บันไดร้อยกรอง ๗: คำเป็น คำตาย


 คำเป็น คำตาย กับการเขียนร้อยกรอง

 

        ลักษณะของคำเป็น

        ๑. คำที่ประสมแม่สระเสียงยาวในแม่ ก.กา  (คำที่ไม่มีตัวสะกด ) เช่น กา ตี ปู

        ๒. คำที่สะกดด้วย 

            แม่กง      เช่น   เที่ยง      ตรง       ดัง    โป้ง

            แม่กน     เช่น   ฉัน        กิน      หวาน   ถวิล

           แม่กม      เช่น    หลาม    ริม       น้ำ(น  +ะ +ม)     

           แม่เกอย   เช่น    สลาย     ใน(น  +ะ +ย)    โชย

           แม่เกอว   เช่น     ดาว       แล้ว    เปรี้ยว     หิ้ว

 

        คำเป็นมีความสำคัญต่อการเขียนร้อยกรองคือ

         ในการส่งสัมผัสท้ายวรรค   หากเป็นมือใหม่หัดเขียนจะทำให้หาคำมารับสัมผัสได้ง่าย   เขียนได้คล่อง รวดเร็ว   ร้อยกรองจะมีเสียงที่ไพเราะ

         ตัวอย่างการส่งสัมผัสด้วยคำเป็น 

          หนึ่งจะมีรักใหม่อย่าให้รู้              สองจะอยู่กับใครอย่าให้เห็น
           
ให้ฉันเถิดขอร้องสองประเด็น                 แล้วจะเป็นผู้แพ้ที่แท้จริง

                               " ขอ " ของ สนธิกาญจน์  กาญจนาสน์

 

             ลักษณะของคำตาย

         ๑. คำที่ประสมแม่สระเสียงสั้นในแม่ ก.กา  (คำที่ไม่มีตัวสะกด ) เช่น กะ ทิ นะ คะ

        ๒. คำที่สะกดด้วย 

            แม่กก      เช่น   วิหค     จิก        รุก      เมฆ

            แม่กด     เช่น   จิตร      พืช       อิฐ      ฤทธิ์

            แม่กบ     เช่น    รูป        ภาพ     เจ็บ     มอบ

 

          คำตายมีความสำคัญต่อการเขียนร้อยกรองคือ

 

         ๑. ในการส่งสัมผัสท้ายวรรค   หากเป็นมือใหม่หัดเขียนจะทำให้หาคำมารับสัมผัสได้ยาก    นักเรียนจะหาคำมารับสัมผัสไม่ได้   คนที่เพิ่งหัดเขียนจึงควรเลี่ยงการลงท้ายวรรค หรือการส่งสัมผัสด้วยคำตาย

 

         ๒.  สำหรับผู้ที่ชำนาญในการเขียนร้อยกรอง ถือเป็นการแสดงชั้นเชิงทางศิลปะอย่างหนึ่ง  ทั้งนี้เพราะน้อยคนนักที่จะทำได้  นอกจากนี้คำตายยังเป็นคำที่มีน้ำหนัก มีเสียงมีจังหวะ  ที่ทำให้มองเห็นภาพพจน์ได้ค่อนข้างเด่นชัดอีกด้วย

 

        ตัวอย่างการส่งสัมผัสด้วยคำตาย

      กลางสนามสงครามเถื่อนศพเกลื่อนกลาด     น้ำเหลืองหยาดไหลเยิ้มเพิ่มกักขฬะ
หนอนยั้วเยี้ยไต่เลอะเทอะเนื้อเฟอะฟะ                ส่งกลิ่นเหม็นยากที่จะอธิบาย

                                       สงครามเถื่อน : ปรีชา  รุ่งจำรัส   

 

         ๓. ในการแต่งโคลงสี่สุภาพ  เมื่อผู้เขียนหาคำเอกไม่ได้ จะใช้คำตายแทนคำเอก   (ส่วนคำเอกคืออะไร จะนำเสนอในบันทึกต่อไป)

 

             ตัวอย่างโคลงสี่สุภาพที่กวีใช้คำตายแทนคำเอกในตำแหน่งบังคับ

           

 

       อยุธยายศล่มแล้ว                  ลอยสวรรค์ ลงฤา
สิงหาสน์ปรางค์รัตน์บรร                 เจิดหล้า
บุญเพรงพระหากสรรค์                  ศาสน์รุ่ง เรืองแฮ
บังอบายเบิกฟ้า                           ฝึกฟื้นใจเมือง

                                             (นิราศนรินทร์)

                     

         ในโคลงบทนี้ใช้คำตายแทนคำเอกได้แก่คำว่า   หาสน์  เจิด  พระ  อ(อะ)  และฝึก

 

         ด้วยเหตุผลที่นำเสนอมา  ครูภาทิพจึงจัดให้เรื่อง คำเป็นและคำตาย  เป็นบันได ขั้นหนึ่งของการเรียนรู้เรื่องการเขียนร้อยกรอง

หมายเลขบันทึก: 333160เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2010 22:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีครับครู ภา หายหน้าไปนานพาลคิด วันนี้เปิดเครื่องเห็นครูเข้ามา ก็ยินดี รีบเข้ามาสวัสดีคุณครูครับ

สวัสดีค่ะ  วอญ่า  ครูภาทิพเองก็ละเลยการเขียนบันทึกมาหลายวันแล้วค่ะ

กลัวจะลืมเรื่องราวที่จะเขียนไปเหมือนกัน  

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท