สะพาน


สะพาน
เมื่อกล่าวถึงสะพาน ฉันมักจะนึกถึงท่อนไม้ที่พา ดวางระหว่างสองฝั่งของธารน้ ำในป่ากว้าง สลิงเหล็กที่พาดเชื่อมระหว่ างสองผาสูง หรือไม่ก็สิ่งปลูกสร้างสวยหรูเช่นพระรามเก้าในเมืองหลวง...
นั่นเป็นความหมายเชิงรูปธรรมของคำว่า “สะพาน”
...สิ่งปลูกสร้างที่เชื่อมระหว่างสองฝั่งฟากของธารน้ำ แม่น้ำ กระทั่งหุบเหวลึก...
หากพาดพิงอิงอ้างกับข้อเขียนของนักเขียนชื่อดังเช่นอาจารย์เสกสรร ประเสริฐกุลในหนังสือความเรียงชุด ผ่านพบไม่ผูกพัน แล้ว...
“สะพาน” มีความหมายเชิงนามธรรมที่ลึกซึ้งยิ่งกว่าการเชื่อมโยงระหว่างสองฝั่งฟาก
นั่นคือ ไม่เพียง “เชื่อมโยง” หากหมายถึง “นำพา” ด้วย
เช่นบางตอนที่กล่าวว่า...
...บางคนอาจข้ามสะพานไปพบคนรักและยุติการพลัดพรากที่ผ่านมาเนิ่นนาน...

เห็นได้ชัดว่าสะพานนั้นนำพาบางคนไปสู่การสิ้นสุดของความทุกข์อันยาวนานที่รอคอยการปลดเปลื้อง

เมื่อเชื่อมโยงกับประสบการณ์ส่วนตัว ฉันพบว่า “สะพาน” ในความหมายเชิงนามธรรมเช่นว่านั้นสอดคล้องกับภารกิจของกลุ่มผู้ทำกิจกรรมที่ชื่อว่า สมาคมสร้างสรรค์กิจกรรมอิสรชน
สองเดือนเต็มกับการเข้าเป็นอาสาสมัครในสมาคมดังกล่าวนานพอที่จะทำให้ฉันรับรู้และเข้าใจได้ว่าที่แห่งนี้คือสะพานนำพาผู้ไร้บ้านในพื้นที่สนามหลวงสู่ความหลุดพ้นจากความทุกข์บางอย่าง นั่นก็คือ การหวนคืนสู่การมีตัวตนในสังคม มากไปกว่านั้น คือการได้หวนคืนสู่บ้านและครอบครัวอันเป็นที่รัก หลังจากที่ต้องเผชิญกับสภาพไร้ตัวตนในสังคมและขาดหายการติดต่อจากครอบครัว
ตามตรง ฉันรู้สึกประทับมากกับสมาคมขนาดเล็กแต่ยิ่งใหญ่ในภาระแห่งนี้ เพราะการที่ใครจะเป็นสะพานทอดกายให้ผู้อื่นก้าวข้ามได้ ต้องอาศัยการเสียสละอย่างแท้จริง ราวบางตอนที่อาจารย์เสกสรรได้กล่าวไว้ในผลงานว่า...
...บางครั้งเราเต็มใจเป็นสะพานให้ใครบางคนก้าวข้ามความลำบากของชีวิต แต่ห้วงยามแห่งการเสียสละกับห้วงยามแห่งการพลักพรากก็มักจะเกิดขึ้นพร้อมกันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทั้งนี้เพราะสะพานย่อมมิใช่ที่อยู่ถาวรของผู้ใด...
อิสรชนตามความหมายของสะพานในแง่นี้เด่นชัดในความคิดเห็นของฉัน เพราะที่ผ่านมาได้สัมผัสถึงความเสียสละ ทั้งเรื่องทุนทรัพย์ เวลา หรือแม้กระทั่งเรี่ยวแรงที่ต้องใช้ต่อสู้ทางความคิดกับบางภาคส่วนของสังคมที่ไม่เห็นด้วย
นอกจากนั้นแล้วยังเห็นแง่มุมของการพลัดพรากระหว่างผู้ยากไร้ที่ได้รับการช่วยเหลือที่จำต้องลาห่างจากเพื่อนอาสาสมัคร เมื่อถึงคราวคืนถิ่นเดิมของตนเอง...

ฉันพบว่าการทำงานของกลุ่มอิสรชนมีความเป็นสะพานอย่างเต็มตัวในทุกรูปแบบ ไม่เพียงแต่ในลักษณะของการนำพา หรือความเสียสละเท่านั้น หากยังหมายถึงการพาดเกี่ยวสัมพันธ์กับฟากฝั่งอย่างลึกซึ้งแน่นหนา
นั่นก็คือการลงสู่พื้นที่และทำความเข้าใจปัญหาจากรากเหง้าอย่างใกล้ชิด
ที่ผ่านมาอิสรชนจะลงพื้นที่ทุกวันอังคารและวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 15.00-23.30น. ภารกิจที่ไม่เคยละทิ้งคือการเข้าถึงผู้คนที่ประสบทุกข์ ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การผูกมิตรพูดคุย การให้คำปรึกษา การดูแลสุขภาพ หรือแม้กระทั่งการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างสรรค์ในโอกาสต่างๆ นอกจากนั้นแล้วยังมีการเข้าสู่พื้นที่ที่มีการขายบริการทางเพศในพื้นที่คลองหลอด โดยการแจกถุงยางอนามัยและพูดคุยในระดับตื้นก่อนจะเข้าถึงในระดับลึก
วิธีการดังกล่าวทำให้ปัญหาหลายอย่างได้รับการคลี่คลายลงทีละน้อยในระดับของปัจเจก และต่อมาย่อมขยายวงกว้างได้ในระดับสังคม...
อย่างน้อยคือทำให้ปัจเจกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมีชีวิตที่ดีขึ้น
เพราะความมั่นคงแน่นหนากับฟากฝั่ง ในเชิงของความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งเฉกเพื่อนสนิทผู้เข้าใจกันและกัน ส่งผลให้ผู้เป็นสะพานยากที่จะล้มครืนลงด้วยปัจจัยภายนอกอื่นๆ เช่น ทุนการทำงานที่ไม่เพียงพอ หรือแนวความคิดจากบางส่วนในสังคมที่ไม่ให้ความสำคัญกับปัญหานี้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้สะพานอย่างอิสรชนจะมีโครงที่ดีด้วยอุดมการณ์ของผู้ก่อตั้ง มีความมั่นคงกับฟากฝั่งด้วยจิตสาธารณะของอาสาสมัคร หรือจะทอดร่างด้วยความเสียสละมากมายเพียงใด หากฤดูน้ำหลากอย่างอคติของสังคมนั้นเชี่ยวแรงและยาวนาน "ก็ใช่ว่าจะยืนหยัดได้อย่างมั่นคง"
เมื่อถึงเวลานั้น ผู้ยากไร้จะใช้สะพานแห่งไหนในการก้าวข้ามความทุกข์ลำเค็ญที่รอการปลดเปลื้อง
และจะมีสะพานแห่งใดนำพาพวกเขาสู่มาตุภูมิอันเป็นที่รัก...

ฉันหวังว่า ไม่ช้าไม่นานโครงสะพานจะแข็งแรง หากพวกคุณเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงสะพาน และยังเชื่อว่าฤดูน้ำหลากจะไม่ยาวนานหรือเชี่ยวกรากอย่างที่คิด หากทัศนคติของพวกคุณที่มีต่อผู้ประสบทุกข์ในพื้นที่เป็นบวกมากขึ้น คอยหักล้างทัศนคติด้านลบให้น้อยลง ดังแสงอาทิตย์แรงร้อนที่แผดเผาผิวน้ำให้แห้งหายในเร็ววัน
กระนั้น เชื่อหรือไม่ ฤดูน้ำหลากในทางที่กล่าว ไม่ใช่ฤดูน้ำหลากอย่างที่คุณพบเจอในโลกรูปธรรม หากมีมาเป็นระยะโดยต่อเนื่องในวันเวลาและไม่ต้องรอให้ถึงฤดูกาล...

...สะพานแห่งนี้ต้องหนาวเหน็บกับฤดูน้ำหลากอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
เขียนและเรียบเรียงโดย : Sujintra Anan
หมายเลขบันทึก: 333716เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2010 01:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 12:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท