สเปน : สงครามกลางเมืองสเปน ค.ศ. ๑๙๓๖ - ๑๙๓๙ (The Civil War of 1936 – 1939)


นายพล Francisco Franco ผู้นำสเปน (ค.ศ. ๑๙๓๙ - ๑๙๗๕)

สเปน : สงครามกลางเมืองสเปน ค.ศ. ๑๙๓๖ - ๑๙๓๙ (The Civil War of 1936 – 1939)

 

                สงครามกลางเมืองสเปนเป็นสงครามแห่งความหฤโหดที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. ๑๙๓๖ – ๑๙๓๙ โดยมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งระหว่างฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาในสเปน ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมส่งผลให้สเปนเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากประชาธิปไตยไปเป็นระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ

                สาเหตุโดยทั่วไป

                ๑. เป็นการต่อสู้ระหว่างลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism) และคอมมิวนิสต์ (Communism)ในสเปน

                ๒. การจัดตั้งสาธารณรัฐที่ ๒ (The Second Republic of 1931 - 1936) ขึ้นมาเป็นการจัดตั้งเพื่อนำเอาเสปนเข้าไปสู่ระบอบการปกครองสาธารณรัฐในชนชั้นกรรมาชีพซึ่งได้สร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายขวา ซึ่งนำโดยพรรคอนุรักษนิยม ศาสนจักร Catholic ทหาร และผู้สูญเสียอำนาจ

                ๓. พรรคอนุรักษนิยมซึ่งนิยมกษัตริย์แพ้การเลือกตั้งในเดือน กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๓๖ ได้ก่อตั้งกลุ่มแนวร่วมประชาชน (Popular Fornt)  มีนโยบายไม่ต้องการประนีประนอมกับฝ่ายสาธารณรัฐนิยม จึงหันไปร่วมมือกับกลุ่มปฏิวัติ

                ๔.ทหารไม่พอใจในนโยบายของรัฐบาลฝ่ายซ้ายของสาธารณรัฐที่ ๒ และต้องการกลับเข้ามามีอำนาจทางการเมืองอีกครั้ง จึงเป็นแกนนำก่อการปฏิวัติ นโยบายที่ฝ่ายทหารไม่พอใจคือ

                       ๔.๑ ต่อต้านกษัตริย์ ลดบทบาทของศาสนจักรเช่นการตัดบทบาททางการศึกษาขั้นพื้นฐาน

                      ๔.๒ ลดกำลังกองทหาร และลดบทบาททางการเมืองของทหาร

                      ๔.๓ การขยายอิทธิพลของพรรคฝ่ายซ้ายและลัทธิคอมมิวนิสต์ในสเปน

                ๕. ศาสนจักร Catholic ไม่พอใจรัฐบาลที่ลดบทบาทของศาสนจักรทางสังคม หรือการควบคุมศาสนจักรโดยตรง ด้วยเหตุผลดังกล่าว เมื่อเกิดการปฏิวัติ ศาสนจักรจึงถือหางฝ่ายปฏิวัติ

                ๖. การปกครองของสาธารณรัฐที่ ๒ เกิดความวุ่นวายจากการปะทะกันของประชาชนฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา อันเนื่องมาจาก

                    ๖.๑ เกิดการเปลี่ยนแปลรัฐบาลตลอดเวลา ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศชาติได้

                    ๖.๒ ประชาชนเกิดความสับสนและเบื่อหน่ายการปกครองในระบอบสาธารณรัฐประชาธิปไตย

                สาเหตุปัจจุบัน

                สืบเนื่องจากวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ นาย คาโว โซเตโล (Calvo Sotelo) หัวหน้าพรรคฝ่ายขวาถูกลอบสังหาร ดังนั้นในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ ทหารบกกลุ่มหนึ่ง (ซึ่งเตรียมตัวก่อการปฏิวัติไว้ล่วงหน้าแล้ว) ที่นำโดยนายพลฟรานซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco) ก่อการปฏิวัติขึ้นโดยใช้เหตุการณ์ลอบสังหารนี้มาเป็นข้ออ้าง

                สงครามกลางเมืองเป็นการต่อสู่กันระหว่างฝ่ายปฏิวัติชาตินิยมที่นำโดยทหารกับฝ่ายรัฐบาลสาธารณรัฐ ซึ่งทั้ง ๒ ฝ่ายต่างก็มีขุมกำลังของตนเองและที่ได้รับการช่วยเหลือจากต่างชาติ จำแนกได้ดังนี้

         ขุมกำลังฝ่ายปฏิวัติชาตินิยม (Nationalists)

                - ทหารบกและทหารอากาศบางส่วน

                - กองทหารต่างด้าว (Foreign Legent) ซึ่งเอาไว้ปราบกบฏมัวร์ใน Spanish Morocco

                - กองทหารมัวร์ (Moorish Troops) จาก Spanish Morocco

                ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ 

                - ฮิตเลอร์ (เยอรมนี) ส่งกองทหาร ๑๐,๐๐๐ คน และเครื่องบินรบ ๑๐๐ ลำ

                - มุโสลินี (อิตาลี) ส่งทหาร ๕๐,๐๐๐ พร้อมปืนใหญ่

 

          ขุมกำลังฝ่ายสาธารณรัฐนิยม (Loyal to Republic)

               - ทหารเรือจำนวนมาก ทหารอากาศบางส่วน

               - กองกำลังทหารอาสา ได้แก่ สหภาพกรรมกร กลุ่มอาณาธิปไตย กลุ่มอาณาคิสต์ชาวคาตาลัน (Catalan) และชาวบาสก์ (ฺBasque)

                ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ 

              - โซเวียตรัสเซีย ส่งรถถัง เครื่องบิน ที่ปรึกษา และช่างเทคนิค

              - กองทหารนานาชาติในยุโรป (International Brigde) ที่ต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์

                สถานการณ์ของสงคราม

                ๑. ค.ศ. ๑๙๓๗ เป็นต้นมา ทั้งเยอรมนีและอิตาลีได้ส่งทหารเข้าช่วยเหลือกับฝ่ายปฏิวัติชาตินิยม ในขณะเดียวกันฝ่ายสาธารณรัฐนิยมได้รับความช่วยเหลือจากโซเวียตรัสเซีย  แต่อังกฤษและฝรั่งเศสกลับขอร้องไม่ให้ต่างชาติเข้าแทรกแซงสเปน

                 ๒. ฝ่ายสาธารณรัฐนิยมได้ขอความช่วยเหลือจากอังกฤษและฝรั่งเศส แต่ผู้นำของทั้งสองประเทศไม่ได้ดำเนินการใด ๆ

                ๓. ค.ศ. ๑๙๓๘ เป็นต้นมา ความช่วยเหลือจากรัสเซียที่ส่งให้กับฝ่ายสาธารณรัฐนิยมได้ลดลง เพราะถูกสกัดกั้นจากเยอรมนีและอิตาลี

                ๔. เกิดความแตกแยกภายในรัฐบาลเองคือพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตที่นิยมสตาลิน (Stalinism) เกรงว่าฝ่ายรัฐบาลที่เคยนิยมสตาลลินจะหันไปนิยมทรอสกี้ (Trotskyites) จึงแยกตัวไปร่วมมือกับฝ่ายของนายพลฟรังโกรบกับฝ่ายรัฐบาล ผลที่ตามมาคือ

                  มกราคม ค.ศ. ๑๙๓๙ กองทัพปฏิวัติที่นำโดยนายพลฟรังโกเข้ายึดกรุงบาเซโลน่าได้

                  มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ กรุงมาดริดเกิดการจลาจลจากฝ่ายคอมมิวนิสต์กับฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์

                  ๒๘ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ กองทัพปฏิวัติเดินทัพเข้าสู่กรุงมาดริด

                  ๑ เมษายน ค.ศ. ๑๙๓๙ นายพลฟรังโกประกาศยุติสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อมานาน ๓ ปี

                ผลของสงคราม

                ๑. เป็นการล้มการปกครองจากระบอบสาธารณรัฐประชาธิปไตยไปสู่ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ (Totalitarian Government) ทำให้สเปนใกล้ชิดกับประเทศฝ่ายอักษะ (Axis Powers)

                ๒. ชัยชนะของฝ่ายปฏิวัติชาตินิยมมีผลตามมาคือ

                      ๒.๑. ยุติความวุ่นวายในสเปน

                      ๒.๒  ผู้คนกว่า ๖๐๐,๐๐๐ ชีวิตต้องสูญเสียเพื่อแลกกับความสงบสุขในประเทศภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการเบ็ดเสร็จที่เข้มแข็ง

                ๓. ความแตกแยกทางสังคมยังคงอยู่ ความเสียหายที่สำคัญที่สุดคือเศรษฐกิจ บ้านเมืองพังพินาศ

                ๔. ทหารสามารถยึดอำนาจได้สำเร็จ เพราะทหารเป็นกลุ่มที่มีระเบียบวินัยและถืออาวุธ

                ๕. ฮิตเลอร์และมุโสลินีถือว่าชัยชนะของฝ่ายปฏิวัติชาตินิยมเป็นชัยชนะของฝ่ายอักษะและฝ่ายเผด็จการเบ็ดเสร็จ

                ๖. นายพลฟรานซิสโก ฟรังโกปกครองสเปนเป็นระยะเวลา ๓๖ ปี ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๓๙ – ๑๙๗๕

 

วาทิน ศานติ์ สันติ : เรียบเรียง

หมายเลขบันทึก: 334425เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2010 21:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านดูเถิดท่านผู้มีปัญยาทั้งหลาย ความแตกแยกของสังคมส่งผลรุนแรงดั่งที่ได้เกิดมาแล้วในหลายประเทศ ขอจงจำไว้และใช้เป็นบทเรียน และขอภาวนาว่า "อย่าให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ในประเทศของเราเลย

ด้วยความปราภนาดีจาก นักท่องอดีต

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท