พระธาตุประจำปีเกิด : ความเชื่อ


พระบรมสารีริกธาตุ คือ พระธาตุส่วนย่อยที่บังเกิดแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยเฉพาะ มิได้เป็นคำที่ใช้เรียก พระธาตุของพระอรหันตสาวก หรือพระธาตุเจดีย์ต่างๆ

          ในสังคมไทย ความเชื่อเรื่องปีนักษัตรที่สัมพันธ์กับปีเกิดและการนับอายุของแต่ละคนเป็นที่รับรู้กันแพร่หลาย ในแต่ละปีนักษัตรจึงกำหนดด้วยสัญลักษณ์เป็นสัตว์ประจำปีเกิด หรือที่เรียกว่า ๑๒ นักษัตร  โดยเฉพาะอย่างยิ่งดินแดนทางภาคเหนือของไทย  หรือ ล้านนา คติความเชื่อเรื่องปีนักษัตรยังสัมพันธ์กับคติการบูชาพระบรมธาตุ ดังปรากฏเป็นประเพณีการชุธาตุหรือการไหว้พระธาตุประจำปีเกิด  ว่าหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พุทธศาสนิกชนต่างก็ให้ความสำคัญต่อ พระบรมสารีริกธาตุ หรือ กระดูกของพระพุทธเจ้า ซึ่งมักจะเรียกกันสั้น ๆ ว่า พระบรมธาตุ หรือ พระธาตุ เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจาก เป็นเศษส่วนจากพระวรกายที่เหลืออยู่ไม่มากนัก จึงทำให้ต้องเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี   ประกอบกับในสมัยโบราณ นิยมการประดิษฐานพระบรมธาตุไว้ใต้เนินดินรูปครึ่งวงกลม แล้วปักฉัตรไว้ด้านบน เพื่อยกย่องและแสดงเกียรติยศของผู้ตายตามธรรมเนียมอินเดียโบราณ ต่อมาในสมัยพระเจ้าอโศก ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดและแจกจ่ายพระบรมสารีริกธาตุออกไปบูชายังเมืองต่าง ๆ ทำให้มีการสร้างสถูปบรรจุพระบรมธาตุขึ้นทั่วไป โดยมีรูปแบบแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น     สถูปเจดีย์สำคัญของบ้านเมืองต่าง ๆ ล้วนได้รับการอธิบายว่าเป็นสถานที่บรรจุพระบรมธาตุ ฉะนั้นบางครั้งจึงนิยมเรียกสถูปเจดีย์เหล่านั้นว่า พระธาตุ ซึ่งหมายถึง พระบรมธาตุซึ่งบรรจุอยู่ภายในสถูปเจดีย์นั่นเอง     ความเชื่อดังกล่าวได้รับการถ่ายทอดมาโดยลำดับจนถึงปัจจุบัน เกี่ยวกับสถูปเจดีย์ที่สำคัญของล้านนา ที่เกี่ยวข้องกับปีเกิด โดยมุ่งแสดงคติที่ว่า “ครั้งหนึ่งในชีวิตควรมีโอกาสเดินทางไปไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของตนเพื่อความเป็นสิริมงคล ”   โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเหนือ  ที่มีวรรณกรรมตำนานเรื่องพระเจ้าเลียบโลกได้ให้ภาพของการเสด็จมาเผยแผ่พระศาสนาโดยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่สัมพันธ์กับเรื่องพระธาตุที่ชัดเจน

       พระบรมสารีริกธาตุ คือ พระธาตุส่วนย่อยที่บังเกิดแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยเฉพาะ มิได้เป็นคำที่ใช้เรียก พระธาตุของพระอรหันตสาวก หรือพระธาตุเจดีย์ต่างๆ (บางทีอาจใช้คำว่า "พระบรมธาตุ" หรือ "พระสารีริกธาตุ" แทนได้)

       พระธาตุ คือ กระดูก หรือ ส่วนของร่างกายต่างๆ เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง โลหิต ฯลฯ ที่มีคุณลักษณะเป็นที่แตกต่างจากสามัญชนทั่วไป โดยมีลักษณะคล้าย ' ธาตุ ' ซึ่งหากมองโดย ไม่สังเกตให้ดีแล้ว ก็คล้าย กรวด หิน แก้ว เพชร ฯลฯ

       เนื่องจากพระบรมสารีริกธาตุที่พบเกือบทั้งหมดในปัจจุบัน มีความแตกต่างจากอัฐิของบุคคลธรรมดาทั่วไปอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตามยังพบลักษณะของพระบรมสารีริกธาตุที่มีลักษณะเหมือนกระดูกคนเช่นกัน เท่าที่พบเห็นได้ตามพระธาตุเจดีย์ทั่วไป หรือตามพิพิธภัณฑสถานต่างๆ ทั่วโลก สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่

      1.พระบรมสารีริกธาตุ ลักษณะ 'พระธาตุ' พระบรมสารีริกธาตุลักษณะนี้ พบมากในประเทศศรีลังกา ไทย จีน พม่า ฯลฯ มีลักษณะตรงหรือใกล้เคียงตามลักษณะที่ปรากฏใน อรรถกถาสุมังคลวิลาสินี ในประเทศไทยมีประดิษฐานอยู่ที่พระธาตุเจดีย์ ตามวัดต่างๆทั่วไป

      2.พระบรมสารีริกธาตุ ลักษณะ กระดูกคน พระบรมสารีริกธาตุนี้ พบเฉพาะเขตโบราณสถานในประเทศอินเดีย สำหรับในประเทศไทย รัฐบาลอังกฤษได้มอบให้แก่ประเทศไทย ๒ครั้ง ครั้งแรกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้ประดิษฐานอยู่ ณ เจดีย์ภูเขาทอง วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และครั้งที่ ๒ รัฐบาลได้อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ เจดีย์วัดพระศรีมหาธาตุฯ บางเขน

คติการไหว้พระธาตุประจำปีเกิด

       ในสมัยก่อน อาณาจักรล้านนา ล้านช้าง และพม่า ต่างเป็นแว่นแคว้นข้างเคียงที่มีความสัมพันธ์ ทางวัฒนธรรม กันมาก่อน การกำหนดให้มีการไหว้พระธาตุประจำปีเกิด จึงเป็นกลไก อย่างหนึ่ง ของการเดินทางติดต่อกันทำให้คนแต่ละเมืองที่อยู่ในเขตวัฒนธรรมเดียวกัน มีความสัมพันธ์ ไปมาหาสู่กันได้อย่างใกล้ชิดขึ้น  โดยคติความเชื่อดังกล่าวเกี่ยวพันกับพระพุทธศาสนา ที่นับเนื่องแต่หลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พุทธศาสนิกชนต่างก็ให้ความสำคัญต่อ พระบรมสารีริกธาตุ หรือ กระดูกของพระพุทธเจ้า ซึ่งมักจะเรียกกันสั้น ๆ ว่า พระบรมธาตุ หรือ พระธาตุ เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจาก เป็นเศษส่วนจากพระวรกายที่เหลืออยู่ไม่มากนัก จึงทำให้ต้องเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี  ในสมัยโบราณ มีการประดิษฐานพระบรมธาตุไว้ใต้เนินดินรูปครึ่งวงกลม แล้วปักฉัตรไว้ด้านบน เพื่อยกย่องและแสดงเกียรติยศของผู้ตายตามธรรมเนียมอินเดียโบราณ

         ต่อมาในสมัยพระเจ้าอโศก ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดและแจกจ่ายพระบรมสารีริกธาตุออกไปบูชายังเมืองต่าง ๆ ทำให้มีการสร้างสถูปบรรจุพระบรมธาตุขึ้นทั่วไป โดยมีรูปแบบแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่นสถูปเจดีย์สำคัญของบ้านเมืองต่าง ๆ ล้วนได้รับการอธิบายว่าเป็นสถานที่บรรจุพระบรมธาตุ ฉะนั้น บางครั้งจึงนิยมเรียกสถูปเจดีย์เหล่านั้นว่า พระธาตุ ซึ่งหมายถึง พระบรมธาตุซึ่งบรรจุอยู่ภาย ในสถูปเจดีย์นั่นเองดังนั้น การไหว้สถูปเจดีย์ ไม่ว่าจะมีรูปทรงงดงามแปลกพิศดารเพียงใดก็ตาม แต่หัวใจของการไหว้ ที่แท้จริงแล้ว ก็คือ การกราบ พระบรมสารีริกธาตุ ของพระพุทธเจ้าที่บรรจุอยู่ภายในสิ่งก่อสร้าง เหล่านั้น ดังนั้น การสักการะจึงควรกระทำด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ ปราศจากกิเลศตัณหา และที่สำคัญ ต้องระลึกเสมอว่า พระบรมธาตุไม่ใช่ผู้บันดาลสิ่งต่าง ๆ จึงไม่ควรขอสิ่งใดนอกจากสวัสดิมงคล

        คติการบูชาพระธาตุปีเกิดและตำนานที่เกี่ยวข้องสะท้อนถึงการแพร่กระจายของพุทธศาสนาในดินแดนไทยมาแต่โบราณ นอกจากนี้การสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ยังสัมพันธ์กับการเกิดชุมชนเมืองต่าง ๆ อันก่อให้เกิดคติความเชื่อและวัฒนธรรมร่วมกันของผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ โดยเฉพาะในภาคเหนือของไทยที่มีกลุ่มชนมากมายอาศัยอยู่ โดยมีพระบรมธาตุเจดีย์และสิ่งสำคัญทางพุทธศาสนาเป็นศูนย์กลางแห่งจิตใจ

หมายเลขบันทึก: 333738เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2010 07:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 10:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท