ประชุมกลุ่มย่อยตามโซนต่างๆเมื่อวาน(7มิ.ย.)ทีมงานยังงงๆกับโครงการจัดการความรู้แก้จนเมืองนครไม่รู้ว่าจะดำเนินการอย่างไรดี ส่วนหนึ่งก็เรื่องงบประมาณ ส่วนหนึ่งก็เรื่องทีมทำงาน ซึ่ง2ส่วนนี้ทีมงานกลางและพื้นที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้วคือ มีการจัดสรรเงินงบประมาณกระจายไปตามอำเภอต่างๆและมีคำสั่งทั้งจากจังหวัดและอำเภอแต่งตั้งคณะทำงานในระดับต่างๆเรียบร้อยแล้ว
ซึ่งทำได้ค่อนข้างรวดเร็วมากสำหรับโครงการขนาดใหญ่ที่มีเรื่องการเมืองเรื่องเลือกตั้งทั้งสส.และสว.เข้ามาแทรก ซึ่งหากได้สรุปบทเรียนกระบวนการจัดการเรื่องนี้ไว้ ปีหน้าเราคงเริ่มงานได้เร็วกว่านี้มาก ต้องขอชมทีมประสานจัดการกลางทุกๆคนครับ
คราวนี้ก็คงจะเดินหน้าดำเนินการได้คล่องตัวขึ้น
แล้วจะดำเนินการอย่างไร? ที่เรียกว่า การจัดการความรู้
ผมขอเสนอแนวทางการจัดการความรู้ไว้ 2 ประเด็นคือ 1)เนื้อหา 2)กระบวนการ
ตอนประชุมกลุ่มย่อย ผมเดินดูและรับฟังข้อคิดเห็นของแต่ละกลุ่มเพื่อเก็บประเด็นนำมาสรุปหลังจากที่แต่ละโซนนำเสนอกลุ่มใหญ่แล้ว เพราะหากรอฟังจากผู้แทนกลุ่มย่อยเสนอในเวที อาจจะสรุปประเด็น ไม่ทัน บทบาทของผมจึงทำหน้าที่เอื้ออำนวยให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานกัน แล้วนำเรื่องดีๆที่พบเห็นมาปะติดปะต่อกันฉายให้เห็นภาพรวมซึ่งเป็นภาพฝันที่คนทำงานในกลุ่มย่อยเห็นอยู่แล้ว แต่อาจจะเป็นภาพที่ไม่ปะติดปะต่อกันเท่าไร เมื่อได้เห็นภาพรวม ก็เสมือนกับตอกย้ำความคิดความเห็นให้มีความชัดเจนขึ้น บทบาทนี้ วิทยากรต้องมีทักษะในการจับประเด็นและมีความรู้ในเนื้อหาเชิงโครงสร้างของระบบราชการ กล่าวคือ รัฐบาลบริหารงานภาคปฏิบัติเพื่อให้บรรลุนโยบายที่วางไว้ด้วยการจัดสรรงบประมาณแบบขนมชั้น ผมเห็นว่างบประมาณตามนโยบายแก้ปัญหาความยากจนเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายวิสัยทัศน์เมืองนครศรีธรรมราชและเศรษฐกิจพอเพียงตามที่เราตั้งโครงการด้วยคำหลัก2คำนี้ไว้ ซึ่งเป็น หัวปลาใหญ่ของโครงการ
พูดอีกทีคือทำให้นโยบายส่วนกลางสอดรับกับวิสัยทัศน์ของจังหวัด
ซึ่งหากวิสัยทัศน์จังหวัด(เมืองแห่งการเรียนรู้ พอเพียง น่าอยู่ ยั่งยืน) อยู่ในใจของคนนครศรีธรรมราชด้วยกระบวนการได้มา ผลิตซ้ำจนเป็นคุณค่าที่ตกกะกอนนอนก้นอยู่ภายในใจของคน ก็จะเป็นวิสัยทัศน์ที่มีพลังในการขับเคลื่อนอย่างมโหฬาร ไม่ต่างกับวิสัยทัศน์ของชีวิตที่เคยยึดถือพระนิพพานเป็นหลักชัย ซึ่งถูกวัตถุนิยมยึดครองด้วยกระบวนการสร้างคุณค่าใหม่ ผลิตซ้ำจนครองใจคนได้
ผมไม่แน่ใจว่าคำหลัก2คำนี้จะครองใจทีมงานสนับสนุนและกลุ่มครัวเรือนเป้าหมายที่เราจะลงไปขับเคลื่อนงานร่วมกันหรือไม่ แต่คิดว่า ถ้าจะทำงานให้บรรลุเป้าหมายที่ทั้งไกลและยาก ก็เปรียบเหมือนการยิงธนูที่ต้องดึงสายธนูไปข้างหลังให้ไกลให้ถึงระดับคุณค่าร่วม ซึ่งเป็นเนื้อหาหนึ่งของกระบวนการจัดการความรู้ด้วย
ที่ผมเล่ามาจะเห็นว่า มี 2 เนื้อหาปะปนกัน คือ กระบวนการใช้การเรียนรู้จากการทำงานอย่างมีเป้าหมายของกันและกันและเนื้อหาที่เป็นความรู้/ ทักษะบางอย่าง เช่น การจับประเด็น และความเข้าใจแนวทางในการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาล กรณีนี้ ผมยกตัวอย่างตัวผมเองซึ่งเป็นนักเรียนจัดการความรู้ในบทบาทคุณอำนวยที่ต้องจัดการเรียนรู้ให้กับทีมงานที่เข้าร่วมประชุมเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ในฐานะคุณกิจเพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันตามเป้าหมายของโครงการ ซึ่งคุณกิจในวันนั้นคือคุณอำนวยกลางและคุณอำนวยอำเภอของโครงการที่จะต้องลงไปทำหน้าที่ประสานทีมงานคุณอำนวยอำเภอและอำนวยการเรียนรู้ให้กับคุณอำนวยตำบลที่รับผิดชอบเพื่อลงไปขับเคลื่อนงานในหมู่บ้าน
ผมเล่ากระบวนการและเนื้อหาในการจัดการความรู้เป็นยกตัวอย่างแล้ว(ซึ่งต้องมีตลอดกระบวนการดำเนินงาน) ยังมีเรื่องสำคัญของการจัดการความรู้อีกเรื่องหนึ่งซึ่งซ่อนอยู่ในเรื่องเล่าข้างต้นแล้ว คือ การเป็นนักเรียนจัดการความรู้ โดยที่ทุกคนเป็นนักเรียนในหน้าที่ของ ตัวเอง ทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทั้งส่วนตน ส่วนงานย่อยและงานใหญ่ที่เชื่อมโยงผูกร้อยกันด้วยคุณค่าร่วม2 หลักใหญ่คือวิสัยทัศน์เมืองนครและเศรษฐกิจพอเพียง กรณีนี้ผมใช้ตารางอิสรภาพแนะนำทีมงานเมื่อคราวเรียนรู้เมื่อวันที่4พ.ค.ไปแล้ว
ตารางอิสรภาพจะพิจารณาว่า1)เป้าหมายที่ต้องการบรรลุในแต่ละระดับคืออะไร2)พิจารณาโดยใช้ความรู้ ความคิด/ประสบการณ์ที่มีอยู่ร่วมกันว่าถ้าจะบรรลุเป้าหมายนั้นเราต้องมีความสามารถในเรื่องใดบ้าง? 3)ในเรื่องนั้นๆเรามีหน้าที่อะไร? 4)ประเมินความสามารถของเราในหน้าที่นั้นตั้งแต่ระดับอ่อน พอใช้ ดี ดีมาก ดีเยี่ยม
แล้วพัฒนาตัวเองจากการเรียนรู้ในงานที่ทำและคนที่มีภูมิรู้ในเรื่องนั้นๆอย่างต่อเนื่องเพื่อทำงานนั้นๆให้ดียิ่งขึ้นด้วยความสามารถที่เพิ่มขึ้นจนบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
วิธีการนี้ถือเป็นวิธีการจัดการความรู้ทั้งในเชิงกระบวนการและเนื้อหา ที่เป็นแก่นแกนของการจัดการความรู้
ไม่มีความเห็น