เหนื่อยกับการเดินทาง เหนื่อยกับการทำงาน เหนื่อยกับการเล่าเรียน อีกทั้งต้องเหนื่อยกับการรอคอย ทั้งหมดนี้ที่ต้องทนเหนื่อยนั้นเพื่ออะไร? ก็เพราะทั้งหมดนี้มันคือความสุขของตนเองในอนาคต จึงต้องทนรอทนเหนื่อยกันต่อไป
“เคยฝากหา...หนังสือจิตวิทยาให้คำปรึกษาถึง 2 ครั้ง แต่หาไม่เจอ ครั้งนี้หาให้และเจอแล้วน่าซื้อน่าอ่านด้วย เหนื่อยทั้ง 7 วันที่ไหน อย่าท้อถึงอย่างไรก็เป็นกำลังใจให้ตลอดเวลา แม้อยู่ไกลทั้งใจและกาย” คำปลอบโยนและให้กำลังใจจากใครคนหนึ่งผ่านแว่วแผ่ว ๆ มาในวันที่เริ่มเหนื่อยและเริ่มท้อกับการเดินทางตลอดสามสัปดาห์ที่ผ่านมา บวกกับการรอคอยที่ดูจะเนิ่นนานสำหรับตนที่เฝ้าคอยคำตอบอะไรบางอย่าง แต่กำลังใจมันก็คลายให้หายเหนื่อยช่วยบรรเทาเบาบางลงได้บ้าง
เมื่อวานยะลาฝนตกหนัก ตั้งแต่ช่วง 5 โมงเย็น ตนก็เฝ้าแต่นั่งดูฝนเทกระหน่ำลงมาอย่างบ้าคลั่ง ฟ้าร้องคำรามเสียงดังจนน่ากลัว นึกถึงตอนเด็กพี่ชายพาวิ่งไปหลบฝนใต้ต้นมันสัมปะหลัง ต้นเล็ก ๆ ที่ทวดปลูกไว้ใกล้ ๆ บ้าน ด้วยความตกใจกับเสียงฟ้าร้องสองคนพี่น้องจึงแอบมุดตัวก้มหน้าหลับตาปี๋ กอดกันกลมใต้ต้นมันสัมปะหลัง มีใบมีก้านไม่กี่นับ ไม่ได้กลัวฝนที่กระหน่ำลงมาจะทำให้ตัวเปียก แต่กลัวเสียงคำรามของฟ้าที่มาพร้อมกับแสง สี เสียง...นี่แหละคืออุปสรรคตามธรรมชาติของการดำเนินชีวิตของคนบนโลกกว้าง จวบจนกระทั่งฝนเริ่มซาเมื่อตอนใกล้ค่ำ ความเหนื่อย ความท้อ เริ่มจางหายไปกับสายฝน บอกกับตนหลังฝนซาอย่าท้อแท้แค่กายเหนื่อย หนทางชีวิตมีไว้เพื่อให้สู้ จึงยืนอยู่สู้ได้ทุกวันนี้ ไม่มีสิ่งใดได้มาแค่เอ่ยขอ หากแต่บางครั้งต้องรอ...รอเพื่อก่อมันขึ้นมาใหม่
“เหนื่อยไหมคนดี คำ ๆ นี้ทำให้หายเหนื่อยไหม
อยากให้หายไป เหลือไว้แต่ความสดใส น่ารัก"
หากคิดจะลุย ขอให้มีความสุขกับสิ่งที่ทำนะครับ - เหนื่อยได้ แต่อย่าท้อนะครับ เป็นกำลังใจให้ครับ
ผมมีเรื่องเล่าจาก อาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช เป็นเรื่องของเด็กนักเรียนโรงเรียนวชิราวุธคนหนึ่ง ไม่อยากทำกิจกรรมอะไรทั้งสิ้นในวันหยุด แต่อยากนอนเล่น ครูที่ดูแลกิจกรรมก็วิตกกังวลว่าเด็กคนนี้จะเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์จากการนอนเล่น จึงมาปรึกษาอาจารย์ชัยอนันต์
คำตอบของอาจารย์ คือปล่อยให้เด็กคนนั้นนอนไปตามที่เขาต้องการ การนอนเล่นในวันหยุดก็เป็นกิจกรรมหนึ่งเช่นเดียวกับกิจกรรมอื่นๆ
เหตุเพราะในโลกปัจจุบัน ความเครียดได้กลายเป็นเพื่อนสนิทแห่งยุคสมัย และหนึ่งในหลากหลายสาเหตุของความเครียดคือ "การทำอะไรๆ มากเกิน"
การที่อาจารย์ชัยอนันต์ บอกให้ครูปล่อยให้เด็กนอนไปเถอะ เพราะการนอนก็เป็นกิจกรรมหนึ่ง มันเป็นคำตอบที่มีนัยซ่อนอยู่ ถ้าคนไม่เข้าใจ ก็อาจพูดว่าอาจารย์เพี้ยนไปเสียแล้ว แต่ถ้ามองให้ลึกซึ้ง การนอนหรือการพักผ่อนคือทักษะอย่างหนึ่งซึ่งมนุษย์จำเป็นต้องฝึก
การที่เราเข้าใจว่าการเรียนมากๆ ทำอะไรมากๆ เป็นเรื่องจำเป็นที่สุดของชีวิต อาจต้องทบทวนใหม่เสียแล้ว
เพราะยอดขายยานอนหลับ สถิติคนเครียด สถิติครอบครัวหย่าร้าง สถิติเด็กก้าวร้าว และสถิติอาชญากรรมพุ่งสูงขึ้นทั่วทุกหัวระแหง
คงต้องกลับมาคิดเรื่องความพอดี เรียนพอดีๆ ทำงานอย่างพอดีๆ และใช้ชีวิตอย่างพอดีๆ รักษาสมดุลแห่งชีวิตให้ลงตัว (ทางสายกลาง)
คิดได้เช่นนี้ วันนี้ก็จะมีความสุข อนาคตก็จะสดใส เช่นกันครับ (เดี๋ยวผมจะไปดูบอลโลกแล้วครับ - แน่นอนว่าดูอย่างพอดีๆ ครับ .. )
ขอบคุณ อ.พงศกร มากค่ะ สำหรับกำลังใจและการให้ข้อคิดดี ๆ
สงสัยพักนี้ทุกคนจะวุ่น ๆ อยู่กับงาน ขอเป็นกำลังใจให้นะคะ คุณขจิต