคือการค้นหาต้นเหตุ วิเคราะห์สถานการณ์ และนำเสนอรายงานพร้อมข้อเสนอแนะต่างๆ ท้ายสุดจึงอยู่ที่รัฐบาลจะขานรับมากน้อยแค่ไหน ฉะนั้นจึงไม่เป็นธรรมเลยหากสังคมจะนำสถานการณ์รายวันมาเข้าสมการกับกอส. เนื่องด้วยความรุนแรงหลายพันคดีมีมาก่อนตั้งกอส.นับปี
       

       ส่วนขวากหนามบนรายทางสมานฉันท์นั้น ประธานกอส.มองว่าวิธีการปราบปรามหรือการโต้ตอบกันไปมาระหว่างรัฐและกลุ่มผู้ก่อการ จะนำความพยาบาทและการแก้แค้นเข้าคืบคลุมชายแดนใต้ดังกรณีติมอร์ตะวันออก
       
       ยิ่งหลังเหตุสะเทือนขวัญอย่างการสังหาร 2 นาวิกโยธินที่บ้านตันหยงลิมอ หรือล่าสุดกับการทารุณกรรม 2 ครูโรงเรียนกูจิงลือปะด้วยแล้ว ทางกอส.ยิ่งต้องพยายามให้ความรู้ สติปัญญากับคนในพื้นที่และคนของรัฐมากขึ้นว่าการใช้ความรุนแรงไม่ได้แก้ปัญหา ด้วยปัญหาแท้จริงต้องหาคำตอบจากการเมือง การเมืองต้องนำการทหารและการปราบปราบ รวมทั้งรัฐบาลต้องซื่อสัตย์กับความจริง และจับกุมผู้กระทำผิดมาลงโทษ ดังกรณีรายงานผลการสอบสวนกรณีเหตุการณ์กรือเซะและตากใบที่แม้จะปัจจุบันจะเปิดเผยแล้ว ทว่าป่านนี้ผู้กระทำผิดก็ยังลอยนวลอยู่
       
       * ปฏิญญาสมานฉันท์
       
       ขณะสังคมเพรียกหาความอิสระแท้จริงจากองค์กรอิสระ ทั้งที่มาจากรัฐธรรมนูญโดยตรงก็ดี หรือคณะกรรมการอิสระชุดพิเศษเพื่อสอบสวนกรณีเฉพาะต่างๆ ก็ดี ต่างต้องผิดหวังกันไปเมื่อเสมือนองค์กรเหล่านั้นสยบยอมแก่อำนาจรัฐหมดแล้ว ทว่าความจัดเจนลุ่มลึกของอดีตนายกรัฐมนตรียามผสาน 49 คณะกรรมการกอส.ที่ส่วนใหญ่เป็นภาคประชาสังคมก็นำมาซึ่งแถลงการณ์หรือรายงานการวิจัยเชิงวิชาการที่กล้าวิพากษ์กฎหมายพิเศษของรัฐบาลอย่าง พ.ร.บ.ฉุกเฉินที่ขัดกับหลักการสมานฉันท์อย่างตรงไปตรงมา
       
       "กอส.คือตัวแทนภาคประชาสังคม ไม่ใช่หน่วยงานรัฐ จึงไม่ต้องปกป้องรัฐ ตั้งขึ้นหลังจากคณาจารย์ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเมื่อพฤศจิกายน 2547 ด้วยสถานการณ์สามจังหวัดชายแดนใต้เข้าสภาพคับขันมาก ไม่มีอะไรดีขึ้น อยากให้รัฐบาลทบทวนนโยบายที่ใช้แต่เดิม โดยเฉพาะหลังกรณีตากใบ เพราะความรุนแรงได้ครอบคลุมไม่ใช่เฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ยังรวมถึงประชาชนด้วย จึงอยากให้รัฐบาลทบทวนนโยบายเก่า หันมาใช้นโยบายที่เสริมสร้างการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี โดยการให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย" ประธานกอส.เผย พลางย้อนว่าคณะกรรมการกอส. กอปรด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ เป็นคนในและนอกพื้นที่ ทั้งผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน นักวิชาการ ข้าราชการด้านความมั่นคง การพัฒนาและปกครอง และที่สำคัญทุกคน 'อิสระจากอคติ' ของรัฐบาลและการเมือง
       
       "รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณแก้ปัญหาภาคใต้มา 2 ปีครึ่งแล้ว การปฏิบัติงานของรัฐบาล บางครั้งก็สอดคล้อง บางครั้งก็ไม่สอดคล้องกับแนวทางสมานฉันท์ แต่จากการที่กอส.ไม่ใช่หน่วยงานราชการจึงไม่ได้รับรายงานว่ารัฐบาลทำอะไรไปบ้าง แต่ดูจากเหตุการณ์ทั่วไปยังมีความรุนแรง การก่อความไม่สงบก็ยังคงอยู่ ซึ่งในรายงานชิ้นนี้ก็ได้ประเมินแล้วว่าเหตุการณ์ไม่ดีขึ้น"
       
       ฉันทามติของรายงานกอส.ชิ้นนี้จึงไม่เพียงนำองค์ความรู้ที่สังคมรู้อยู่แล้วแต่หลงลืมไปกลับคืนมา อาทิ ประเทศไทยประกอบด้วยความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม สังคมไทยยอมรับนับถือความหลากหลายมาช้านานตั้งแต่สมัยพระนารายณ์ พระมหากษัตริย์เป็นองค์ศาสนูปถัมภกปกป้องทุกศาสนา ประชาชนคนไทยไม่แบ่งภาค ผิว ศาสนาเท่านั้น แต่ยังพยายามขยายองค์ความรู้ในการจัดการปัญหาท้องถิ่นแก่รัฐบาลว่าต้องลึกซึ้งเข้าใจประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย
       
       นอกจากนั้น ยังเน้นพัฒนาคุณภาพการศึกษา ยอมรับความหลากหลายของภาษาท้องถิ่น วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ท้องถิ่น การพัฒนาบนฐานรากเศรษฐกิจพอเพียงโดยคงความสอดคล้องของวิถีชีวิตความเป็นอยู่ รวมทั้งปกป้องสิทธิประโยชน์ทั้งคนมุสลิมและคนไทยพุทธที่เป็นชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ควบคู่กับสร้างเสริมประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมให้เข้มข้นขึ้น
       
       "รายงานกอส. ที่พิมพ์ 10,000 เล่ม อย่างน้อยจะช่วยให้คนในและนอกพื้นที่เข้าใจปัญหาได้ถูกต้องขึ้น แม้ความไม่เข้าใจจะยังคงหลงเหลืออยู่บ้างก็ตาม ที่สำคัญไม่ใช่แค่นำเสนอเสร็จแล้วก็จบ แต่เป็นกระบวนการที่ประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมตลอดไปด้วย เพราะปัญหาประเทศชาติปล่อยเป็นหน้าที่รัฐบาลอย่างเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยพลังประชาชนด้วยว่าต้องการจะให้ไปในทิศทางไหน" ประธานกอส.มอง พร้อมเน้นว่ารายงานชิ้นนี้จะทะลายม่านอคติแห่งการแบ่งแยกดินแดนหรือความขัดแย้งทางศาสนาได้ ด้วยสรุปแล้วว่าปัญหาชายแดนใต้ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างศาสนาและการแบ่งแยกดินแดน แม้ปัจจุบันจะยังมีคนที่ฝักใฝ่ด้านนี้ยู่บ้าง แต่ก็เพียงหลักร้อยหรือพันเท่านั้น ขณะที่พลเมืองในสามจังหวัดมากถึงหนึ่งล้านแปดแสนคน อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่ากังวลคือกลุ่มเยาวชนที่อาจหลงเชื่อ
       
       "กอส.พยายามทำดีที่สุดแล้ว แต่เราไม่มีอำนาจบังคับรัฐบาล และเราก็ไม่ได้บอกว่าทุกสิ่งที่เสนอถูกต้องหมด แต่เป็นการระดมสมองเพื่อนำไปสู่นโยบายและแนวทางการแก้ไข เราจึงเปิดพื้นที่ให้วิพากษ์วิจารณ์ เป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันทั้งฝ่ายรัฐและประชาชน"
       

       แต่แน่ละ แม้กอส.จะพยายามยิ่งยวดในการคลี่คลายสถานการณ์ ทว่าท้ายสุดบ่อยครั้งกลายเป็นเพียง 'หนังหน้าไฟ' ให้กับรัฐบาลใช้ลดแรงกระแทกที่จะถาโถมไปยังผู้นำยามเปลวเพลิงลุกลามสามจังหวัดชายแดนใต้ไปทั่ว กระนั้นไฉนเลยประธานกอส.จะไม่ทราบ แต่ด้วยความมุ่งมั่นปักเสาเข็มสมานฉันท์ในพื้นที่สีแดงให้จงได้ ปณิธานแน่วแน่จึงไม่มลายหายตามแรงเสียดทานของสังคม
       
       "ทราบก่อนรับตำแหน่งประธานกอส.แล้วว่าอาจต้องเป็นหนังหน้าไฟให้รัฐบาล แต่ด้วยมีเป้าหมายใหญ่กว่า เพราะปัญหาภาคใต้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว อีกทั้งทำอะไรก็ตามย่อมมีคนชอบ ไม่ชอบเป็นธรรมดา ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับกอส. ก็มีด้วยกัน 2 สถานะ คือเขาไม่เข้าใจเรา หรือไม่ก็ได้ข้อมูลไม่ถูกต้อง"
       
       …วันนี้แม้กอส.จะยุบตัวโดยปริยายหลังนำเสนอรายงานฉบับสมบูรณ์เสร็จสิ้น ทว่าท้ายสุดปณิธานที่ปักเสาเข็มไว้ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้คงลึกมากพอจะสรรค์สร้างกระบวนการสมานฉันท์ที่ถักถ้อยร้อยรัดอยู่กับแนวทางพระราชดำริ 'เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา' จนวิวัฒน์เป็น 'ปฏิญญาความสมานฉันท์' ร่วมกันของทุกคนในสังคมที่ปรารถนาดับไฟใต้ด้วยสันติวิธี นำสังคมไทยไปถูกทางมากกว่าเพียงลมปากนักการเมืองอย่างแท้จริง
       

       ************************
       
       เรื่อง-ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ
หมายเลขบันทึก: 33443เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2006 14:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท